เปิดผลวิจัย 290 โรงเรียน 35 จังหวัด พัฒนาตนเองทุกระดับ

เปิดผลวิจัย 290 โรงเรียน 35 จังหวัด พัฒนาตนเองทุกระดับ

งานวิจัย ‘โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง’ (Teachers & School Quality Program: TSQP) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นโครงการที่มุ่งศึกษาถึงแนวทางการยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงกระบวนการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ

รศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี มูลนิธิศึกษาธิการ วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะผู้วิจัย ได้ทำการถอดบทเรียน สรุปผลการวิจัย ติดตามและประเมินผล โดยผลการศึกษาภาพรวมพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และจะเกิดคุณูปการต่อแวดวงการศึกษายิ่งขึ้นหากสามารถขยายผลไปสู่โรงเรียนต่างๆ ต่อไป

ในฐานะผู้วิจัย รศ.ดร.พิณสุดา เปิดเผยว่า ความสำเร็จของโครงการวิจัยครั้งนี้ล้วนเกิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัย ติดตามและประเมินผลร่วมกัน

เป้าหมายของการพัฒนาโรงเรียนภายใต้โครงการนี้ ได้แก่ สถาบันที่รับทุน 5 สถาบัน (มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา และมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม) โรงเรียน 290 โรง รวม 35 จังหวัด

กระบวนการทำงานเป็นการศึกษาวิจัยทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยให้ทางโรงเรียนร่วมทำการสำรวจและประเมินตนเอง เบื้องต้นพบว่ามีโรงเรียนที่เคยเข้าร่วมโครงการรับทุนมาก่อน ร้อยละ 61 ทำให้มีประสบการณ์และพื้นฐานในการทำวิจัยมาก่อน ส่วนที่เหลือเป็นโรงเรียนที่เพิ่งเคยเข้าร่วมโครงการรับทุน ขณะเดียวกันยังเป็นโรงเรียนที่พร้อมรับการพัฒนาด้วยความสมัครใจและศรัทธาต่อสถาบันให้ทุน

จากโรงเรียนทั้งหมด 290 โรง มีนักเรียนเฉลี่ย 269 คน/โรง ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน ร้อยละ 37.41 (รายได้ครอบครัว 69,461 บาท/ปี) นอกจากนี้ยังมีนักเรียนกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ ร้อยละ 10.68 ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรงของ กสศ.

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ต้องการได้รับการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะชีวิต และการพัฒนาด้านวินัย ส่วนความต้องการของโรงเรียนคือ ต้องการมีโค้ช ที่ปรึกษา ผู้เสนอแนะแนวทาง และการพัฒนาระบบสารสนเทศ เช่นเดียวกับความต้องการของครูที่อยากให้มีการพัฒนาด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning ที่หลากหลาย”

รศ.ดร.พิณสุดา กล่าวอีกว่า ผลการวิจัยครั้งนี้ได้มาจากการติดตามประเมินผล การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการใช้แบบประเมินหลังการดำเนินงาน โดยความร่วมมือของผู้อำนวยการโรงเรียน ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งได้ข้อสรุปในภาพรวมว่า โรงเรียนมีระดับการพัฒนาสูงขึ้นทุกโรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 100

“พ่อแม่ผู้ปกครองสะท้อนว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีโอกาสได้ประเมินโรงเรียนเลย แต่พอเราจัดให้มีการประเมินแบบกระบวนการกลุ่ม ทำให้พ่อแม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและมีความสุขที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม จากเดิมมีส่วนร่วมเพียงแค่สนับสนุนเงินหรือช่วยออกแรง แต่พอเราให้ช่วยคิด ช่วยเสนอปัญหา ช่วยติดตามประเมินผล ทำให้พ่อแม่รู้สึกพอใจมาก ฉะนั้น ผลการวิจัยที่ได้มาจึงค่อนข้างสมบูรณ์และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ”

จากการแบ่งกลุ่มโรงเรียนออกเป็น 5 ระดับ คือ ดีเยี่ยม ดีมาก ดี พอใจ และต้องปรับปรุง ปรากฏว่าผลการประเมินโรงเรียนที่มีระดับดีเยี่ยม ดีมาก และดี มีจำนวนมากถึง 244 โรง จากทั้งหมด 290 โรง หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.79 โดยโรงเรียนในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยศรีปทุมมีระดับการพัฒนาสูงสุด รองลงมาคือ มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความตั้งใจของผู้อำนวยการ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ที่สำคัญคือต้องมีความเชื่อมั่นและศรัทธาที่จะพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่โดดเด่นและเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ทุกโรงเรียนมีการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในชั้นเรียน มีการประยุกต์ใช้ทั้งกระบวนการจิตศึกษาและจิตปัญญา กระบวนการนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าเราให้เด็กสงบสัก 5-10 นาที จะทำให้เด็กเกิดสมาธิ ส่งผลต่อสติปัญญา และพร้อมที่จะเรียนรู้มากขึ้น

“ถามว่าทั้งหมดนี้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาหรือไม่ เกิดแน่นอน โดยมีผลการสำรวจและประเมินผลเป็นเครื่องยืนยันชัดเจน” รศ.ดร.พิณสุดา กล่าว

ทั้งนี้ มาตรการในการดำเนินการ 5 ด้านที่นำมาใช้ในโครงการวิจัย ประกอบด้วย 1) การกำหนดเป้าหมายของโรงเรียน 2) การใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) 3) การใช้ระบบสารสนเทศ 4) การพัฒนาการเรียนการสอนในระดับชั้นเรียน และ 5) การสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน

ขณะเดียวกัน กระบวนการที่โรงเรียนนำมาใช้มี 4 กระบวนการ ได้แก่ 1) การจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น 2) การดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 3) การพัฒนาครูให้เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และ 4) การสร้างศรัทธาให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงบวก กล่าวคือ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา และคิดวิพากษ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.66 ส่วนในด้านคุณธรรม การมีวินัย ความซื่อสัตย์ และจิตสาธารณะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.60

“การเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียนที่ กสศ. ตั้งเป้าไว้คือ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ และการมีคุณธรรมจริยธรรมในความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน ซึ่งผลจากการทำโครงการนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาของแต่ละสถาบันเดินมาถูกทาง สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนและผู้เรียน”

รศ.ดร.พิณสุดา ระบุถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ภาวะผู้นำของผู้บริหาร ผู้นำทางวิชาการ ทั้งด้านพฤติกรรมและคุณลักษณะ มีการใช้องค์ความรู้เป็นฐานในการพัฒนาของโค้ช รวมถึงครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรัก เมตตา และเอาใจใส่นักเรียนด้วยความเสมอภาค ตลอดจนปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนที่หลากหลายและยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด วิเคราะห์ ค้นคว้า และแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง

“ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ในภาพรวมพบว่าแต่ละโรงเรียนพร้อมจะนำนวัตกรรมจากโครงการไปใช้ดำเนินการต่อถึงร้อยละ 99 แม้ว่าจะสิ้นสุดโครงการแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักวิจัยเสนอว่าหากจะยกระดับคุณภาพโรงเรียนให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ควรมีการสนับสนุนต่อไปอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งทุกโรงเรียนพร้อมที่จะขับเคลื่อนเสมอ” รศ.ดร.พิณสุดา กล่าว

 

นานาทัศนะ

ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนนั้น หากโรงเรียนมีความเข้มแข็งด้วยตนเองแล้ว ปัจจัยภายนอกอาจไม่มีผลกระทบมากนัก ปัจจุบันเรามีโรงเรียนทั้งสิ้นกว่า 30,000 โรง เราทำโครงการไปแล้วกว่า 700 โรง ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะเป็นคานงัดให้กับโรงเรียนทั้งหมดที่มีอยู่ ที่สำคัญคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ สามารถบูรณาการโครงการต่างๆ เข้ามาอยู่ภายใต้ภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอนโดยไม่ขัดต่อบริบทของโรงเรียน”

 

ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

“มีข้อสังเกตว่า ไม่ว่าโครงการใดก็ตามที่มีการร่วมมือกันของเครือข่าย ย่อมจะเกิดความสำเร็จงอกงาม เกิดผลดีต่อเด็ก แต่โจทย์ที่ต้องช่วยกันขบคิดต่อไปคือ แต่ละโรงเรียนจะสามารถพัฒนาตนเองสู่ความยั่งยืนต่อไปอย่างไร หากสิ้นสุดโครงการแล้วจะดำเนินต่อไปอย่างไร และจะเชื่อมโยงในเชิงระบบที่มีอยู่อย่างไร โดยเฉพาะหากมีการโยกย้ายผู้อำนวยการและครู”

 

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ตัวแทนมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม

“แนวทางการพัฒนาโรงเรียนต้องเริ่มจากการวางแผน ทำความเข้าใจกับโรงเรียน และทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จากนั้นตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกฝ่าย ทั้งโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ที่สำคัญคือศึกษานิเทศก์จะต้องเข้ามาเป็นโค้ชให้แก่โรงเรียนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องอาศัยกลไกที่มีอยู่ในพื้นที่ให้มากกว่าองค์กรภายนอก

“ในช่วงปีแรกของการทำโครงการ เราได้มีการปรับกิจกรรมการเรียนการสอนให้เป็นแบบ Active Learning หลังจากนั้นจึงมีการปรับแผนการสอน เริ่มจากจุดเล็กๆ เปลี่ยนจากการที่ครูเป็นผู้ออกคำสั่ง เป็นการให้เด็กมีอิสระที่จะคิดเองทำเอง สุดท้ายแล้วการใช้กระบวนการเหล่านี้กับเด็กก็จะมีผลย้อนกลับมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ตัวครูได้”

