“ให้โรงเรียนของเราเป็นแบบนี้ตลอดไป” บทเรียน ‘จิตศึกษา PBL PLC’ สู่การเป็นโรงเรียนเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ
โดย : มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา

“ให้โรงเรียนของเราเป็นแบบนี้ตลอดไป” บทเรียน ‘จิตศึกษา PBL PLC’ สู่การเป็นโรงเรียนเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ

“หนูเคยกล้า ๆ กลัว ๆ กับการมาโรงเรียน แต่ตั้งแต่ ป.4 ครูเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ ทุกเช้าก่อนเรียนมีการทำจิตศึกษา ได้เตรียมสภาวะจิต มีเล่นเกม Brain Gym มีครูมาเล่าเรื่องจากข่าว จากนิทาน แล้วมีคำถามให้พวกเราใคร่ครวญ แชร์กับเพื่อน มีเรียนภาษาไทยผ่านวรรณกรรม ได้เจอศัพท์ใหม่ ๆ ได้ออกแบบการ์ตูนช่อง ตีความเนื้อหาผ่านมุมมองที่ไม่ได้อยู่ในตัวเรื่อง ได้เรียน PBL เรื่อง ‘เด็กเล่นเส้น’ มีทำแป้ง แปรรูปเป็นเส้น แล้วต่อยอดเป็นขนม เป็นก๋วยจั๊บญวน พวกเราสนุกกันมาก ครูฝึกให้ทำงานเป็นระบบ ไม่มีเครียดเลย

“หนูชอบที่ครูให้โอกาสเราเรียนรู้ด้วยตัวเอง เสนอความเห็นได้ว่าอยากทำอะไร ตอนทำงานไม่สำเร็จครูก็ให้กำลังใจ สอนให้หาวิธีรับมือจนผ่านไปได้ พวกเราจึงพร้อมกลับไปทำซ้ำ จนพอทำสำเร็จได้ทุกคนก็ดีใจไปด้วยกัน วันนี้หนูมีความสุขกับการไปโรงเรียนมาก อยากให้โรงเรียนของเราเป็นแบบนี้ตลอดไปค่ะ”

เสียงสะท้อนจาก ‘น้องอาย’ ชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านน้ำก่ำ (สิทธิผลนุกูล) ตัวแทนจาก ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ (TSQP) เครือข่ายมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ในโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ (Whole School Approach) โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มาเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 ปี กระทั่งวันนี้โครงการสิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ตามแต่ละโรงเรียนซึ่งนำโดยผู้บริหารและครู รวมถึงเสียงเล็ก ๆ จากเด็ก ๆ ที่ร่วมฝ่าฟันโครงการกันมาจนบังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมในวันนี้ ต่างยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อโดยไม่มีใครคิดหันหลังกลับ ด้วยนวัตกรรมใหม่ได้หยั่งรากลงลึก และพร้อมแตกหน่อออกผลงอกงามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

‘จิตศึกษา PBL – PLC’ เครื่องมือเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ

‘มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา’ เป็นเครือข่ายที่นำแนวคิดเรื่อง ‘สนามพลังบวก’ มาเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเชิงระบบ ผ่านนวัตกรรมจิตศึกษา, หน่วยบูรณาการ ‘PBL’ (Problem Based Learning) เรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และ ‘PLC’ (Professional Learning Community) หรือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

โดยนวัตกรรมเหล่านี้ ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในห้องเรียนให้เป็น Active Learning ทั้งหมด จากครูเคยทำหน้าที่ ‘บอกความรู้’ ก็เปลี่ยนบทบาทเป็น ‘โค้ช’ ช่วยกระตุ้นสร้างการเรียนรู้ และให้นักเรียนลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ที่เมื่อผู้บริหารและครูเปิดใจยอมรับ ผลลัพธ์เชิงบวกจึงเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน

โดยเฉพาะ​ ‘จิตศึกษา’ ที่ส่งผลทั้งต่อลักษณะนิสัยและทักษะวิชาการของผู้เรียน มุ่งพัฒนา ‘ปัญญาภายใน’ ให้ผู้เรียน​เข้าใจตัวเอง ใคร่ครวญกำกับตัวเองได้ มีเป้าหมาย ในพื้นที่ ‘สนามพลังบวก’ ที่ทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัย ได้รับความเคารพ ​มีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูและศิษย์ ร่วมกับกายภาพของสถานที่ที่สะอาด ร่มรื่นปลอดภัย เราจะเห็นโรงเรียนที่ไม่มีเด็กคนใดถูกบังคับ ไม่มีเสียงออด แต่เป็นวิถีใหม่ที่เด็กกำกับตนเองได้ว่าเวลาไหนควรทำ หรือไม่ควรทำอะไร

