รร.ไร้เสียงออด ต้นแบบกำกับตัวเอง ​ นวัตกรรมพัฒนาปัญญาผ่าน​“จิตศึกษา”

รร.ไร้เสียงออด ต้นแบบกำกับตัวเอง ​ นวัตกรรมพัฒนาปัญญาผ่าน​“จิตศึกษา”

โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องทั้งระบบโรงเรียน ครู การเตรียมพร้อมเด็กในศตวรรษที่ 21 ในพื้นที่เป้าหมาย 288 โรงเรียน ครอบคลุม 35 จังหวัด โดยมี 5 หน่วยวิชาการสำคัญร่วมพัฒนา โดย 1 ใน 5 หน่วยวิชาสำคัญอย่างมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ที่มาช่วยพัฒนาเติมความรู้ให้กับโรงเรียน

จากแนวคิดเรื่อง “สนามพลังบวก” อันเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบด้วยนวัตกรรม 3 อย่าง คือ จิตศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem – based Learning : PBL) และ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community : PLC) PBL นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนซึ่งได้ผลเป็นที่ยอมรับและ กำลังถูกขยายผลต่อยอดไปสู่โรงเรียนแห่งอื่นด้วยเป้าหมายการการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นจริง

อ.วิเชียร ไชยบัง จากมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ผู้บุกเบิกเส้นทางสายนี้เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นพัฒนาการเรียนการสอนในระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2552 เริ่มต้นที่โรงเรียนลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ก่อนขยายผลไปยังโรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนเครือข่าย ซึ่งการจะทำให้เกิดพลังการเปลี่ยนแปลงได้ต้องทำให้ได้ 400-500 โรงเรียนต้นแบบและขยายไปยังโรงเรียนลูกข่าย ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร

“ตัวแปรคือโรงเรียน ผู้บริหาร ระบบราชการที่มีมายด์เซ็ตอีกแบบ​ เราต้องเข้าไปช่วยเขาพัฒนา ปลุกเขาให้ตื่น แต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน และเมื่อตื่นแล้วก็ต้องมาสร้างทักษะให้เขาเพื่อเปลี่ยนแปลงโรงเรียนอย่างสิ้นเชิง เป็นโรงเรียนที่ดี คาดว่าประมาณสองปีจะสามารถเห็นผลได้แบบจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย” อ.วิเชียรระบุ

อ.วิเชียร อธิบายว่า จากนวัตกรรมที่นำมาใช้พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและครู สิ่งแรกคือ ‘จิตศึกษา’ จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา “ปัญญาภายใน” ทำให้ผู้เรียน​เข้าใจตัวเอง ใคร่ครวญกำกับตัวเองได้ มีเป้าหมายของตัวเอง ซึ่งจิตศึกษา มี 3 กระบวนทัศน์ ซึ่งต้องทำทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ กระบวนทัศน์แรก ​ครูต้องสร้าง “สนามพลังบวก” ให้นักเรียนรู้สึกว่าอยู่ที่นี่ปลอดภัย ได้รับการเคารพ ร่วมไปกับทางกายภาพของสถานที่มีความสะอาดร่มรื่นปลอดภัย ​มีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูและลูกศิษย์

“เราจะทำทุกอย่างไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ เราจะไม่มีเสียงออด เสียงระฆัง โดยสร้างวิถีที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เด็กต้องกำกับตัวเองให้ได้ในแต่ละช่วงเวลา ว่าเวลานี้จะทำอะไร เวลานี้ต้องหยุด สร้างความสม่ำเสมอจนมีเซนส์เรื่องเวลา กำกับตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าใกล้เวลาเข้าแถว เข้าห้องเรียนแล้ว” อ.วิเชียรกล่าว

ถัดมา กระบวนทัศน์ที่สอง ครูต้องใช้จิตวิทยาเชิงบวกกับเด็ก มีสิ่งที่ต้องลดไม่ทำกับสิ่งที่ต้องทำเพิ่ม ซึ่งอยู่บนหลักการเดียวกันคือเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของเด็ก โดยสิ่งที่ไม่ควรทำก็เช่น การเปรียบเทียบ การจัดอันดับ ส่วนสิ่งที่ควรทำเพิ่มก็เช่น การรับ​การชื่นชม การไว้วางใจต่อเขา สิ่งต่างๆเหล่านี้ เสริมให้สมองส่วนกลางของเด็กให้ปลอดภัย ทำให้เขารู้สึกได้รับเกียรติ มีคุณค่าพอที่จะเรียนรู้กับเพื่อนได้

กระบวนทัศน์ที่สามคือกิจกรรมจิตศึกษา มีสามขั้นตอนคือ 20 นาทีแรก ครู จะต้องเตรียมสภาวะจิตเด็กเช่น บริหารสมอง (เบรน ยิม) ​หรืออทำอะไรก็ได้ให้​เด็กมีสติ ​2-5 นาที จากนั้นครูให้ประสบการณ์บางเรื่องเพื่อให้เกิดการรีเฟลคชั่น ​ให้สมองส่วนหน้าได้คิดวิเคราะห์ตัดสินใจเพื่อเลือกทำอะไรบางอย่าง และจบลงด้วยเอ็มพาวเวอร์ (empower)

