รู้หนังสือ-ทันดิจิทัล-จัดการอารมณ์ได้ เรื่องพื้นฐานที่คนไทยยังไปไม่ถึง
มองวิกฤต ‘ทักษะทุนชีวิต’ แรงงานไทย กับ ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์
โดย : เพ็ญพิชชา มุ่งงาม
สัมภาษณ์ : วิโรจน์ สุขพิศาล / ภาพถ่าย : ธีรพัฒน์ แก้วชำนาญ

รู้หนังสือ-ทันดิจิทัล-จัดการอารมณ์ได้ เรื่องพื้นฐานที่คนไทยยังไปไม่ถึง

วิทยาการอันล้ำสมัยและเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้โลกในศตวรรษที่ 21 ดูเหมือนจะหมุนเร็วกว่าที่เคยเป็นมา แม้ความก้าวหน้าเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์นานัปการ แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงกดดันให้มนุษย์ต้องขวนขวายทักษะใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อก้าวให้ตรงจังหวะความเปลี่ยนแปลงและไม่ตกขบวนการพัฒนา

ท่ามกลางโอกาสที่มาพร้อมความท้าทายมากมาย สังคมไทยพูดคุยถึงโจทย์ในการยกระดับทักษะประชากรมาหลายทศวรรษ โดยบรรจุทักษะหลากหลายด้านไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่พ้นไปจากรั้วโรงเรียน เราไม่อาจทราบได้ว่าทักษะเหล่านั้นยังคงติดตัวอยู่กับผู้คนหรือไม่ หากหล่นหายไประหว่างทางต้องทำอย่างไร และสำหรับคนที่เติบโตมานอกระบบการศึกษา พวกเขาต้องการการสนับสนุนทักษะใดเพิ่มเติม โจทย์เหล่านี้จะหาทางออกที่ตรงจุดไม่ได้เลยหากปราศจากข้อมูลที่จะช่วยขยายภาพสถานการณ์ทักษะประชากรไทย

รายงาน ‘ทิศทางพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนของประเทศ’ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการประเมินทักษะผู้ใหญ่ในวงกว้าง โดยได้รับการพัฒนาขึ้นจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างธนาคารโลกและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงขนาด ลักษณะ และความเสียหายจากวิกฤตด้านทักษะพื้นฐานที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแนวทางเพื่อเสริมสร้างความสามารถของพลเมืองไทยให้เผชิญกับความท้าทายและโอกาสในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไทยให้ออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

101 สนทนากับ ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ถึงใจความสำคัญของรายงานทิศทางพัฒนาทักษะฐานรากของทุนมนุษย์ หาคำตอบจากผลสำรวจว่าสถานการณ์ทักษะพื้นฐานประชากรวัยแรงงานของไทยเป็นอย่างไร ช่องว่างทางทักษะใดที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และนโยบายแบบใดเป็นทางออกที่ยั่งยืน

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์

รายงานทิศทางพัฒนาทักษะฐานรากของทุนมนุษย์สำรวจอะไรบ้าง

รายงานฉบับนี้สำรวจสถานการณ์ทักษะประชากรวัยแรงงานของไทย คือกลุ่มคนที่มีอายุ 15-64 ปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 กว่าล้านคน ถือว่าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ แต่กลับไม่ค่อยมีข้อมูลสะท้อนสถานการณ์ด้านทักษะพื้นฐาน ที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงประชากรของประเทศไทย เรากำลังพูดถึงคนทุกช่วงวัย ทั้งวัยเรียนและวัยทำงาน แต่ส่วนใหญ่เราจะรู้ข้อมูลวัยเรียนเยอะ ทั้งผ่านผลสอบ PISA, การสอบ O-NET และการสอบอื่นๆ กล่าวได้ว่าเรามีข้อมูลประชากรวัยนี้มากพอสมควร แต่พอเป็นวัยทำงานซึ่งเป็นวัยที่อยู่นอกรั้วโรงเรียนแล้ว ข้อมูลชุดนี้เราแทบจะไม่มี เราเลยไม่รู้เลยว่าสถานการณ์ด้านทักษะและการเรียนรู้ของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร ทั้งที่เขาเป็นคนกำลังคนกลุ่มใหญ่มากเมื่อเทียบกับประชากรวัยเรียนที่มีอยู่ประมาณ 8 ล้านคน