ครูจะใช้จิตวิทยาเชิงบวกกับเด็ก ใคร่ครวญถึงสิ่งที่ต้อง ‘เพิ่ม’ หรือ ‘ลด’ บนหลักการของการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ ไม่เปรียบเทียบ ไม่จัดอันดับ เพิ่มการชื่นชม ไว้วางใจ ซึ่งจะส่งเสริมให้เด็กรู้สึกได้รับเกียรติ และตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง

ทั้งในทุกวันก่อนเริ่มเรียนและระหว่างวัน จะมีกิจกรรมเตรียมสภาวะจิตเด็ก บริหารสมอง ให้ประสบการณ์บางเรื่องเพื่อให้เกิดการ reflection ​และจากนั้นครูจะปิดท้ายด้วยการเสริมพลัง (empower)

ขณะที่ PBL จะเน้นปัญญาภายนอก ความเข้าใจต่อโลก ทักษะการดำเนินชีวิต ทักษะการทำงาน ความใคร่รู้และเข้าใจในศาสตร์ที่จำเป็น​ต่อการดำเนินชีวิต ส่วน PLC คือการจัดกระบวนการเพื่อพัฒนาครู โดยมีกิจกรรมเรียนรู้ เช่น การถอดบทเรียน Lesson study, Case study จนถึงการทำ system study ร่วมกันทั้งภายในโรงเรียน และระหว่างโรงเรียน ซึ่งการจะทำ PLC ให้สำเร็จ ครูต้องได้รับการพัฒนาทักษะการรับรู้ การกำกับตัวเอง และการใคร่ครวญ เช่น ​Deep Listening, Dialogue, Facilitator

ถ้า PLC ได้ผล ครูจะตื่นรู้ในสิ่งที่ทำ มีความพยายามเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ กลายเป็นครูแบบ ‘Active Learning’  เข้าใจเด็กมากขึ้น วางการสอนลง และสร้างการเรียนรู้มากขึ้น แล้วเมื่อครูเปลี่ยน เด็กก็เปลี่ยน การขาดเรียนจะลดลง มีความสนิทสนมกับครู เต็มใจร่วมกิจกรรม กำกับตัวเองและจดจ่อกับสิ่งที่เรียนได้

เหล่านี้คือนวัตกรรมที่ลงไปสู่โรงเรียนต้นแบบแล้วหลายร้อยโรงเรียน ซึ่งพร้อมนำประสบการณ์การทำงานมาแบ่งปัน ณ ตรงนี้

จะไม่ยอมให้ครูกลับไปเปิดหนังสือสอนแบบเดิมอีก

ผอ.สมเดช อ่างศิลา โรงเรียนวัดเนินกระปรอก อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กล่าวว่า เราตั้งเป้าหมายให้เด็กเป็น ‘smart kid’ มีความรอบรู้ ปรับตัวได้ ซึ่งนวัตกรรมจากลำปลายมาศเหมาะกับบริบทโรงเรียน เราจึงปรับกลไกการบริหารจัดการโรงเรียน โดยเริ่มจากผู้บริหารต้องไม่ลังเลสงสัย ศึกษารายละเอียดการทำงานของนวัตกรรม และเป็นผู้สนับสนุนที่ดีของครู ที่สำคัญคือต้องสื่อสารกับผู้ปกครองให้เข้าใจ เพื่อให้เขาเข้ามาเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนงานไปพร้อมกับโรงเรียน

“การมีส่วนร่วมสำคัญที่สุด กว่าจะเกิดขึ้นได้ ผู้บริหารเราต้องสร้างความเชื่อมั่น แรก ๆ อาจอยู่ในรูปคำสั่ง แต่การทำซ้ำ ๆ โดยสร้างบทบาทให้กับครูแต่ละคน จนเขาเข้าใจกระบวนการ เห็นผล สักพักเขาจะทำได้เอง นอกจากนั้นยังสัมผัสเองด้วยว่ารูปแบบการสอนแบบ Active Learning จะช่วยให้ครูมีเวลาสำหรับการวางแผนการสอนได้ดีขึ้น เด็กเองก็สนุกและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ส่วนผู้ปกครอง เราเชิญประชุมทุกเดือน ดึงคนที่สนใจ เข้าใจ มาช่วยถ่ายทอดความเข้าใจไปสู่ผู้ปกครองคนอื่น ๆ ไม่ช้าทุกคนก็เข้าใจร่วมกัน …วันนี้ผมแน่ใจแล้วว่าจะไม่ยอมให้ครูกลับไปเปิดหนังสือสอนแบบเดิมอีกแล้ว เพราะเราเห็นทั้งผลสำเร็จและเส้นทางก้าวหน้าที่การเรียนการสอนอย่างเดิมให้เราไม่ได้”

