ชวนมารู้จัก‘หมู่บ้านมหาดไทย’ กล่อมเกลาชีวิตนักศึกษาทุนฯ

ชวนมารู้จัก‘หมู่บ้านมหาดไทย’ กล่อมเกลาชีวิตนักศึกษาทุนฯ

ในวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีเด็กนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รวม 195 คน แบ่งเป็นชั้น ปวช. 96 คน และ ปวส. อีก 99 คน การดูแลส่งเสริมอาชีพและฝึกฝนทักษะชีวิตของเด็กทุนฯ จำนวนมาก จำเป็นต้องคำนึงถึงการสร้างกิจกรรมเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม ตลอดจนวางกฎระเบียบที่เข้มแข็งให้กับเด็กทุนซึ่งต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันในหอพัก เพื่อประคับประคองเด็กให้อยู่บนเส้นทางการศึกษา ตลอดจนได้ซึมซับบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ก่อนจะพ้นผ่านช่วงเวลาอีก 2-5 ปีข้างหน้า ที่พวกเขาจะต้องออกไปเรียนต่อหรือทำงาน ให้สามารถตระหนักรู้บทบาทของตนในฐานะสมาชิกส่วนหนึ่งในสังคมได้

ธีริศรา คงคาลิมีน อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมง จังหวัดปัตตานี เล่าถึงการดูแลน้อง ๆ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น ร่วมกว่า 200 ชีวิตของวิทยาลัยว่า ที่ วษป. ปัตตานี แบ่งวิธีการดูแลเด็กทุน ฯ ออกเป็นสองลักษณะ คือเด็กกลุ่มที่พักเองข้างนอก กับกลุ่มเด็กที่พักนอนอยู่ในวิทยาลัย สำหรับเด็กที่พักเองเราได้จัดให้มีครูที่ปรึกษาห้องละสองท่าน มีการประสานติดต่อพูดคุยกับผู้ปกครองและสื่อสารกับเด็กด้วยโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เด็กอยู่ในความดูแลของครูที่ปรึกษาได้ตลอด ส่วนเด็กที่พักในวิทยาลัยเรามีครูพี่เลี้ยงดูแลตั้งแต่เลิกเรียน และจะอยู่กับเด็กจนถึงเช้าก่อนส่งต่อให้ครูที่ปรึกษา

ในส่วนเด็กที่อยู่หอพัก เราจัดให้มีโครงการ สมาร์ทฟาร์เมอร์’ ฝึกทักษะอาชีพ โดยทางวิทยาลัยเป็นผู้ลงทุนให้ เด็กจะเขียนโครงการเสนอมาว่าเขาอยากทำอะไร แจกแจงรายละเอียดว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ ส่วนการจัดการเขาจะต้องดูแลกันเองทั้งหมด เราจะเน้นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับภาควิชาที่เขาเรียน เกษตรก็เลี้ยงไก่ ทำแปลงเกษตร ปลูกผัก ส่วนประมงก็เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง แล้วแต่ว่าเขาสนใจด้านไหน หรือบางคนเขาอาจไม่ทำโครงการที่เกี่ยวกับวิชาเรียน เราก็สนับสนุน เพราะคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้เขาต่อยอดความสนใจไปสู่การหารายได้ ทั้งการแปรรูปอาหาร หรือการทำขนม ที่สำคัญคือกิจกรรมที่เขาเลือกทำจะต้องหาวิธีการนำไปขายให้ได้ เป็นการฝึกวิชาชีพ ในเรื่องของกำไรขาดทุนเราไม่ได้คาดหวัง เงินที่เป็นกำไรทั้งหมดเรามอบให้เด็ก ส่วนของต้นทุนหากได้คืนกลับมาจะนำไปเป็นเงินกองกลางสำหรับคนอื่นๆ หรือรุ่นน้องในปีการศึกษาถัดไป

“สมาร์ฟาร์เมอร์ เป็นโครงการนำร่องเพื่อเด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น ซึ่งปีนี้เขาเริ่มต้นกันเป็นปีแรก เราอยากให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่นอกเหนือจากการเรียนในห้อง ได้ฝึกวิชาชีพผ่านประสบการณ์จริง มีรายได้จริง ๆ ครูจะเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา ในด้านองค์ความรู้ หรือการหาตลาด อย่างวิทยาลัยของเราตั้งอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรงนี้เราต้องทำให้เขาสามารถนำพื้นที่การเกษตรที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หมายถึงการคิดโครงการควรคำนึงถึงความเหมาะสมของบริบทพื้นที่ร่วมด้วย” อาจารย์ธีริศรากล่าว

ด้านอาจารย์มุสตากีม มะแซ ในฐานะครูที่ปรึกษาเด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมง ปัตตานี กล่าวเสริมว่า ด้วยสภาพแวดล้อมและช่วงวัยของเด็ก โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ปวช. ที่วุฒิภาวะยังคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ การดูแลเด็กทุน ฯ ที่อยู่ในหอพักจึงต้องมีกลวิธีที่ทำให้เด็ก ๆ ได้ดูแลช่วยเหลือกันเองอีกต่อหนึ่ง โดยทางวิทยาลัยมีโครงการ หมู่บ้านมหาดไทย’ ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องโครงสร้างการปกครอง รวมถึงภาวะผู้นำ

“เราได้จำลองการปกครองท้องถิ่นขนาดย่อมขึ้นมาเพื่อสร้างระบอบในการอยู่ร่วมกัน มีการกำหนดหมู่บ้าน-ตำบลขึ้น โดยให้เด็กๆ ได้เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งหมายถึงผู้นำหอพักแต่ละอาคาร ส่วนกำนัน จะเป็นผู้ปกครองดูแลความเรียบร้อยของหอพักทั้งหมด ตำแหน่งเหล่านี้จะได้รับผ่านการเลือกตั้งจากเด็กทุกคนในหอพัก มีวาระทำงานหนึ่งเทอมการศึกษา ระหว่างนั้นจะมีการประชุมทุกสัปดาห์ โดยผู้ได้รับตำแหน่งสามารถถูกอภิปรายข้อดีข้อเสียในการทำงาน และด้วยเสียงส่วนใหญ่ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมีสิทธิ์ถูกถอดถอนได้ก่อนหมดวาระเพื่อเลือกตั้งใหม่ โครงการนี้ครูพี่เลี้ยงจะมีหน้าที่ดูแลภาพรวม เป็นที่ปรึกษาและช่วยจัดระเบียบให้การดำเนินงานต่างๆ มีความเรียบร้อย” อาจารย์มุสตากีมกล่าว

ครูที่ปรึกษา กล่าวต่อไปว่า บ้านมหาดไทย มีวัตถุประสงค์ให้เด็กได้ฝึกฝนเรื่องบทบาทของตนในสังคม ทำให้เขารู้จักหน้าที่ตนเอง และตระหนักถึงสิทธิที่พึงมี ทั้งในการเลือกตั้งผู้นำชุมชน และการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ในชุมชนของเรา การเรียนรู้เรื่องพหุวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญ เด็ก ๆ ต้องอยู่ร่วมกันโดยมีที่มาจากต่างความเชื่อ ต่างวัฒนธรรม และต่างศาสนา พวกเขาต้องเปิดใจยอมรับ ให้เกียรติ และทำความเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ให้ได้ เพื่อทุกคนจะสามารถปรับตัว แชร์พื้นที่ เสนอความคิด และทำงานร่วมกันให้บรรลุผล

“การทำกิจกรรมฝึกอาชีพจะทำให้เขารู้จักตัวเอง ได้นำสิ่งที่อยู่ภายในตัวเองออกมาให้คนอื่นรับรู้ เรื่องนี้สำคัญ เด็กต้องรู้ว่าเขาอยากได้อะไร อยากเป็นอะไร ได้รับโอกาสแล้วจะเอาไปพัฒนาสู่สิ่งที่ตนอยากเป็นได้ยังไง ส่วนหน้าที่ของครูคือการสร้างเขาให้เป็นคนที่มีความฝัน เติบโตไปอย่างมีเป้าหมายในชีวิต มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนกิจกรรมการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันจะช่วยละลายทัศนคติและพฤติกรรม ทำให้เขามองเห็นเพื่อนทุกคนหรือคนในสังคมทุกคนในฐานะเพื่อนมนุษย์ ไม่แบ่งแยกกันด้วยความแตกต่างใดๆ” อาจารย์มุสตากีมกล่าวสรุป