เด็กยากจน 1.69 ล้านคน พวกเขาและเธออยู่ที่ไหน ?

เด็กยากจน 1.69 ล้านคน พวกเขาและเธออยู่ที่ไหน ?

กสศ. เผยสถานะนักเรียนยากจน จำนวน “1.69 ล้านคน” ยากจนพิเศษ “6 แสนคน”

ครูหลั่งน้ำตา สงสารศิษย์ เดินทางลำบากสาหัสทุกวัน รายได้ไม่พอแม้ค่าอาหารเช้า กสศ. เผยสถานะนักเรียนยากจน จำนวน “1.69 ล้านคน”  ยากจนพิเศษ “6 แสนคน”

แม่ฮ่องสอน ตาก นราธิวาส ยะลา น่าน พบปัญหามากที่สุดในประเทศ เตรียมรับฟังความเห็นหลักเกณฑ์ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ตลอดเดือนสค. – ต้นเดือนกย.นี้

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ดร.ไกรยส  ภัทราวาท  ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำผลสำรวจสถานะนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ปี 2561 โดยใช้เกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม(Proxy Mean Tests) หรือ PMT พบว่ามีนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองแบบ PMT ที่มีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่า 3,000 บาทต่อคน/เดือน และมีภาระพึ่งพิง ที่อยู่อาศัยทรุดโทรม  ไม่มียานพาหนะ เป็นเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน รวมทั้งหมด 1,696,433 คน โดยแบ่งเป็นนักเรียนยากจน 1,075,476 บาท และนักเรียนยากจนพิเศษ 620,937 คน  ซึ่งกลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน   เพราะครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 1,281 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 42.7 บาท เท่านั้น ไม่เพียงพอแม้แต่ค่าอาหารเช้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการ  โดยภูมิภาคที่มีนักเรียนยากจนพิเศษหนาแน่นที่สุดคือ ภาคเหนือ  ในบริเวณพื้นที่สูง และตะเข็บชายแดน  โดยจังหวัดที่มีเด็กยากจนพิเศษมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน  ตาก นราธิวาส  ยะลา น่าน  สตูล เชียงใหม่ ปัตตานี นตรราชสีมา มหาสารคาม

ดร.ไกรยส กล่าวว่า แม้ว่านักเรียนยากจนพิเศษจะได้รับการสนับสนุนจาก สพฐ. ในรูปแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน แต่ยังไม่เพียงพอเนื่องจาก เงินเฉลี่ยวันละ 5 บาท สำหรับนักเรียนประถมและวันละ 15 บาทสำหรับนักเรียนมัธยม ที่สพฐ.สนับสนุนนั้น น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เช่น ค่าเดินทางไป-กลับ โรงเรียน หรือ ค่าอาหาร และค่าเครื่องแบบ ซึ่งล้วนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรให้ และไม่ได้มีการปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยมูลค่าที่แท้จริงของเงิน 1,000 บาทเมื่อปี 2550 เหลือเพียง 800 บาทในปี 2560  จุดนี้เองทำให้นักเรียนยากจนจำนวนมากมีความเสี่ยงที่จะออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากปัญหาความยากจน

เด็กยากจนพิเศษเป็นแค่หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. มีแผนช่วยเหลือ กองทุนมีแผนทำงานร่วมกับโรงเรียนในสังกัดอื่นๆด้วย เช่น  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของกระทรวงมหาดไทย โรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างเสมอภาค โดยจะมีการประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายจากทุกภาคส่วน 4 ภูมิภาค ในช่วงเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายนนี้เพื่อให้การสนับสนุนของ กสศ.มีความเป็นธรรม เกิดประโยชน์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า งานวิจัยของ OECD ที่วิเคราะห์จากผลสอบ PISA พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนยากจน และมีศักยภาพทำคะแนนสูงในระดับนานาชาติได้ หรือเรียกว่า Resilient student  อยู่ประมาณ  3.3 %   โดยหากสนับสนุนปัจจัยทางเศรษฐกิจให้กับนักเรียนกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ จะสามารถเพิ่มจำนวนของนักเรียนกลุ่มนี้ได้ 6 เท่า หรือ ประมาณ 400,000 คน  อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากนานาชาติ ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย บราซิล ฟินแลนด์ สิงคโปร์ ยืนยันชัดเจนว่าการใช้เงินแก้ปัญหาอย่างเดียวนั้นไม่พอ  ต้องปฏิรูประดับโครงสร้างโดยภาครัฐ   กองทุนให้น้ำหนักอย่างมากกับการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาและการพัฒนาครู เราจึงเน้นสร้างสรรค์งานวิจัย ที่ร่วมมือกับนานาชาติและทดลองปฏิบัติจริง เพื่อจัดทำข้อเสนอระดับนโยบายให้กับรัฐบาล”

ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นนั้น ผู้อำนายการและครูจากโรงเรียนยากจนพิเศษ ต่างเปิดใจถึงปัญหาที่โรงเรียนต้องเผชิญมาตลอด บางคนถึงกับเล่าด้วยน้ำตานองหน้า

