“แรงในชีวิตประจำวัน” ชวนน้องอนุบาลเรียนรู้เรื่องนามธรรม เพื่อลดอุบัติเหตุ

“แรงในชีวิตประจำวัน” ชวนน้องอนุบาลเรียนรู้เรื่องนามธรรม เพื่อลดอุบัติเหตุ

จากโจทย์ที่ว่าเรื่องราว ‘นามธรรม’ เป็นสิ่งที่เด็กเล็กทำความเข้าใจได้ยาก คุณครูส่วนใหญ่จึงเลือกจะมองข้ามมาโดยตลอด ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวของเด็ก ๆ และมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่บทเรียนหนึ่งจากเวทีแลกเปลี่ยนและพัฒนาการเรียนรู้ออนไลน์ ‘PSU-ครูเพื่อศิษย์’ ครั้งที่ 4 ของครูเบญจมาศ ฤทธิศักดิ์ หรือ ‘ครูแมว’ คุณครูประจำชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 บ้านทุ่งนางแก้ว จังหวัดสตูล ได้แสดงให้เห็นว่า การสร้างบทเรียนที่ใช้กระบวนการบูรณาการ Active Learning และ กระบวนการวิทยาศาสตร์ มาผสมผสาน สามารถทำให้เกิดวิธีการใหม่ ๆ ในการเรียนการสอน ที่ช่วยให้น้อง ๆ ชั้นอนุบาลทำความเข้าใจเรื่อง ‘แรง’ ซึ่งเป็นสิ่งนามธรรมได้ในเวลาสั้น ๆ  

และนี่คือหนึ่งในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา สู่การสร้าง ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ ภายใต้โครงการบริหารจัดการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง(TSQP) โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางกาารรศึกษา(กสศ.) ผ่าน 290 โรงเรียนนำร่องทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและนักเรียน โดยก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องความแตกต่างด้านต้นทุนหรือพื้นที่ ช่วยกระจายความเสมอภาคทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว

มาไขคำตอบร่วมกันว่า ครูแมวทำได้อย่างไร? ด้วยการตามติดช่วงเวลา 3 วันในห้องเรียน ที่เจ้าของบทเรียนบอกไว้ว่า เป็น 3 วันสำคัญในการเปิดการเรียนรู้ ซึ่งจะพาน้อง ๆ ไปถึงเป้าหมายที่ครูตั้งไว้

ครูแมวเกริ่นว่า ที่เลือกหัวข้อการเรียนการสอนเรื่อง ‘แรงในชีวิตประจำวัน’ เพราะมีความสงสัยว่า จะมีวิธีการใดในการทำให้เด็กเล็กไปถึงเป้าหมาย ในการค้นพบความรู้ที่ซับซ้อนจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของเราทุกวัน โดยเฉพาะในการเล่นกับเพื่อน หากเด็ก ๆ รู้จัก ‘แรง’ และการ ‘ควบคุมแรง’ ก็จะช่วยให้โอกาสเกิดอุบัติเหตุในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การวิ่งซน ชนกันล้ม การผลักการดึงกัน ลดน้อยลง

บทเรียนเรื่อง ‘แรงในชีวิตประจำวัน’ มีเป้าหมายในการพาน้องอนุบาล 2 ไปให้ถึงความรู้ใหม่ 5 เรื่อง คือ 1.อวัยวะทุกส่วนของร่างกายมีแรง 2.อวัยวะแต่ละส่วนมีแรงไม่เท่ากัน 3.เราสามารถควบคุม/บังคับการใช้แรงได้ 4.แรงทำให้วัตถุเปลี่ยนแปลงรูปร่างและที่อยู่ 5.แรงในธรรมชาติ เช่น แรงน้ำ แรงลม ทำให้วัตถุเปลี่ยนแปลงรูปร่างและตำแหน่งที่อยู่ได้

โดยบทเรียนที่ครูแมวนำมาเล่า จะลงรายละเอียดเฉพาะ 3 หัวข้อใน 3 วันแรก ที่เป็นการปูพื้นฐานก่อนเปิดไปสู่การเรียนรู้และทำความเข้าใจที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งในหัวข้อที่ 4 และ 5 ครูแมวเชื่อว่าเมื่อผ่าน 3 วันแรกของกิจกรรมไปได้แล้ว คุณครูในฐานะผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ จะสามารถนำไปต่อยอดกิจกรรมที่หลากหลายได้ด้วยตนเอง   

