ช่างซ่อมประจำชุมชน สู่แชมป์เหรียญทองฝีมือฯ

ช่างซ่อมประจำชุมชน สู่แชมป์เหรียญทองฝีมือฯ

“ผมเลือกเรียนช่างยนต์เพราะชอบมาตั้งแต่เด็ก ตั้งใจมาตลอดว่าจบ ม.3 แล้วเราจะเรียน ปวช. มันเหมือนเป็นความอยากรู้อยากเรียนที่ไม่เคยหายไป ผมชอบดูชอบศึกษาเรื่องเครื่องยนต์ใ อินเตอร์เน็ตอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเข้ามาเรียน อยากรู้ว่าข้างในรถยนต์มีส่วนประกอบอะไรบ้าง อยากซ่อมเป็น อยากรู้ว่าการประกอบซ่อมแซมรถยนต์ทั้งคันต้องรู้”

วิชญาพล คงรอด หรือ ‘ขนุน’ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 เกริ่นถึงความหลงใหลในวิชาชีพช่างยนต์ ซึ่งนำพาตัวเองเข้ามาเรียนในแผนกวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก และด้วยมุ่งมั่นกับการเรียนรู้ ทั้งที่ยังอยู่เพียงชั้น ปวส.1 แต่ขนุน ก็เพิ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง สาขาเทคโนโลยียานยนต์ ในการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ระดับภาค จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 22 คน ที่มีทั้งนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ช่างยนต์อาชีพจากบริษัทยานยนต์เจ้าใหญ่ รวมถึงนักศึกษาสายอาชีวะที่มีประสบการณ์และชั้นเรียนสูงกว่า

ขนุน เล่าว่า ได้ลงแข่งขันเพื่อหวังเปิดประสบการณ์ อยากลงสนามไปแสดงความสามารถที่ได้ฝึกฝนร่ำเรียนมา ไม่ได้คิดถึงว่าตนเองจะได้รางวัล เพราะเป็นการลงแข่งครั้งแรก แต่การที่ประเมินตัวเองว่ายังต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอีกมาก ประกอบกับความช่วยเหลือของอาจารย์ ทำให้ผลที่ออกมาดีเกินกว่าที่คาดหมายไว้

“ตื่นเต้นมากครับ ตอนไปถึงสนามแข่งก็อยากจะลงไปทำเร็วๆ กติกาการแข่งเขาจะให้เราแก้ปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ทั้งหมด 5 สถานี ผมจำได้ว่าเข้าไปสถานีแรกก็พลาดเลย เพราะเราตื่นเต้นเกินไป ผมทำไม่ทัน เครื่องมือก็มีปัญหา ครูเขาก็ให้กำลังใจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยิ่งทำให้ผมคุมสติได้ ก็เลยหายตื่นเต้น แล้วค่อยๆ จัดการอีก 4 สถานีที่เหลือจนผ่านไปได้”

ความช่วยเหลือของอาจารย์ทำให้ผมลงมือทำได้อย่างเป็นระบบ เพราะตอนที่ซ้อมเขาจะช่วยผมจัดตารางว่าวันไหนต้องซ้อมต้องรู้เรื่องอะไร อาจารย์ให้เวลากับผมเต็มที่ ผมจึงเรียนรู้บทเรียนยากๆ ได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็เอาไปใช้ได้จริง ทั้งที่เป็นศาสตร์ที่ระดับชั้น ปวส.1 ยังเรียนไม่ถึง

ด้านอาจารย์พิเชษฐ์ พุฒิซ้อน ผู้ทำหน้าที่โค้ชและที่ปรึกษา กล่าวว่า งานที่ผ่านไปเป็นโครงการ World Skill Thailand ของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานระดับภาค ที่จัดทุก 2 ปี โดยเปิดแข่งขันแบบโอเพ่นสำหรับผู้มีอายุไม่เกิน 25 ปี ดังนั้นผู้เข้าแข่งขันจึงมีช่างยนต์ทุกระดับลงแข่ง แม้กระทั่งช่างมืออาชีพจากบริษัทรถยนต์ที่มีชื่อเสียงหรือจากสถานประกอบการใหญ่ๆ ก็มาลงแข่งด้วย

