เปิดห้องเรียนรู้ สู่โรงเรียนคุณภาพ เสียงสะท้อนจาก ‘ขอนแก่น’
TSQP คือ นวัตกรรมการศึกษา ที่สร้างการเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งพื้นที่

เปิดห้องเรียนรู้ สู่โรงเรียนคุณภาพ เสียงสะท้อนจาก ‘ขอนแก่น’

“คุณภาพการศึกษาอย่างไร สิ่งนั้นไม่เกินครู”

เป็นความจริงตลอดกาลดังที่นักปรัชญาการศึกษาเคยกล่าวไว้ เพื่อสะท้อนถึงความสำคัญอย่างยิ่งของ ‘ครู’ ระบบการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา จึงได้มอบภาระอันหนักหน่วงนี้ไว้บนบ่าของครู โดยที่ระบบการศึกษาของไทยยังทำมากกว่านั้น นั่นคือ การมอบภาระอื่นที่ไม่ใช่ของครูไปให้ด้วย

ด้วยบริบทเช่นนี้ ‘คุณภาพการศึกษา’ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นอย่างงอกงามได้ แต่ การนำนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (lesson study) และวิธีการแบบเปิด (open approach) มาใช้ในชั้นเรียน คือ กระบวนการที่ต่างออกไป เพราะไม่ได้หมายความว่า ครูต้องทำงานคนเดียว แต่เป็นการนำเอา ‘ทีม’ เข้าไปช่วยกันดูและออกแบบการเรียนอย่างเป็นระบบ จนทำให้ห้องเรียนแห่งนั้นบรรลุผลลัพธ์ทางการศึกษาได้ โดยที่ทุกฝ่ายไม่ได้มองว่ากระบวนการเหล่านั้นคือภาระที่ต้องทำเพิ่ม

TSQP ต้องบูรณาการทั้งหมดให้เป็นกลไกปกติ

“โรงเรียนอื่น จำนวนนักเรียนมีแต่ลดลง แต่โรงเรียนของเรา สถิตินักเรียนมีแต่เพิ่มขึ้น ผลการทดสอบสมรรถนะนักเรียน ก็ดีเยี่ยมถึงร้อย 88 จากที่เราตั้งเป้าไว้ ร้อยละ 80”

ครูสันติ มุ่งหมาย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่มประชานุเคราะห์ กล่าวถึงผลสำเร็จของการนำเอาแนวคิดโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP มาปรับใช้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

“ทุกอย่างต้องเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย หรือมี School Goal ของโรงเรียนร่วมกันก่อน แล้วจึงเอานวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ โดยจะบูรณาการทั้งหมดนั้น ให้กลายเป็นการทำงานในภาวะปกติ ไม่ใช่การเพิ่มงาน ตรงนี้คือกลไกสำคัญ ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ”

ครูสันติ กล่าวว่า เป้าหมายของโรงเรียนก็คือวัฒนธรรมองค์กร เราสร้างมาจากการคุยกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าจะพัฒนาครูอย่างไร เพื่อไปสู่เป้าหมายพัฒนาผู้เรียน โดยมีศึกษานิเทศก์ เข้ามาเป็นอีกหน่วยงานร่วมคิด รูปแบบการทำงานคือ การเป็นเครือข่ายของกันและกันไม่ใช่การสั่งการ 

“เราได้นำ 6Q มาใช้ในงานต่าง ๆ อย่าง Q – info  เรามองเห็นความสำคัญ ว่าจะช่วยครูจะลดภาระงานเอกสารได้ ในปีนี้ จึงตั้งเป้าว่าจะไม่ซื้อเอกสารบางอย่างเป็นเล่ม แต่ให้ใช้เครื่องมือนี้แทน ก็สามารถเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ โดยมีอีกส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยได้มากคือ นักศึกษาฝึกสอน เขาจะมาช่วยครูที่อายุมากตรงนี้ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงแบบนี้จะให้ทำได้ทันทีก็อาจจะยาก แต่ตอนนี้เป็นแล้วกว่า 70 – 80 % นักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย ส่วน Q – PLC หลักสำคัญที่ทำให้สำเร็จ คือการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน มีภาวะผู้นำร่วมกัน เช่น เราจะสลับกันเป็นประธานของวงหารือนี้ แล้วทำงานเป็นทีม สำหรับ Q – Coach หรือพี่เลี้ยง นอกจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น แล้ว ก็มีศึกษานิเทศก์ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ร่วมกันเป็นเครือข่าย สะท้อนผลลัพธ์หรือข้อสังเกตการเรียนการสอนแบบกัลยานมิตร เมื่อมีสิ่งเหล่านี้ ครูจึงไม่ได้ทำงานคนเดียว และจะมีกำลังใจในการทำงาน”

