‘กล่องดำ’ ชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเองช่วยให้การศึกษาไม่หยุดชะงัก

‘กล่องดำ’ ชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเองช่วยให้การศึกษาไม่หยุดชะงัก

หลังการระบาดของโคโรนาไวรัสในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ทำให้โรงเรียนทั่วประเทศต้องปิดการเรียนการสอน และมีผลให้การศึกษาในหลายพื้นที่ต้องหยุดชะงัก ขณะที่การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยการจัดการเรียนออนไลน์ยังไม่สามารถทำได้ทั่วถึงทุกพื้นที่

โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คิดค้นชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Directed Learning) ที่มีชื่อว่า ‘กล่องดำ’ หรือ Black Box ซึ่งเป็นเครื่องมือเสริมทักษะพื้นฐานการเรียนรู้ที่ครอบคลุม 4 กลุ่มสาระวิชาหลัก จากพื้นฐานการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่มุ่งส่งมอบโอกาสทางการศึกษาไปให้ถึงมือเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลด้วยเครื่องมือที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีออนไลน์เป็นหลัก

บทเรียนที่เรียนรู้ได้ในทุกพื้นที่ผ่านเรื่องราวใกล้ตัว

‘กล่องดำ’ บรรจุไว้ด้วยเอกสารอธิบายหัวข้อการเรียนรู้ ที่ทีมโค้ช TSQP และครูทั่วประเทศร่วมกันออกแบบจนได้เป็นบทเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่เน้นเรียนรู้ผ่านเรื่องราวและสิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงสานสัมพันธ์ในครอบครัวในช่วงที่เด็กๆ ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน อาทิ กิจกรรม ‘ฉันคือใคร’ ที่น้องๆ จะต้องสืบค้นความเป็นมาของตนผ่านการสื่อสารกับคนในครอบครัว หรือ ‘สวนผักแสนสนุก’ ที่เด็กๆ จะได้ทดลองทำสวนผักเล็กๆ ในบ้าน ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานของการสร้างแหล่งอาหารในบริเวณบ้าน เพื่อรับมือกับช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต

นอกจากนี้ ในกล่องดำยังได้จัดเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสมตามหัวข้อการเรียนรู้ เช่น เมล็ดพันธุ์พืช กระถาง เครื่องมือสำหรับงานประดิษฐ์ เช่น สี กระดาษ กาว หรือสิ่งของจำเป็นในวิชาวิทยาศาสตร์ เช่น กระดาษลิตมัส แว่นขยาย เป็นต้น

พัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็กในโรงเรียนต้นแบบได้ถึง 80%

บรรจบ เทตะรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอ้อตลิ่งชัน ต.สระขุด อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ หนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายโครงการ TSQP ระบุว่า หลังจากที่ทางโรงเรียนได้รับกล่องดำในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 และได้ส่งมอบให้นักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 นำไปใช้ พบว่าเด็กๆ ต่างให้ความสนใจและมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้สามารถวัดผลได้จากการที่น้องๆ มีการบูรณาการบทเรียนในสาระวิชาต่างๆ และสร้างชิ้นงานผ่านความความเข้าใจ และบอกเล่าอธิบายกับครูที่ทำหน้าที่โค้ชได้

“จากเนื้อหาหลักๆ ในหัวข้อฉันคือใคร สวนผักแสนสนุก สมุนไพรใกล้ตัว หรือทักษะภาษาอังกฤษ เราได้เห็นเด็กเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตนเอง ทำสวนผักที่บ้าน และเขียนเรียงความเป็นภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น มีชิ้นงานมาส่งครู ซึ่งเรามองว่าร้อยละแปดสิบของเด็กที่นำไปใช้สามารถเข้าถึงบทเรียนและใช้อุปกรณ์จากกล่องดำได้อย่างคุ้มค่า” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอ้อตลิ่งชันกล่าว

แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเรียน ครู และผู้ปกครอง

ผอ.บรรจบ กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากที่เด็กๆ จะได้นำชุดการเรียนรู้ไปใช้เพื่อการศึกษาด้วยตนเองที่บ้าน ทางโรงเรียนได้มีการดูแลติดตามผลและสร้างการมีส่วนร่วม โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มไลน์ เพื่อให้เด็กๆ ได้สื่อสารแลกเปลี่ยนชิ้นงาน ความรู้ ทั้งเป็นช่องทางที่ครูและโค้ชจาก TSQP สามารถช่วยจัดตารางการเรียนรู้หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับบทเรียนในแต่ละหัวข้อได้อีกด้วย

ขณะที่ผู้ปกครองเองก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ช่วยครู ในการให้คำแนะนำและเรียนรู้ไปด้วยกันกับเด็กๆ ซึ่งไม่เพียงเป็นการดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกับบทเรียน แต่ยังมีส่วนพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้นในอีกทางหนึ่ง

“แม้ยังเป็นเพียงช่วงเวลาเริ่มต้น แต่สิ่งที่ครูและทีมโค้ชได้เห็นคือเด็กๆ มีพัฒนาการด้านทักษะสื่อสารที่ดีขึ้น ซึ่งแสดงออกผ่านการอธิบายชิ้นงานและความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดจากเนื้อหาบทเรียน รวมถึงทักษะด้านอื่นในชีวิตประจำวันที่เพิ่มพูนขึ้น อย่างการช่วยงานบ้าน รดน้ำต้นไม้ ทำสวนครัว ที่เรามองว่ากล่องดำทำให้เกิดความกระตือรือร้นในตัวเด็กๆ เขาจะอยากหยิบจับนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่บ้านของตัวเอง หรือการปลูกพืชผักที่ช่วยจุดประกายความคิดเรื่องการสร้างแหล่งอาหารทางเลือก เพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังดำเนินต่อไป”

 

ปลูกฝังการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านบริบทรอบตัว ส่งผลต่อการศึกษาในระยะยาว

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอ้อตลิ่งชันกล่าวสรุปว่า ชิ้นงานที่เด็กๆ สร้างสรรค์ออกมา ช่วยฉายภาพความสำเร็จเบื้องต้นของกล่องดำในภาพรวม ทั้งนี้ในฐานะผู้บริหารสถานศึกษามองว่าหากเด็กได้มีเวลาทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น สม่ำเสมอ และได้รับการเสริมความรู้ที่ต่อยอดจากเนื้อหาที่มีอยู่ ก็จะช่วยให้การเรียนรู้เดินต่อไปได้ แม้ในช่วงปิดโรงเรียนจากผลกระทบของ COVID-19

“ตอนนี้เราบอกได้ว่าเด็กๆ ที่ได้ทดลองเรียนรู้ด้วยตัวเองจากกล่องดำ เขาตีโจทย์ได้ มีพื้นฐานการเข้าถึงความรู้ที่พัฒนาขึ้น สามารถต่อยอดไปได้ไกลกว่าบทเรียนที่ชุดการเรียนรู้บรรจุไว้ ซึ่งงานหลายชิ้นที่เราได้รับได้แสดงถึงการออกแบบสร้างสรรค์ที่เกินกว่าวัยของเขา เรามองว่าหากภาวะการปิดเรียนยังต้องทำต่อไป กล่องดำจะช่วยให้การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการดัดแปลงจากบริบทรอบๆ ตัวของเขาพัฒนาไปได้อีกมาก แต่ที่สำคัญคือต้องมีการแนะนำและติดตามผลโดยครูและโค้ช เพื่อการเรียนรู้เป็นลำดับขั้น ช่วยกำหนดกรอบสาระวิชาที่เหมาะสม และช่วยนำทางให้เกิดการบูรณาการเรื่องราวใกล้ตัวให้เข้ามาสู่บทเรียนได้”

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค