เมื่อการปฏิรูปการศึกษานำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ?: มองการศึกษาไทยบนถนนสายเสรีนิยมใหม่ กับ วงอร พัวพันสวัสดิ์
โดย : ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

เมื่อการปฏิรูปการศึกษานำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ?: มองการศึกษาไทยบนถนนสายเสรีนิยมใหม่ กับ วงอร พัวพันสวัสดิ์

ไม่นานมานี้ #ทำไมครูไทยอยากลาออก กลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สะเทือนสังคมไม่น้อย เมื่อเหตุผลในการขอลาออกของครูท่านหนึ่งที่แชร์เอกสารลาออกนั้นคือ ‘ระบบการประเมินคุณภาพครู’ ที่สร้างภาระงานนอกเหนือการสอนนักเรียนอย่างมหาศาล จนครูไม่สามารถทำหน้าที่ ‘ครู’ ได้อย่างเต็มที่

แต่นี่เป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นแค่ภาพหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงโลกการศึกษาหลัง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 มีผลบังคับใช้ นับได้ว่าเป็นนโยบายการปฏิรูปยกเครื่องระบบการศึกษาไทยครั้งใหญ่เพื่อปรับให้คุณภาพการศึกษาไล่ตามทันโลกที่ผันผวนมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การศึกษาที่พัฒนาทุนมนุษย์ให้มีศักยภาพเต็มเปี่ยม

อย่างไรก็ตาม นโยบายการปฏิรูปการศึกษาไทยในยุค ‘เสรีนิยมใหม่’ ไม่ได้เป็นไปตามที่เจตนารมณ์เสียทีเดียว การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งสร้างทางเลือกและความหลากหลาย ทั้งนอกสายตารัฐและภายใต้การกำกับของรัฐผ่านตัวชี้วัด กลับสร้างแรงบีบคั้นทางการกระจายทรัพยากรและทุนรอนส่วนบุคคล จนความเหลื่อมล้ำคือปลายทางที่รออยู่บนเส้นทางการศึกษา

เสรีนิยมใหม่เปลี่ยนโลกกการศึกษาไปอย่างไรกันแน่?

ในวันที่การศึกษาดูเหมือนจะเดินออกห่างจากปลายทางที่แท้จริง 101 ชวน อ.ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจรัฐผ่านมิตินโยบายการศึกษา และนโยบายสาธารณะและการบริหารภาครัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เจ้าของวิทยานิพนธ์ Neoliberalism, governmentality, education reforms and teachers in Thailand มองเบื้องหลังปรากฏการณ์ที่ตามมาจากการปฏิรูปการศึกษาผ่าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 ด้วยเลนส์เสรีนิยมใหม่ ตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงและผลข้างเคียงในนาม ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ทั้งระดับโครงสร้างและระดับห้องเรียน ไปจนถึงหนทางในการพาการศึกษาไทยกลับสู่เส้นทางสู่การเรียนรู้อย่างเสมอหน้าอีกครั้ง

อ.ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์เป็นนักรัฐศาสตร์และใช้แว่นแบบเสรีนิยมใหม่ในการทำความเข้าใจโลกการศึกษา ทำไมเลือกมองระบบการศึกษาผ่านแว่นเสรีนิยมใหม่ แว่นแบบนี้ช่วยให้มองเห็นอะไรในโลกการศึกษา เสรีนิยมใหม่และการศึกษาเกี่ยวพันกันอย่างไร

เรามองว่าเสรีนิยมใหมคือระเบียบเศรษฐกิจโลกที่กำหนดทิศทางความคิดและความเป็นไปของสังคมโลก จริงๆ ได้วิธีคิดแบบนี้มาจากอาจารย์กุลลดา (เกษบุญชู มี้ด) ตอนที่ช่วยอาจารย์ทำวิจัยเกี่ยวกับว่ารัฐไทยปรับตัวเข้าสู่ระเบียบโครงสร้างอำนาจโลกอย่างไร ลงไปดูว่าหน่วยงานต่างๆ พลังต่างๆ ในสังคมปฏิสัมพันธ์หรือต่อรองเพื่อสร้างความเห็นพ้องว่าจะอยู่ร่วมกับโครงสร้างใหม่นี้อย่างไร ซึ่งผลผลิตก็คือนโยบายที่ออกโดยรัฐไทย เลยตั้งคำถามว่า ถ้าทุกนโยบายที่ไทยกำหนดออกมาสามารถเชื่อมโยงกับความต้องการของระเบียบโลกได้ นโยบายการศึกษาก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐไทยจะต้องต่อรองเพื่อตอบโจทย์ระเบียบเศรษฐกิจโลกและพลังต่างๆ ในสังคม 

รัฐมีอำนาจในการกำหนดนโยบายการศึกษาเองก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีอิสระในการกำหนดนโยบายการศึกษาเสียทีเดียว เพราะถูกกำหนดจากความต้องการของทุนระหว่างประเทศพอสมควร ส่วนหนึ่งสามารถเห็นได้จากเนื้อหาสาระของนโยบาย ช่วงแรกๆ เราสนใจเนื้อหาของนโยบายว่าเขียนอะไรไว้ แล้วมันสะท้อนวิธีการคิดแบบไหน พอลงไปดู ก็จะเห็นแนวคิดหลักๆ เกี่ยวกับการศึกษาที่ถูกบรรจุในนโยบายแต่ละยุคสมัยและการแข่งขันแย่งชิงพื้นที่ของแนวคิดในนโยบาย เช่น แนวคิดที่ว่าการศึกษาคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับอย่างเสมอหน้า ขัดกับแนวคิดที่ว่าการศึกษาคือทุนหรือการสะสมต้นทุนของมนุษย์ที่เข้ามาพร้อมกับเสรีนิยมใหม่ แต่ทั้งสองแนวคิดก็ผสมผสานกันออกมาให้เห็นในนโยบายการศึกษาไทย  

ผลลัพธ์ของการปะทะกันระหว่างแนวคิดและผลประโยชน์ของกลุ่มพลังทางสังคมไม่ได้สังเกตได้แค่ในหน้ากระดาษเอกสารนโยบายอย่างเดียว แต่ยังลงไปในห้องเรียน และส่งผลต่อการปฏิบัติและความคิดในรั้วโรงเรียนด้วย ที่สนใจเมื่อลงไปทำตอนปริญญาเอกคือผลของนโยบายต่อครูที่เป็นตัวแสดงสำคัญในโลกการศึกษา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจะสอดคล้องกับสิ่งที่นโยบายตั้งใจจะให้เป็นหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

การใช้แว่นตาแบบนี้มองระบบการศึกษาช่วยให้เรามองเห็นอะไรที่แว่นตาแบบนักการศึกษา หรือมุมมองแบบอื่นๆ มองไม่เห็น

เวลามองการศึกษาจากมุมมองของนักการศึกษา โจทย์ตั้งต้นจะมีอยู่ว่า การเรียนการสอนที่ดีคืออะไร จะพัฒนาการศึกษาและการเรียนการสอนได้อย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ทางปรัชญาการศึกษา และโจทย์ทางเทคนิควิชาชีพการสอนที่จำกัดเพียงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน เพราะสุดท้าย ครูหรือนักการศึกษาเหล่านี้จะต้องเข้าไปอยู่ในห้องเรียนและจัดการเรียนการสอนให้เกิดผล แต่อีกคำถามที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก่อนจะเดินไปสู่ผลลัพธ์การศึกษาในอุดมคติก็คือ โลกของห้องเรียนทำงานอย่างไร มีระเบียบของการต่อสู้ต่อรองอย่างไร