TSQP ทำให้รู้จักวิชาชีพของตัวเอง

กิรติ ชาดาเม็ก ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 3 กล่าวว่า ในเขตพื้นที่ดูแล มีโรงเรียนในสังกัด 5 แห่ง แต่ด้วยความที่แนวทางการเรียนการสอนแบบ lesson study และ open approach ซึ่งก็คือ การทำห้องเรียนแบบ active learning มีรูปแบบต่างจากการเรียนการสอนแบบเดิม ที่มีการวัดผลวิชาการชัดเจน ทางเขตพื้นที่การศึกษาจึงได้ทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกับ มหาวิทยาลัยของแก่น เพื่อให้ศึกษานิเทศก์ผู้ปฏิบัติอุ่นใจว่า ผู้บริหารรับรู้แนวทางตรงกัน ในส่วนโรงเรียนก็จะมีการกำหนดปฏิทินร่วมกัน  เมื่อมีทิศทางตรงกัน โจทย์ของเราคือทำอย่างไรครูจะเข้าใจกระบวนการ active learning  และการมีวง PLC เพื่อส่งเสริมสมรรถนะการคิด โดยเราจะช่วยหานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการขยายผล 

“เวลาเข้าไปที่โรงเรียน เราจะเห็นเแววตาความมุ่งมั่นของผู้บริหารที่พยายามสะท้อนสิ่งที่ทำให้พวกเราดู เป็นความสำเร็จของโครงการและศึกษานิเทศก์ที่เข้าไป ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของศึกษานิเทศก์ด้วย คุณครูเองก็กล้าที่จะนำเสนอ จากเดิมที่เคยเน้นสอนแบบอัดแน่นเต็มทุกชั่วโมงเพื่อรีบไปตามเนื้อหา พอเปลี่ยนมาทำแบบเอาแค่เนื้อหาเดียว แต่เน้นการกระตุ้นคิดแก้ปัญหาของเด็ก ๆ ก็ทำให้เกิดความตื่นตัว มีชีวิตชีวาที่จะเรียนรู้ เช่น ครั้งหนึ่งมีการสอนเรื่องการวัดความกว้างของมุม ครูก็เอาการอ้าปากของสัตว์ มาให้ทดลองหาวิธีวัด โดยเตรียมเอาอุปกรณ์มาให้เด็กลองกันเอง ก็ทำให้เห็นแนวคิดต่างกัน เพราะสัตว์แต่ละชนิดมีโครงปากไม่เหมือนกัน มีกลุ่มหนึ่งใช้การเอาโครงมาวาดบนกระดาษไข แล้วเอามาเทียบกันจนสามารถวัดได้ผลลัพธ์ออกมา พอได้เห็นความสำเร็จของชั้นเรียนแบบนี้ ก็เป็นภาพที่เราเกิดความประทับใจ”

กิรติ กล่าวว่า เมื่อห้องเรียนเปิด ศึกษานิเทศก์อย่างเราได้เข้าไปหลายครั้งเพื่อสะท้อนมุมมองต่างๆ ในเรื่องผลสัมฤทธิ์หรือพัฒนาการทางวิชาการจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาขึ้นด้วย

“ห้องเรียนแบบนี้ ทำให้ศึกษานิเทศก์มีโอกาสได้แสดงตัวตน ทำให้เราได้รู้จักวิชาชีพของตัวเอง คือมีบทบาทในห้องเรียน ในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนและกระตุ้นให้เกิดการโค้ชขึ้นในโรงเรียนจริง ๆ  กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เราไปสะท้อน ไม่ใช่การไปสั่ง เพราะตัวศึกษานิเทศก์ ก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทของการนิเทศก์ด้วย” 

เช่นเดียวกับ กชพร จันทนามศรี ศึกษานิเทศก์  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1 ที่บอกว่า เธอเกิดในสายงานศึกษานิเทศก์และเติบโตมาพร้อมกับโครงการ TSQP เพราะช่วงที่เข้ามาเป็นศึกษานิเทศก์ใหม่ ๆ เป็นช่วงเริ่มต้นโครงการพอดี จึงต้องบอกว่าการเรียนรู้นวัตกรรมเริ่มต้นจากศูนย์เลย

“ตอนนั้นพอมีกิจกรรมเปิดห้องเรียน ก็ไปนั่งสังเกตที่หลังห้องแล้วนำมาสะท้อน ยอมรับตามตรงว่าไม่ได้ตรงประเด็นเลย ก็ค่อย ๆ ดูจากผู้มีประสบการณ์ จึงทำให้รู้ว่าทำไมต้องช่วยครูออกแบบแผน เพราะการสอนแบบนี้ ครูจะต้องออกแบบสถานการณ์หรือต้องสร้างจุดฉงนขึ้น เพื่อไปสู่การค้นหาว่าจะบรรลุจุดประสงค์การศึกษาอย่างไร คุณครูจึงต้องการกำลังหนุนนี้จากศึกษานิเทศน์อย่างมาก หน้าที่ของเราจึงไม่ใช่การไปดูว่าครูสอนดีหรือไม่ดี แต่คือการไปดูว่ามีจุดไหนที่เราจะเสริมแผนที่ออกแบบมาให้พัฒนาต่อยอด จะต้องเติม ต้องกระตุ้น ต้องปรับอย่างไรก็ช่วยกันทำ” 

