“กสศ.- Shrewsbury- JD Central” สร้างพื้นที่เรียนรู้ ลดเหลื่อมล้ำ

“กสศ.- Shrewsbury- JD Central” สร้างพื้นที่เรียนรู้ ลดเหลื่อมล้ำ

3 องค์กรภาคีเครือข่าย “กสศ.- Shrewsbury-  JD Central”  สร้างพื้นที่เรียนรู้  ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ปลุกพลังเยาวชน รร.ชนบท-เมือง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ จำหน่ายผ่าน JD Central รายได้ไม่หักค่าใช้จ่าย ช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาค

วันนี้ (4 พ.ย.)ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury และบริษัท JD Central จัดกิจกรรมการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายโรงเรียนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการทํางานร่วมกันเพื่อเป้าหมายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาระหว่างสถานศึกษา ครู และนักเรียนในพื้นที่ชนบท และสถานศึกษาในเขตเมือง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท  รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โครงการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) เกิดจากความร่วมมือของ 3 ฝ่าย คือ กสศ. โรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury และบริษัท JD Central   โดยโรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury และบริษัท JD Central  ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา กับ กสศ. ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์  การใช้เทคโนโลยี e-commerce และการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 (Entrepreneurial Skill)     ระหว่างเครือข่ายโรงเรียน   โดย กสศ.สนับสนุนให้โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในเครือข่ายตลาดวาดฝัน ซึ่งส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตนักเรียนทุนเสมอภาค  ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า และมีนักเรียนผู้รับทุนเสมอภาคที่มีความพร้อมด้านภาษาอังกฤษเข้าร่วมในโครงการ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมกับนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury และนำมาจำหน่ายในช่องทางของ JD Central ซึ่งพร้อมจะมอบรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในโรงเรียนสังกัด สพฐ. เพื่อให้เด็กๆนำไปต่อยอดโครงการส่งเสริมทักษะอาชีพและกิจกรรมลดความเหลื่อมล้ำต่อไปในอนาคต

ดร.ไกรยส กล่าวว่า หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเรียนชนบทและเมือง อย่างไม่มีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ เด็กๆต่างมีศักยภาพที่แตกต่างกัน และนี่คือสิ่งพิเศษที่พวกเขาเติมเต็มซึ่งกันและกันได้  กสศ. และองค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา อยากเห็นสังคมไทยมีความก้าวหน้าเป็น Thailand 4.0  ที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ผ่านระบบการศึกษาที่มีความเสมอภาค เด็กเยาวชนไทย วัยเรียนเป็นวัยที่มีพลัง และไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เรียนที่ไหนก็สามารถร่วมกันสร้าง ประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีหากเด็กเยาวชนจากบริบทที่มีความหลากหลายได้มีโอกาสรู้จัก หรือทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันตั้งแต่ในวัยเรียน  เมื่อก้าวพ้นจากสถาบันการศึกษา ภาพของสังคมไทยในอนาคตจะเป็นภาพที่ทุกคนสามารถทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันได้แม้จะมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างสังคมที่มีความเสมอภาค เมื่อเราเข้าใจกันทำงานร่วมกันปัญหาเรื่องการแบ่งแยกก็ไม่เกิดขึ้น

“เราหวังว่าการทำงานร่วมกันของสถานศึกษาจาก กทม. และ ทั้ง 7 จังหวัดจาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการในวันนี้ จะสามารถขยายผลสนับสนุนการทำงานของสถานศึกษาที่รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. ไปดำเนินการพัฒนากิจกรรมฝึกทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้ในอนาคต และที่สำคัญทั้ง 3 องค์กรร่วมจัดหวังอยากเห็นนักเรียนมากกว่า 100 ชีวิตที่ได้ร่วมกิจกรรมในโครงการนี้เมื่อเติบโตขึ้นในอนาคตจะเลือกศึกษาต่อในคณะ สาขาวิชาที่จะช่วยประเทศชาติ รวมถึงเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะได้เลือกทำงานเพื่อช่วยให้ประเทศชาติมีความเสมอภาคมากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นงานในฝั่งภาครัฐ หรือเอกชน”  ดร.ไกรยสกล่าว

Mr.Greg Threlfall  รองผู้อำนวยการระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี่ (Shrewsbury International School Bangkok)  กล่าวว่า  การดำเนินโครงการครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนจากหลากหลายบริบทได้ทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ เช่น ทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการสื่อสาร เป็นต้น โดยทักษะทั้งหมดนี้เป็นทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้ประกอบการที่ดีในอนาคตทั้งสิ้น นอกจากนี้นักเรียนจากหลากหลายบริบทยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมกันในอนาคต

น.ส.รวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารฝ่ายการตลาด เจดี เซ็นทรัล กล่าวว่า การที่กลุ่มเยาวชนที่อยู่ใน กทม.และต่างจังหวัดได้เข้ามามีส่วนร่วมกันคิดและเสนองานที่ทำ เห็นว่าเด็กทั้งสองกลุ่มสามารถทำงานร่วมกันได้ดี มีผลงานที่ดี ทางเจดีเซนทรัลก็ได้รับไอเดียใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เห็นได้ถึงความตั้งใจของเด็กแต่ละคนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมครั้งนี้ จึงอยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนทำโครงการลักษณะนี้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเยาวชนของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

นายโชดก พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารสินค้า เจดีเซ็นทรัล กล่าวว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างโอกาสเรื่องการศึกษา โดยเด็กจากชนบทได้พบกับเด็กใน กทม. เกิดการถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนที่อยู่ในต่างจังหวัด ขณะเดียวกันเด็กในเมืองก็ได้เรียนรู้จากน้องต่างจังหวัดถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยเด็กจากตัวเมืองก็มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เกิดเป็นกรอบการทำงานและโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็ได้เห็นการทำงานของเด็กๆ ว่ามีการค้นคว้าหาข้อมูล จนเกิดเป็นไอเดียในการจำหน่ายสินค้าที่น่าสนใจ

Ms.Cindy Horng ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จํากัด (JD Central) กล่าวว่า เจดีเซ็นทรัล ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เนื่องจากเจดีเซ็นทรัล ต้องการสนับสนุนประชากรรุ่นใหม่ในประเทศไทย และเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่าง เจดีเซ็นทรัล โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะช่วยนำโอกาสที่ดีมาสู่นักเรียนในประเทศไทยทุกคน โดยส่วนตัวมองว่าความเสมอภาคทางการศึกษาคือการที่คนทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนหรือมีทรัพยากรมากหรือน้อยเพียงใด

“Cindy เกิดในครอบครัวของผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย แต่โชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดี เช่นการได้ศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสมาสร้างสรรค์โครงการเพื่อสังคมในนามบริษัทเจดีเซ็นทรัล ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ และกสศ. เพื่อส่งต่อโอกาสสู่นักเรียนรุ่นใหม่ในวันนี้” Ms.Cindy กล่าว