‘กลุ่มเปราะบางทางการศึกษา’ ด่านที่ต้องฝ่าเพื่อความเสมอภาค
โดย : ชลิดา หนูหล้า
ภาพ : กฤตพร โทจันทร์

‘กลุ่มเปราะบางทางการศึกษา’ ด่านที่ต้องฝ่าเพื่อความเสมอภาค

หาก ‘กลุ่มเปราะบางทางสังคม’ คือประชากรกลุ่มที่ไม่อาจเข้าถึงบริการสังคมด้วยเหตุผลหลากหลาย ‘กลุ่มเปราะบางทางการศึกษา’ อาจเป็นคำบรรยายที่ครอบคลุมที่สุดของผู้เรียนกลุ่มที่ถูกกีดกันจากระบบการศึกษา หรือถูกละเลยโดยระบบการศึกษา และนำไปสู่การเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้จะดูเหมือนง่าย แต่ปัญหาว่าด้วย ‘กลุ่มเปราะบางทางการศึกษา’ กลับมีความสลับซับซ้อน เรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่การประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา (The International Conference on Equitable Education: All for Education) ระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม หยิบยกมาอภิปรายเป็นหัวข้อหลัก โดยผู้เชี่ยวชาญจากระดับโลกจากสมาชิกองค์การส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในออสเตรเลีย รวมถึงนักวิชาการจากกลุ่มธนาคารโลกและองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)  กล่าวถึงผู้เรียน 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงถูกกีดกันจากระบบการศึกษาสูงแม้ในภาวะปกติ และยิ่งสูงระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้แก่ ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

เนื้อหาการอภิปรายดังกล่าวเน้นวิสัยทัศน์และแนวปฏิบัติที่นำไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา (Vision to action of equitable education) โดยผู้ร่วมอภิปรายได้แนะแนวปฏิบัติที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือผู้เรียนซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางทางการศึกษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนี้

‘ความต้องการพิเศษ’ ที่ถูกละเลยในภาวะปกติ และถูกลืมในภาวะวิกฤต

รอนดา กาลบาลลี (Rhonda Gallbally) นักสังคมสงเคราะห์ ผู้สนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและสิทธิคนพิการ รวมถึงคาเทีย มาลาเควียส (Catia Malaquias) ผู้สนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน และการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education) ต่างให้ความสนใจแก่การถูกกีดกันจากระบบการศึกษาของกลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดยรอนดาเป็นหนึ่งในคณะราชกรรมาธิการ (Royal Commission) ที่พยายามยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างครบวงจร โดยนอกจากสนับสนุนคนพิการและครอบครัว ยังให้การสนับสนุนแก่นักวิชาการที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับคนพิการด้วย

รอนดากล่าวอย่างหนักแน่นว่า “หากการจัดการศึกษาแก่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษถูกลดทอนความสำคัญ พวกเขาย่อมขาดโอกาสในการดำเนินชีวิตอย่างผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม” โดยหากต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการนั้น รอนดายืนยันว่า “ต้องเริ่มต้นที่ห้องเรียน”

รอนดากล่าวว่า แม้ก่อนการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 คนพิการและผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษก็มักถูกแยก (segregate) จากชุมชนเป็นปกติ และยิ่งย่ำแย่ในภาวะวิกฤต โดยสิ่งที่ให้กำเนิดความอยุติธรรมดังกล่าว ได้แก่นโยบายที่ไม่ครอบคลุม และไม่นำไปสู่การพิทักษ์สิทธิคนพิการ หรือจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฝึกฝน รวมถึงพัฒนาคนพิการอย่างจริงจัง “คนพิการมีแนวโน้มถูกเลือกปฏิบัติเพราะการขาดแรงจูงใจในการพัฒนาพวกเขา” เธอบอก “ขาดความพยายามปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับพวกเขา และการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับพวกเขา”

คาเทียอธิบายเพิ่มเติมว่าปัญหาดังกล่าวเติบโตจากการขาดความรับรู้ว่า สิทธิมนุษยชนด้านการศึกษานั้นครอบคลุม “ทุกคน” ดังนั้น ระบบการศึกษาที่ไม่ละเลยใครเท่านั้นที่จะนำไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาได้