คำถามนี้ทำให้ครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ต้องหันไปหาวิธีมองการศึกษาจากศาสตร์อื่น เช่น สังคมวิทยาการศึกษา (Sociology of Education) และรัฐศาสตร์ที่มองการศึกษาในมิติกระบวนการทางสังคม และมิติกระบวนการทางการเมือง องค์ความรู้เหล่านี้จะเข้ามาช่วยเติมเต็มภาพในห้องเรียนของครูไปมากกว่าแค่ตัวเด็กนักเรียน โดยนักการศึกษาจะมองเห็นครอบครัวของนักเรียน ความสัมพันธ์ของเด็กนักเรียนกับสังคม ความสัมพันธ์ของการสอนกับโรงเรียน และนโยบายการศึกษากับภาพใหญ่ของสังคมประกอบกันไปด้วย นี่คือประโยชน์ของแว่นตาแบบนักสังคมวิทยาหรือนักรัฐศาสตร์ต่อนักการศึกษา

พอไทยรับระเบียบแบบเสรีนิยมใหม่เข้ามา ทุนยุคเสรีนิยมใหม่ทำงานอย่างไรกับระบบการศึกษาไทย เสรีนิยมใหม่เปลี่ยนการศึกษาไทยไปอย่างไรบ้าง

ในยุคสังคมตลาด การขยายตัวของทุนทำให้สินค้าและบริการต่างๆ มีมูลค่าในการแลกเปลี่ยนทั้งหมด ในชีวิตประจำวัน เราไม่สามารถมีชีวิตนอกกรอบของการแลกเปลี่ยนที่อิงอยู่กับมูลค่าเงินตราได้เลย แม้แต่อากาศยังถูกทำให้มีมูลค่าในการแลกเปลี่ยน นับประสาอะไรกับการศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษาก็ถูกทำให้มีมูลค่าในการแลกเปลี่ยนเหมือนกัน ถ้าจะเรียนอะไรสักอย่าง มันจะมีราคากำกับค่อนข้างชัดเจน แม้กระทั่งโรงเรียนรัฐก็ไม่ใช่สวัสดิการให้ฟรี 100% ซึ่งจะฟรีไม่ฟรี ฟรีมากน้อยแค่ไหนก็ต่างกันไปในแต่ละประเทศ ถ้าเป็นรัฐสวัสดิการก็จะฟรีจริง

พอเสรีนิยมใหม่เข้ามา การศึกษากลายเป็นทั้งสินค้าและทุนในตัวเอง อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือแนวคิด ‘ทุนมนุษย์’ (human capital) ซึ่งสะท้อนว่าการศึกษาคือทุนสะสมของแต่ละคน เพราะฉะนั้น การศึกษาเทียบเคียงได้กับ ‘การลงทุน’ หรือเงินในกระเป๋าที่คุณเอาไปต่อยอดได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวคุณเอง กิจการ หรือประเทศ ถ้าประเทศไหนสร้าง human capital ได้ไม่ดี ประเทศก็อาจจะไม่โตเท่าที่ควร 

ถ้าถามว่าเสรีนิยมใหม่เปลี่ยนระบบการศึกษาไปอย่างไรบ้าง แนวคิดเสรีนิยมใหม่มองว่ารัฐควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้จัดหาสวัสดิการการศึกษาและผู้ผลิตทรัพยากรมนุษย์ผ่านระบบการศึกษา แล้วถอยออกมาเป็นผู้สร้างกติกาและกำกับดูแลมากกว่า พูดอีกอย่างคือ เสรีนิยมใหม่มองว่ารัฐควรปล่อยให้เอกชนจัดการการศึกษาดีกว่า ไม่ใช่ยอมให้รัฐกำกับควบคุมจนจำกัดความคิดสร้างสรรค์และไอเดียใหม่ๆ จากภาคเอกชน เพราะรัฐและระบบราชการมีประสิทธิภาพต่ำและมีความบกพร่องในตัวเองอยู่พอสมควร 

พูดง่ายๆ คือเสรีนิยมใหม่ปฏิเสธรัฐราชการ ไทยเองก็รับแนวคิดแบบนี้เข้ามาเต็มๆ นำไปสู่การตรา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ขึ้นมา แนวคิดที่สำคัญอย่างมากของ พ.ร.บ. ฉบับนี้คือการเปิดให้สังคมทุกภาคส่วนเข้ามารับบทบาทในการจัดการศึกษาร่วมกับรัฐ เพราะรัฐไม่ได้มีประสิทธิภาพและวิสัยทัศน์มากพอที่จะรู้ว่าในอีก 20 ปี หรือ 50 ปีข้างหน้า ประเทศจะต้องการทรัพยากรมนุษย์แบบไหนในการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญคือรัฐไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของการแข่งขันในตลาด ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนา ในขณะที่เอกชนปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า เพราะต้องปรับปรุงคุณภาพตามกลไกตลาดในสมัยนั้น

คำพูดที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ เลยคือ รัฐไทยผูกขาดการศึกษา ต้องยอมให้เอกชน ท้องถิ่น หรือกระทั่งผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา ส่วนรัฐต้องปล่อยการจัดการการศึกษาออกจากมือ ขยับไปเล่นบทบาทผู้กำหนดกติกา เพื่อกำหนดทิศทางของสถานศึกษาหรือครูอาจารย์แทนที่จะลงมาจัดการเอง ตรงนี้นำไปสู่การถ่ายโอนโรงเรียนสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย การอนุญาตให้ผู้ปกครองจัดการศึกษาให้บุตรได้ด้วยตนเอง (home-school) เป็นต้น ทั้งหมดนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่า รัฐต้องเลิกเป็นผู้จัดบริการการศึกษาเอง ต้องเปิดให้มีการแข่งขันในตลาดการศึกษา โดยรัฐใช้วิธีการควบคุมคุณภาพผ่านการกำหนดตัวชี้วัด 

นี่คือบทบาทใหม่ของรัฐไทยกับการศึกษา แต่ผ่านมาแล้ว 22 ปี รัฐไทยก็ยังไม่หลุดออกจากบทบาทผู้จัดการศึกษาหลักเสียทีเดียว ยังมีโรงเรียนรัฐกว่า 30,000 โรงเรียนที่รัฐจัดการ และเพียงแต่มีการปรับโครงสร้างการศึกษา ปฏิรูประบบการบริหารภาครัฐด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่านโยบายการศึกษาไทยเป็นเสรีนิยมใหม่ไหม ก็พูดได้ไม่ค่อยเต็มปาก 100% เท่าไหร่นัก 

ในระบบการศึกษาแบบเสรีนิยมใหม่ ชุดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ โรงเรียน ครู นักเรียน ผู้ปกครองเปลี่ยนไปบ้างไหม

พอการศึกษาเป็นสินค้าที่ต้องลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ ก็ย่อมต้องมีผู้ผลิต เพราะฉะนั้น โรงเรียนและครูก็เปรียบเหมือนมีสถานะเป็นผู้ผลิตบริการ ต้องแข่งขันพัฒนาสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้การศึกษามีคุณภาพ 

ส่วนผู้เรียนและผู้ปกครอง พอการศึกษาในโลกเสรีนิยมใหม่คือการลงทุนเพื่อสร้างทุนมนุษย์ การศึกษาเลยกลายเป็นเรื่องของ ‘การเลือก’ ในโลกตะวันตกเรียกว่า ‘ทางเลือกของผู้ปกครอง’ (parental choice) ที่ครอบครัวและผู้ปกครองต้องรับผิดชอบในการจัดหาและเลือกการศึกษาให้บุตรหลาน 

แน่นอนว่าทางเลือกก็ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ที่มี ทางเลือกในที่นี้นอกจากจะเลือกได้ว่าจะให้บุตรหลานเรียนโรงเรียนแบบไหน ก็ยังเลือกได้ว่าจะเลือกเรียนกวดวิชา เรียนเสริมทักษะอื่นๆ อะไรบ้าง หรือแม้กระทั่งให้ลูกไปเรียนเมืองนอกเลย ซึ่งครอบครัวมีฐานะหลายครอบครัวก็จะมองแบบนี้ ถ้ามองผ่านแว่นนักรัฐศาสตร์ เราก็จะเห็นตลาดการศึกษาที่เฟื่องฟูขึ้นมาพร้อมๆ กับทางเลือกของผู้ปกครอง การเลือกส่งลูกไปเรียนเมืองนอกก็คือการบริโภคในตลาดการศึกษาระหว่างประเทศ 