“ส่วนตัวเห็นความตั้งใจ ความรับผิดชอบ และทักษะพื้นฐานการใช้เครื่องมือผนวกกับผลการเรียนภาคปฏิบัติที่เขาทำ ได้ดีมาตั้งแต่ยังเรียน ปวช. จึงสนับสนุนให้ลองเข้าแข่งขัน เราก็มาช่วยออกแบบการฝึกซ้อมให้ ให้เขาได้ลองทำมากที่สุด เน้นให้เขาเข้าใจปัญหา แก้ไขได้ถูกต้องตามลำดับขั้นตอน ส่วนผลจะเป็นยังไงก็ไปวัดกันหน้างาน ก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะชนะ ได้ที่สองที่สามมาเราก็ว่าดีแล้ว แต่เราจะสอนให้เขาประเมินคู่แข่งขันไว้ให้สูง จะได้มีความตั้งใจ ไม่ประมาท จดจ่อกับการซ้อม เพราะการวัดทักษะการแก้ปัญหาด้านช่างยนต์มันหมายถึงใครซ้อมมาหนักกว่าก็มี โอกาสทำได้ดีกว่า”
อาจารย์พิเชษฐ์ กล่าว

ทักษะที่ดีของขนุนไม่เพียงได้รับจากการเรียนรู้ในวิทยาลัย แต่ยังเกิดจากความสนใจใส่ใจในวิชาชีพจนกลายมาเป็นงานอดิเรก โดยเขามีหน้าที่เป็นช่างประจำชุมชน ใครที่มีปัญหามอเตอร์ไซค์สตาร์ทไม่ติด หรือเครื่องตัดหญ้ามีปัญหาก็มักจะแวะเวียนมาให้เขาซ่อมเสมอ รวมถึงงานเพื่อสังคมที่เจ้าตัวได้เข้าร่วมกับวิทยาลัย ในการนำทักษะวิชาที่เรียนรู้มาคืนประโยชน์ให้กับสังคม เช่นประสบการณ์ในการลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา

“การลงพื้นที่ทำให้ผมได้เห็นว่าสถานการณ์น้ำท่วมถึงจะแค่ไม่นาน แต่มันทิ้งความเสียหายหนักมาก น้ำมันหลากลงมาแล้วขังอยู่ในเมือง ท่วมสูงอยู่วันสองวันก็ลด แต่สิ่งที่ผมได้เห็นคือคนที่เขาเดือดร้อนต้องสูญเสียทรัพย์สินสิ่งของไปกับน้ำท่วม รถหลายคันจมอยู่ในน้ำ สตาร์ทไม่ติด พวกเราก็เข้าไปช่วยกันถึงบ้านเขาเลย ช่วยซ่อมช่วยตรวจเช็คให้กลับมาใช้งานได้ บ้านไหนไม่มีรถ ก็เข้าไปช่วยเขาเก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน ขนของ เคลียร์พื้นที่ ทำทุกอย่างเท่าที่พวกเราจะทำได้” อาจารย์พิเชษฐ์ระบุ

กิจกรรมช่วยน้ำท่วมนี้ เป็นโครงการหนึ่งที่ทางวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก ได้ส่งนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สาขาวิชาช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า และเทคนิคเครื่องกล เข้าไปให้การบริการช่วยเหลือประชาชนในเชิงงานช่าง ซ่อมแซมรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จมน้ำ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาให้สถานการณ์หลังน้ำลดคลี่คลายได้เร็วขึ้น

โดย อาจารย์กีรติ พลหาญ ครูผู้ดูแล นศ. ทุน ฯ กล่าวว่า ทุกครั้งที่ชุมชนต้องการความช่วยเหลือแล้วอยู่ในวิสัยที่นักศึกษาของเราทำได้ ทางวิทยาลัยจะจัดทีมงานเข้าไป สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ เราได้ตั้งใจส่งกลุ่มนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงหลากสาขาวิชาช่างให้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน เพื่อตอบแทนสังคมสำหรับโอกาสที่พวกเขาได้รับ

“เรามองว่าการบริการประชาชนด้วยทักษะวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา คือหน้าที่ของเด็กทุนฯ เพราะพวกเขาได้รับเงินจากรัฐ จากภาษีของประชาชน เขาจึงต้องตอบแทนรัฐและประชาชนที่ให้โอกาสพวกเขาได้เรียน อีกส่วนหนึ่งคือเขาจะได้ประสบการณ์การทำงานในสถานที่จริง แก้ปัญหาจริงๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการซ่อมสิ่งของที่เสียหาย แต่การให้กำลังใจและความช่วยเหลือต่อผู้เดือดร้อนคือสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้
หลังจากที่เคยเป็นฝ่ายได้รับมาแล้ว” อาจารย์กีรติกล่าว