เด็กเยาวชนยะลา ขอบคุณนายกรัฐมนตรี หนุนยะลา เป็นหนึ่งในจังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

เด็กเยาวชนยะลา ขอบคุณนายกรัฐมนตรี หนุนยะลา เป็นหนึ่งในจังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

นายกฯ สั่งทุกหน่วย รวมรวบ ทำฐานข้อมูลเด็กนอกระบบแบบบูรณาการ และช่วยให้ได้รับการศึกษาโดยเร็ว ย้ำรัฐบาลมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ที่อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมืองยะลา จังหวัดยะลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เยี่ยมชมศูนย์ประสานงานกิจการเด็กและสตรีซึ่งอยู่บริเวณชั้นหนึ่งของศูนย์ราชการจังหวัดใช้แดนภาคใต้ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้รับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานจากหน่วยงานต่าง ๆ และสั่งการให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามรวบรวมข้อมูลของเด็กให้ได้มากที่สุด จัดเป็นฐานข้อมูลของเด็กที่อยู่นอกระบบแบบบูรณาการเพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษา โดยให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะรัฐบาลให้ความสนใจและความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเท่าเทียมเสมอภาค จึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง

จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้พบกับนักเรียนและนักศึกษาที่ได้รับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)ในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยนายมุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา นางสาวรุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัด อบจ.ยะลา กล่าวรายงานภาพรวมการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดยะลาด้วยระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE จากนั้นนางสาวฟาตีฮะห์ วิชา นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 วิทยาลัยชุมชนยะลา เป็นตัวแทนกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้โอกาสได้เรียนสูงขึ้น หากไม่มีกองทุนดังกล่าว คงไม่ได้เรียนต่อและคิดไม่ออกว่าอนาคตจะทำอะไรต่อไป ดังนั้นกองทุนนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นการให้อนาคตใหม่กับพวกตน

ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทุกคนตั้งใจเรียนให้มากๆ เพราะการศึกษาจะเป็นช่องทางในการลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสในชีวิตและทำให้คนมีคุณภาพ ต่อมาเด็กๆได้มอบดอกไม้เป็นกำลังใจให้กับนายกรัฐมนตรีและถ่ายรูปหมู่ร่วมกันเป็นที่ระลึก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้สวมกอดให้กำลังใจ นายมะสากิ มีมะ อายุ 16 ปี จาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นเยาวชนที่ไม่เคยเข้าสู่ระบบการศึกษา อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และยังมีปัญหาทางการเคลื่อนไหว นิ้วมือนิ้วเท้าบิดงอ ขาไม่มีแรง โดยนายมะสากิ เป็นหนึ่งในเยาวชนนอกระบบที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดยะลา ให้เข้าสู่ระบบการศึกษาและช่วยเหลือทางสุขภาพต่อไป

ขณะที่ นางสาวรุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัด อบจ.ยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลา เป็น 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาโดย อบจ.ยะลาร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ.ดำเนินงานเชิงรุกเพื่อบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่เบื้องต้น มุ่งช่วยเด็ก 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เด็กในระบบ จังหวัดยะลามีนักเรียนในสังกัด สพฐ. ระดับชั้นประถมศึกษา –มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 40,723 คน ในจำนวนนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาคที่ กสศ. ช่วยเหลืออยู่ จำนวน 10,101 คน เด็กกลุ่มนี้ได้รับเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขจาก กสศ. เพื่อเป็นค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่ากิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา โดยปีการศึกษา2562 ขยายความช่วยเหลือไปยังนักเรียนยากจนพิเศษสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมพื้นที่จังหวัดยะลาด้วย

นอกจากนี้ ยังมีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของกสศ. สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีความสามารถได้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพ ในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน โดยจังหวัดยะลามีนักศึกษารับทุนนี้จำนวน 23 คน จากวิทยาลัยชุมชนยะลา เป็นทุนต่อเนื่อง 2 ปี ในระดับอนุปริญญาสายอาชีพ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร

รองปลัด อบจ.ยะลา กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่ 2 เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ดำเนินงานภายใต้โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดยะลา โดย อบจ.ยะลา เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสนอกระบบให้ได้รับการศึกษาตามศักยภาพและความถนัด เบื้องต้นช่วงสิงหาคม-กันยายนนี้จะมีกระบวนการค้นหา คัดกรองกลุ่มเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 2-21 ปี ในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา รวมทั้งสิ้นจำนวน 9,684 คน ซึ่งเป็นข้อมูลตัวเลขตั้งต้นจากกรมการปกครอง หักลบกับข้อมูลนักเรียนจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปคัดกรองให้ได้ตัวเด็กนอกระบบ และสร้างกลไกบูรณาการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือรายกรณีต่อไป เช่น สนับสนุนทุนเพื่อนำกลับสู่ระบบการศึกษา หรือฝึกทักษะอาชีพตามความถนัดและศักยภาพของเด็ก

“การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้จริงต้องคำนึงถึงความหลากหลายของบริบทพื้นที่ยะลา ซึ่งมีสภาพสังคมพหุวัฒนธรรม การดูแลจัดการศึกษาจึงต้องคำนึงถึงต้นทุนของเด็กที่แตกต่างกันด้วย เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือรายกรณีเกิดขึ้นได้จริง ถึงจะสามารถบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำการศึกษาในจังหวัดยะลาได้ เรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ ล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือกับ 45 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อให้เกิดกลไกจัดการปัญหาที่เข้มแข็งในระยะยาว” รองปลัด อบจ.ยะลา กล่าว