ถ้าการปฏิรูปการศึกษาผ่าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 คือผลลัพธ์จากการโอบรับเสรีนิยมใหม่เข้ามาในระบบการศึกษา พอปฏิรูปแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างในโครงสร้างการศึกษาไทย 

หลังจากออก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 พอรัฐเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาจัดการศึกษา กลายเป็นว่าส่วนที่เฟื่องฟูขึ้นอย่างมากคือโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนราคาแพง โรงเรียนนานาชาติโตขึ้นกว่า 44% เมื่อเทียบกับโรงเรียนเอกชนทั่วๆ ไปที่โตขึ้นแค่ 14% โรงเรียนทางเลือกก็เติบโตขึ้นเหมือนกัน ทั้งแบบที่คิดค่าเล่าเรียน อย่างโรงเรียนแนวมอนเตสซอรี วอร์ลดอร์ฟ หรือซัมเมอร์ฮิล และแบบที่ไม่คิดค่าเล่าเรียน อย่างโรงเรียนสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐก็เติบโตขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน รัฐก็ยังไม่ปล่อยมือจากโรงเรียนรัฐ 30,000 แห่ง  

ที่น่าสนใจคือพลวัตระหว่างรัฐส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น เพราะมีการถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษาไปยังส่วนท้องถิ่นค่อนข้างมาก อย่างในกรุงเทพฯ โรงเรียนรัฐระดับชั้นประถมหรือโรงเรียนวัดเดิมมาอยู่ในมือของ กทม. หมดแล้ว ประเด็นคือ กทม. คือส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด รวยที่สุด เพราะฉะนั้น โรงเรียนในสังกัด กทม. จะมีศักยภาพในการจัดการศึกษาค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับโรงเรียนเทศบาลหรือ อบต. ในจังหวัดอื่นๆ จะเห็นว่าในแต่ละท้องถิ่นมีทุนในการสร้างการเรียนรู้ไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก  

สิ่งที่ตามมาคือความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้น เพราะรูปแบบการศึกษามีหลากหลายมาก เอาเฉพาะการศึกษาในระบบ มีตั้งแต่โรงเรียนรัฐที่ยังคงถูกกดทับด้วยระบบราชการ ไปจนถึงโรงเรียนนานาชาติที่ใช้หลักสูตรของต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ปรับให้สอดรับกับโลกและเอื้อให้ผู้เรียนสามารถหาประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกได้ดีกว่าหลักสูตรไทย การมีอยู่ของรูปแบบการศึกษาที่หลากหลายแบบนี้เอื้อให้คนที่มีเงินมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่าและทำร้ายคนที่ไม่มีเงิน โรงเรียนรัฐ 30,000 แห่งจึงกลายเป็นโรงเรียนของคนที่มีศักยภาพไม่พอที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนในโรงเรียนที่ดีกว่า ซึ่งดีกว่าในที่นี้คือทั้งในแง่ค่านิยม และในแง่คุณภาพด้วย

พอปรับโครงสร้าง มีจุดไหนที่ไม่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.การศึกษาฯ วางไว้ไหม

อย่างหนึ่งที่การปฏิรูปโครงสร้างใน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ทำไม่สำเร็จและเป็นวาระที่สำคัญมากคือ การลดบทบาทกระทรวงศึกษาธิการ หรือก็คือการสลายระบบราชการตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ พ.ร.บ.การศึกษาฯ กำหนดให้มีการตั้งเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นมากว่า 300 เขตแทนที่ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค ซึ่งหน่วยงานเดิมพวกนี้ยังมีลักษณะเป็นสาขาของกระทรวงศึกษาฯ เท่านั้นและมีขนาดไม่เล็กพอ ที่ตั้งเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นมากเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ ทั้งอำนาจในการตัดสินใจและอำนาจในการจัดสรรงบประมาณลงไปยังเขตเหล่านี้ แต่พอนำนโยบายไปปฏิบัติจริงกลับกลายเป็นว่าเขตพื้นที่การศึกษาก็กลายร่างเป็นแขนขาของกระทรวงศึกษาธิการไปเสียอย่างนั้น ไม่เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ต่างอะไรมากนักจากเมื่อตอนเป็นศึกษาธิการจังหวัดเดิม แต่กลายเป็นมีจำนวนมากกว่าเดิมจากแค่ 70 กว่าหน่วย เป็น 300 กว่าหน่วย

อีกเรื่องหนึ่งคือระบบงบประมาณ ก็คือระบบเงินอุดหนุนรายหัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมาก แนวคิดมีอยู่ว่าโรงเรียนควรจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรจากส่วนกลางตามจำนวนนักเรียนที่มี หมายความว่าถ้าโรงเรียนมีนักเรียนจำนวนเยอะ ก็จะได้เงินสนับสนุนเยอะ แต่ถ้าโรงเรียนมีนักเรียนจำนวนน้อย ก็จะได้เงินสนับสนุนจากรัฐน้อย 

ส่วนตัวมองว่านี่เป็นการนำวิธีคิดแปลกประหลาดมาบริหารจัดการโลกการศึกษา เพราะนั่นหมายความว่าโรงเรียนจะได้เงินเพิ่มหากผลิตนักเรียนออกมาได้เยอะ ซึ่งหมายความว่าโรงเรียนก็ต้องทำยอด หานักเรียนเพิ่มเพื่อให้ได้เงินรายหัว ไม่ต่างอะไรจากการทำธุรกิจในภาคเอกชน ซึ่งนั่นเป็นไปตามหลักการของเสรีนิยมใหม่

ในแง่หนึ่งจะมองว่าจัดงบประมาณแบบนี้เป็นธรรมก็ได้ เพราะเด็กทุกคนได้รับการอุดหนุนจากรัฐเท่าเทียมกัน แต่ถามว่าเสมอภาคไหม ก็ไม่เลย เพราะผลกระทบของการจัดสรรแบบนี้เป็นการซ้ำเติมโรงเรียนที่มีทุนรอนต่ำ และถามว่ามีทางเลือกในการจัดสรรงบประมาณแบบอื่นนอกจากการนับรายหัวไหม อาจจะมีเกณฑ์อื่นที่ใช้แทนได้อีกตั้งเยอะ ถูกไหม 

แล้วยิ่งโรงเรียนขนาดเล็กก็สำคัญมากกับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล

ถูกต้อง วิธีการจัดสรรแบบนี้ทำร้ายโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลมากๆ หรือแม้กระทั่งโรงเรียนในตัวเมืองที่ไม่ได้เป็นที่นิยม ถ้าย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โรงเรียนขนาดเล็กหลายโรงเรียนในปัจจุบันเดิมไม่ใช่โรงเรียนขนาดเล็กนะ แต่พอรัฐมอบให้เอกชนเป็นผู้พัฒนาคุณภาพการศึกษา แน่นอนว่าเอกชนคงไม่คิดอยากจะลงทุนในหมู่บ้านห่างไกลที่ไม่มีอะไร กลายเป็นว่ายิ่งพื้นที่ไหนมีทุนรอนทางเศรษฐกิจน้อย โอกาสที่จะลืมตาอ้าปากหรือมีโรงเรียนดีๆ มาตั้งอยู่ในพื้นที่ก็ยาก ทางเลือกเดียวของคนที่อยากเติบโตทางการศึกษาคือต้องย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น ยิ่งแนวโน้มประชากรลดลง โรงเรียนก็ค่อยๆ เล็กลงตามกาลเวลา นี่ก็เป็นความย้อนแย้งของเสรีนิยมใหม่ ที่โปรโมตทางเลือกผู้ปกครอง แต่ผลกลับยิ่งทำให้ทางเลือกบางรูปแบบหายไปจากตลาด