วันที่ 1 ‘อวัยวะทุกส่วนของร่างกายมีแรง’

ก่อนเข้าสู่กิจกรรม น้อง ๆ จะนั่งสมาธิ จากนั้นเริ่มฟังครูเล่านิทานเรื่อง ‘อวัยวะทุกส่วนล้วนสำคัญ’ เมื่อเล่าถึงอวัยวะส่วนใดก็ให้นักเรียนจับที่ส่วนนั้น จบแล้วสนทนาโต้ตอบเกี่ยวกับเนื้อหานิทาน ซึ่งการให้นักเรียนสัมผัสจับต้องอวัยวะต่าง ๆ ขณะฟัง จะช่วยสร้างสมาธิจดจ่อกับเรื่องเล่า ส่วนในการสนทนา-ตั้งคำถาม ครูจะเชื่อมโยงไปยังประสบการณ์เดิมที่เด็กแต่ละคนเคยเห็น/เข้าใจ ด้วยการทบทวนว่าอวัยวะแต่ละส่วนมีหน้าที่อย่างไร เชื่อมประสานกันอย่างไร

ครูจะนำเด็กด้วยคำถามพื้น ๆ เช่น เรายกมือขึ้นได้อย่างไร ขยับร่างกายได้อย่างไร โดยถ้าเด็กยังไปไม่ถึงคำตอบ คือความเข้าใจในเรื่อง ‘แรง’ ครูต้องชวนไปสู่อิริยาบถอื่น ๆ ตั้งแต่ให้ลุกขึ้นยืน เดิน กระโดด เคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ

กรณีของครูแมว เมื่อลองหลายวิธีแล้วเด็กยังไปไม่ถึงคำตอบ จึงสร้างโจทย์สมมติว่า การที่เราเป็นลมเพราะไม่ได้กินข้าว ไม่ได้พักผ่อน เกิดขึ้นได้อย่างไร เด็กจะค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่าเราเป็นลมเพราะร่างกายไม่แข็งแรง แต่ถ้าเรากินข้าว พักผ่อนเพียงพอ ก็จะมี ‘แรง’ และเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่วอีกครั้ง จนเด็กมาพบคำตอบว่าอวัยวะทุกส่วนของร่างกายมีแรง และหากจะใช้อวัยวะส่วนใด ร่างกายก็ต้องออกแรงในส่วนนั้น        

ในบทเรียนวันแรก มีการสอดแทรกกิจกรรม ‘จิตปัญญา’ เปรียบการทำงานร่วมกันของอวัยวะต่าง ๆ กับหน้าที่ของแต่ละคน สะท้อนเรื่องความสามัคคี ความมีน้ำใจ การช่วยเหลือเพื่อน ๆ และช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม เด็ก ๆ สามารถเข้าใจกติการการเรียนรู้ การฟังอย่างตั้งใจ แสดงความเห็นได้ตามลำดับ ไม่แทรกขณะผู้อื่นกำลังพูด โดยหากมีการละเมิดกติกาเกิดขึ้น ครูแมวจะชวนนักเรียนทุกคนทบทวนข้อกำหนดในการทำกิจกรรมร่วมกันอีกครั้ง

วันที่ 2 ‘อวัยวะแต่ละส่วนมีแรงไม่เท่ากัน’

เริ่มที่กิจกรรมจิตปัญญา ครูจะสร้างสถานการณ์ต่อเนื่องจากวันแรก โดยสมมติว่า ถ้าเด็กชาย ‘ตูมตาม’ วิ่งเล่น แล้วบังเอิญชนเพื่อนล้ม มีแผล และร้องไห้ แต่ละคนจะทำอย่างไร เด็กจะได้เรียนรู้ว่าการ ‘ขอโทษ’ จากการกระทำที่ไม่ตั้งใจนั้น เป็นสิ่งสำคัญ หรือกลับกันหากเป็นผู้ถูกกระทำ สิ่งที่ทำได้เมื่อเพื่อนกล่าวคำขอโทษ ก็คือการ ‘ให้อภัย’

แล้วจึงเข้าสู่บทเรียนเรื่อง อวัยวะแต่ละส่วนมีแรงไม่เท่ากัน โดยให้นักเรียนจับคู่ หันหน้าเข้าหากัน คนหนึ่งลองใช้นิ้วมือผลักเพื่อน แล้วเปลี่ยนเป็นฝ่ามือ 1 ข้าง เปลี่ยนเป็นฝ่ามือ 2 ข้าง จนถึงใช้ข้อศอก หัวไหล่ สะโพก ทั้งผลัก ดึง กระแทก ชน สะกิด ไล่ระดับกันไป

จากนั้นให้เด็กลองเปลี่ยนมาทดลองกับร่างกายตัวเอง โดยใช้นิ้ว 1 นิ้วตีที่แขนตัวเอง แล้วเปลี่ยนเป็น 2 นิ้ว จนถึงใช้ทั้งฝ่ามือ ก่อนเข้าสู่ช่วงสนทนาเปรียบเทียบในหัวข้อการใช้แรงของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ซึ่งเด็ก ๆ พบว่า การใช้อวัยวะที่แตกต่างกันในการผลัก การเคลื่อนที่ของเพื่อนจะต่างกัน หรือการใช้แรงต่างกันในการผลัก ดึง หรือตี จะทำให้เพื่อนเคลื่อนที่ หรือเกิดความรู้สึกบนร่างกายตนเองไม่เท่ากัน

บทเรียนวันที่ 2 นี้ จะทำให้เด็กเริ่มคิด สังเกต และค้นพบเรื่องแรงจากอวัยวะต่าง ๆ เช่น นิ้วมีแรงน้อยกว่าข้อศอก ข้อศอกมีแรงน้อยกว่าหัวเข่า ซึ่งการจะใช้แรงจากร่างกายผลักดันวัตถุต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงแรงของอวัยวะแต่ละส่วนด้วย โดยตรงนี้ครูจะแทรกเรื่องการควบคุมแรงในการเล่น ว่าเด็ก ๆ ต้องคิด และระมัดระวังให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย ไม่ทำให้เพื่อนหกล้ม บาดเจ็บ

วันที่ 3 ‘เราสามารถควบคุม/บังคับการใช้แรงได้’

เมื่อเด็กรู้แล้วว่ามีความหนักเบาของ ‘แรง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่เรารับรู้ได้จากความรู้สึกผ่านการกระทำ กิจกรรมในวันที่ 3 ครูจึงเริ่มจากให้นักเรียนนั่งตัวตรง ยืดขาออกไปข้างหน้า ใช้นิ้วมือบีบกดไล่ไปตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่แก้ม คาง แขน ท้อง ขา เข่า เท้า โดยใช้แรงกดหนักเบาสลับกัน จากนั้นสนทนาเปรียบเทียบความรู้สึกจากแรงกดในแต่ละจุด ซึ่งเด็กสามารถอธิบายได้ว่าแรงบีบที่แตกต่าง เป็นสาเหตุให้เกิดความรู้สึกที่ต่างกัน

แล้วเข้าสู่หัวข้อ เราสามารถบังคับ/ควบคุมการใช้แรงได้ โดยนักเรียนทุกคนจะได้รับอุปกรณ์เป็นขวดน้ำ 2 ขวด ขวดหนึ่งเป็นขวดเปล่า อีกขวดบรรจุน้ำเต็ม กิจกรรมนี้จะให้เด็ก ๆ คาดคะเนว่า ถ้าใช้มือข้างถนัดยกขวดเปล่าแล้วชูสุดแขน จะต้องใช้แรงอย่างไร เช่นกันกับขวดที่มีน้ำเต็ม เราจะใช้แรงอย่างไร แล้วบันทึกผลที่คาดคะเนบนกระดาษ จากนั้นให้ทดลองยกขวดทีละขวด พร้อมสังเกต บันทึก แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน ต่อจากนั้นเปลี่ยนเป็นลองเขย่า แกว่ง หรือเหวี่ยงขวดทั้ง 2 ใบด้วยมือข้างเดิม แล้วเปรียบเทียบการใช้แรงที่กระทำ โดยผลที่ออกมาคือเด็ก ๆ สามารถรับรู้ได้ว่า แรงที่ใช้กับขวดเปล่าจะน้อยกว่า ขณะที่ขวดมีน้ำเต็มต้องออกแรงมากกว่า 

ครูเบญจมาศ ฤทธิศักดิ์ หรือ ‘ครูแมว’
คุณครูประจำชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111

ครูแมวตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการให้คาดคะเนก่อนลงมือทำ เด็กจะจดจ่อกับกิจกรรมตลอดเวลา เนื่องจากต้องการพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนคิดตรงกับผลการทดลองแค่ไหน ซึ่งผลของการคาดคะเนจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมของเด็ก โดยครูต้องช่วยเชื่อมโยงเปรียบเทียบไปถึงกิจกรรมในสองวันแรกที่ผ่านไป แล้วนำพาเด็กไปให้ถึงการควบคุม/บังคับอวัยวะในร่างกาย ในการออกแรงกระทำต่อวัตถุต่าง ๆ

ผลลัพธ์จากกิจกรรม

ครูแมวสรุปว่า หลังบทเรียน 3 วันแรก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข มีวิธีคิดที่เป็นอิสระ หลากหลาย โดยเด็กสามารถเชื่อมโยงความคิดเข้ากับหัวข้อที่ครูตั้งโจทย์ไว้ได้ และด้วยกิจกรรมที่มีการโต้ตอบระหว่างกัน ทำให้เด็กตั้งใจ สงบ มีสมาธิจดจ่อต่อเนื่อง สนุกกับการตั้งคำถาม การคิด และหาคำตอบ ยอมรับความคิดเห็นคนอื่น เข้าใจกติกาการทำกิจกรรม ไปจนถึงการพบความรู้ใหม่ด้วยตนเองโดยที่ครูเป็นเพียงผู้พาทำ

นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังแสดงให้เห็นว่า มีความกระตือรือร้นในบทเรียนอื่น ๆ มากขึ้น สามารถนำประสบการณ์จากกิจกรรมไปเชื่อมโยงกับการใช้แรงในชีวิตประจำวันได้ รู้จักการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง มีวิธีคิดที่หลากหลายยิ่งขึ้น และรู้จักควบคุมการใช้แรงในการเล่นกับเพื่อนและทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งทำให้อันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้แรงลดน้อยลง

‘ครูคือผู้พาทำ ไม่ใช่คนบอกความรู้ให้เด็ก’

ก่อนจบบทเรียนเรื่อง ‘แรงในชีวิตประจำวัน’ ครูแมวฝากไว้ว่า ในกระบวนการพาเด็ก ๆ ไปถึงความรู้ในแต่ละขั้น บางครั้งครูอาจพบว่าไปไม่ถึงเป้าหมาย หรือเจอทางตัน ซึ่งเมื่อพบว่าไปต่อไม่ได้ก็ต้องหยุด หรือยอมถอยกลับไปข้างหลัง หาทางพลิกแพลงสถานการณ์ เช่น ถามกระตุ้น ชี้นำเด็กให้เชื่อมโยงกับความรู้และประสบการณ์เดิม เพื่อพาไปพบความรู้ใหม่ได้

“เคล็ดลับของการเรียนรู้คือ เด็กทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมอยู่ในกิจกรรมตลอด ต้องได้พูด ได้คิด ได้สงสัย และคาดคะเน ไม่ใช่นั่งฟังเพียงอย่างเดียว และทุกสิ่งที่ครูนำมาใช้นำทางต้องเชื่อมโยงกับชุดความรู้ใหม่ที่ต้องการให้เด็กไปถึง รวมถึงการให้เด็กได้ใช้ตัวเองเป็นอุปกรณ์ทดลอง เพราะเด็กจะสนใจใคร่รู้อยู่เสมอว่า ร่างกายของเราทำอะไรได้บ้าง ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เอง คือหัวใจของการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่ผู้เรียนควรได้เรียนรู้อย่างมีความสุข และมีชีวิตชีวา”