ถ้าขยายภาพเข้าไปดูประชากรวัยแรงงาน ก็จะแบ่งได้อีกสองกลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่ในระบบและกลุ่มที่อยู่นอกระบบ กลุ่มหลังนี้มีมากถึง 20 ล้านคน ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีสวัสดิการทางสังคมและมีรายได้ไม่แน่นอน ด้านการศึกษา เราพบว่า 70% ของคนที่อยู่นอกระบบจบการศึกษาไม่เกิน ม.6 และมีรายได้เฉลี่ยคนละไม่เกิน 6,500 บาทต่อเดือน เพราะฉะนั้นวัยแรงงานถือเป็นคนกลุ่มใหญ่มากของประเทศและมีสัดส่วนกลุ่มเปราะบางค่อนข้างเยอะ

หลายประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม มีข้อมูลว่าประชากรวัยแรงงานของเขามีทักษะอยู่ระดับไหน ถ้าเทียบกับประเทศอื่นเขาอยู่ตรงไหน แต่ไทยไม่เคยมีข้อมูลสถานการณ์เหล่านี้มาก่อนและไม่มีเครื่องมือวัดอีกด้วย การขาดข้อมูลทำให้เราไม่รู้ว่าทักษะวัยแรงงานไทยอยู่ระดับไหน เจอสถานการณ์อะไรบ้าง และประชากรกลุ่มเปราะบางจะต้องช่วยเสริมด้านไหนเป็นพิเศษ เลยเป็นที่มาของการริเริ่มสำรวจทักษะทุนชีวิตของประชากรวัยแรงงานไทย โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารโลก ซึ่งมีเครื่องมือการสำรวจที่สอดคล้องกับบริบทของไทย เนื่องจากธนาคารโลกเคยสำรวจมาแล้วประมาณ 17 ประเทศ โดยเน้นไปที่ประเทศรายได้ปานกลาง

ดังนั้น เป้าหมายของโครงการนี้คือเพื่อให้ไทยมีกระจกส่องวิกฤตหรือสถานการณ์ด้านทักษะทุนชีวิตของประชากรวัยแรงงาน และเพื่อให้มีการทบทวนความพยายามของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของไทย ทั้งด้านนโยบายและเครื่องมือ ว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง ทำไปแล้วมันสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เราสำรวจพบไหม และเป้าหมายต่อมาคือการให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายว่าอะไรยังเป็นช่องว่าง และเราจะปิดช่องว่างนั้นอย่างไร เพื่อสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ส่งเสริมกลุ่มเยาวชนกับวัยแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นิยามของ ‘ทักษะทุนชีวิต’ คืออะไร ต่างกับทักษะอาชีพหรือเปล่า

เรากำลังพูดถึงการสำรวจทักษะพื้นฐาน (foundational skills) หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘ทักษะทุนชีวิต’ เราไม่ได้พูดถึงทักษะอาชีพ ไม่ได้สำรวจว่าคุณทำอะไรเป็น คุณ coding เป็นไหม หรือคุณเป็นช่างประปาได้หรือเปล่า แบบนี้เรียกว่าการสำรวจทักษะอาชีพ แต่สิ่งที่เราพูดคือทักษะทุนชีวิต ที่ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไรหรืออยู่ภูมิภาคไหนของไทย คุณต้องมีสิ่งนี้ ทักษะทุนชีวิตเป็นทักษะที่สามารถถ่ายทอดได้ เรียนรู้ได้ ถ่ายโอนได้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นไปได้ เป็นทักษะที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เกี่ยวข้องกับทุกอาชีพ ใช้กับทุกสภาพแวดล้อม ทุกสถานการณ์ในชีวิต และเป็นทักษะที่ต้องใช้ตลอดช่วงชีวิต นี่คือคอนเซปต์ทักษะทุนชีวิตที่เรากำลังพูดถึง