“การสังเกตจะต้องเก็บแนวคิดของเด็กด้วย เพราะในการออกแบบเราจะต้องคาดการณ์แนวคิดเด็กไว้ก่อน เหมือนลุ้นหวย ว่าจะออกตามเราคาดไหม แต่ถึงไม่ ก็มีหลายครั้งที่ทำให้รู้สึก ว้าว เด็กออกมาได้อย่างไรเนี่ย ทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่ม เด็กก็เป็นครูของเรา ครูก็เป็นครูของเรา ห้องเรียนก็เป็นที่ศึกษาด้านศึกษานิเทศก์ของเรา โรงเรียน TSQP ได้สร้างสิ่งนี้”

กชพร  ยังได้กล่าวทิ้งท้ายในจุดนี้ว่า กลับเป็นโรงเรียนเองที่บอกว่า พอมีศึกษานิเทศก์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาช่วย ก็อุ่นใจ นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน เป็นเครื่องมือที่ดีมาก ในการนิเทศก์ห้องเรียน เราเป็นโค้ชให้กับคุณครูได้ ส่วนตัวเราเองก็ยังไม่จบ เพราะแต่ละที่ แต่ละโรงเรียนก็มีความแตกต่างกัน ต้องขยับขยายสร้างโรงเรียนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ด้วยกำลังที่มี แม้จะมีไม่มากก็ตาม หากถามถึงความยั่งยืนของโครงการในอนาคต คิดว่า ถ้ามี มหาวิทยาลัยขอนแก่น คอยเป็น Back up ช่วยเหลือด้านหลักสูตรและความก้าวหน้าใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ โรงเรียน TSQP ไปต่อได้แน่นอน

เสียงสะท้อนจริงจาก ‘ครู’ ภาคปฏิบัติ

“แววตาของเด็กคือจุดเปลี่ยนให้เกิดทีม”

ครูณัฐฐาพร บาอุ้ย  จากโรงเรียนบ้านหนองหลุบกล่าวว่า โรงเรียนได้นำเอานวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนมาใช้ หลังจากไปอบรมเชิงปฏิบัติการ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อสรุปหนึ่งที่ได้คือ นวัตกรรมนี้เป็นการพัฒนาวิชาชีพครู โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เริ่มต้นด้วยการวางแผน จัดทีม แบ่งเป็นครูผู้สอนกับผู้สังเกต เพื่อช่วยกันสะท้อนผล ตรงนี้คือหลักการ แต่ในการทำงานจริงต้องบอกว่ามีความยากอยู่

“เพราะโรงเรียนของเราคือการเริ่มต้นใหม่ในเรื่องนี้ เอาเป็นว่ายากตั้งแต่การตั้งทีมเลย ตอนนั้นมีแค่เราคนเดียวกับครูเลขมาถ่ายรูปให้ ต่อมา เรื่องความเข้าใจของเด็ก เด็กรุ่นแรกที่เรียนแบบ open approach คือ ชั้น ป.4 ซึ่งก่อนหน้านั้นตลอด 3 ปีเต็ม เขาไม่เคยเรียนแบบนี้ เขาก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เวลาได้ใบงานมาแล้วบอกให้นำเสนอด้วย เขาจะมีคำถามทันทีว่ายากหรือไม่ ตอนเริ่มต้นจะเห็นอุปสรรคแบบนี้”

อย่างไรก็ตาม ในปีนั้น มีทางศึกษานิเทศก์มากำกับติดตามด้วย จึงทำให้ครูวิชาการเริ่มรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ ก็เลยมานั่งสังเกตชั้นเรียน จึงทำให้เขาได้เห็นกระบวนการสอน และความเปลี่ยนแปลงของเด็ก จากมองว่าหน้าที่ กลายเป็นเป็นครูวิชาการเอง ที่สนใจมาร่วมเป็นทีมแรกกับเรา 