สุนทรพจน์ของคาเทีย มาลาเควียส ในงานประกาศรางวัล Human Rights Awards
ซึ่งเธอย้ำว่าการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนด้านการศึกษา

นอกจากนี้ คาเทียยังชี้ว่ามาตรา 24 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการขององค์การสหประชาชาตินั้นให้แนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแก่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษว่า พวกเขาต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ “เท่ากับ” ผู้อื่น โดยรัฐบาลมีหน้าที่จัดสรรเครื่องอำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ พวกเขาต้องได้รับการศึกษาในห้องเรียนทั่วไป และโรงเรียนทั่วไป ไม่ถูกผลักไสสู่สภาพแวดล้อมที่ถูกแยกจากชุมชน สู่โรงเรียน หรือห้องเรียนพิเศษ โดยคณะกรรมการสิทธิคนพิการ (Committee on the Rights of Person with Disabilities) ยังให้คำอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า “เครื่องอำนวยความสะดวก” ข้างต้น ไม่ใช่เพียงเครื่องไม้เครื่องมือเท่านั้น ทว่ารวมถึงการปรับปรุงระบบการศึกษา เนื้อหา การวัดและประเมินผลการศึกษา รวมถึงการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษด้วย

อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่าแม้จะมีความพยายามในการพัฒนาระบบการศึกษาให้ครอบคลุมผู้เรียนเหล่านี้ ทว่าไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยคาเทียเชื่อว่าต้องมีข้อบังคับที่เข้มแข็งเพื่อพิทักษ์สิทธิคนพิการ และต่อต้านการเลือกปฏิบัติทั้งในระดับบุคคลและสังคม การละเลยผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษโดยโรงเรียนต้องถูกห้ามเช่นกัน รวมถึงต้องมีการสังเกตการณ์ รวบรวมข้อมูล และศึกษาผลการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง

คาเทียอธิบายว่า การละเลยผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษโดยโรงเรียนมัก “เป็นไปเพื่อความสะดวก” อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาที่ไม่ละเลยใคร คือระบบการศึกษาที่ถูกปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน โดยผู้เรียนไม่ควรต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้เหมาะสมกับระบบการศึกษา หลักสูตรการศึกษาต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อผู้เรียนที่มีความต้องการแตกต่างกัน และครอบคลุมการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างเหล่านั้นด้วย

“ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ต่างเข้าเรียนในโรงเรียนที่ถูกออกแบบเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ” คาเทียกล่าว เธอเชื่อว่าที่มาของพฤติการณ์นั้นคือความเชื่อว่า “มี ‘บางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับผู้เรียน’ แม้คำถามที่ถูกต้องคือ มี ‘บางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับโรงเรียน’ หรือไม่ต่างหาก”

เพราะการศึกษาไม่ใช่แค่ธุรกรรม แต่คือทุกปฏิสัมพันธ์ของการเรียนรู้

นอกจากผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ แฮร์รี่ เอ. พาทรินอส (Harry A. Patrinos) นักเศรษฐศาสตร์จากกลุ่มธนาคารโลก และแอนเดรียส ชไลเชอร์ (Andreas Schleicher) นักสถิติและนักวิจัยจาก OECD ต่างเห็นพ้องกันว่า ผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางทางการศึกษาที่ยิ่งถูกละเลยระหว่างการระบาด

แฮร์รี่ชี้ว่าการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยในกรณีที่เลวร้ายที่สุดนั้น เด็กๆ ทั่วโลกกว่าร้อยละ 94 หรือ 1.6 พันล้านคนต้องออกจากระบบการศึกษา โดยผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในปัจจุบันขาดการศึกษาแล้วอย่างน้อยครึ่งปี และผู้เรียนที่มีทุนทรัพย์ปานกลางก็จวนเจียนจะขาดการศึกษา

