จากความเชื่อ “เด็กทุกคนพัฒนาได้” ช่วยมุ่งมั่นเป็นครูสอนเด็กบกพร่อง

จากความเชื่อ “เด็กทุกคนพัฒนาได้” ช่วยมุ่งมั่นเป็นครูสอนเด็กบกพร่อง

?ครูยิ่งคุณ ?

ลำพังแค่การอบรมสอนหนังสือเด็กนักเรียนปกติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ยิ่งหากต้องมาสอนเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องด้านต่างๆ ยิ่งจำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะด้าน และใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นพิเศษเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาของเด็กแต่ละรายให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ตามปกติ

คล้ายกับความเชื่อของ คุณครูอาภัสรา ตังคกุลวิวิช ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษมหาจักรีสิรินธร จังหวัดนครนายก ที่ยืนหยัดมาตลอดว่า “เด็กทุกคนพัฒนาได้” และเป็นแรงขับให้เดินหน้าทำงานด้านนี้มาอย่างแข็งขันต่อเนื่อง จนได้รับรางวัล “ครูยิ่งคุณ” จากมูลนิธิรางวัลครูเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับลูกศิษย์ และแวดวงการศึกษา

“สิ่งที่ยึดถือมาตั้งแต่แรกคือความตั้งใจจะเป็นครูที่ดี ตัวดิฉันเองไม่ได้จบจากคณะศึกษาศาสตร์ ไม่ได้จบวิทยาลัยครู แต่จบมนุษยศาสตร์ แรงบันดาลใจเกิดจากที่เราได้ไปอยู่กับนักเรียน นักเรียนเป็นครูของเราคนหนึ่ง อีกส่วนหนี่งคือความสำนึกย้อนกลับไปถึงวันรับพระราชทานปริญญาบัตรจาก ร.9 ซึ่งทรงสอนให้เราเสียสละ สอนให้เราใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ พระองค์สอนเราทุกอย่าง เป็นแรงขับทำให้เราคิดว่าเราต้องทำได้ พอไปเห็นเด็ก เราก็มั่นใจว่าเราทำได้” ครูอาภัสราระบุ

ครูอาภัสรา เล่าให้ฟังว่า เริ่มบรรจุรับราชการครั้งแรกเป็นครูสอดเด็กบพร่องทางสายตาที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนจะย้ายมากสอนคนบกพร่องทางการได้ยินและบกพร่องทางสติปัญญาที่ จ.นครสวรรค์อยู่เกือบ 15 ปี ก่อนจะมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษมหาจักรีสิรินธร จังหวัดนครนายก โดยงานทั้งหมดก็จะเกี่ยวข้องกับการสอน 9 ประเภท ทั้ง บกพร่องทางการเห็น ทางสติปัญญา ทางการได้ยิน ทางร่างกายการเคลื่อนไหว ทางสุขภาพ การเรียนรู้ ทางพฤติกรรมอารมณ์ ทางการสื่อสาร ออทิสติก และ พิการซ้อน

“ทีแรกกังวลว่าจะสอนได้ไหม แต่ตอนนั้นอายุยังน้อยยี่สิบกว่า ก็รู้สึกสนุก ท้าทาย เปลี่ยนบริบทตัวเราจากที่เป็นคนกรุงเทพฯ ไปอยู่สุราษฎร์ สมัย 30 กว่าปีที่แล้วแต่ก็ไม่ได้คิดถึงบ้าน เด็กอยู่กับเราทุกวัน มีปิดเทอมใหญ่ถึงจะกลับบ้านเราถึงจะได้กลับกรุงเทพฯครั้งหนึ่ง ถามท้อไหมก็ไม่นะเป็นความท้าทายเพราะเราจบเอกภาษาไทย เราก็ต้องได้ใช้วิชากับเด็กทุกวันเป็นสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้” ครูอาภัสรากล่าว

ทั้งนี้ ตอนนั้นยังถือว่าโชคดีที่เด็กบกพร่องทางสายตายังพูดได้ ดังนั้นจึงไม่มีอุปสรรคเรื่องภาษา แค่เปลี่ยนจากตัวอักษรปกติ เป็นอักษรเบรลล์ เราก็เรียนรู้ไปกับเด็ก ซึ่งไม่ได้ยาก เราก็สนุกไปกับมันใช้สายตาอ่านได้ ไม่ต้องใช้มืออ่าน อย่างเขียนเราก็ใช้ เสลท สไตลัส หรือ เบรลเลอร์ ถ้าใช้สองอย่างนี้ได้ก็สอนได้สบายมาก ความอยากอาจจะอยู่ตรงที่มีความพิการซ้ำซ้อนอย่างหูหนวกและตาบอด แต่ถ้าหูหนวกอย่างเดียวก็ใช้ภาษามือได้ แค่การเรียนรู้อะไรที่เป็นนามธรรมจะค่อนข้างยากต้องทำให้เป็นรูปธรรม

