เก็บเด็กด้วยรอยยิ้ม! ศพด.เพิ่มมาตรฐานดูแลเด็กปฐมวัย เตรียมพร้อมก่อนการศึกษา

เก็บเด็กด้วยรอยยิ้ม! ศพด.เพิ่มมาตรฐานดูแลเด็กปฐมวัย เตรียมพร้อมก่อนการศึกษา

จากเดิมที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เคยถูกมองว่าเป็นเพียงแค่สถานรับฝากเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน แต่ปัจจุบันด้วยความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังทำให้ทาง ศพด. พยายามยกระดับมาตรการการดูแลเด็กในช่วงปฐมวัยให้มีพัฒนาการการทั้งด้านร่างกายและจิตใจเพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญก่อนการศึกษาในช่วงวัยที่สูงขึ้น

พรศิริ นรโคตร รักษาการหัวหน้าศพด.นครนนท์ 12 ประชานิเวศน์ 3 จังหวัดนนทบุรี อธิบายว่า ช่วงวัยของ “เด็กปฐมวัย” ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของเด็กแต่ละคน เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กมีการพัฒนาเตรียมความพร้อมในด้านต่าง เมื่อเขาได้รับการถ่ายทอดสิ่งใดในช่วงวัยนี้ก็จะไปสะท้อนในช่วงวัยที่โตขึ้นเช่นหากได้รับสัมผัสความรุนแรงก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเด็กหัวรุนแรงในอนาคต ทางศูนย์เน้นให้การดูแลเป็นเหมือนกับโรงเรียนอนุบาล ไม่ใช่เพียงแค่สถานรับเลี้ยงเด็กอย่างที่เคยถูกมองว่าเป็นเช่นนั้นในอดีต

ปัจจุบันมีการพัฒนามาตรฐานการเรียนใช้หลักสูตรปฐมวัย ปี 2560 เหมือนอนุบาลทั่วไป ที่เน้นพัฒนาการ 4 ด้าน คือ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และ สังคม ปัจจุบัน ศพด.นครนนท์ 12 ประชานิเวศน์ 3 จ.นนทบุรี มีเด็กทั้งหมด 128 คน มีครูทั้งหมด 7 คน เปิดรับเด็กตั้งแต่ 2 ขวบครึ่งถึง 5 ขวบ ชั้นเตรียมอนุบาลถึงอนุบาล 3 แต่เนื่องจากทางศูนย์เพิ่งเปิดมาได้สองปีจึงยังไม่มีการสอนชั้นอนุบาล 3 ในปัจจุบัน โดยจะเปิดสอนได้ในปี 2563

“ที่ศูนย์จะไม่มีการตีเด็ก จะเก็บเด็กด้วยรอยยิ้ม เสียงเพลง เพราะเด็กแต่ละคนมีที่มาแตกต่างกันเมื่อมาอยู่ที่นี่เราก็อยากให้เด็กรู้สึกมีความสุขที่สุด เด็กบางคนมีปัญหาเพราะพ่อแม่สมัยนี้สปอยล์ให้เล่นโทรศัพท์ บางคนก็จะมีอาการออทิสติกเทียม ไม่ปฏิสัมพันธ์กับครู กับเพื่อนคนอื่น พูดไม่ได้วิ่งอย่างเดียว เราก็ต้องสอนให้เขาเข้าสังคมต้องคอยเอาใจใส่ดูแล บางคนถ้าอาการหนักก็ต้องแจ้งผู้ปกครองให้ไปรักษา หากรักษาเร็วก็จะแก้ไขง่าย แต่บางคนพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ยอมรับ เราก็ต้องใช้วิธีคุยอ้อมๆ หากเขายอมรับก็ค่อยบอกให้พาไปหาหมอ แต่ก็มีบางคนไม่ยอมรับ บางเคสก็บอกไม่ว่างไม่มีเวลา” พรศิริ กล่าว

ในด้านการพัฒนาบุคลากร รักษาการหัวหน้าศูนย์ฯ ระบุว่า แม้บางคนจะไม่มีวุฒิแต่ก็มีประสบการณ์ ซึ่งเราจะจัดอบรมตลอด เพราะเราจะทำให้ศูนย์พัฒนาฯเป็นเหมือนโรงเรียนแต่ก็ไม่ง่ายเพราะโรงเรียนอื่นเขามีครูกัน 20 คน แต่ที่นี่มี 7 คน ใจรักต้องอยู่กับเด็กโดยตรง เราก็จะบอกครูแต่ละคนว่ามีโอกาสก็ให้ไปเรียนเพราะมีประสบการณ์ขาดแค่ใบวุฒิมาเติมเต็มหลายคนก็เตรียมที่จะไปเรียนเพิ่ม