แล้วยิ่งพอใช้ระบบจัดสรรเงินรายหัว สมมติว่าปีแรกหลังใช้นโยบายโรงเรียนมีนักเรียน 500 คน ต่อมาอีก 10 ปี นักเรียนเหลือ 400 คน หมายความว่าเงินรายหัวหายไปเยอะนะ สมมติว่าให้เงินต่อหัว หัวละ 3,000 บาท ก็หายไป 300,000 บาท จะหาเงินมาเติมส่วนที่หายไปจากไหน ในขณะที่โรงเรียนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมีการบำรุงรักษาไปเรื่อยๆ ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น การศึกษาคือสิ่งหนึ่งที่ลงทุนได้ไม่มีที่สิ้นสุด ยากมากที่จะบอกว่าลงทุนมากแค่ไหนจึงจะเรียกว่าเพียงพอในระดับ ‘พื้นฐาน’ ทุกวันนี้ก็ถกเถียงกันอยู่ แต่ที่แน่ๆ ที่รัฐไทยตัดสินใจว่าพอ จริงๆ แล้วไม่พอนะ

แน่นอนว่าคงไม่ได้เปลี่ยนแค่นั้น สงสัยว่าการปฏิรูปการศึกษาแบบเสรีนิยมผ่าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 ใหม่ลงไปเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในรั้วโรงเรียนไปอย่างไรบ้าง

การศึกษาต้องมีหลากหลายรูปแบบ เพราะทางเลือกคือสิ่งที่เสรีนิยมใหม่ส่งเสริมให้มี เพราะฉะนั้นวิธีคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่ตามมาคือ การเรียนต้องตอบโจทย์ของผู้เรียนแต่ละคนที่แตกต่างกัน ต้องยึดเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ผลิตนักเรียนออกมาเป็นบล็อกเดียวกันหมด นักเรียนต้องมีความสุขกับการเรียน การเรียนการสอนต้องทำให้เด็กแต่ละคนสามารถบรรลุศักยภาพของตนเองได้ วาทกรรมที่เห็นกันบ่อยๆ ก็คือการศึกษาเฉพาะบุคคล แนวคิดแบบนี้อยู่ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน และจริงๆ ครูเองก็เห็นด้วยที่การสอนต้องตอบโจทย์ผู้เรียน

แต่ถ้าจะจัดการสอนในรั้วโรงเรียนตอบโจทย์ผู้เรียนแต่ละคนได้ ในโรงเรียนรัฐ รัฐในฐานะนายจ้างก็ต้องมีหลักในการกำกับดูแลคุณภาพการเรียนการสอนของครู เครื่องมือที่สำคัญในการดูแลคือ หนึ่ง หลักสูตรแกนกลาง สอง การประเมินคุณภาพ ซึ่งตามมาด้วยการตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมาประกันคุณภาพอย่างสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สองอย่างนี้เป็นกลไกเสรีนิยมใหม่ที่สร้างโครงสร้างการทำงานที่สร้างแข่งขันเพื่อให้ครูกระตือรือร้นผลักดันตัวเอง จะได้พัฒนาการสอนให้มีคุณภาพขึ้น เพราะเสรีนิยมใหม่เชื่อว่าต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่อย่างนั้นครูก็จะทำงานเช้าชามเย็นชาม คุณภาพการศึกษาก็จะลดลง

ก่อนหน้านี้ไม่มีแบบนี้นะ ตอนไปสัมภาษณ์ครูเมื่อ 14 ปีที่แล้วว่ารู้สึกว่าหลักสูตรเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างหลังเกิดหลักสูตรแกนกลางขึ้นมา ครูก็จะตอบว่าหลักสูตรคือเนื้อหาตามตำราเรียนที่รัฐผลิตมา เปิดตำรามาอย่างไรก็สอนไปอย่างนั้นเลย แต่พอเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรกลายเป็นเรื่องของตัวชี้วัด เป็นมาตรฐานหรือเกณฑ์ว่าสุดท้ายแล้ว เด็กนักเรียนต้องรู้อะไรบ้างหรือทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ได้นักเรียน (หรือแรงงานในอนาคต) ที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ตัวเนื้อหาที่ครูต้องสอน

พอเกิดมาตรฐานตัวชี้วัดขึ้นมา นั่นหมายความว่าหลักสูตรเปิดโอกาสให้ครูมีอิสระในการจัดการเรียนการสอน จะจัดการเรียนการสอนอย่างไรก็ได้ เลือกได้ว่าจะหาเนื้อหาจากไหน จะไปหามาจากอินเทอร์เน็ตก็ได้ จะไปเลือกซื้อตำรา 10 สำนักพิมพ์ เอามา mix and match อย่างไรก็ได้ หรือบางที่ครูหรือโรงเรียนก็ออกแบบหรือผลิตสื่อการสอนเอง ยิ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมการสอนใหม่ๆ ออกมาได้ยิ่งดี แค่ขอให้เกิดผลการเรียนรู้ตามแบบที่รัฐกำหนดตัวชี้วัดก็พอ ในแง่หนึ่ง การปฏิรูปเสรีนิยมใหม่เปลี่ยนบทบาทของครูให้กลายเป็นผู้ประยุกต์แทนที่จะเป็นผู้ถ่ายทอด เปลี่ยนจากแม่พิมพ์ของชาติผู้ผูกขาดความรู้ไปเป็นประตูสู่ความรู้แทน

แต่ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากคือการประเมินคุณภาพ สมัยก่อนไม่มีนะหน่วยงานภายนอกที่จะเข้าไปตรวจว่าโรงเรียนได้คุณภาพตาม checklist ตัวชี้วัดหรือเปล่า อย่างมากก็มีศึกษานิเทศก์เข้ามาให้คำแนะนำการสอน แต่พอตั้ง สมศ. ขึ้นมา สมศ. ก็ลงไปกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวกับโรงเรียน ครู นักเรียน และบังคับใช้มาตรฐานนั้นด้วยการเข้าไปตรวจโรงเรียนทุกโรงเรียนว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ไหม จะเห็นว่านี่เป็นลักษณะของรัฐเสรีนิยมใหม่ที่หมกมุ่นกับตัวชี้วัด ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ก็มีลักษณะแบบนี้ ช่วงแรกๆ ที่เริ่มใช้ระบบประกันคุณภาพ สมศ. กำหนดตัวชี้วัดของโรงเรียนตั้ง 300 กว่าตัวชี้วัด จากนั้นจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง ถ้าอยู่ในวงการการศึกษาก็จะรู้ว่าระบบประกันคุณภาพนี้เองที่มีผลทำให้คุณภาพศึกษาภาครัฐแย่ลง เพราะกลายเป็นว่าครูต้องมานั่งทำเอกสารให้ผู้ตรวจประเมิน ทั้งประเมินโรงเรียนภายนอกภายใน ประเมินครู และทุกวันนี้ก็ยังปรับวิธีการประเมินกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ตรงโจทย์ของการปฏิรูปที่ต้องการให้คุณภาพการสอนพัฒนาเท่าไหร่?