เราแยกทักษะทุนชีวิตออกเป็นสามทักษะ

ทักษะแรกคือการอ่านและรู้หนังสือ หมายถึงความสามารถที่จะเข้าใจและประมวลผลข้อความต่างๆ ได้ เนื่องจากการอ่านและการรู้หนังสือคือประตูไปสู่การเรียนรู้ด้านอื่นๆ ดังนั้นถ้าคนของเราไม่มีความแข็งแรงในการรู้หนังสือและการอ่าน การจะไปเรียนรู้เรื่องอื่นๆ นั้นยากมาก

ทักษะที่สองคือทักษะดิจิทัลที่ใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงาน ซึ่งเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ทักษะนี้เชื่อมโยงไปถึงเรื่อง media literacy และ digital literacy ด้วย ไม่ใช่แค่ความสามารถในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลหรือกรอกข้อมูลในเว็บไซต์

ทักษะที่สามคือทักษะทางสังคมและอารมณ์ ปัจจุบันนี้มีหลายคำที่ถูกใช้ บางที่ก็เรียกทักษะในศตวรรษที่ 21 บางครั้งก็มีคนเรียกว่า soft skills แต่ในการสำรวจของเราหมายถึงทักษะความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมกับผู้อื่น ทักษะการคิดนอกกรอบหรือคิดแบบใหม่ เปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆ รวมไปถึงทักษะการจัดการอารมณ์และความเครียด ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะทางอารมณ์และสังคมที่รายงานของเราพูดถึง

สามทักษะนี้วัดอย่างไร อยากให้ยกตัวอย่างคำถามที่ใช้ทดสอบ

ด้านการอ่านหรือการรู้หนังสือ จะมีการทดสอบ เช่น ให้อ่านและทำความเข้าใจฉลากยา แล้วดูว่าสามารถเข้าใจ ตีความ และปฏิบัติตามได้ไหม บททดสอบจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันง่ายๆ ส่วนทักษะดิจิทัลจะทดสอบว่าคุณสามารถเข้าเว็บไซต์ได้ไหม และสามารถใช้ประโชน์จากเว็บไซต์ เช่น การเปรียบเทียบราคาสินค้าได้หรือเปล่า ส่วนทักษะสังคมและอารมณ์ จะเป็นแบบสำรวจว่าคุณเปิดกว้างไหม จัดการอารมณ์ได้ไหม ซึ่งเป็นคำถามตรงไปตรงมา แบบสำรวจนั้นไม่ได้ซับซ้อนแต่เป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและใช้ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ

จากผลการสำรวจ มีข้อค้นพบใดที่น่าสนใจบ้าง

ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เรารู้ผลสถานการณ์ทักษะวัยแรงงาน เราพบว่า 70% ของกลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ‘สอบตก’ ทักษะการรู้หนังสือและการอ่าน และทักษะดิจิทัล คือไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้นๆ ได้ เช่น ข้อความในฉลากยา ส่วนด้านทักษะดิจิทัล มีปัญหาในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและไม่สามารถค้นหาราคาสินค้าที่แตกต่างกันบนเว็บไซต์ได้ หรือไม่สามารถใช้งานในฟังก์ชันง่ายๆ ได้ ส่วนทักษะทางอารมณ์และสังคม เราพบว่ามีคนสอบตกประมาณ 30% ซึ่งถือว่าดีกว่าอีกสองทักษะ ปัญหาที่สำรวจพบคือคนไม่ค่อยมีความคิดริเริ่ม ไม่อยากรู้อยากเห็น และขาดจินตนาการ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นว่าผลสำรวจอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างไร เช่น เราจะมีโจทย์เกี่ยวกับราคาค่าบริการโทรศัพท์ เพื่อสำรวจว่าผู้เข้าร่วมทดสอบสามารถเปรียบเทียบได้ไหมว่าอะไรคุ้มค่ากว่ากัน ซึ่งก็มีคนสอบตก หมายความว่าทักษะพื้นฐานของเยาวชนและแรงงานที่อย่างน้อยในชีวิตประจำวันก็ควรจะรู้ว่าอันไหนถูกหรือแพงกว่ากันก็ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งการวัดและเปรียบเทียบนั้นไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ แต่เป็นการอ่านเพื่อตีความ ทำความเข้าใจ และประมวลออกมาเป็นการปฏิบัติที่ควรจะเป็นได้ สิ่งนี้สะท้อนว่าปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องการอ่านออกเขียนได้ แต่เป็นเรื่องการทำความเข้าใจและการตีความหมายด้วย