ด้าน ชริวรรณ หงษ์ทอง ครูผู้ดูแลเด็กผู้มีทักษะ ศพด.นครนนท์ 12 กล่าวว่า เราได้ปรับการเรียนการสอนให้ตรงกับมาตรฐานการศึกษาให้เหมาะสมตามช่วงวัย ผ่านกิจกรรม 6 หลัก คือ 1.กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ 2.กิจกรรม สร้างสรรค์ 3.กิจกรรมเสรี 4.กิจกรรมเสริมประสบการณ์ 5.กิจกรรมกลางแจ้ง และ 6.กิจกรรมเกมการศึกษา โดยเด็กแต่ละคนจะมาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน เราไม่ได้มองว่าเด็กคนไหนฐานะดีไม่ดี เราไม่ได้มองจุดนั้น เมื่อเขาก้าวเข้ามาในศูนย์ฯเราคิดแค่จะทำยังไงให้เขามีพัฒนาการและต้องดูแลให้เหมือนกันทุกคนไม่แบ่งแยกจะรวยจะจนก็ตาม

สำหรับค่าใช้จ่าย ทางศูนย์จะเก็บค่าใช้จ่ายประจำตัวเด็กครั้งเดียว ปีละ 2,300 บาท ครอบคลุมทุกอย่าง ทั้งอุปกรณ์ ผ้าปูที่นอน หมอน ของใช้ส่วนตัว อาหาร นม นักเรียนจะเรียนตั้งแต่ 7.30 -14.30 น. แต่บางกรณีหากผู้ปกครองติดภารกิจไม่สามารถมารับได้ครูก็จะดูแลเด็กต่อให้ไปจนถึง 16.00 น. โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

“การศึกษาปฐมวัยถือเป็นสิ่งสำคัญ หากได้รับการปลูกฝังสิ่งที่ดีๆ เขาก็จะจดจำ นำไปใช้ต่อยอดตอนโตขึ้น เราก็ต้องปลูกฝังพัฒนาการที่ดีให้เขาในช่วงวัยนี้ เช่นเล่นยังไงให้ได้ความรู้เรียนยังไงให้มีความสุข คุณครูมีความสุขเด็กก็มีความสุข เชื่อว่าเด็กทุกคนที่จบจากที่นี่ไปจะไปเข้า ป.1 ได้ทุกคนแน่นอน แต่เป้าหมายที่สำคัญคือการที่เด็กจบจากที่นี่ไปจะเข้าสังคมได้สามารถอยู่กับเพื่อนคนอื่นได้ ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจของตัวเองได้“ ชริวรรณกล่าว

ชริวรรณ กล่าวว่า การสอนของศพด.นครนนท์ 12 จะไม่เน้นว่าต้องให้เขียนหนังสือให้ได้ แต่จะปล่อยไปตามธรรมชาติของเด็ก ฝึกการเข้าสังคม ฝึกการใช้กล้ามเนื้อ บางคนก็จะถามว่าไม่สอนให้เขียนอะไรบ้างหรือ เราก็บอกว่าต้องเป็นไปตามวัยของเขา บางทีเด็กรุ่นนี้จับดินสอก็จับไม่ถูก แต่พอไปถึง ป.1 เขาก็เขียนชื่อตัวเองได้อัตโนมัติเราอย่าเพิ่งไปใส่ในเรื่องวิชาการอะไรให้เด็กมากให้เขาได้เล่นสนุกกับการเล่นแล้วสอดแทรกความรู้ไประหว่างเล่น เช่นเล่นไม้บล็อคก็จะสอนศัพท์ภาษาอังกฤษแทรก วงกลม สามเหลี่ยม สีเขียว สีเหลือง เขาก็ไม่รู้ตัวว่าได้รับความรู้แต่พอมาถามครั้งต่อไปเขาก็จำได้

“ความแตกต่างของเด็กที่เข้ามาที่นี่ก็มีหลากหลายเราก็ต้องดูแลเรื่องระเบียบวินัย มารยาทที่ไม่เหมือนกัน บางคนมาจากชุมชนพูดจาห้วนภาษาพ่อขุนรามฯ มาเลย เราก็ต้องมาฝึกจนตอนหลังเขาดีขึ้นไหว้สวยเท้าชิด พนมมือ ก้มศรีษะ จนพ่อแม่เขายังแปลกใจ เราเองก็ภูมิใจ” ครูผู้ดูแลเด็กผู้มีทักษะกล่าว