Active Learning เปลี่ยนนักเรียนให้เป็นคนไม่ยอมแพ้

ครูฉัตรวรีย์  บุญสิริเกียรติ โรงเรียนบ้านน้ำก่ำ (สิทธิผลนุกูล) อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กล่าวว่า หลังนำนวัตกรรมมาใช้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งโรงเรียนพร้อมเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ที่เปลี่ยนผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่แท้จริง เด็กได้ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับครู ส่วนครูกลายเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นด้วยคำถามทรงพลัง และสนับสนุนอำนวยความสะดวก จนผู้เรียนได้กลายเป็น ‘นักเรียนรู้’ ที่มีความกระหาย อดทน มานะมุ่งมั่น กัดไม่ปล่อยจนกว่าจะทำได้สำเร็จ

“เด็กของเรากลายเป็นนักค้นคว้า มีการคิดขั้นสูงเชิงนวัตกรรม รู้จักแก้ปัญหาด้วยวิจารณญาณ การสร้างสรรค์ เป็นคุณลักษณะที่ค่อย ๆ บ่มเพาะ และฝังในตัวเด็ก เขามองว่าปัญหาคือสิ่งท้าทาย ไม่ยอมละเลิกง่าย ๆ จนกว่าจะทำสำเร็จ ซึ่งทำให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเอง เข้าใจทั้งมิติภายในตนเองและมิติเชิงสังคม ส่วนครูเองก็กลายเป็นนักเรียนรู้ไปด้วย คือถ้ายังไม่ดี เราไม่หนีไม่ยอมไม่ปล่อย ต้องเรียนรู้ ต้องหาทางทำจนสำเร็จ หาเทคนิควิธีการมาผลักดันให้เด็กถึงเป้าหมาย เปลี่ยนตัวเองจากครูที่สอนให้ ‘จำ’ เป็นสอนให้ ‘คิด’ ไม่ยัดเยียดความรู้ แต่จะมุ่งไปที่ความสนใจของเด็ก แล้วห้องเรียนที่น่าเบื่อจำเจก็กลับมีชีวิต มีความงอกงามความสุขที่ทั้งครูทั้งเด็กรับรู้ร่วมกันได้”

ก่อร่าง ‘จินตทัศน์’ จากถ้อยคำ ด้วยการเรียนภาษาผ่านวรรณกรรม

ครูภัทรวีร์  สุขโทน โรงเรียนบ้านกองทูล (พิทักษ์ราษฎร์วิทยาคาร) อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า การเรียนภาษาไทยผ่านวรรณกรรม ทำให้เด็กเรียนรู้เนื้อหาเรื่องราวที่ช่วยเตือนสติ สอดแทรกมุมมองชีวิต เปิดทั้งโลกทัศน์ จินตทัศน์ จากภาษาที่สวยงาม มีศัพท์ชั้นสูงและคลังคำที่กว้าง ยาก ลึกซึ้ง ซึ่งต่างไปจากเดิมที่เรียนแค่ ก กา ข ขา ที่สื่อความหมายเพียงชั้นเดียว

“ถ้อยคำคือสิ่งที่เปิดจินตนาการในหัวของเด็ก ให้เขาเห็น และสามารถสร้างภาพที่ลึกล้ำกว่าความหมายแค่ชั้นเดียว แล้วในเรื่องหลักภาษาเขาก็จะมีพื้นฐานที่ไปได้ไกลกว่าแค่เขียนตามคำบอก รู้จักการวิเคราะห์ ตีความจากข้อเขียน ที่แม้แต่ในข้อสอบ O – Net ยังไปถึงแค่ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เท่านั้น แต่วรรณกรรมนั้นไม่ได้บอกอะไรเลย ทิ้งปลายเปิดไว้ให้เด็กตีความ มีศัพท์ใหม่ ๆ ที่ทำให้เราสื่อสารได้ถึงสิ่งที่อยู่ภายในตัวเขา หรือบริบทชีวิตของเขา อย่างเมื่อเจอศัพท์เช่นคำว่า ‘อ้างว้าง’ หรือ ‘โดดเดี่ยว’ เราถามเขาต่อได้ว่าคืออะไร เคยรู้สึกไหม บางทีมันก็นำไปสู่บทสนทนาเรื่องครอบครัว หรือเรื่องอื่น ๆ ซึ่งทำให้ครูเข้าใจเด็กได้มากขึ้น”