ทั้งนี้ ​กิจกรรมมีเป้าหมาย 3 ระดับ คือ ฝึกให้เด็ก มีความชำนาญ มีสติ สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดเวลา
และมีความสามารถตัดสินใจเลือกเชิงจริยธรรมได้ มีความสามารถเลือกเพื่อนำตัวเองได้ ทำลายสิ่งไม่ดี และเป้าหมายระดับสูงคือฝึกให้ผู้เรียนเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเป็นจริงในสิ่งที่มันเป็นโดยไม่ตัดสินว่ามันดีเลวอย่างไร

“การฝึกอย่างนี้สัก 200 วัน โครงสร้างสมองย่อมเปลี่ยน มีภาวะการใคร่ครวญ สูงมาก เขาจะเลือกตัดสินใจอะไร
ด้วยความระมัดระวัง ​ดูผลกระทบ ​เขาจะพบตัวเอง เป้าหมายคือการทำให้เขาปฏิบัติต่อสิ่งที่เขามากระทบตัวเองอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างไรให้ไม่เบียดเยียนคนอื่น คอนเซ็ปต์ทั้งหมดสามารถใช้ได้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึง ม.3 แต่ก็จะแตกต่างไปในลักษณะกิจกรรมที่เป็นไปตามวัย” อ.วิเชียรอธิบายผลลัพธ์

สำหรับจิตศึกษาเป็นการเน้นปัญญาภายใน แต่ PBL จะเน้นปัญญาภายนอก คือเน้นไปที่การ เข้าใจต่อโลก ทักษะการดำเนินชีวิต การมีทักษะที่จะไปทำงาน และเข้าใจต่อศาสตร์ความรู้ที่จำเป็น​ในการดำเนินชีวิต ซึ่งสองส่วนนี้จะต้องเป็น Active Learning

ขณะที่ การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับครู เราได้พัฒนา PLC แบบเรา มีรูปแบบที่เข้าใจง่าย ใช้ได้ผลในโรงเรียน ซึ่งจะต้องมี 1. ปัจจัยเกื้อหนุน คือ การมีสถานที่สะอาดปลอดภัย ร่มรื่น ​มีวิถีวัฒนธรรมใหม่ ​วิธีการที่คนจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และกับคนด้วยกัน 2. ปัจจัยเรียนรู้ มีกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน หลายแบบมาก ตั้งแต่ถอดบทเรียน Lesson study Case study ไปจนถึงการทำ system study ร่วมกัน

ทั้งนี้ การจะทำ PLC ได้สำเร็จต้องฝึกทักษะครู ให้เป็นทักษะสำหรับการรับรู้ที่สมบูรณ์ ทักษะการกำกับตัวเองเพื่อที่จะให้เกิดการใคร่ครวญและเรียนรู้ เช่นเราฝึกทักษะ ​Deep Listening ฝึกทักษะ Dialogue ทักษะ Fa (Facilitator) ​ถ้าทำอย่างนี้ ได้​ PLC ถึงจะเดินเพื่อขับเคลื่อนครูให้เก่งขึ้นได้

“ถ้า PLC ได้ผลทุกอย่างจะเปลี่ยนหมดซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลง ครูตื่นรู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ ทำไม่ถูกกับเด็ก ทำไม่ถูกกับวิธีการจัดการเรียนรู้ของมนุษย์หลังจากนั้นจะเห็นความมพยายามเปลี่ยนวิธีการจัดของตัวเองโดยใช้ PLC เป็นตัวช่วย เขาก็จะมี ความเป็นครู ที่เป็นแอคทีฟเลิร์นนิ่งมากขึ้น เข้าใจเด็กมากขึ้น และวางการสอนน้อยลง เป็นการสร้างการเรียนรู้มากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากที่​ไปมาทุกโรงเรียนสัมผัสได้” อ.วิเชียรกล่าวย้ำ

อ.วิเชียร กล่าวเสริมว่า เมื่อครูเปลี่ยนเด็กก็เปลี่ยน ที่ปรากฏได้ผลทันทีคือ หนึ่งการขาดเรียนน้อยลง จนไม่ขาดเรียน สองเขาสนิทกับครู รักครู ร่วมกิจกรรม กำกับตัวเองจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เรียนโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนก็จะสูง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เน้นไม่ใช่แค่เรื่องผลการเรียนแต่เป็นเรื่องทักษะการเรียนรู้ร่วมกันต่อเนื่อง เพราะนี่คือเรื่องใหญ่ที่จะใช้ตลอดชีวิต​ ส่วนใครจะอยากจะวัดผลสัมฤทธิ์ ใครอยากจะวัดทักษะศตวรรษที่ 21​ ใครอยากจะวัดด้านไหนก็ได้แต่ขอให้ได้เรื่องนี้ก่อน ถ้าหากมีทักษะเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลาทุกอย่างก็จะปรับได้ตามถานการณ์
​เมื่อมนุษย์รักการเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะเห็นความเข้าใจจริงต่อสิ่งต่างๆ ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆได้เท่าเทียมกันเพราะคุณภาพการจัดการเรียนรู้ไม่เท่ากัน