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ห้องเรียนแบบนี้เกิดขึ้นในชั้น ป.1 และ ป.4 ต่อมา ทางทีมได้จัดกิจกรรม open class ขึ้น เพื่อสอนเรื่องเศษส่วน โจทย์คือกิจกรรมให้นักเรียนหาวิธีตัดกระดาษเป็น ¼ เท่ากัน ซึ่งทำได้หลายวิธี  ทีมเองก็จะต้องคาดการณ์แนวคิด เตรียมอุปกรณ์ให้ ทั้งในส่วนการทำงานและการนำเสนอ พอกิจกรรมผ่านไป ครูท่านอื่นในโรงเรียนที่เดิมยังไม่ค่อยมั่นใจ เมื่อได้เห็นการสอนจริงและการสะท้อนผลผ่านทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เริ่มมั่นใจขึ้น

“พวกเขาเห็นจุดเปลี่ยนของนักเรียน เมื่อโค้ชบอกว่า แววตาของเด็กตอนที่ครูช่วยขยายแนวคิดนั้นว้าวมาก เพราะมันเป็นแววตาแบบที่เขาเคยเห็นในชั้นเรียนในญี่ปุ่น แววตาแบบนี้ครูทุกคนก็เห็น มันจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในโรงเรียน เกิดเป็นทีมศึกษาชั้นเรียนที่ขยายไปมากขึ้น เช่น ครูภาษาไทย ที่ก่อนนี้เคยมาช่วยตัดกระดาษเพราะเห็นเราดูทำอะไรยุ่ง ๆ ซึ่งตอนนั้นคงเป็นความเห็นอกเห็นใจมากกว่า แต่เมื่อเข้าใจและมั่นใจ ปัจจุบันก็มาเป็นทีมร่วมกัน ครูคำนวณก็มา กลายเป็นหลายวิชาที่ขยายออกไป ทำให้ปีนี้เกิดการเขียนแผนร่วมกัน เพื่อใช้ในการสอน ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์” 

ส่วน ครูนภัสสร ทรายทอง จากโรงเรียนบ้านหนองกุงวิทยาคาร สะท้อนมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า จุดเริ่มต้นก็คงเหมือนที่อื่น ครูคนอื่นจะมองว่านวัตกรรมแบบนี้ ทำได้เฉพาะวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น ตอนแรกจึงเป็นการทำงานร่วมกับทีมโค้ชและศึกษานิเทศก์เป็นหลัก ซึ่งการมีสองส่วนนี้เข้ามา ยอมรับว่าทำให้อุ่นใจขึ้นโดยเฉพาะสำหรับการเริ่มต้น 

“จนมาเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพราะทั้งโรงเรียนต้องมีการปรับรูปแบบการสอน เราเลยนำนวัตกรรม lesson study และ open approach มาปรับใช้ เริ่มจากเขียนแผน สังเกตชั้นเรียน และสะท้อนผลลัพธ์ เพื่อพัฒนาชั้นเรียนคาบถัดไป  ซึ่งในคาบเรียนของเรา นอกจากปรับรูปแบบการสอน ยังได้ใช้การบูรณาการหลายวิชาเข้ามาไว้ด้วยกัน เพราะพอเป็นการสอบออนไลน์ หากแยกสอนไปตามวิชาเหมือนปกติ ก็จะยิ่งเพิ่มงานให้ทั้งเด็กและผู้ปกครอง สิ่งที่เราทำคือการเปลี่ยนเป็นงานชิ้นเดียว แต่สะท้อนผลได้หลายวิชาและได้คะแนนไปพร้อมๆกัน” 

ครูนภัสสร บอกว่า แม้แต่ผู้ปกครองเอง ตอนแรกดูเหมือนยังไม่ค่อยเชื่อมั่นกับแนวทางนี้ ต้องใช้เวลาในการทำให้เขาเห็นว่าดี แต่พอได้เห็นด้วยตา สัมผัสด้วยตัวเอง เพราะการสอนแบบออนไลน์ทำให้ผู้ปกครองสัมผัสได้ชัด ภายหลังเขาจึงยอมรับว่ามีผลลัพธ์ต่อลูก ที่ดีกว่าเดิมจริง ๆ เสียงเหล่านี้สะท้อนมาจากคุณแม่หลายคน ที่มาเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“สถานการณ์ที่เกิดคือตัวเร่งให้เราแก้ปัญหา การบอกว่าจะใช้นวัตกรรม ตอนแรกอาจมีแต่คนหันข้างให้ เพราะการเปลี่ยนความเชื่อไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อเปลี่ยนแล้ว เขาศรัทธาแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการมีทีมที่แข็งแรงตามมา 

“ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้แน่แค่อย่าท้อ เพราะถ้ามีพัฒนาการเกิดขึ้นจริงเขาต้องเห็น เราแค่ต้องทำให้เป็นกิจวัตรในทุก ๆ วัน จะทำให้เกิดทีมและเครือข่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงการเป็นเครือข่ายระหว่างโรงเรียนด้วย ตรงนี้หากเกาะเกี่ยวกันไว้จะเแข็งแรง จนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ในการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นได้จริง ๆ”