จากผลสำรวจ เราพูดได้เต็มปากเลยหรือเปล่าว่าประชากรวัยแรงงานของไทยกำลังอยู่ใน ‘วิกฤตทักษะทุนชีวิต’

ใช่ค่ะ บอกแบบนั้นได้เลย เมื่ออยู่ในจุดที่พูดได้ว่าเป็นวิกฤตยิ่งจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมทักษะอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะคนกลุ่มใหญ่อย่างวัยเยาวชนและวัยแรงงาน ยิ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรกลุ่มนี้ยิ่งมีความหมาย เพราะเขาจะเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งระดับปัจเจก ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ถ้าเราไม่เร่งพัฒนาคนกลุ่มนี้ จะเป็นเรื่องยากมากที่เราจะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ประเทศไทยเรามีวิสัยทัศน์ว่าอยากออกจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่ก็ยังออกไปไม่ได้เสียที เพราะเราไม่เร่งพัฒนาทักษะทุนชีวิตให้คนกลุ่มนี้

ก่อนจะพูดถึงทักษะอาชีพ เราต้องวางรากฐานทักษะทุนชีวิตให้เข้มแข็ง ซึ่งจะตอบโจทย์ความท้าทายในปัจจุบัน เช่น disruptive technology อย่าลืมว่าทักษะดิจิทัลก็มีพื้นฐานมาจากการอ่านและการรู้หนังสือ และการทำงานร่วมกับผู้อื่นก็ต้องอาศัยทักษะทางอารมณ์และสังคม นายจ้างบอกชัดเจนว่าเขาไม่ต้องการให้หนุนเสริมเรื่องทักษะอาชีพ เขาสอนเองได้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ทักษะที่เขาสอนไม่ได้คือสามทักษะทุนชีวิตนี้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมตั้งแต่วัยเด็ก ส่วนกลุ่มเยาวชนและวัยแรงงานก็ต้องมีโปรแกรมอะไรบางอย่างที่ช่วยบูสต์ทักษะเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ

รายงานนี้ยังบอกเราว่าถ้าประเทศไทยยังไม่ทำอะไรเลย จะมีมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 20% ของ GDP (ปี 2565) เราสูญเสียไปมากขนาดนี้เพราะวิกฤตทางทักษะ นอกจากความสูญเสียในระดับประเทศจะสูงแล้ว หากขยับมาพิจารณากลุ่มเยาวชนและวัยแรงงาน เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่มีทักษะสามด้านนี้สูงตามเกณฑ์กับกลุ่มที่มีทักษะต่ำหรือสอบตก เราพบว่ามีรายได้ต่างกันถึง 6,400 บาท นั่นหมายความว่าถ้าเราไปบูสต์ทักษะนี้ให้กับกลุ่มทักษะต่ำรายได้ของเขาจะเพิ่มขึ้นถึง 6,400 บาท/คน/เดือน ในต่างประเทศก็มีการศึกษาที่ได้ข้อสรุปว่าแค่คุณสนับสนุนให้ประชากรมีทักษะด้านดิจิทัล รายได้จะเพิ่มขึ้นถึง 8% ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มรายได้ในสัดส่วนที่สูงมาก

หากมองเจาะไปยังกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น พ่อค้า-แม่ค้าหาบเร่ แผงลอย ถ้าสมมติเขาได้รับการส่งเสริมทักษะสามด้านนี้ เขาอาจจะกลายเป็นแรงงานในระบบก็ได้ ซึ่งการเข้าไปอยู่ในระบบการจ้างงานย่อมดีกว่าอยู่แล้ว เพราะมีเงินเดือนที่แน่นอน มีสวัสดิการสุขภาพและสังคม ซึ่งแรงงานนอกระบบจะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลยถ้าไม่ย้ายตัวเองเข้ามาอยู่ในระบบ มีข้อค้นพบที่น่าสนใจจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่เคยมีระดับการพัฒนาเท่าๆ ไทย เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน หนึ่งในปัจจัยที่ประเทศเหล่านี้ก้าวขึ้นมาเป็นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียได้เพราะมีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหันกลับมามองไทย เรามีแรงงานนอกระบบเยอะมาก ดังนั้น ถ้าเราพลิกโฉมแรงงานเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น ก็หมายความว่าเราจะมีการจ้างงานขั้นสูงมากขึ้นและมีระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วย

ไม่กี่ปีมานี้ไทยมีนโยบายที่เปิดประตูโอกาสให้แรงงานมากมาย เช่น เศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Economy แต่น่าเสียดายที่ตลาดแรงงานไทยมีแรงงานทักษะต่ำในสัดส่วนค่อนข้างเยอะ ยังติดกับดักทักษะทุนชีวิตที่ไม่เข้มแข็ง เราจึงไม่สามารถคว้าโอกาสเหล่านั้นไว้ได้

ก่อนหน้านี้คุณบอกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านของเรามีข้อมูลทักษะทุนชีวิตของประชากรตัวเองอยู่แล้ว หลังจากไทยมีผลสำรวจชุดนี้ออกมา ถ้าให้เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์เราน่าเป็นห่วงมากน้อยแค่ไหน เพราะภาคเอกชนไทยมักจะออกมาสะท้อนความกังวลอยู่บ่อยครั้งว่าการที่แรงงานไทยมีทักษะต่ำทำให้เราแข่งขันในระดับโลกไม่ได้

ถือว่าน่าเป็นห่วงนะ จริงๆ ผลคะแนน PISA ก็พอจะบอกได้อยู่แล้ว ผลสำรวจของเราก็ตอกย้ำอีกว่าสถานการณ์ทักษะพื้นฐานของกลุ่มวัยทำงานก็ไม่ได้แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าให้เทียบกับต่างประเทศก็ถือว่าเรายังสู้ไม่ค่อยได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะการที่ประเทศต่างๆ จะเลือกมาลงทุน เขาดูข้อมูลคนเป็นลำดับแรกๆ เช่น ผลสอบ PISA ของนักเรียนก็จะช่วยบอกว่าอนาคตของแรงงานที่เราจะผลิตออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนผลสำรวจทักษะทุนชีวิตก็จะบอกว่าประชากรแรงงานในปัจจุบันเป็นอย่างไร ฉะนั้นถ้าคนของเรายังสอบตกอยู่ สถานการณ์การลงทุนก็ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะเขาจะมองว่าคนของเราไม่พร้อมหรือความสามารถไม่มากพอที่จะทำงาน

ถ้ามองในระดับภูมิภาค เวียดนามถือว่าเป็นประเทศที่มีกำลังคนโดดเด่น เพราะเขาชูนโยบายผลิตกำลังคนที่มีความเก่งในด้าน STEM ของไทยก็นโยบายผลักดันเรื่องนี้เหมือนกัน แต่อาจจะต้องมาใส่ใจเรื่องพื้นฐานที่สุดก่อนคือปัญหาด้านทักษะทุนชีวิต ถ้าเราทำให้ฐานตรงนี้แข็งแรง การต่อยอด STEM ก็จะเดินต่อได้ง่าย หลายครั้งเราอาจจะหลงลืมไปว่าเราผลิตคนที่เก่งด้าน STEM ได้แล้ว แต่พอเขาจบการศึกษาไปแล้วก็ยังต้องการได้รับการเติมทักษะในแต่ละช่วงอายุและตลอดช่วงชีวิต การสนับสนุนอย่างยั่งยืนไม่ใช่ว่ารู้เยอะสุดก่อนเรียนจบ แต่ออกมาแล้วก็ทิ้งไป แต่จำเป็นต้องบูสต์ตลอดช่วงชีวิตของเขา หากพิจารณาแนวทางในปัจจุบัน ไทยลงทุนหลายจุด แต่กระจัดกระจายและพูดหลายเรื่อง ตอนนี้จึงหวังที่จะเห็นทุกหน่วยงานหันมาคุยกันว่าเราจะพูดเรื่องทักษะทุนชีวิต หาแนวทางว่าเราจะบูสต์ทักษะนี้อย่างไรตลอดช่วงชีวิตที่คนของเรายังทำงานอยู่ และจะต้องเสริมกลุ่มไหนเป็นพิเศษ