เราเชื่ออย่างหมดใจว่ามนุษย์ทุกคนเรียนรู้ได้ แม้ว่าต้นทุนเขาไม่พร้อมสักแค่ไหน

ผอ.พวงชมพู เฮ็งประเสริฐ โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าบ้านห้วยปูลิงเป็นโรงเรียนพื้นที่สูง การเดินทางลำบากถึงลำบากมาก จึงมีกลุ่มเด็กพักนอนกว่า 80 คน บางคนกลับบ้านแค่เทอมละครั้ง เด็กนักเรียนเป็นปกาเกอะญอ 100 % ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ปัญหาที่เห็นชัดคือความด้อยโอกาส ขาดปัจจัย ขาดการเติมทักษะใหม่ ๆ ซึ่งในมุมหนึ่งคิดว่าการช่วยเหลือที่เด็กเป็นผู้ ‘รอรับ’ อย่างเดียว หรือ ‘ให้จนมากเกินพอดี’ จะกลายเป็นบ่อเกิดของทัศนคติไม่ยอมช่วยเหลือตนเอง หรือไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตน ‘มี’ ดังนั้นจึงต้องสร้างระบบดูแลช่วยเหลือที่สนับสนุนให้เด็กพึ่งตนเอง มีสุขภาวะที่ดี มีทักษะการใช้ชีวิตในสังคมเมื่อลงไปอยู่บนพื้นราบ อันหมายถึงการตกผลึกในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“การบริจาคจนเกินความจำเป็น คือการทำลายพัฒนาการการคิดแก้ปัญหา หรือการเห็นคุณค่าในตัวตน นี่สำคัญมาก เพราะเรามองว่า ‘ความเชื่อมั่น’ จะเป็นต้นทุนหลักที่ทำให้เขาอยู่ในสังคมได้ พัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จได้ สิ่งที่โรงเรียนเน้น จึงเป็นเรื่องการสร้างการเรียนรู้ สร้างเกราะป้องกันวิถีบริโภคนิยมที่ไหลทะลักจากเมืองไปถึงบนดอย เด็กและครอบครัวเขาต้องรู้เท่าทัน ผลลัพธ์การศึกษาจึงต้องไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น ซึ่งหนทางที่เราพบว่ามันช่วยเปลี่ยนแปลงเขาได้ถึงรากทัศนคติคือ ‘จิตศึกษา’

“เราออกแบบบทเรียนให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับฐานทุนที่เขามี ทั้งความสามารถภายใน การทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมซึ่งคือทุนธรรมชาติในชุมชน แล้วใช้ความใกล้ชิดของครูช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้เทคโนโลยี เราพบว่าห้องเรียนที่ปลอดภัยไม่มีการชี้ถูกผิด มีการเสริมพลังใจด้วยจิตวิทยาเชิงบวก ทำให้เด็กเห็นคุณค่า ภูมิใจในตนเอง และรักที่จะเรียนรู้ เหล่านี้เป็นจุดคานงัดที่จิตศึกษาทำให้ความเปลี่ยนแปลงปรากฏ ส่วนสำหรับครู เราเชื่ออย่างหมดใจว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ แม้ว่าต้นทุนเขาไม่พร้อมสักแค่ไหน ซึ่งถ้าครูเชื่อมั่น หาทางผลักดันสนับสนุน สุดท้ายแล้วไม่ว่าโจทย์ยากแค่ไหน เด็กอยู่ในที่ลำบากห่างไกลเท่าไหร่ เขาจะพบวิถีทางในการพัฒนาตนเองจนได้”

ผอ.ชนาวุธ ปทุมชาติ โรงเรียนน้ำสวยวิทยา อ.สระใคร จ.หนองคาย กล่าวเสริมว่า ในเด็กวัยมัธยม ระดับของปัญหาจะขยับไปที่เรื่องพฤติกรรม ยาเสพติด ซึ่งพอเจอปัญหา เด็กพยายามหาทางออกด้วยตัวเอง หลายครั้งจึงยิ่งกลายเป็นส่งผลระยะยาว ดังนั้นครูต้องเป็นผู้สังเกตการณ์ รู้จักนักเรียนให้ได้เป็นรายคน ผ่านการเยี่ยมบ้าน พูดคุย ถอดรหัสจากชิ้นงาน จากคำพูดพฤติกรรมที่เด็กต้องการสื่อสาร รู้ให้ได้ว่าเขาเผชิญกับอะไรอยู่ แต่เท่านั้นไม่พอ เพราะการออกแบบวิธีดูแลช่วยเหลือต้องพึ่งพาผู้ปกครองเด็กด้วย ต้องมีการทำความเข้าใจ ลดทิฐิ พร้อมแก้ปัญหาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การทำให้นักเรียนและผู้ปกครองเปลี่ยนแปลงจากข้างใน ครูต้องไม่ผลีผลาม ต้องยึดมั่นในกระบวนการ ลงมือทำ แล้วค่อย ๆ รอผลความเปลี่ยนแปลง