 

วิชชา ครุปิติ ตัวแทนมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา

“มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนามีต้นทุนที่สำคัญคือ ประสบการณ์จากการทำโครงการต่างๆ มากมาย ทั้งงานท้องถิ่น งานชุมชน และงานระดับนโยบาย

“สำหรับแผนการสอนของลำปลายมาศพัฒนา เราจัดเป็นหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งในแต่ละหน่วยมีครบทุกสาระวิชา อย่างเช่นสอนเรื่องโควิด-19 เราจะมีทั้งไทย วิทย์ คณิต อังกฤษ สังคม รวมอยู่ในนั้นหมด ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ทุกตัวชี้วัด

“เรามีการเชื่อมโยงนวัตกรรมกับบริบทของโรงเรียน และสอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียน เราสร้างวินัยให้กับเด็กนักเรียนได้โดยไม่ต้องมีเสียงระฆัง ไม่ต้องมีการอบรมหน้าเสาธง แต่เราพัฒนาที่จิตใจของเด็กเป็นสำคัญ”

 

รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ตัวแทนมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“มหาวิทยาลัยขอนแก่นเน้นหนักในด้านการฝึกหัดครู ฉะนั้นทีมโค้ชทั้งหมดจึงประกอบด้วยคณาจารย์จากทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหลักประกันความยั่งยืนได้ว่าจะมีการเชื่อมโยงกับระบบการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง ทั้งนักศึกษาฝึกสอน นักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก ที่จะมีส่วนร่วมในการทำงานในพื้นที่ด้วย

“โจทย์สำคัญที่เราได้รับจาก กสศ. คือ การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ฉะนั้นในช่วงปีแรกเราจึงเน้นเรื่องการสร้างเครือข่ายและการวางระบบโครงสร้างต่างๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างยั่งยืน โดยหลักสูตรที่เราใช้จะมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนบทบาทครูจากการเป็นผู้สอนความรู้ เป็นผู้สร้างสถานการณ์ให้เด็กตั้งคำถามและแก้ปัญหา”

 

ดร.การญ์พิชชา กชกานนท์ ตัวแทนมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี

“มหาวิทยาลัยศรีปทุมมีโค้ชซึ่งทำหน้าที่เป็นกลไกหนุนเสริมที่สำคัญ โดยเป็นทั้งพี่เสี้ยง คอยให้คำแนะนำแก่สถานศึกษา และเป็นเหมือนผู้จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้แก่โรงเรียน รวมถึงกระตุ้นกำลังใจให้ครูฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ ฉะนั้น บทบาทของโค้ชจึงเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิด มากกว่าจะเป็นผู้สั่งการใดๆ ให้โรงเรียนดำเนินการ การทำหน้าที่ของโค้ชเช่นนี้จึงเป็นแรงสนับสนุนให้ครูเกิดพลังขับเคลื่อนด้วยตนเองต่อไปได้ แม้ว่าจะปิดโครงการแล้วก็ตาม”

 

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“อุปสรรคสำคัญที่เราต้องก้าวข้ามให้ได้คือ ความขัดแย้งระหว่างกรอบความคิดแบบเดิม กับกรอบความคิดแบบใหม่ที่เราพยายามทำกันอยู่ ซึ่งระบบการจัดการเรียนการสอนสมัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยการเคลื่อนตัวอย่างอิสระของโรงเรียน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอยู่ว่า ชุดความรู้ที่ถูกถ่ายทอดไปยังโรงเรียนในปัจจุบันนั้น มีทั้งความรู้จริงกับความรู้เทียม ซึ่งขณะนี้ความรู้เทียมกำลังทำลายระบบของโรงเรียนอย่างมหาศาล แต่คนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็น จึงนำมาสู่ความขัดแย้งกันของสองชุดความคิด

“ประเด็นต่อมาคือ ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนกระบวนการสอนได้ สิ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นำมาใช้สื่อสารกับโรงเรียนก็คือ แผนการสอน เราชวนครูให้เขียนแผนการสอนตามแนวทางที่ตัวเองอยากสอนและให้กำหนดเป้าหมายด้วยตัวเอง จากนั้นเราจึงไปสังเกตการณ์ในห้องเรียน อาทิ เริ่มจากกระบวนการจิตปัญญา สอดแทรกหลักคุณธรรม หลังจากนั้นจึงเป็นการเสริมสร้างความรู้ ทั้งความรู้ภายนอกกับความรู้ภายใน ซึ่งก็คือการพัฒนาตัวตนด้านในของเด็ก เมื่อครูใช้กระบวนการเหล่านี้กับเด็ก ผลลัพธ์ก็จะสะท้อนกลับมายังจิตวิญญาณของครูด้วยเช่นกัน ฉะนั้น การเปลี่ยนห้องเรียนจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยเครื่องมือสากลของระบบการศึกษา นั่นก็คือแผนการสอน”