การปิดโรงเรียนถูกพิจารณาว่าจะนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำกว่าปกติ โดยสถิติชี้ว่าหลังการปิดโรงเรียนระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ในจีน จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายลดลงกว่าร้อยละ 35 และแรงงานเหล่านี้ก็จะได้รับค่าแรงต่ำกว่าปกติในอนาคตด้วย แม้จะมีการศึกษาทางไกลและการเรียนการสอนออนไลน์ก็ยังมีความแตกต่างด้านคุณภาพ ความครอบคลุม และการเข้าถึงอย่างเห็นได้ชัด

แฮร์รี่อธิบายอีกด้วยว่า ผู้เรียนที่มีรายได้มากกว่าย่อมรับมือผลกระทบของการระบาดได้ดีกว่าผู้เรียนที่ยากไร้ เพราะผลกระทบของการปิดโรงเรียนระหว่างการระบาดต่อผู้เรียนนั้นแตกต่างกันด้วยทั้งคุณภาพของแต่ละโรงเรียนในแต่ละประเทศ มาตรการเยียวยา รวมถึงระดับการศึกษาของผู้เรียนขณะมีการปิดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย โดยผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียความรู้และถูกเลิกจ้างงานน้อยกว่าผู้สำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาในระดับต่ำกว่า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบทั่วไปในภาวะวิกฤต

แผนภาพขององค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) แสดงจำนวนนักเรียนที่ต้องออกจากโรงเรียนกว่า 1.52 พันล้านคน
และประชากรกลุ่ม NEET หรือประชากรวัยแรงงานที่ไม่อยู่ระหว่างการศึกษา ประกอบอาชีพ หรือฝึกอบรมกว่า 267 ล้านคน

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เขาระบุว่าความต่อเนื่องของการศึกษาที่ชะงักด้วยการปิดโรงเรียนต้องถูกส่งเสริมโดยรัฐบาลด้วยการจัดสรรงบประมาณเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการเรียนรู้ทั้งในรายครั้งและระยะยาว พัฒนาระบบวัดและประเมินผลการศึกษาให้สอดคล้องกับการศึกษาทางไกลและการเรียนการสอนออนไลน์ รวมถึงการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่อาจต้องออกจากระบบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานชั่วคราวด้วย

แอนเดรียสเห็นพ้องกันว่า การเข้าถึงการศึกษาระหว่างการระบาดนั้นไม่เท่าเทียมกันแน่นอนระหว่างผู้เรียนกลุ่มต่างๆ และภารกิจด่วนที่สุดคือการผลกระทบของภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้เรียนต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของพวกเขา โดยเริ่มต้นด้วยการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้ใกล้เคียงกัน เพราะ “โรงเรียนที่ใกล้ที่สุดควรเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด” ซึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพเช่นฟินแลนด์นั้น มีความแตกต่างระหว่างโรงเรียนเพียงเล็กน้อย การเข้าเรียนในโรงเรียนที่แตกต่างกันจึงแทบไม่ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

นอกจากนี้ แอนเดรียสยังชี้ว่าในระบบการศึกษาเปี่ยมประสิทธิภาพนั้น ความก้าวหน้าในอาชีพของครูมักมาจากการสร้างความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนที่ขาดแคลนโอกาสหรือต้องการการพัฒนาเร่งด่วน เพื่อประกันการกระจายคุณภาพการจัดการเรียนการสอนอย่างทั่วถึง “เพราะหากคุณมีทุนทรัพย์ คุณอาจไม่ต้องประสบความสำเร็จในการเรียน” แอนเดรียสอธิบาย “ทว่าหากคุณขาดแคลนทุนทรัพย์ การศึกษาอาจเป็นทางเดียวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” การจัดสรรทรัพยากรการศึกษาอย่างทั่วถึงจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดผลกระทบของภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กๆ

อย่างไรก็ตาม นักสถิติจาก OECD ชี้แจงว่า “ปริมาณ” การลงทุนในการพัฒนาระบบการศึกษานั้นไม่สำคัญเท่ากับการจัดสรรทรัพยากรการศึกษา ซึ่งรวมถึงงบประมาณด้วยอย่างสมเหตุสมผล โดยเขาเปรียบเทียบขนาดห้องเรียนในสหรัฐอเมริกาและจีน ในสหรัฐอเมริกานั้น ห้องเรียนมีขนาดเล็กกว่า แต่ห้องเรียนขนาดเล็กเหล่านั้นไม่ใช่คำตอบเดียวของการสร้างระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ “เพราะครูไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการพัฒนาตนเอง ครูเพียงวิ่งวุ่นไปที่ห้องเรียนต่างๆ เพื่อจัดการเรียนการสอน ขณะที่ครูในจีนมีเวลาพัฒนาตนเองมากกว่า”