ใช่อย่างที่คุณว่าเลย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเจตนาคือต้องการให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาการสอนของครู 

นอกจากครูต้องต้องเขียนแผนการสอน คิดใบงาน หรือทำผลงานการสอนแล้ว อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ปี 2542 เพื่อยกระดับความเป็นวิชาชีพของอาชีพครูคือระบบวิทยฐานะ ที่เขย่าวงการครูมากๆ เลยคือครูต้องทำงานวิจัย วิจัยที่ว่านี้คือทำวิจัยจากห้องเรียน พยายามสร้างองค์ความรู้จากกระบวนการสอนในห้องเรียนขึ้นมาเอง ส่วนผลงานการวิจัยที่ออกมาก็เพื่อเอาไปขอเลื่อนตำแหน่ง เพราะระบบไม่เหมือนระบบซีก่อนหน้านี้ที่เลื่อนตำแหน่ง-ขึ้นฐานเงินเดือนจากการสอนเป็นหลัก แต่ระบบใหม่เรียกร้องการทำวิจัยกับการส่งประเมิน ไม่ทำไม่ได้นะ ระบบบีบให้ต้องทำ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้เงินค่าตำแหน่ง ขั้นเงินเดือนจะตัน มีผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่านี่คือส่วนหนึ่งของกระบวนการที่รัฐในฐานะนายจ้างแบบเสรีนิยมใหม่สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อให้ครูแอกทีฟและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการสอนตามที่รัฐเสรีนิยมใหม่ต้องการ

แต่ไม่ใช่ครูทุกคนที่เล่นตามกติกาใหม่ได้ มันมีต้นทุนที่ครูต้องลงทุนไปกับการเรียนรู้การทำวิจัย และการเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินเลื่อนวิทยฐานะแทบจะตลอดเวลา

ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นการประเมินคุณภาพ ทำผลงานการสอนเพื่อตอบตัวชี้วัด หรือทำวิจัย ผลข้างเคียงที่ตามมาคือภาระทางเอกสารมหาศาล และทำให้เกิดความย้อนแย้งขึ้น มีความเห็นหนึ่งที่ชัดมากจากที่คุยกับครูหลายๆ คน เขาเล่าว่าหลังจากปฏิรูปการศึกษากลายเป็นว่าครูเห็นแก่ตัวมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในคาบเรียนคือเด็กนักเรียนอยู่ในห้อง แต่ครูกลับต้องทำงานเอกสาร พอเด็กถามว่าทำไมครูยังไม่สอน ครูก็บอกว่างานครูยังไม่เสร็จ ปัจจุบันครูก็ยังบอกแบบนี้อยู่ คำถามคืองานครูคืออะไรกันแน่ ความคาดหวังของรัฐมันขัดกับตัวตน ความรู้สึกและวิธีคิดของครูก่อนยุคเสรีนิยมใหม่ที่ครูจะมองอาชีพตัวเองว่าเป็นอาชีพแห่งการให้และการเสียสละ

มีครูที่เล่นตามเกมจนประสบความสำเร็จได้ก็จริง แต่กลายเป็นว่าวิธีที่ครูกลุ่มนี้จัดการการสอนในห้องเรียนคือ เปลี่ยนห้องเรียนเป็นพื้นที่โค้ชให้นักเรียนออกไปแข่งขัน ครูก็สามารถทำเป็นผลงานการสอนได้ แต่ครูที่ทำแบบนี้ได้คือครูส่วนน้อยมากๆ 

ครูที่ทำได้ส่วนใหญ่จะเป็นครูที่มีทุนรอนทางเศรษฐกิจและสังคมดีอยู่แล้วระดับหนึ่ง ถึงจะสามารถไปได้ไกลในระบบ ส่วนครูที่ต้องดิ้นรนในกติกาเกมใหม่ก็อยู่ในระบบอย่างอิหลักอิเหลื่อ เพราะต้องเอาทรัพยากรที่มีลงไปทุ่มให้กับสิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับการสอนนักเรียน กลับต้องไปทุ่มเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ พะวงกับการทำผลงานหรือทำประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งผลตอบแทนที่ได้กลับมาจากการเล่นตามกติกาแบบเสรีนิยมใหม่ก็ถือว่าไม่น้อยและครูก็รู้สึกพอใจกับสิ่งที่ได้ระดับหนึ่ง ครูอาจจะรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทุ่มเทให้นักเรียนมากเท่าที่ควรเพราะใช้เวลาไปกับการทำเอกสารก็จริง แต่ระบบก็ไม่ได้ออกแบบมาให้ครูที่ทำเอกสารจนไม่ได้สอนได้รับโทษหรือรับผลกระทบอะไร 

ถ้าจะให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาการสอนได้จริง เป็นไปได้ไหมที่จะปรับให้การประเมินไปวัดที่คุณภาพการสอนแทน

20 ปีกว่าที่ผ่านมามีความพยายามจะปรับตัวชี้วัดให้ตรงตลอดเวลาและเป็นเรื่องน่าปวดหัวมากสำหรับครูผู้ปฏิบัติงาน แต่ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีวันทำได้ ตราบใดที่ยังอาศัยการประเมินจากเอกสารที่ต้องเขียนขึ้นมาใหม่อยู่ ต่อให้ให้เขียนสั้นๆ ได้ มันก็กินพลังงานครูไปมาก แม้ว่าจะปรับให้ตัวชี้วัดจะตรง แต่ตราบเท่าที่วิธีการวัดการประเมินยังเรียกร้องเอกสาร สุดท้ายครูก็จะยังถูกดึงออกมาจากห้องเรียนอยู่ดี  

ที่หนักไปกว่านั้นคือ มีตัวชี้วัดใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาเยอะมากจนไม่แน่ใจว่าปัจจุบันมีตัวชี้วัดอะไรที่ทำงานอยู่ในโรงเรียนบ้าง ตอนนี้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่แห่งตัวชี้วัดไปแล้ว ครูทุกคนเวลาเข้าไปในห้องเรียนเหมือนต้องเดินหมากตามเกมตลอดเวลา แทนที่จะได้โฟกัสกับการสอนเด็ก

ใครเจ็บหนักสุดในระบบการศึกษาแบบนี้

น่าจะเป็นเด็กนักเรียน ครูก็เจ็บ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่าก็มีทั้งครูที่เล่นเกมได้ดีและไม่ดี

ระบบการจัดการศึกษาแบบนี้ก่อผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาอีกไหม

ที่เกริ่นไปว่าหลักสูตรเปิดโอกาสให้ครูมีอิสระในการจัดการเรียนการสอนและเลือกสรรทรัพยากรในการสอนเองได้ ในแง่หนึ่งมันเรียกร้องทุนรอนส่วนตัวนะ อย่างตำราหรือแบบฝึกหัดจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่นำมาใช้ประกอบการสอน บางทีก็เปลี่ยนใหม่แทบทุกปี หรืออีกหนึ่งในพื้นที่ที่ครูจะใช้อิสระในการออกแบบการสอนได้คือใบงาน ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นมาในยุคหลังปฏิรูปการศึกษา

ครูคิดเองได้หมดก็จริง แต่แน่นอนว่าก็ต้องมีกระดาษ มีเครื่องปรินต์ที่จะผลิตใบงานออกมา สิ่งเหล่านี้โรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น โรงเรียนในต่างจังหวัดหรือในพื้นที่ชนบทจะมีศักยภาพในการเข้าถึงหรือทรัพยากรในการผลิตใบงานออกมาไม่เท่ากับโรงเรียนในเมือง จะเห็นแล้วว่ามีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น มีเด็กที่ได้เปรียบและเสียเปรียบ ในขณะที่ถ้าเทียบกับหลักสูตรก่อนปฏิรูป ทั่วประเทศเข้าถึงได้เหมือนกันหมด เพราะใช้หลักสูตรเล่มเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ต่างจากสวัสดิการของรัฐสวัสดิการ 

มีใครได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไหม

หนึ่งคือ ระบบเอื้อให้ภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะอย่างมาก ที่ชัดเจนมากจนกลายเป็นธุรกิจประเภทใหม่ขึ้นมาเลยคือ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพ การประกันคุณภาพต้องมีผู้ตรวจเข้าไปทำหน้าที่ในโรงเรียนกว่า 4 หมื่นโรงทั่วประเทศ ค่าจ้าง ค่าเดินทางของคนพวกนี้จะเป็นงบประมาณเท่าไหร่ ครูที่ได้ไปสัมภาษณ์บอกว่าช่วงแรกๆ หลังการตั้ง สมศ. มีบริษัทประกันคุณภาพเกิดใหม่เป็นดอกเห็ด เพราะสบช่องทางทำธุรกิจจากข้อกำหนดใหม่ที่เกิดขึ้น และคนที่เข้ามาเป็นผู้ตรวจก็เป็นพวกข้าราชการเกษียณอายุในองค์กรภาครัฐที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษาด้วยซ้ำ 

