‘มะพร้าว’ เปลี่ยนโรงเรียนผลสัมฤทธิ์ต่ำ สู่ต้นแบบการสร้างนวัตกรรมเหรียญทองระดับประเทศ

‘มะพร้าว’ เปลี่ยนโรงเรียนผลสัมฤทธิ์ต่ำ สู่ต้นแบบการสร้างนวัตกรรมเหรียญทองระดับประเทศ

จากโรงเรียนเล็กๆ ที่มีผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาตลอด หากหลังจากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ซึ่งได้เข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตรโดยเชื่อมโยงชุมชนกับโรงเรียนเข้าด้วยกัน เพียงไม่นาน โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ก็กลับสามารถสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่นำมาบูรณาการเข้ากับหน่วยวิชาสำคัญในทุกชั้นเรียนได้

ทั้งยังก่อให้เกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่นักเรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจและความถนัด ผลลัพธ์ที่ได้จึงนำมาซึ่งมาตรฐานการเรียนที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังพาให้โรงเรียนสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองจากการประกวดนวัตกรรมการทางศึกษา และกลายมาเป็นโรงเรียนต้นแบบของโรงเรียนที่ยกระดับการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรเฉพาะทางที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของโรงเรียนบ้านหุบบอน จาก ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ธีระยุทธ แสงสุริยจันทร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหุบบอน เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาราว 3 ปีของโรงเรียนว่า ที่ผ่านมา โรงเรียนเคยมีผลสัมฤทธิ์ที่ต่ำมากในเกือบทุกด้าน การจัดการเรียนการสอนที่มีก็เป็นไปแบบเดิมๆ คือครูเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ เป็นแค่คนสอน ขณะที่โรงเรียนกับชุมชนก็ขาดความร่วมมือกัน

“แต่ปัจจุบัน เราได้เปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนอื่น มีการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรมที่พาโรงเรียนไปได้รับรางวัลระดับประเทศ และมีผลลัพธ์ด้านต่างๆ ที่ดีขึ้นตามมา อีกทั้งยังเชื่อว่าเราจะพัฒนาต่อไปได้อีกมาก

“โรงเรียนบ้านหุบบอนเริ่มเข้าร่วมโครงการ TSQP ของ กสศ. ในปี 2560 ตั้งแต่นั้นเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้ได้ ถึงปี 61 เราปรับการเรียนการสอนใหม่ เป็นการกำหนดร่วมกันระหว่างชุมชนกับโรงเรียน โดยยึดถือว่าผลลัพธ์ที่ได้ ต้องเป็นไปตามคุณลักษณะที่นักเรียนในพื้นที่ต้องการเป็นสำคัญ แล้วบูรณาการผ่าน 3 รายวิชาหลัก ได้แก่คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาศิลปะ”

 

‘มะพร้าว ผลิตภัณฑ์มหัศจรรย์’

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหุบบอน กล่าวต่อไปว่าในหลักสูตรนี้ ครูและนักเรียนแต่ละห้องต้องร่วมกันระดมความคิดในการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการกับท้องถิ่นขึ้นมา ห้องละ 1 โครงการ ให้เป็นนวัตกรรมคุณภาพที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของบ้านหุบบอนจริงๆ ซึ่งหลังจากที่ลองผิดลองถูกกันสักพัก มติร่วมของโรงเรียนจึงยึดเอา ‘มะพร้าว’ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาเป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อนไปสู่การสร้างนวัตกรรม

เมื่อเรามีโจทย์คือนวัตกรรมที่แสดงอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทุกคนก็จะนึกถึงมะพร้าวที่ปลูกกันมากในพื้นที่ และเป็นพืชเศรษฐกิจของบ้านหุบบอน จนได้ชื่อกิจกรรมออกมาว่า ‘มะพร้าว ผลิตภัณฑ์มหัศจรรย์’

“จากนั้นทางโรงเรียนก็พาครูและนักเรียนออกไปดูงาน ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายโครงการ TSQP เพื่อให้เห็นภาพของการใช้เรื่องนวัตกรรมท้องถิ่นเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนมากขึ้น แล้วเราจึงขยายผลเรื่องผลิตภัณฑ์มะพร้าว นวัตกรรมท้องถิ่นสู่ห้องเรียนคุณภาพไปในทุกช่วงชั้น ให้เป็นโมเดลที่หลากหลายในการพัฒนาการเรียนการสอน”

 

ห้องเรียนคุณภาพ แบบ Active Learning ที่ ‘ใครถนัดอะไรก็ให้ไปทำสิ่งนั้น’