ครูวีรณัฐ ทนะวัง โรงเรียนบ้านผาเวียง จ.น่าน

นายวีรณัฐ  ทนะวัง  ครูโรงเรียนบ้านผาเวียง  จังหวัดน่าน  กล่าวว่า 13 ปีที่อยู่ในพื้นที่ ครูก็ลำบาก เด็กก็ลำบากเช่นกัน  ครอบครัวของนักเรียนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยากจนทำอาชีพปลูกไร่ข้าวโพด ที่อยู่อาศัยต้องลักลอบตัดไม้จากเขตอุทยาน ถ้าไม่ตัดก็ไม่มีบ้านอยู่  หลังคาทำจากใบจาก ใบก้อ   แม้เด็กเหล่านี้จะได้รับงบจาก สพฐ. ราว 15 บาท/วัน เพื่อสนับสนุนการเดินทางแต่ในพื้นที่รถไม่สามารถวิ่งได้โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ในแต่ละวันเด็กๆ ต้องใช้ระยะเวลาเดินเท้ามาโรงเรียน 40 นาทีถึง 1 ชั่วโมงต่อเที่ยว เพราะถนนทั้งสายกลายเป็นโคลนหนาและเต็มไปด้วยร่องลึกลื่น โดยเส้นทางส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของกรมอุทยานจึงไม่สามารถลาดยางได้ การเรียนของเด็กบนดอยนั้น ไม่มีทางเท่าเทียมกับเด็กพื้นราบ ลำพังจำนวนครูนั้นไม่เพียงพอ โรงเรียนก็ขาดงบประมาณในการจ้างครูเพิ่ม ไม่มีใครต้องการมาอยู่ในพื้นที่ยากลำบาก

หากกองทุน สนับสนุนงบประมาณ ต้องให้ความรู้ผู้ปกครองไม่ให้นำเงินไปใช้ในความจำเป็นอื่นๆจนหมด คงต้องทำงานร่วมกับโรงเรียน และครอบครัว เพื่อให้งบประมาณถูกนำไปใช้เพื่อเด็กอย่างแท้จริง ด้วยวิธีการและช่องทางสนับสนุนที่เหมาะสมในแต่ละบริบทพื้นที่

ครูชลชนก หนูรอด โรงเรียนวัดโคกสำโรง จ.สุพรรณบุรี

ด้าน นางสาวชลชนก  หนูรอด ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโคกสำโรง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวทั้งน้ำตาว่า โรงเรียนของเราครู 3 คน รับผิดชอบ 8 สาระวิชา  ดูแลนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับประทานอาหารเช้า  นักเรียน 55% มีน้ำหนักส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์     เงิน 20 บาท เป็นค่าอาหารทั้งสามมื้อ  ทั้งเช้า กลางวัน เย็น  สถานการณ์เช่นนี้ โรงเรียนอยู่เฉยไม่ได้ จึงรวมตัวแม่บ้านประชาอาสา ประมาณ 50 คน เกิดกองทุนอาหารกลางวัน ทำอาหารโดยไม่คิดมูลค่า  เพราะทุกคนเหมือนครอบครัวเดียวกัน ครูและผู้ปกครองก็พยายามช่วยเหลือกัน

เราเป็นครูมาหลายปี เห็นชีวิตเด็กยากจนเป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุด เข้าๆออกๆโรงเรียน เพราะต้องรอนแรมตามพ่อแม่ไปทำงาน  โอกาสเรียนต่อจนจบการศึกษาสูงๆแทบไม่มี ฝันให้ไกลไปกว่าก็นี้ไม่ได้ ลำพังอาหารที่จะกินแต่ละมื้อไม่ต้องคำนึงถึงโภชนาการ ขอให้ครบ 3 มื้อยังลำบากนัก  หวังให้ปัญหาเหล่านี้มันจบเสียที

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

ด้าน ศาสตราจารย์สมพงษ์  จิตระดับ ที่ปรึกษา กองทุน กสศ. และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  เครื่องมือค้นหาตัวเด็กของกองทุนกสศ. จะช่วยให้รัฐบาลมั่นใจว่าเงินทุกบาททุกสตางค์จะถูกนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนอย่างแท้จริง   งบประมาณส่งตรงไป  เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้ กองทุนต้องต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่และโรงเรียนว่า กองทุนทำงานเพื่อให้โอกาสเด็ก ไม่ใช่กองทุนเพื่อยังชีพ ที่สำคัญคือ ครู คือกลไกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าของเงิน  โดยเฉพาะการลงไปเยี่ยมบ้าน ความใกล้ชิดกับนักเรียนและครอบครัว จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ย่อท้อ ตั้งใจเรียน พัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพ  การทำงานของกองทุน กสศ.นับว่าเป็นการหลอมรวมข้อมูลจากกระทรวงต่างๆ ให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงทางนโยบายอย่างแท้จริง ช่องว่างทางสังคมของประเทศไทยจะลดน้อยลง