PLC Coaching : แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาเป็น ‘ครู’ นักออกแบบ ‘กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก’ กันเถอะ

PLC Coaching : แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาเป็น ‘ครู’ นักออกแบบ ‘กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก’ กันเถอะ

โครงการครูเพื่อศิษย์และกระบวนการ PLC Coaching  คือการสนับสนุนให้ครูมีที่ปรึกษาทางความคิดและสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดศักยภาพมากที่สุดได้ เป็นหนึ่งในโครงการที่มูลนิธิสยามกัมมาจล และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้การสนับสนุน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาครูให้มีคุณภาพได้ในทุกพื้นที่ผ่านชุมชนทางการศึกษาที่มีนักวิชาการมาช่วยออกแบบ แลกเปลี่ยนมุมมอง ถอดบทเรียนปัญหา และถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จระหว่างกัน โดยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการจัดนิทรรศการครูต้นเรื่อง Online เพื่อเล่าประสบการณ์จัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกันได้

ครูเชาวลี ทองสุข หรือ ‘ครูฟิวส์’ เป็นหนึ่งในครูต้นเรื่องจากทีมโค้ชมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่นำเสนอการเรียนรู้สร้างแรงบันดาลใจหัวข้อ ‘ครูคนไหนก็ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์จัด Active Learning ได้’ ซึ่งปกติครูฟิวส์จะสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนระดับชั้นประถม 1-6 โรงเรียนวัดพังยอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหลักโดยไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับการสอนวิทยาศาสตร์เลย

ใจความสำคัญในสิ่งที่ ครูฟิวส์ เล่า คือกระบวนการ PLC ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและนำไปสู่มุมมองใหม่ๆ ต่อวิธีการเรียนการสอนของตัวเอง เด็กสนุกขึ้นและเกิดทักษะสำคัญในการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต นั่นก็คือ ‘การตั้งคำถาม’ ซึ่งเธอพบว่ากระบวนทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถกระตุ้นสิ่งนี้ให้เด็กๆ ได้ ขณะเดียวกันเธอก็ค้นพบว่า ตัวเองเองถึงไม่ได้สอนวิทยาศาสตร์แต่ก็สามารถนำกระบวนการวิทยาศาสตร์ไปใช้ในชั้นเรียนได้ หากมีความเข้าใจหลักการพื้นฐานพอ จากนั้นจึงค่อยบวกความถนัดในความรู้ของตัวเองลงไปให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสอดคล้องกันกับสิ่งที่เขากำลังตั้งใจศึกษาอย่างขะมักเขม้น

ครูฟิวส์ บอกว่า ยกตัวอย่างการเรียนรู้ของเด็กๆ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งโรงเรียนตกลงกันว่าจะเรียนรู้เรื่อง ‘น้ำ’ เพราะเป็นช่วงที่นครศรีธรรมราชเริ่มเข้าหน้าฝน เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เด็กๆ สัมผัสได้ ก็จะมีโครงการวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ให้ทำพร้อม กำหนดวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ ใช้ เพื่อนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่สำหรับเขา ตามเป้าหมายที่เราต้องการ

“เพราะครูฟิวส์สอนภาษาอังกฤษ ก็จะมีการต้องตั้งคำถามด้วยภาษาอังกฤษให้เขาในชั่วโมงการสอนของเรา เพื่อให้นักเรียนคุ้นชินกับการตั้งคำถามของครูและกล้าที่จะบอกสิ่งที่เขาคิด กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นให้เราและเพื่อนๆ ฟัง ครูฟิวส์ ไม่เคยกังวลกับตัวชี้วัดในการสอน เราเอาเรื่องที่จะสอนมาเป็นตัวตั้งก่อน แล้วถ้าต้องนำไปเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดใด เราสามารถเอาสิ่งที่ได้จับทีหลังได้ เพราะกระบวนการสอนวิทยาศาสตร์แบบ Active Learning มีครบในนั้นอยู่แล้ว”

หัวใจ 3 ดวงของ Active Learning

จากนั้น ครูฟิวส์ ยังได้ถ่ายทอดเคล็ดลับของกระบวนการ Active Learning ว่า ต้องคิดอยู่บนพื้นฐาน “เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้” มีหัวใจสำคัญ 3 ดวงที่ต้องยึดกุมไว้ให้มั่น หัวใจดวงแรก คือ ต้องรู้ประสบการณ์เดิมของเขา บวกฐานความรู้เดิมคืออะไร หัวใจดวงที่สอง คือเมื่อได้คิดแล้วต้องลงมือทำ และหัวใจดวงที่สาม คือการที่เขาได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง โดยสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้เดิมได้ ซึ่งครูจะมีบทบาทในการช่วยตั้งคำถามเพื่อพาเขาไปสู่เป้าหมาย

“คำถามมีความสำคัญมาก จะต้องพาเด็กไปพบความรู้ใหม่จากคำถามได้ แต่คำว่าค้นพบความรู้ใหม่ ไม่จำเป็นว่าต้องเหมือนกับที่เราวางไว้แต่แรก เพียงแค่เป็นไปในทางเดียวกัน สอดคล้องกัน ความหมายเหมือนกันก็คือเขาพบองค์ความรู้ใหม่แล้ว”

ครูฟิวส์ ให้หลักคิดเพิ่มเติมว่า เมื่อตั้งโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ไปให้เขาก็ต้องเปิดกว้างด้วย อย่างให้เรื่องน้ำเหมือนกัน แต่สิ่งที่เขาสนใจหาคำตอบไม่เหมือนกัน ครูฟิวส์สอน ชั้น ป.3 มีเด็ก 18 คน เขาก็จะมีโจทย์ของตัวเองต่างกันไป 18 เรื่อง เมื่อได้โจทย์ก็จะให้ตั้งวัตถุประสงค์ว่าต้องการหาคำตอบนี้เพื่ออะไร จากนั้นก็จะพาเด็กๆ ไปสู่การหาคำตอบโดยเริ่มต้นจากการรวมข้อมูลความรู้และความคิดที่มีต่อเรื่องนั้นๆ

“บางคนบอกว่าที่มาของความรู้มาจากกูเกิ้ล เราก็จะถามขยายต่อไปว่ากูเกิ้ลเป็นเครื่องมือเดียวที่ทำให้ได้คำตอบหรือไม่ อย่างโจทย์เรื่องการรู้สภาพอากาศในแต่ละวัน คำตอบก็จะออกมาเรื่อยๆ บางคนบอกว่าข้อมูลเขามาจากประกาศเสียงตามสาย ซึ่งครูยังไม่รู้เลยว่า อบต.พูดเรื่องนี้ในแต่ละวันด้วย แต่นี่คือคำตอบจากพื้นที่ของเขา”

หลังจากนั้น เราก็จะพาเด็กไปสู่การตั้งสมมุติฐาน บางคนรวมข้อมูลแล้วไปเจอใหม่ก็อาจเปลี่ยนสมมุติฐาน ซึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะขั้นตอนต่อไปก็จะไปสู่การออกแบบการทดลองและการทดลองจริง โดยจะต้องมีการบันทึกและอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองกัน สุดท้ายที่ต้องออกมาคือสรุปผลการทดลองและองค์ความรู้ใหม่ที่ค้นพบได้

“สิ่งสำคัญเวลาเราช่วยคือคำถามต้องไม่ถามชี้นำ เป็นคำถามปลายเปิด หรือเป็นคำถามที่ย้อนจากคำตอบนักเรียน เพื่อต่อยอดจากสิ่งที่นักเรียนคิด ใช้เหตุผลในการตั้งคำถามและเรียนรู้ร่วมกันไปกับนักเรียนไปทีละก้าว บทบาทของครู ต้องจดจ่อกับการฟัง เพื่อสังเกตสิ่งที่นักเรียนต้องการสื่อสาร

แล้วนำมาตั้งคำถามให้ตรงประเด็นและถูกจังหวะ ให้โอกาสและเวลากับนักเรียนออย่างเพียงพอ ไม่เร่งหาคำตอบ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ ซึ่งเด็กจะมีความสุขมากในห้องเรียนนี้”

Active Learning เป็นจริงได้อย่างไร ?

“การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มตั้งแต่ผู้บริหาร การจัดการเรียนการสอนแบบนี้ต้องสนับสนุนและเห็นตรงกัน จึงจะพาครูไปทำได้ โรงเรียนของเราทำเรื่องนี้ทั้งกระบวนการ ครูทุกคนจึงทำได้”

ครูฟิวส์ บอกว่า จุดเริ่มต้นของโรงเรียนในการเปลี่ยนกระบวนการสอน มาจากการเข้าร่วมโครงการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี 2563 ที่นำไปสู่การคิดร่วมกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

“แต่ถามว่าจะเปลี่ยนได้เลยไหม สำหรับครูก็ไม่ง่าย เพราะครูทุกคนเชื่อว่าการสอนตัวเองดีอยู่แล้ว ดังนั้นการเปิดใจเรียนรู้จึงสำคัญ เอาง่ายๆ อย่างเราไม่ใช่ครูวิทยาศาสตร์ ครูทุกคนจะถามในใจว่า ทำไมต้องไปสอนวิทยาศาสตร์ แล้วทำไมจะต้องเป็นวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าครูฟิวส์เองก็มีคำถามนี้ แต่เราผลักดันด้วยการท้าทายตัวเองว่าจะทำได้ไหม แล้วถ้าเลือกทำแล้วจะทำอย่างไร

“เราเลือกทดลองทำ เพราะการลงมือทำไปแล้ว ถึงไม่โอเคสำหรับเราหรือนักเรียนก็แค่กลับมาเหมือนเดิม แต่ผลออกมาเป็นว่า เด็กสนุก เห็นชัดว่าเขามีทักษะคิดหลายรูปแบบ รู้จักรวมและแยกแยะข้อมูล คิดเป็นลำดับ และดูเหมือนว่าจะคิดได้อย่างซับซ้อนขึ้น เมื่อเราเห็นว่าเกิดผลในทางที่ดี เราก็ชวนเพื่อนครูมาดู เราก็ใช้กระบวนการ PLC ในโรงเรียนคุยกันและทำให้คนอื่นเห็นสิ่งที่เราทำ จากวงเล็กๆ ก็จะกว้างขึ้นเป็นทั้งระบบและกลายเป็นครอบครัวเดียวกันในที่สุด”