ผนึกองค์ความรู้ นวัตกรรม ความร่วมมือระดับเอเชียแปซิฟิก สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ผนึกองค์ความรู้ นวัตกรรม ความร่วมมือระดับเอเชียแปซิฟิก สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

เมื่อเร็วๆนี้ที่โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร องค์การยูเนสโก (unesco) ได้จัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการศึกษา 2030 ครั้งที่ 5 (5th Asia-Pacific Meeting on Education 2030) เพื่อหารือแนวทางการทำงานและประเด็นการทำงานที่สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียมภายในปี 2030 โดยมีคณะกรรมการกำกับทิศทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (The SDG-Education 2030 Steering Committee) และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟก เข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 1-4 ต.ค.ที่ผ่านมา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ร่วมนำเสนอแผนการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (International conference on equitable education: All for Education) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปี 2020 เพื่อให้คณะกรรมการกำกับทิศทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษาและผู้เข้าร่วมประชุมทราบถึงกรอบแนวคิดและเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมวิชาการฯ ดังกล่าว

“การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา เป็นโอกาสสำคัญที่หน่วยงาน องค์กรและบุคลากรที่ทำงานด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ร่วมทบทวนแนวทางการทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาหลังจากการประกาศปฏิญญาจอมเทียน ซึ่งเป็นการประกาศความมุ่งมั่นของผู้นำประเทศเกือบ 200 ประเทศที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ดร.ไกรยศระบุ

ดร.ไกรยศ กล่าวว่า โดยการประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ นวัตกรรม และเป็นพื้นที่ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยมีประเด็นหลักในการประชุมคือ การกำหนดเป้าหมาย และแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education: Priority of Actions) เนื้อหาการประชุมจะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญและกลุ่มเป้าหมายหลักในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ นวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบบการผลิตและพัฒนาครู เป็นต้น

ขณะที่ นายชิเกรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก กล่าวว่า องค์การยูเนสโกยินดีสนับสนุนการประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ที่ กสศ. ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและระดับนานาชาติจะร่วมจัดขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกความก้าวหน้าหนึ่งของการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งทางองค์การยูเนสโกสนับสนุนให้มีการนำผลการประชุมไปรายงานในการประชุม SDG4 ระดับรัฐมนตรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 2 the 2nd Ministerial Conference on SDG 4, 2020 ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษาซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2020 ซึ่งทำให้เห็นว่าการประชุมทั้ง 2 การประชุมนี้จะช่วยสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษาปี 2030 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เป็นอย่างดี