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหุบบอน กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ตามแนวทางเรียนรู้แบบ OECD โดยโครงงานนวัตกรรมจากทรัพยากรท้องถิ่นต้องเกิดขึ้นได้ในทุกห้องเรียน ตั้งแต่ชั้น อ.1-ม.3 ซึ่งแม้แต่ละชั้นจะมีหัวข้อจัดการเรียนรู้ที่ต่างกันไป แต่ทุกโครงงานจะต้องมีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบทั้งหมด อาทิ ชั้น อ.3 ทำเรื่องกระถางเปลือกมะพร้าว ชั้น ป.3 ทำเรื่องวุ้นมะพร้าว ชั้น ป.4 ทำเรื่องไอศกรีมกะทิ หรือชั้น ม.3 ทำเรื่องโคมไฟกะลา เป็นต้น

“ในห้องเรียนแบบ Active Learning ครูจะมีบทบาทเป็นโค้ช คอยอำนวยความสะดวกและช่วยจัดการเรียนรู้ ส่วนเด็กๆ จะแบ่งออกเป็นกลุ่มตามความสนใจ แต่ละกลุ่มมีหน้าที่ที่ชัดเจน เช่นกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ กลุ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือกลุ่มที่สนใจเรื่องการผสมวุ้น ด้วยรูปแบบนี้ ทุกคนจะได้เรียนตามความสนใจและความถนัด ซึ่งเราจะมีการวัดทักษะ และความรู้พื้นฐานความถนัดของนักเรียนในเรื่องนั้นๆ ก่อนเริ่มแบ่งกลุ่ม

“แล้วระหว่างเรียนรู้จะมีครูที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้าไปช่วยเชื่อมโยง ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง มีการสร้างกำลังใจ สร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง

“จากนั้นหลังสิ้นสุดกิจกรรมจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยอีกครั้ง เพื่อสะท้อนความคิดเกี่ยวกับผลงานของแต่ละกลุ่ม รวมถึงช่วยกันคิดต่อยอดว่าหลังจากบทเรียนนั้นๆ แล้ว แต่ละชั้นเรียนจะไปสู่การทำนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ จากมะพร้าวได้อีกบ้าง เป็นการออกแบบทางความคิดเพื่อจัดระเบียบความรู้และพัฒนาผู้เรียนให้มากขึ้น”

 

รางวัลเหรียญทองระดับประเทศ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการสอน

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหุบบอนภูมิใจที่จะบอกว่า จากการประเมินวัดผลคุณภาพด้านการเรียนและสุขภาวะจิตใจนักเรียนในทุกวันนี้ พบว่าเด็กๆ ต่างมีความสุขกับการเรียนแบบ Active Learning เพราะเขาได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ทำให้มีพัฒนาการด้านผลการเรียน ทักษะสังคม ทักษะชีวิต และผลงานต่างๆ เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังมีการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นในเชิงลึก มีคนในชุมชนเข้ามาบรรยาย มาช่วยจัดกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลจากการนำ ‘มะพร้าว’ ที่เป็นอัตลักษณ์ชุมชน มาต่อยอดเป็นนวัตกรรมในการเรียนการสอนของโรงเรียน ทำให้โรงเรียนบ้านหุบบอนได้เปลี่ยนแปลงสถานะจากโรงเรียนเล็กๆ ผลสัมฤทธิ์ต่ำ มาเป็นโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ ในการสร้างนวัตกรรมจากผลผลิตชุมชน การันตีด้วยรางวัลเหรียญทองระดับประเทศลำดับที่ 2 ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการสอนยอดเยี่ยม จาก สพฐ. ประเภทโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ปี 2563

“ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ TSQP เราได้หลักสูตร ได้กระบวนการมาใช้ขับเคลื่อนบริหารจัดการโรงเรียนทั้งหมด จนเราได้รางวัลกลับมาเป็นความภูมิใจ จากที่คณะกรรมการมอบรางวัลเขาเล็งเห็นคือ สิ่งที่เราทำนั้นไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่ลงไปสู่แค่โรงเรียน แต่ยังกระจายไปถึงท้องถิ่น และนักเรียนได้รับประโยชน์จริงๆ และตอนนี้ โรงเรียนเราได้มีกราฟผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงมีคนติดต่อขอเข้ามาศึกษาดูงาน มาดูการจัดการเรียนการสอนของเราเยอะมากในแต่ละเดือน” ธีระยุทธ แสงสุริยจันทร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหุบบอน กล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค