TSQP พัฒนาห้องเรียนปฐมวัย ผ่านหลักสูตร ‘บ้านวิทยาศาสตร์น้อย’และ‘โครงงานฐานวิจัย’

TSQP พัฒนาห้องเรียนปฐมวัย ผ่านหลักสูตร ‘บ้านวิทยาศาสตร์น้อย’และ‘โครงงานฐานวิจัย’

โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องทั้งระบบโรงเรียน ครู การเตรียมพร้อมเด็กในศตวรรษที่ 21 ในพื้นที่เป้าหมาย 288 โรงเรียน ครอบคลุม 35 จังหวัด โดยมี 5 หน่วยวิชาการสำคัญร่วมพัฒนา โดย 1 ใน 5 หน่วยวิชาสำคัญอย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัย มาช่วยพัฒนาโรงเรียนพื้นที่เป้าหมาย

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้นำเอาประสบการณ์และความชำนาญในการจัดการเรียนการสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษา มาใช้กับโรงเรียนในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย(อปท.) ทั่วประเทศ โดยสร้างการเรียนรู้ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์ อันเป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้จากประสบการณ์เฉพาะ ด้วยกระบวนการคิดตามหลักการของงานวิจัย โดยมุ่งสร้างบทเรียนจากสิ่งแวดล้อมในชุมชน เพื่อบ่มเพาะความสามารถทางวิทยาศาสตร์ และปลูกฝังการสังเคราะห์ความรู้และแก้ปัญหาให้เด็ก

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ดูแลโครงการห้องเรียนสร้างกระบวนการคิดในเด็กชั้นประถมศึกษา เล่าว่า จากประสบการณ์การจัดการสอนทั้งแบบ ‘โครงงานฐานวิจัย’ และ ‘โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย’ ทาง ม.สงขลานครินทร์ ได้นำเอาความรู้จากสองทางมาประสานกัน แล้วสร้างเป็นบทเรียนที่เหมาะสมกับนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยในชั้นเด็กเล็ก คือ อนุบาล 1-ป.3 จะใช้หลักสูตรบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ส่วนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จะใช้บทเรียนจากโครงงานฐานวิจัย ทั้งสองหลักสูตรจะเริ่มต้นจากการตั้งคำถามโดยมีชุมชนเป็นฐาน ผ่านการทดลองเป็นกระบวนการหลัก ดังนั้นตัวความรู้ที่ได้ออกมาแต่ละชุดจะเกิดเป็นประสบการณ์เฉพาะตามบริบทในแต่ละท้องถิ่น แต่ผลที่ได้คือเด็กจะเกิดความสามารถในการตั้งคำถามหรือสมมติฐาน แล้วค้นหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง

ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทางโครงการพบจากการจัดการศึกษาในเด็กประถม คือการเรียนในห้องไม่สามารถบรรลุผลในการสอนให้เด็กคิด หมายถึงการสร้างให้เด็กมีกระบวนการคิด ตั้งข้อสงสัย และหาคำตอบด้วยตัวเขาเอง ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญต่อการดึงศักยภาพเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน รวมถึงการพัฒนาที่ต้องเพิ่มเติมในระดับที่สูงขึ้นตลอดเวลา หลักการของโครงการคือเราจะสร้างห้องเรียนให้มีบทเรียนที่ส่งเสริมให้เด็กได้คิด เริ่มจากถ่ายทอดหลักการสอนในเชิงวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้แบบงานวิจัยให้ครู เพื่อให้ครูเป็นผู้กระตุ้นให้เด็กคิดเป็น

“การจะเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนจากเดิมที่เน้นให้เด็กทำตามโจทย์มาเป็นการกระตุ้นให้เขาคิด เราพยายามออกแบบอย่างเป็นขั้นตอน ทำให้เกิดขึ้นในห้องเรียน การได้คิดได้ค้นหาคำตอบผ่านเรื่องราวใกล้ตัวจะทำให้เขาสนใจอยากเรียนรู้ โดยเราจะบูรณาการการถ่ายทอดความรู้แบบจิตปัญญาศึกษา ให้เขาเตรียมความพร้อมทั้งจิตใจและร่างกาย ปลูกฝังหลักการคิด พร้อมกับที่เขาจะได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ผ่านการทำงานกลุ่ม ได้เรียนรู้และยอมรับความคิดของกันและกัน ก่อนจะถอดเป็นบทเรียนในตอนท้าย” รศ.ไพโรจน์ กล่าวถึงหลักการสร้างกระบวนการคิดในเด็กปฐมวัย

ทางด้าน ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุถึงโครงงาน ‘บ้านวิทยาศาสตร์น้อย’ ว่า กิจกรรมบ้านวิทยาศาสตร์น้อย เป็นโครงการจากการประเมินผลของ PISA ที่มีงานวิจัยยืนยันว่าเราควรสร้างทัศนคติที่ดีด้านการเรียนรู้ทักษะและกระบวนการ ทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย อายุ 3-6 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำได้มากที่สุด

