สลัดทิ้งอาชีพแบกพริก สู่นักเรียนอาชีวะ ‘ระบบราง’

สลัดทิ้งอาชีพแบกพริก สู่นักเรียนอาชีวะ ‘ระบบราง’

ชีวิตคนเราทุกคนมีปัญหา มีความทุกข์ยากลำบากแตกต่างกัน จริงอยู่เราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่สิ่งที่เราเลือกได้คือเลือกที่จะให้ชีวิตของเราเป็นอย่างไรต่อไป เหมือนเรื่องราวนายวีรชล จันทร์มูล หรือ “น้องก๊อต” ปวส.ชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบราง วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่วันนี้ได้รับโอกาสชีวิตใหม่ได้เรียนหนังสือต่อผ่านทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาพทางการศึกษา (กสศ.)

วีรชล เล่าให้ฟังว่า ตัวเองเป็นชาวอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 คิดว่าต้องหยุดเรียน เนื่องจากฐานะทางบ้านค่อนข้างลำบากถึงขั้นแย่ ที่ผ่านมาชีวิตต้องออกไปรับจ้างทำงานตลอด ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวทุกอย่าง ตระเวนไปรับจ้างเก็บพริกได้ค่าแรง 200 บาทต่อวัน ถ้าบางวันแบกพริกได้ค่าแรง 300 บาทต่อวัน แล้วแต่งานจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปทำพอที่ร่างกายจะทำได้

“เหมือนแสงสว่างส่องทางชีวิต ผมเห็นวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาประกาศรับสมัครนักศึกษา โดยเป็นทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เลยปรึกษาพ่อกับแม่เพื่อขอเรียนต่อที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครอบครัวรู้สึกกังวลเป็นห่วงเพราะมันไกลบ้าน จนพ่อแม่ใจอ่อนอนุญาตให้มาลองสมัครเรียนดู กระทั่งได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้เรียนต่ออีกครั้ง” วีรชล ย้อนเล่า

วีรชล สารภาพความรู้สึกครั้งนี้ว่า ถ้าไม่มีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงวันนั้น วันนี้ก็ยังคงไปรับจ้างเก็บพริกแบกพริกอยู่เหมือนเดิมแน่นอน ยอมรับตามตรงว่า “ถ้าไม่มีทุนก็จะพยายามไปกู้ยืมคนอื่นมาก่อน หรืออาจต้องปล่อยไปตามสถานะภาพชีวิต ถ้าหากหมดหนทางพึ่งจริงๆคงต้องหยุดเรียน ในใจคิดว่าถ้าเป็นเช่นนั้นเสียดายมากที่ไม่มีเงินแล้วต้องหยุดเรียนไป แต่ทุนนี้ก็ทำให้มีโอกาสได้เรียนหนังสืออีกครั้ง”

ตอนนี้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปหลังได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้มีชีวิตใหม่กลับเข้าสู่การเรียน ถึงครอบครัวลำบากก็ยังมีทุนการศึกษานี้ช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายทุกด้าน ทั้งค่าหอพัก ค่าเทอม ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์การเรียน ฯลฯ

อีกทั้งในหลักสูตรสาขาวิชาที่เลือกเรียนยังเป็นสาขาใหม่และเปิดโอกาสให้ไปเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างประเทศ ไปดูงานของจริงและไปเรียนจริงๆที่ประเทศจีนได้อีก ส่วนค่าตั๋วเดินทางแบ่งออมเก็บมาจากทุนที่ได้รับ เพราะทุนที่ได้ถือว่าเพียงพอ และส่วนตัวไม่ได้ใช้อะไรสิ้นเปลื้อง

วีรชล เปิดอกถึงเหตุผลที่เลือกเรียนสาขาวิชาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบรางว่า เพราะหลักสูตรระยะเวลา 2 ปีนี้จะไปตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศด้านระบบราง ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเร่งขยายสร้างรถไฟความเร็วสูง เลยมองว่ามันคือโอกาสที่จะทำให้มีอัตราตำแหน่งงานรองรับแน่นอน ตอนนี้ระบบขนส่งทางรางกำลังขยายตัวในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง

“เรียนอาชีวะตอบโจทย์ชีวิตได้อย่างดี เรียนจบแล้วสามารถสมัครเข้าทำงานได้ทันที ถ้าเรามีความสามารถแค่ไปยื่นใบสมัครเท่านั้น และหากเราเก่งพอเขาก็รับเราเข้าทำงาน เพราะเราเรียนมาตรงในสาขา ที่ตลาดแรงงานต้องการ สายอาชีพมันตอบโจทย์เรื่องอาชีพได้จริง บางคนเรียนระดับปริญญาตรีมายังไม่มีงาน หรือทำงานไม่ตรงกับสายงานของตัวเอง สวนทางกับสายอาชีพที่จบไปสามารถทำงานในวิชาชีพที่ตรงกับการเรียนได้” วีรชล บอกอย่างมั่นใจ

สิ่งที่สำคัญที่สุด วีรชล มองว่า ถ้าเรามีความรักที่จะเลือกเรียนในสิ่งนี้ เลือกเรียนในทางนี้ซึ่งเป็นการเลือกเรียนเฉพาะทาง ถ้าเรามีใจรัก ก็สามารถทำงานได้อย่างยั่งยืนในสายอาชีพ