ครูอาภัสรา มองว่า สิ่งที่ทำให้ภูมิใจคือการได้เห็นเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในระดับที่สามารถเรียนต่อได้ ทั้งโรงเรียนปกติ หรือบางคนก็ไปเรียนต่อในโรงเรียนเฉพาะทางอย่างโรงเรียนสำหรับคนบกพร่องทางการได้ยิน หรือ บกพร่องทางสติปัญญา บางคนได้เรียนจนจบปริญญาตรีมีงานทำ รับราชการไม่เป็นภาระสังคม เราภูมิใจว่าลูกของเราไม่เคยสร้างปัญหา สร้างภาระ แต่บางกรณีที่รุนแรงเรื่องเรียนต่ออาจจะลำบากก็จะไปฝึกอาชีพ มีการแข่งขันได้รางวัลระดับชาติ ซึ่งรางวัล

ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ บทบาทก็เปลี่ยนแปลงไป ต้องหันไปทำเรื่องพัฒนาครู ส่งเสริมพัฒนาเขาส่งเขาเรียนต่อไปอบรม บางอย่างเราก็ต้องสอนเพราะประสบการณ์สอนเรามากกว่า ถึงจะเปลี่ยนบทบาท แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นครู เรายังใส่สิ่งที่เรามีให้เกิดครูรุ่นใหม่ ส่งครูไปเรียนต่อเพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านนี้โดยตรง เพราะเราจะพัฒนาแบบสเปะสะปะไม่ได้เมื่อเขาเรียนเสร็จก็จะกลับมาพัฒนาเด็กของเรา

ปัจจุบันทางศูนย์มีครู 14 คน ดูแลนักเรียนที่เดินทางมายังศูนย์ประมาณ 50 คนและอีกส่วนต้องไปดูแลตามบ้านในพื้นที่รวมประมาณ 100 คน ซึ่งเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองจะเห็นว่ามีเสียงตอบรับที่ดี เขาเห็นพัฒนาการลูกหลานที่ดีขึ้น เราหยิบลูกเขามาสอนทำให้งดงามขึ้น ได้เรียนต่อ ได้ทำงาน ใช้ชีวิตในสังคมได้

ครูอาภัสรา กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันต้องทำงานประสานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเด็กเช่น ได้รับการสนับสนุนจากเอกชน เรื่องการทำโครงการ “อาชาบำบัด” ส่งเด็กไปที่ฟาร์มสัปดาห์ละครั้งโดยเน้นเด็กออสทิสติกที่มีปัญหาพฤติกรรมเพราะเด็กไฮเปอร์เขาจะมีภาวะอื่นผสมเราต้องทำให้นิ่งต้องแก้ไปทีละจุด หรือโครงการ “ธาราบำบัด” ด้วยการทำสระว่ายน้ำที่ได้รับการสนับสนุนจากเอกชนจนสระว่ายน้ำใกล้สร้างเสร็จ จากเดิมที่ต้องไปสระข้างนอกสัปดาห์ละครั้งหากมีสระของตัวเองก็สามารถใช้ได้ทุกวัน

“ทั้งหมดเรามีวามตั้งใจจริง มีความเชื่อว่าเด็กทุกคนพัฒนาได้ ครูจะต้องเป็นนักคิดเป็นนักออกแบบ จึงมีความเชื่อเสมอว่า เด็กทุกคนพัฒนาได้ และจากที่เห็นเด็กมีความสำเร็จก็เป็นการยืนยันว่าเราคิดไม่ผิด ต้องทำสิ่งนี้ไปตลอด ปลูกฝังสิ่งนี้ เด็กของเราต้องพัฒนาได้ ส่วนใครจะพัฒนาได้มากได้น้อยหรือใช้เวลาสั้นยาวแตกต่างกัน ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาต้องมีวิธีการเป้าหมายระยะสั้นระยะยาว” ครูอาภัสรากล่าว