สอง ระบบที่กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ครูออกไปแสวงหาแหล่งความรู้ใหม่ๆ ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจเทคโนโลยีด้านการศึกษาเฟื่องฟูขึ้นมาก ธุรกิจอบรมครูก็ได้ประโยชน์มากจากระบบแบบนี้ เพราะครูหรือโรงเรียนสามารถนำเงินไปลงทุนในการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาสื่อการเรียนการสอน พัฒนาความรู้ในการทำวิจัย 

หากมองในแง่ของการไหลเวียนของทรัพยากร การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้คือการที่รัฐเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาแบ่งเค้กจากรัฐบาลได้มากขึ้น

สาม ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือระบบราชการด้านการศึกษาหรือกระทรวงศึกษาธิการ เอาจริงๆ แล้วข้อสรุปหนึ่งในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเราก็คือ แนวคิดเสรีนิยมใหม่กลับทำให้รัฐราชการไทยเข้มแข็งและครอบงำการศึกษามากขึ้นแทนที่จะลดบทบาทลงไป ดูได้จากการใช้ระบบประกันคุณภาพเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจรัฐแบบเดิมๆ เข้าไปยึดครองพื้นที่ในห้องเรียน หรือการที่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่กลับเพิ่มสาขาของรัฐส่วนกลางเข้าไปในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เป็นต้น นี่เป็นความย้อนแย้งที่เด่นชัดมากของเสรีนิยมใหม่ในการศึกษาไทย

นอกจากในระบบโครงสร้างใหญ่ที่สร้างความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาแล้ว ระบบแบบนี้มีผลต่อความเท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ อย่างไรอีกบ้างหรือเปล่า

ระบบแบบนี้มีส่วนที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่ว่าพอบังคับใช้นโยบายแล้วจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทันที มันมีความซับซ้อนกว่านั้นเยอะมากระหว่างทาง 

พอระบบเรียกร้องให้ครูทั้งต้องจัดการศึกษาแบบยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องประกันคุณภาพ ซึ่งเรียกร้องความเป็นเลิศทางวิชาการของเด็ก เพราะต้องอาศัยคะแนนโอเน็ตในการประเมิน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้ถนัดทางวิชาการ จะเห็นว่าระบบเรียกร้องอะไรที่ขัดแย้งกันเองเต็มไปหมดในความเป็นจริง เด็กนักเรียนมีทั้งคนที่สอบคะแนนโอเน็ตได้ดีและไม่ดี แต่ครูต้องทั้งจัดการสอนที่ตอบโจทย์ทั้งสองกลุ่ม และต้องช่วยให้เด็กกลุ่มที่อ่อนวิชาการคะแนนดีขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ระหว่างทางครูต้องเลือก (decision making) ว่าจะทำอย่างไร จะจัดการสอนอย่างไรในสภาวะที่ระบบเรียกร้องสิ่งที่ตรงกันข้ามกันไปหมด  

อีกความขัดแย้งของระบบที่ครูต้องเจอว่าจะเลือกจัดการอย่างไรคือสภาวะที่ภาระการสอน ภาระงานเอกสารมหาศาลปะทะกับภาวะความขาดแคลนทางทรัพยากร ในขณะที่ระบบเรียกร้องให้ครูต้องทำเอกสารไปพร้อมๆ กับเรียกร้องให้ครูต้องใส่ใจเด็กเป็นรายบุคคล แต่ห้องเรียนยังมีขนาดเท่าเดิม อย่างถ้าเป็นโรงเรียนขนาดกลาง ครู 1 คนต้องรับผิดชอบเด็กกว่า 40 คน หรือต่อให้เป็นโรงเรียนขนาดเล็กก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะมีครูไม่พอ ครู 1 คนต้องรับผิดชอบทั้งระดับชั้น 8 สาระ ซึ่งแม้ว่าระดับชั้นหนึ่งมีจำนวนนักเรียนไม่เยอะ แต่ครูคนเดียวต้องเหมาสอนหลายวิชา เพราะฉะนั้น ความขาดแคลนทรัพยากรก็จะเข้ามาบีบทางเลือกของครูอีกที ทั้งทรัพยากรจากโรงเรียนและทรัพยากรส่วนตัว

สุดท้าย ครูก็ต้องเลือกวิธีการสอนคล้ายๆ เดิมคือ เลกเชอร์หน้าห้องเรียน chalk and talk แต่ก็มีแจกใบงาน หรือแบ่งกลุ่มให้เด็กช่วยกันเรียนเอง จริงๆ ครูมีตัวเลือกในการเลือกอยู่ระดับหนึ่งว่าจะทำอย่างไร แต่ภายใต้ข้อจำกัด ครูส่วนใหญ่เลือกที่จะทำแบบนี้

ภาวะขาดแคลนทรัพยากรแบบนี้เด่นชัดมากขึ้นหลังการปฏิรูปในโรงเรียนรัฐ ในขณะที่โรงเรียนเอกชนที่เก็บค่าเทอมแพงๆ ได้ จะไม่ประสบกับภาวะดังกล่าว ถ้าดูภาพใหญ่จะเห็นว่า ที่โรงเรียนรัฐขาดแคลนทรัพยากร ส่วนหนึ่งเพราะทรัพยากรถูกดึงไปใช้กับการประกันคุณภาพ และการขยายสาขาของรัฐส่วนกลางนั่นเอง

เท่าที่ฟังมา ระบบการศึกษาหลังการปฏิรูปเสรีนิยมใหม่มีช่องโหว่อยู่มากพอสมควรที่ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์การศึกษาได้ อาจารย์มองว่าระบบต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง การศึกษาถึงจะเดินไปในเส้นทางที่ควรจะเป็น

อย่างแรก เราไม่คิดว่าการเอาตัวชี้วัดออกแล้วเปลี่ยนโครงสร้างทั้งระบบคือคำตอบ เพราะการเปลี่ยนระบบใหม่ย่อมนำมาซึ่งกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์กลุ่มใหม่ อย่างตอนปฏิรูปการศึกษาปี 2542 ก็ไม่ได้นำไปสู่ผลที่น่าพอใจทั้งหมด แต่หากเปลี่ยนระบบใหม่ แน่นอนว่าจะต้องมีต้นทุนที่เกิดขึ้นกับครูและการเรียนรู้อยู่ดี รวมถึงมีคนที่ลงทุนไปกับการเล่นตามเกมเดิมแล้วด้วย และคนเหล่านี้จะต้องต่อต้านการเปลี่ยนกติกาที่ตัวเองได้ลงทุนทำตามไปแล้ว เพราะฉะนั้น การปรับเปลี่ยนจะต้องเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างที่ใช้อยู่เดิม ไม่ใช่การปฏิรูปโละโครงสร้างเดิมแบบที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 เคยพยายามทำ

อย่างที่สอง ในระดับห้องเรียนและโรงเรียน ยังมีพื้นที่ให้โรงเรียนและครูมีอิสระ (autonomy) ตัดสินใจในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งส่วนตัวคิดว่ายังถูกนำมาใช้ประโยชน์น้อยเกินไป หากลงไปดูที่หน้างานจริงๆ หลายๆ ครั้งการตัดสินใจจะทำหรือไม่ทำอะไร เกิดขึ้นบนเหตุผลที่ว่า ก็คนอื่นเขาทำกันแบบนี้ หรือระเบียบไม่ได้เขียนไว้ว่าทำได้ แต่สิ่งที่ระเบียบไม่ได้เขียนไว้ว่าทำได้ ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ และที่คนอื่นเขาไม่ทำกันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้