คนเดียวก็ไปได้ แต่ ‘เพื่อนร่วมทาง’ ช่วยให้ไปได้ไวกว่า

ผอ.การุณ ชาญวิชานนท์ โรงเรียนบ้านโกรกลึก อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กล่าวถึงการขยายผลการทำงานว่า บ้านโกรกลึกเป็นโรงเรียนแรกในจังหวัดที่นำนวัตกรรมจิตศึกษามาใช้ จนเริ่มเห็นผลสำเร็จและประชาสัมพันธ์ออกไป ทำให้มีโรงเรียนอื่น ๆ ที่สนใจเข้าร่วมเรียนรู้ มีเขตพื้นที่การศึกษาเข้ามาสนับสนุน จากนั้นโรงเรียนบ้านโกรกลึกจึงลุกขึ้นเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำมาซึ่งเครือข่ายที่ขยายออกไปทั้งในและนอกจังหวัดในเวลาอันรวดเร็ว และไม่เพียงเชิงปริมาณ หากการยกระดับคุณภาพของแต่ละโรงเรียนก็เดินไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น

“ในเครือข่ายที่แตกยอดออกไป มีโรงเรียนทั้งในและนอกโครงการ TSQP ที่มาร่วมกับเรา มีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาที่เสนอตัวเป็นฐานปฏิบัติการ มีอาคารสถานที่ งบประมาณ บุคลากรพรั่งพร้อม มีศึกษานิเทศก์มาร่วมเป็นโค้ช จากจุดนั้นโครงการก็เดินไปไวมาก มีการเยี่ยมชมงานกันระหว่างเครือข่าย แชร์ประสบการณ์ ก่อนเปิดเทอมทุกครั้งเราจัดประชุมวางแผนการเรียนการสอน เจาะทีละสัปดาห์ไล่ไปจนครบเทอม เหล่านี้คือความงอกงามของการมีเพื่อนร่วมทางหัวใจเดียวกัน ที่ทำให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ บางทีทำคนเดียวก็ไปได้ แต่ถ้ามีเพื่อนร่วมทาง พวกเราจะไปได้ไวกว่า”

ดร.นฤมล สุภาทอง รองผู้อำนวยการ สพป. นครพนม เขต 1 กล่าวว่า “โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ต้องเกิดจากโรงเรียนและผู้บริหารมีใจอยากทำ ถ้าเกิดจากการบังคับจะไม่มีทางยั่งยืนได้ ในส่วนของเขตพื้นที่ เราพร้อมสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติ ให้ข้อมูลสะท้อนกลับ และช่วยเติมสิ่งที่โรงเรียนต้องการพัฒนาให้ตรงจุด

“พอมีการทำงานร่วมกัน ทำให้มีบรรยากาศของความกลมเกลียวผูกพัน มีกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยหลังจากนี้ที่ผลของโครงการได้แสดงให้เห็นความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว จากเริ่มต้นด้วยกัน 22 โรงเรียน ถึงวันนี้เรามีโรงเรียน TSQP ในเครือข่าย 57 โรงเรียนแล้ว สิ่งที่เขตพื้นที่ให้ความสำคัญต่อไปคือผู้บริหารที่จะเข้ามาสืบทอด โดยเขตจะมุ่งคัดสรรคนเข้ามาทำงานต่อที่มี mind set เป็นไปในทางเดียวกัน เข้าใจกระบวนการ พร้อมสานงานต่อ เพราะเรามองว่าโครงการนี้คือโอกาสสำหรับเด็กทุกคน ช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ครูไม่ครบชั้น สร้างแรงบันดาลใจให้ครู เปลี่ยนเด็กให้มั่นใจ กล้าแสดงออก มีทักษะชีวิต และหลายโรงเรียนพิสูจน์ให้เห็นผลลัพธ์ทางวิชาการ ซึ่งในเบื้องต้น พูดได้ว่า วันนี้เราประสบความสำเร็จแล้ว”