“เพราะการศึกษาไม่ใช่ธุรกรรม” แอนเดรียสบอก “ไม่ใช่การที่ผู้เรียนชำระเงินและครูฉายการเรียนรู้ให้พวกเขา แต่การศึกษานั้นว่าด้วยความสัมพันธ์ของทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ การเข้าใจหลักการความเสมอภาค และความสมดุลของการจัดสรรทรัพยากรจึงสำคัญมาก”

สำหรับอุปสรรคสำคัญของความเสมอภาคข้างต้นนั้น แอนเดรียสชี้ว่า เมื่อทรัพยากรที่มีคุณภาพที่สุดต้องถูกแจกจ่ายแก่นักเรียนที่ต้องการทรัพยากรนั้นที่สุด คำถามถือแต่ละประเทศจะจูงใจครูให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายเช่นนั้นอย่างไร

ในที่สุด แอนเดรียสเชื่อว่าประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้คือการปลูกฝังให้เด็กๆ เชื่อว่าความยากไร้ รูปลักษณ์ และความถนัดของพวกเขาจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เด็กๆ ต้องเชื่อมั่นว่าครูและโรงเรียนจะนำพวกเขาไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่พึงประสงค์ได้หากพวกเขาต้องการและพยายาม ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ส่งเสริมความกล้าหาญในการเผชิญปัญหาและความล้มเหลว “หากคุณไม่ยอมรับความล้มเหลว จะรู้จักการสร้างสรรค์ได้อย่างไร” เขาส่งท้าย ซึ่งความคิดสร้างสรรค์และการแก้ไขปัญหาล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่สังคมอุดมความหลากหลายกว่าในศตวรรษที่แล้ว และมีความท้าทายที่ยังไม่ถูกค้นพบจำนวนมาก

เห็นได้ชัดว่า แนวความคิดที่ผู้อภิปรายทั้งสี่มีร่วมกัน ได้แก่ความเชื่อว่าผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางการศึกษานั้นเป็นประจักษ์พยานของการขาดความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทวีความรุนแรงในภาวะวิกฤต การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เรียนกลุ่มนี้ รวมถึงการลดจำนวนผู้เรียนกลุ่มดังกล่าวในระยะยาว เพื่อการรับมือวิกฤตอื่นๆ ในอนาคตต้องพึ่งพาการลงทุนในระบบการศึกษาอย่างสมเหตุสมผล โดยคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างกันของผู้เรียนทุกกลุ่ม ไม่ว่าผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือประสบปัญหาอื่นๆ เช่น อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ฯลฯ

ระบบการศึกษาที่ไม่ละเลยใคร จึงหมายถึงระบบการศึกษาที่ไม่กีดกันผู้เรียนจากระบบการศึกษาไม่ว่าด้วยเชื้อชาติ ความยากไร้ ความถนัด หรือความต้องการที่แตกต่างกัน และระบบการศึกษาที่ไม่ละเลยใครเท่านั้นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และผลักดันผู้เรียนทุกคนให้สามารถเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างภาคภูมิ

ภาวะวิกฤตที่เปิดเผยปัญหาซึ่งกลุ่มเปราะบางทางการศึกษาต้องเผชิญนี้ แม้จะรุนแรงเพียงใด จะไม่ใช่หายนะที่ผลักไสพวกเขาจากระบบการศึกษา และส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างถาวรได้ ก็ด้วยความพยายามของสังคมในการเรียนรู้ปัญหาเหล่านั้น และร่วมมือแก้ไขเพื่ออนาคตที่สดใสกว่าของ “ทุกคน” ในสังคม ซึ่งครอบคลุม “ทุกคน” อย่างแท้จริง

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world