ถ้าคลุกคลีกับระบบการศึกษาภาครัฐจะพบความน่าประหลาดใจอย่างหนึ่ง คือ ในขณะที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่ขณะเดียวกันเวลาที่ไม่มีความชัดเจนว่าควรจะทำอย่างไรดี ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูกลับเรียกร้องให้กระทรวงสั่งลงมาเลยว่าจะให้ทำอะไร สรุปก็คือ ในระดับปัจเจกของบุคลากรทางการศึกษาภาครัฐแต่ละคน ยังมีพื้นที่ให้ออกจาก comfort zone อีกมาก ภายใต้โครงสร้างที่ดูแข็งทื่อและเต็มไปด้วยตัวชี้วัดไปหมดนี้

อย่างที่สาม ก็ต้องยอมรับว่า โรงเรียนและครูก็ยังไม่ได้มีอิสระเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการเองก็จะต้องปรับตัวขนานใหญ่ด้วย ใช้อำนาจให้ถูกจุด หากเราจะเดินไปแบบเสรีนิยมใหม่จริงๆ ก็ต้องกล้าที่จะลดขนาดตัวเอง ปรับตัวให้เป็นผู้คุมเกมอย่างแท้จริง ไม่ไปยุ่งเรื่องที่โรงเรียนควรจะตัดสินใจ การใช้ตัวชี้วัดก็ต้องเป็นไปเพื่อรักษามาตรฐานอย่างแท้จริง จริงๆ ในระดับโครงสร้าง เรายังต้องการมาตรฐานและวิธีการบางอย่างเพื่อที่จะวัดว่ามาตรฐานอยู่ตรงไหน ไม่อย่างนั้นแล้วการบรรลุความเสมอภาคด้านการศึกษาก็จะเป็นไปไม่ได้ อย่างที่เคยมีดีเบตว่าจะยกเลิกการสอบโอเน็ตดีไหม แต่สุดท้ายก็ต้องมีการสอบบางอย่างมาแทนอยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่อาจจะทำได้คือปรับลดตัวชี้วัดอย่างที่เคยทำมานี่แหละ ส่วนตัวเรายังเชื่อในการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป 

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าตัวชี้วัดคือหนึ่งในแกนกลางของปัญหาที่อาจจะกำลังพาการศึกษาออกห่างจากจุดหมายปลายทาง เพราะระบบออกแบบมาให้ตัวชี้วัดมุ่งเน้นปลายทางมากกว่ากระบวนการ พูดง่ายๆ ครูต้องหันมาตอบสนองตัวชี้วัดแทนที่จะเป็นเด็กนักเรียน ดังนั้นความยากอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้การใช้ตัวชี้วัดกลายเป็นเพียงแค่เป้าหมายที่จะต้องบรรลุให้ได้เท่านั้น 

ที่สำคัญมากๆ ในยุคเสรีนิยมใหม่ กระทรวงฯ ในฐานะผู้กำกับดูแล ต้องใส่ใจกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากความสามารถในการบรรลุตัวชี้วัดที่ไม่เท่ากันของตัวแสดงแต่ละตัวด้วย แล้วต้องมีความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อศักยภาพในการบรรลุตัวชี้วัดของตัวแสดงที่ตกเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ใช่ผลักความรับผิดอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก ปัจจุบันกระทรวงฯ บอกว่า คุณไม่มีเด็กคุณก็ควรถูกยุบไป แล้วที่แขนขากระทรวงฯ มียั้วเยี้ยเต็มไปหมดทั่วประเทศนั่นจะมีไว้เพื่อทำอะไร ไม่ใช่มีไว้เพื่อไปหนุนเสริม อัดฉีดทรัพยากร ช่วยให้โรงเรียนเล็กยืนได้ด้วยตัวเอง เพื่อที่เด็กในพื้นที่จะได้ไม่ต้องไหลออกไปตามหัวเมืองหรอกหรือ กระทรวงฯ จะไปเอาแต่เรียกร้องขอผลงานแล้วก็ให้คุณให้โทษอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องทำหน้าที่สร้างศักยภาพ (capacity building) ด้วย บทบาทนี้คิดว่ารัฐราชการไทยยังบกพร่องมากในภาพรวม

ในทางกลับกัน ก็ต้องคอยดูแลภาพใหญ่ไม่ให้มีใครได้เปรียบคนอื่นๆ มากเกินไปด้วย ในทางเศรษฐศาสตร์คือการกินรวบหรือผูกขาด หากมีตัวแสดงใดได้เปรียบในแง่คุณภาพมาตรฐานกว่าคนอื่นๆ มากๆ ก็ต้องมีการแทรกแซงในเชิงระบบ จุดนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดของกระทรวงศึกษาฯ ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแล เพราะร้อยทั้งร้อยมักมองว่าโรงเรียนคุณภาพมาตรฐานสูงเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมเท่านั้น ไม่ได้มองว่ามาตรฐานที่สูงเกินค่าเฉลี่ยไปมากๆ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

ล่าสุดเรามีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ในมุมมองเชิงนโยบาย อาจารย์มองร่างฉบับนี้อย่างไร ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นภาคต่อของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 ไหม หรือจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้

ส่วนที่มีความต่อเนื่อง หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นมรดกตกทอดในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่ชัดเจนอย่างมากคือเรื่องตัวชี้วัดที่เฉพาะเจาะจง ลงลึกมากขึ้น ตีกรอบแคบมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือการส่งเสริมภาคธุรกิจให้เข้ามามีส่วนในการศึกษาและเน้นยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าท้องถิ่นและโรงเรียนจัดการศึกษาแล้วมีประสิทธิภาพกว่ารัฐ ก็ให้รัฐเปลี่ยนมาเล่นบทสนับสนุนแทน 

ไม่ต่างจาก พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับปี 2542 ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็มีมิติที่มีความเป็นเสรีนิยมใหม่ที่ให้ภาคส่วนอื่นร่วมจัดการศึกษา และส่วนที่ขัดกับความเป็นเสรีนิยมใหม่คือระบบราชการที่ใหญ่ขึ้น ที่เห็นได้คือการร่าง พ.ร.บ. ที่ละเอียดมาก แต่คำถามคือทำไมต้องร่างละเอียดขนาดนี้ ละเอียดระดับที่กำหนดว่าเด็กช่วงวัยที่หนึ่ง อายุ 1-3 ปี ต้องมีคุณลักษณะอะไรบ้าง ทำอะไรได้บ้าง กำหนดไว้ตั้ง 20 คุณลักษณะ จริงๆ เนื้อหาหลายอย่างควรอยู่ในกฎหมายรองหรือเป็นแค่แนวนโยบายด้วยซ้ำ ไม่ใช่กฎหมายแม่บท ส่วนตัวมองว่ายิ่งกำหนดไว้ละเอียด ก็ยิ่งทำให้การยึดผู้เรียนเป็นตัวตั้งทำได้ยากในระดับห้องเรียน

เวลาที่รัฐเลือกที่จะออกนโยบาย มันมีทางเลือกอยู่อย่างน้อย 2-3 ทาง แต่นโยบายการศึกษาแห่งชาติรัฐเลือกใช้แนวทางราชการ คือใช้อำนาจรัฐ ตราออกมาเป็นกฎหมาย เน้นการควบคุม ลงโทษ ลิดรอนสิทธิ์ แต่อำนาจรัฐที่ลงไปบังคับใช้หลายเรื่องตามที่ร่าง พ.ร.บ. ระบุไว้ควรจะเป็นอำนาจอิสระของครูและโรงเรียนด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อหาหลายส่วนขัดกันเอง ตีพันยุ่งเหยิงมาก บรรทัดหนึ่งบอกว่าโรงเรียนสามารถจัดการวิธีการสอนเองได้ แต่อีกบรรทัดหนึ่งระบุว่าถ้าโรงเรียนไม่ทำตามต้นแบบที่สถาบันหลักสูตรส่วนหลางกำหนด คณะกรรมการนโยบายมีสิทธิ์ที่จะจัดการได้ไม่ชัดเจนว่าครูต้องตอบสนองต่อตัวชี้วัดอย่างไร ซึ่งเดี๋ยวจะต้องสร้างความสับสนในระดับปฏิบัติแน่นอน

