ดึง’บอร์ดเกมส์’สู่ไอเดียพัฒนาการสอน อุดรูรั่วความเสมอภาคในห้องเรียน

ดึง’บอร์ดเกมส์’สู่ไอเดียพัฒนาการสอน อุดรูรั่วความเสมอภาคในห้องเรียน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ใช้พื้นที่ เวทีอบรม Game Learning Design ออกแบบเพื่อสร้างห้องเรียนแห่งความเสมอภาค วันที่ 22-23 เมษายน 2562 โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ระดมความคิดจากผู้เข้าร่วม ตั้งโจทย์ออกแบบการเรียนการสอนอย่างไรให้เกิดความเสมอภาคในห้องเรียน พร้อมวิทยากรบรรยายสาระความรู้อย่างคับแก้ว เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงหวังเข้าไปกระตุ้นความคิดให้เด็กและครูมีความสุขอย่างเท่าเทียมในห้องเรียน

ผศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กล่าวว่า ได้ปรับบอร์ดเกม ซึ่งถือว่า เป็นกิจกรรมฝึกสมอง เพราะสามารถช่วยพัฒนาสมองให้คิดได้อย่างซับซ้อน ช่วยพัฒนาความจำ พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ มาเป็นกิจกรรมที่ ท้าทายผู้เข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าการทำกิจกรรมใดให้สำเร็จต้องทำเป็นทีม มีส่วนร่วมกับผู้อื่น แต่ไม่ใช่ใครคนใดคนเดียวเก่งที่สุด นั่นจะนำไปสู่บรรยากาศของการเท่าเทียมความเสมอภาคดีเท่ากัน ครูต้องตีโจทย์ให้แตก ตั้งแต่การวัดผล จัดการเรียนการสอนอย่างไรที่จะให้ผู้เรียนสลับบทบาทกันมาเป็นฮีโร่ได้ทุกคน ได้รับบทบาทการเป็นผู้นำได้อย่างเท่าเทียมกัน การวัดผลยังไงที่จะวัดได้ทุกมิติ แต่ไม่การวัดเพียงแค่มิติ นั่นคือความเสมอภาค

ผศ.ดร.ธันยวิช กล่าวว่า กิจจกรรมจากบอร์ดเกมจะท้าทายให้ครูค่อยๆ เติมด้วยหลักสูตรที่ส่งเสริมทุกความถนัดทุกมิติของเด็ก และการวัด ประเมิน ต้องวัดทุกมิติของเด็ก ฝึกในเรื่องของการมอง วัด และประเมินเด็ก จนไปสู่การออกแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม ครูต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าเราไม่ควรวัดเด็กในมิติเดียว เพราะจริงๆมนุษย์มีความถนัดแตกต่างกัน ไม่ควรวัดอะไรที่ไม่ใช่แค่การวัดมุมเดียว ไม่ใช่คนท่องจำเก่งเป็นเด็กที่ดีและเก่ง ส่วนเด็กที่จำไม่เก่ง คำนวณไม่เก่ง อ่านไม่เก่งกลายเป็นท้ายห้องหลังห้อง

“ความเสมอภาคในห้องเรียนที่มันไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีเด็กหน้าห้องและเด็กหลังห้อง มีมาตั้งแต่โบราณ จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นแบบนั้น ห้องเรียนต้องเป็นห้องเรียนที่ครูต้องวัดทุกมิติทุกทักษะ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในห้องเรียนคือไม่มีใครเก่งและดีในทุกเรื่อง ทุกคนเก่งและดีแตกต่างกัน ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้จนกลายเป็นนิสัยของเด็ก” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ฯ กล่าว

อรรถพล ประภาสโนบล ทีมงาน inskru กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่คิดว่าเห็นชัดเจนจากการกิจกรรม Game Learning Design คือในแง่ของความสัมพันธ์ ที่ผ่านมาครูอาจสอนในรูปแบบทั่วไป อาจมีเด็กถูกทิ้งไว้แน่นอน เด็กที่สนใจเรียนจะจดจ่ออยู่กับบทเรียน และครูจะสนใจกับเด็กที่จดจ่อกับบทเรียนนั้น แต่ถ้าบอร์ดเกมส์ หรือ Game Learning Design เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเล่น เรียนรู้ ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลังข้าง เพียงแต่กลไกเกมส์พยายามทำให้คนมีบทบาทมีส่วนร่วมในห้องเรียน

“ตัวอย่างเช่นเกมส์ฮาริการิ เป็นลักษณะของการแจกการ์ดไพ่มีรูปผลไม้ หากได้สีเดียวกันครบ 5 ใบใครเห็นก่อนก็ตบก่อน การเล่นทุกคนก็นั่งล้อมวงเล่นกันทุกคนทั้งห้องเรียนได้ ที่สำคัญยังแฝงเรื่องสาระความรู้สีสันของการ์ดไพ่ ทำให้เด็กทุกคนเชื่อมสัมพันธ์สนิทสนมกัน” ทีมงาน inskru ระบุ

อรรถพล กล่าวว่า ถ้าเด็กเริ่มมองเห็นว่าครูไม่ได้ทิ้งใครไว้เด็กจะเริ่มรู้สึกถึงความโอบอุ้มในห้องเรียน ที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและทุกคนมีความเสมอภาค อันนี้เป็นความรู้สึกของตัวเด็กเองที่อาจรู้สึกถึงตรงนี้ ขณะเดียวกันครูที่ออกแบบการสอนถ้าออกแบบการสอนแบบนี้เรื่อยๆ จะทำให้เด็กทุกคนในห้องเรียนมีส่วนร่วมกัน จึงคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นจุดเล็กๆที่ช่วยผลักดันให้เกิดความเสมอภาคภายในห้องเรียนได้

เช่นเดียวกับ ปวีณา จันทร์สุข อาจารย์สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กล่าวว่า คำว่าห้องเรียนเสมอภาคเพียงแค่ครูเปิดรับฟังใส่ใจเด็กทุกคนถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กทุกคนแล้ว ให้คิดว่าเด็กมีความสามารถความถนัดบางอย่างที่แตกต่างออกไป เพียงเท่านั้นเด็กจะเริ่มเปิดใจอยากเรียนกับครู หลังจากนั้นการพัฒนาในตัวเด็กจะค่อย ๆ เริ่มเกิดขึ้นเอง

ในหลักการคำว่าเสมอภาคจริงๆคือทุกคนมีสิทธิมีเสียง เพียงแต่เด็กบางคนไม่กล้าพูด ดังนั้นครูมีส่วนสำคัญต้องปรับการเรียนการสอนผ่านการรับฟังเด็กมากขึ้น แม้ว่าสิ่งที่ตัวเด็กพูดอาจไม่ตรงกับที่เด็กคิด แต่ครูต้องรับฟังเด็ก โดยมีเป้าหมายคือเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเด็ก เพราะอย่างน้อยเด็กจะรู้สึกว่ายังมีครูที่เชื่อมั่นพวกเขาจนนำไปสู่การแสดงออก

#กสศเปิดประตูสู่โอกาส #inskru #ห้องเรียนเสมอภาค #ไอเดีย