การจัดกิจกรรมให้เด็กในชั้นอนุบาล 1 – ป.3 ซึ่งเป็นชั้นเด็กเล็ก จะไม่เน้นที่การมุ่งใส่ความรู้ให้เด็ก แต่จะใช้วิธีให้เขาค้นพบองค์ความรู้ด้วยตัวเองจากการจัดรูปแบบการศึกษาของครู เริ่มจากความสนใจในสภาพแวดล้อมของชุมชนเป็นฐาน เช่นบทเรียนของโรงเรียนในเมือง เด็กจะได้ทำกิจกรรมจากความสนใจในชุมชนที่อยู่รอบๆ โรงเรียน ทำความรู้จักกับอาคารสิ่งก่อสร้าง ร้านค้าต่างๆ เช่นโจทย์จากร้านก๋วยเตี๋ยว เด็กจะได้เรียนรู้การเปลี่ยนลักษณะของเส้นก๋วยเตี๋ยวจากก่อนที่จะลวกจนถึงเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ลวกจนมีสภาพเปลี่ยนไป หรือขั้นตอนการทำขนมง่าย ๆ จากร้านขนมใกล้โรงเรียน ซึ่งจะมีการทดลองทำตามหลักวิทยาศาสตร์ และเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก หรือโรงเรียนในพื้นที่ชนบท เด็กจะได้เรียนรู้บทเรียนจากปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบตัว จากดิน น้ำ ลม ฟ้า อากาศ หรือแสง รวมถึงผลิตผลและเกษตรกรรมในท้องถิ่นของเขา การนำสิ่งใกล้ตัวมาร้อยเป็นบทเรียนนี้เอง จะช่วยกระตุ้นความสนใจทางวิทยาศาสตร์ หรือความสงสัยใคร่รู้ต่อสิ่งรอบตัวของเด็กได้มากขึ้น

“โครงงานบ้านวิทยาศาสตร์น้อยจะกำหนดให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการต้องมีอย่างน้อย 20 กิจกรรมในรอบปี
โดยเริ่มจากกิจกรรมรายย่อยก่อน แล้วปิดท้ายด้วยโครงงานใหญ่ที่เด็กจะได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้กระบวนการวิจัย เขาจะรวบรวมความรู้จากบทเรียนที่เรียนมาตั้งแต่ต้นเทอม นำมาตั้งโจทย์เอง ออกแบบการทดลองเอง โดยครูจะเป็นผู้ช่วยนำพาเขาไปด้วยการตั้งคำถามกระตุ้นความคิด ว่าเขาจะต้องทำอย่างไร เรียงลำดับขั้นตอนทำงานด้วยตนเองได้ เพื่อให้การได้ความรู้ขั้นสุดท้ายเกิดขึ้นจากความคิดของเด็กเป็นหลัก

แล้วทุกปีทางโครงการจะมีหน่วยงานในแต่ละท้องถิ่นช่วยประเมินให้ทุกโรงเรียนมีโครงงานที่อยู่ในเกณฑ์อันเป็นเสมือนการกำกับคุณภาพ โรงเรียนไหนที่ผ่านการประเมินก็จะได้รับตราพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการการันตีว่าโรงเรียนจะต้องรักษาคุณภาพการสอน และพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ รศ.อัมพร อธิบายถึงเกณฑ์การประเมินผล

รศ.ไพโรจน์ กล่าวเสริมต่อว่า ส่วนในด้านโครงงานฐานวิจัยที่เป็นหลักสูตรสำหรับชั้น ป.4 – ป.6 เราจะให้นักเรียนค้นหาโจทย์ ปัญหา และตั้งคำถามกันเองว่า เขาสงสัยในเรื่องใด แล้วตั้งสมมติฐานกันว่าถ้าจะทำการทดลองด้วยวิธีการใดหนึ่ง จะเกิดผลลัพธ์อย่างไร ให้เขาได้เริ่มช่วยกันคิดว่าตัวเองสงสัยเรื่องอะไร สร้างเป็นประเด็นขึ้นมา จากนั้นจึงออกแบบการทดลอง แล้วในระหว่างทดลองแต่ละกลุ่มก็ต้องหาตัวแปรต้นหรือตัวแปรตามด้วยวิธีการขอ
งเขาเอง ครูจะเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำเท่านั้น ดังนั้นเด็กจะต้องคิดอย่างเป็นลำดับขั้นว่าอะไรคือเหตุ อะไรเป็นผล
แล้วในการออกแบบการทดลอง เขาก็ต้องหาข้อมูลนำมาแชร์กันในกลุ่ม ก่อนจะสรุปผลร่วมกันตามหลักการและกระบวนการของโครงงานวิจัยทุกขั้นตอน

“โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย และ โครงงานฐานวิจัย ปัจจุบันทาง ม.สงขลานครินทร์ได้เริ่มทำในโรงเรียนประถมศึกษาแล้วกว่า 20 โรงเรียน โดยทาง กสศ. ได้สนับสนุนทุนและช่วยประสานงานเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโรงเรียน ขณะนี้ทางโครงการได้เริ่มต้นวางรูปแบบให้ครูได้พัฒนาการจัดการสอนลักษณะดังกล่าว 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่รบกวนการเรียนการสอนปกติ แล้วทางโครงการจะมีทีมติดตามผลในทุกโรงเรียน
ทุกห้องเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อดึงข้อมูลออกมาวิเคราะห์ห้องเรียนแต่ละห้อง รวมถึงช่วยครูในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีระบบการสื่อสารออนไลน์ที่ครูสามารถขอคำปรึกษาจากผู้จัดทำโครงการได้จาก ห้องเรียน ส่วนของการประเมินผลในภาพรวมจะต้องรอให้ครบ 1 เทอมการศึกษาเป็นอย่างน้อย แต่ในรูปแบบการสอนมันทำให้เห็นชัดเจนว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก ในห้องจัดกิจกรรม ว่าเด็กที่ผ่านการสอนโดยเน้นสร้างทักษะการคิด เขาจะรู้จักการตั้งคำถามและสร้างสมมติฐานต่อเรื่องราวรอบตัวมากขึ้น ตลอดจนรู้จักวิเคราะห์หาคำตอบเบื้องต้นจากข้อมูลที่มีและหาได้ด้วยตัวของเขาเอง” รศ.ไพโรจน์ กล่าวสรุป