ย้อนกลับไปมองภาพใหญ่ เสรีนิยมใหม่เปลี่ยนทั้งวิธีคิดในโลกการศึกษา โครงสร้างระบบการศึกษา เปลี่ยนการจัดการเรียนการสอน เปลี่ยนครู แล้วนักเรียนเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในระบบการศึกษาแบบเสรีนิยมใหม่

ต้องออกตัวก่อนว่าเราตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนักเรียนยุคเสรีนิยมใหม่จากการสังเกตและอยู่บนข้อจำกัด

อาจจะเห็นแค่ระดับหนึ่งนะ แต่คิดว่าประเด็นสำคัญคือเรื่องการแข่งขัน

เสรีนิยมใหม่มองว่าการแข่งขันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม ช่วงที่มีการรับเสรีนิยมใหม่เข้ามาในระบบการศึกษา ในต่างประเทศเคยมีดีเบตว่า การศึกษาแบบสวัสดิการที่รัฐเข้ามาจัดการการศึกษาให้นักเรียนเหมือนๆ กันหมดรั้งนักเรียนที่มีศักยภาพสูงไม่ให้พัฒนาเต็มที่ อย่างที่อังกฤษที่เคยพยายามจะใช้ระบบการศึกษาแบบ comprehensive education ให้นักเรียนที่มีพื้นฐานต่างกัน ทั้งในด้านวิชาการ ชนชั้น เชื้อชาติเรียนอยู่ห้องเดียวกัน เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่สร้างการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมก็ไม่สำเร็จ เพราะมีคนแย้งว่าทำให้เด็กที่มีศักยภาพถูกฉุดรั้ง นี่ก็กลายเป็นวาทกรรมและค่านิยมที่เราเห็นกันบ่อยๆ ทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต่างจากในที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา โรงเรียน หรือครู เด็กก็ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องแข่งขันที่จะถีบตัวเองขึ้นไปเพื่อบรรลุเป้าหมายอะไรบางอย่างเหมือนกัน ในแง่หนึ่ง การศึกษาในโลกเสรีนิยมใหม่คือการศึกษาเพื่อปัจเจก เพื่อบรรลุศักยภาพส่วนบุคคล อยากเรียนอะไรต้องได้เรียน แต่ในขณะเดียวกันการออกแบบหลักสูตรในไทยที่ต้องทดสอบวัดผลนักเรียน ก็ทำให้นักเรียนต้องเผชิญภาวะที่ต้องแข่งขันค่อนข้างสูง 

นอกจากนี้ การที่รัฐถอยออกมากำกับดูแลระบบการศึกษาและการจัดการศึกษาผ่านการกำหนดตัวชี้วัดก็เหมือนกับการสร้างลู่วิ่งไว้ให้วิ่งตามเป้าหมาย แต่รัฐไม่ได้สนับสนุนทรัพยากรที่เอื้อให้ทุกคนวิ่งได้เท่ากัน รัฐอาจออกนโยบายสนับสนุนคนที่รั้งท้าย เสียเปรียบที่สุดภายใต้แนวคิดการจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพก็จริง แต่คนตั้งแต่ระดับชนชั้นกลางล่างจนถึงชนชั้นกลางต้องวิ่งแข่งเอง ถูกผลักภาระให้ต้องใช้ทุนรอนของตนเองเพื่อถีบตัวเองไปตามลู่วิ่งที่รัฐกำหนดไว้ให้ เด็กนักเรียนก็จะอยู่ในสภาวะแบบนี้ คือเข้าโรงเรียนไป โรงเรียนให้ตารางสอน แล้วมีกำหนดเกณฑ์คะแนนไว้ว่าต้องได้คะแนนเท่าไหร่ถึงจะได้เกรดที่เรียกว่าดี พูดง่ายๆ คือ มีธงเป็นเป้าหมายให้ แต่ระบบการศึกษาไม่มีอะไรเกื้อหนุนให้เด็กแต่ละคนไปถึงเป้าหมายได้เท่าที่ควรจะเป็น

ถ้าถามว่าระบบการศึกษาแบบนี้เปลี่ยนผู้เรียนไปอย่างไรบ้าง ในโลกที่การศึกษากลายเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน หรือในที่นี้ก็คือบรรลุเป้าหมายความสำเร็จอะไรบางอย่าง มีข้อสังเกตว่าเด็กนักเรียนมีแนวโน้มที่จะมีวิธีคิดในการเลือกทำอะไรบางอย่างจากการที่ว่าสิ่งนั้นจะพาเขาไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ หรือให้ผลลัพธ์ผลตอบแทนแบบไหนเท่านั้น การเรียนรู้หรือการเลือกเรียนเลยกลายเป็นเพียงหนทางไปสู่เป้าหมายอะไรบางอย่างเท่านั้น ไม่ใช่การเรียนเพราะอยากรู้ 

เรารู้สึกว่าโลกการศึกษาแบบเสรีนิยมใหม่กำลังจะให้วิธีคิดแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติ มองว่าการศึกษาเป็นเพียงแค่หนทางที่นำไปสู่อะไรบางอย่างเท่านั้น ไม่ใช่การศึกษาเพื่อให้รู้ เรียนรู้ หรือตอบความสงสัยใคร่รู้

อีกอย่างหนึ่ง ในภาพใหญ่ พอระบบการศึกษาอยู่บนฐานที่ต้องแข่งขันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือความสำเร็จทางการศึกษา เด็กนักเรียนที่ผ่านการหล่อหลอมมาแบบนี้จะมีวิธีคิดหรือมองโลกว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นของใครของมัน เพราะเกิดจากความพยายามน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสียทีเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่หายไปคือความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุข และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนอื่นในสังคม วิธีมองโลกและความรู้สึกแบบนี้กำลังค่อยๆ หดหายไปในโลกปัจจุบัน

ระบบการศึกษาภายใต้กรอบเสรีนิยมใหม่ตอบเป้าประสงค์ของการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ไหม

ตอบแค่ส่วนที่ว่าทำให้คนๆ หนึ่งมีอาชีพและได้รับผลตอบแทนกลับมา ซึ่งก็ไปต่อยอดการเติบโตของเศรษฐกิจและทุนอีกที 

แล้วสำหรับอาจารย์ อะไรคือการศึกษาในอุดมคติ

การศึกษาเป็นทั้งกระบวนการส่วนบุคคลและกระบวนการทางสังคม ในแง่ส่วนบุคคลต้องเป็นกระบวนการในการสร้างให้คนคนหนึ่งสามารถบรรลุศักยภาพและตัวตนของเขา สร้างพื้นที่ให้คนสามารถมีตัวตน ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง พูดง่ายๆ คือกระบวนการที่ทำให้คนคนหนึ่งมีที่ยืนในสังคมอย่างภาคภูมิใจ

การศึกษาเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต และควรจะนำไปสู่การคลี่คลายตัวตนของคนแต่ละคน เมื่อผ่านระบบการศึกษาออกมา ต้องมีศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆ หรือบรรลุอะไรก็แล้วแต่ที่ตนต้องการอยากจะทำ

ในแง่กระบวนการทางสังคม การศึกษาต้องนำไปสู่การเข้าใจผู้อื่นและตระหนักถึงความสำคัญของผู้อื่นต่อการคงอยู่ของตนเอง หลังจากผ่านระบบการศึกษาออกมา แต่ละคนควรมีขีดความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้ยืนร่วมกับตนเองในสังคมได้

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world