การประชุมเครือข่ายว่าด้วยการจัดการศึกษานอกระบบของเด็กด้อยโอกาสและบุคคลไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย

การประชุมเครือข่ายว่าด้วยการจัดการศึกษานอกระบบของเด็กด้อยโอกาสและบุคคลไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย

เมื่อ 23 – 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ร่วมกับองค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานครจัด การประชุมเครือข่ายว่าด้วยการจัดการศึกษานอกระบบของเด็กด้อยโอกาสและบุคคลไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษานอกระบบให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนตกหล่นของประเทศไทย (ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth) ภายใต้กรอบเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) เป้าหมายที่ 4 ในการสร้างหลักประกันด้านการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน

นายชิเกรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร กล่าวถึง นโยบายการจัดการศึกษานอกระบบสำหรับเด็กด้อยโอกาสขององค์การยูเนสโกว่า การศึกษานอกระบบเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในอดีต การศึกษานอกระบบถูกพิจารณาว่าเป็นการให้โอกาสครั้งที่สอง สำหรับผู้ที่หลุดจากระบบหรือตกหล่น บทบาทของการศึกษานอกระบบคือลดอัตราการไม่รู้หนังสือ แต่ในปัจจุบัน เราควรพัฒนารูปแบบการศึกษานี้ให้เป็นมากกว่าการให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคำนึงถึงศักยภาพต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับคนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องร่วมมือกันจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กเหล่านี้

ดร.กล้า สมตระกูล อดีตรองอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน กล่าวถึง การศึกษานอกโรงเรียนกับประเทศไทย ยุค 4.0 (Out-of-School Education vs Thailand 4.0 Model) ว่า ความท้าทายของการศึกษานอกโรงเรียนศตวรรษที่ 21 มี 4 ประการ ได้แก่ การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0 การจัดการศึกษาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การตอบสนองต่อกรอบแนวคิดของยูเนสโกในมิติของการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital literacy) และการนำเอาเกียรติภูมิที่เป็นนวัตกรรมการศึกษานอกโรงเรียนในอดีตมาถอดบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานในอนาคตต่อไป

ด้านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หลังพระราชบัญญัติประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ก็นับเป็นฟันเฟืองใหม่ที่จะร่วมขับเคลื่อนงานการศึกษาร่วมกับกลไกเดิมที่มีอยู่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เห็นความสำคัญของสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตามมาตรา 54 วรรคหก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4.3 ล้านคนในทุกช่วงวัย

การขจัดปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา (Out-of-School Children) เป็น 1 ใน 6 เป้าหมายการดำเนินการของกองทุนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2557 พบว่า ประเทศไทยมีกำลังคนที่มีทักษะแรงงานขั้นสูง (High-skilled labor) ในสัดส่วนเพียง 14% ของประชากรวัยแรงงาน ในขณะที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจ 4.0 อย่างสวีเดน เยอรมัน สิงคโปร์ ฟินแลนด์ มีสัดส่วนทักษะแรงงานขั้นสูงมากถึงร้อยละ 40-50 ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่า การขจัดปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี

แนวทางการขับเคลื่อนงานของกองทุนคือการใช้ระบบสารสนเทศและการบูรณาการฐานข้อมูลของ 5 กระทรวงเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมาย และจัดสรรเงินทุนตามความจำเป็นของเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นรายบุคคล (Demand-side Financing) ซึ่งจะติดตามพัฒนาการต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ การดำเนินงานของกองทุนจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้จากการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมของกลุ่มเป้าหมายด้วยรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด

ท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้ทางเว็บไซต์ https://www.eef.or.th หรือเฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/EEFthailand/