เปิดมุมมอง ‘พื้นที่เรียนรู้ ลดเด็กนอกระบบ’

เปิดมุมมอง ‘พื้นที่เรียนรู้ ลดเด็กนอกระบบ’

ชวนฟังมุมมองคนทำงานภาคประชาสังคม ว่าการผลักดันให้ ‘พื้นที่เรียนรู้ชุมชน’ เกิดขึ้นในชุมชนต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยป้องกันเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาได้อย่างไร

“ประสบการณ์นอกห้องเรียนเหล่านี้เอง ที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กมีความพร้อมในการเรียนรู้ ค้นพบเป้าหมาย หรืออาจพัฒนาไปถึงการสร้างอาชีพ ทำให้เด็กมีรายได้เสริม ทั้งหมดนี้คือปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยประคองเด็กไว้ให้อยู่ในระบบการศึกษา”

“พื้นที่ชุมชนที่เปิดให้เด็กรุ่นใหม่เข้าไปเรียนรู้ ทดลองทำ หลายคนทำแล้วชอบ เอาไปแปรรูป เอาไปต่อยอดหารายได้ คือห้องเรียนทางเลือกนอกโรงเรียน สำหรับคนทุกเพศทุกวัยทุกรุ่น คือแหล่งเรียนรู้สาธารณะที่ใครก็เข้ามาพัฒนาตัวเองได้”

 “เด็กๆ ควรมีที่เรียนรู้หรือทำกิจกรรมที่ดีกว่าใต้สะพาน หรือในตรอกซอกซอยเล็กแคบ ซึ่งจะยิ่งพาเข้าใกล้ความเสี่ยงในทุกรูปแบบ ดังนั้นการเกิดขึ้นของพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ ย่อมหมายถึงการเพิ่มคุณค่าให้สถานที่ ให้ชุมชน และให้กับตัวเด็กๆ และจะช่วยลดโอกาสที่เขาจะเลือกเดินไปอีกเส้นทางหนึ่ง จนหลุดจากระบบการศึกษาไปในที่สุด”

“การพูดคุยถ่ายทอดความคิดเห็นในพื้นที่ปลอดภัยระหว่างกัน มันจะทำให้เกิดความเข้าใจและปรับตัวเข้าหากันได้ ในเรื่องการศึกษาเองก็ตาม ถ้าผู้กำหนดนโยบายได้ทำความเข้าใจว่าเด็กเยาวชนต้องการอะไร การปฏิรูปหรือการพัฒนาการศึกษาก็จะตอบสนองผู้เรียนมากขึ้น แล้วจำนวนของเด็กที่หันหลังให้ระบบการศึกษาเพราะเขาคิดว่าโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ก็จะลดลง”

“พื้นที่กิจกรรมเหล่านี้เองที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งได้พบเป้าหมายของเขา รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเขา แล้วผมคิดว่ามันเชื่อมโยงกับการศึกษาโดยตรง เพราะเมื่อเขาพบเป้าหมายในใจแล้ว ก็จะเกิดแรงบันดาลใจ รู้ว่าต้องพาตัวเองไปทางไหน เรียนอะไรเพิ่มเติม หรือจะไปให้ถึงปลายทางที่ตั้งไว้ด้วยวิธีใด เมื่อนั้นการศึกษาจึงจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้”