มีแนวทางการส่งเสริมทักษะตลอดชีวิตจากต่างประเทศที่น่าสนใจบ้างไหม

ถ้าดูตัวอย่างจากต่างประเทศ เขามีการส่งเสริมการบูสต์ทักษะตลอดช่วงชีวิตค่อนข้างเป็นรูปธรรม สำหรับไทย ยังไม่ค่อยเห็น แต่ก็พูดได้ว่ามี เพียงแต่มีอยู่ในระบบเท่านั้น คือการให้แรงจูงใจด้วยการลดหย่อนภาษีแก่บริษัทต่างๆ ที่มีโครงการพัฒนาทักษะแรงงานหรือลูกจ้าง ซึ่งแนวทางนี้ดีอยู่แล้ว แต่เราต้องมาคิดต่อว่าคนที่ไม่มีนายจ้างจะทำอย่างไร แรงงานที่อยู่นอกระบบเขาเข้าไม่ถึงสิทธิลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือเราจะขยายแรงจูงใจไปถึงคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร

มีนวัตกรรมที่น่าสนใจจากต่างประเทศที่อาจเป็นทางออกของโจทย์นี้ คือการให้คูปอง ซึ่งถูกใช้ในฝรั่งเศส เวลส์ และสิงคโปร์ โดยฝรั่งเศสสนับสนุนคนละ 500 ยูโรต่อปี สำหรับการพัฒนาสามทักษะพื้นฐาน โดยเจาะจงกลุ่มผู้ว่างงาน สิงคโปร์ให้ 500 ดอลลาร์ แต่ให้ครั้งเดียวตลอดชีวิต มีงานศึกษาจากประเทศเหล่านี้พบว่า ทักษะที่เยาวชนและวัยแรงงานซึ่งอยู่นอกรั้วโรงเรียนสนใจมากที่สุดคือทักษะการจัดการอารมณ์ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ และทักษะด้านดิจิทัล สะท้อนว่าจริงๆ ประชากรเขาไม่ได้รู้สึกว่าขาดทักษะอาชีพ หลายคนก็มีอาชีพอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องการคือจะทำอย่างไรให้อาชีพที่ทำอยู่มี ‘value added’ ขายได้มากขึ้น มีเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขึ้น ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ต้องใช้ทักษะทุนชีวิตในการไปให้ถึง ฉะนั้นถ้ามองต่างประเทศสะท้อนมาไทย หากเราส่งเสริมในลักษณะนี้ก็อาจเป็นคำตอบของการออกจากวิกฤต

อย่างไรก็ตาม แนวทางการสนับสนุนของไทยน่าจะต้องทำแบบเจาะกลุ่ม เพราะกลุ่มที่มีปัญหาตอนนี้ไม่ใช่คนที่มีการศึกษาสูง แต่เป็นกลุ่มเปราะบาง ผลสำรวจฉบับนี้พบว่าคนอายุมากมีปัญหาเรื่องวิกฤตทักษะมากที่สุด ถัดมาคือกลุ่มอายุน้อยและการศึกษาน้อย นอกจากนี้ การสำรวจครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เราดูผลระดับภูมิภาคได้ด้วย เราสุ่มตัวอย่างไปถึงระดับภูมิภาคเพราะเราอยากเห็นภาพว่าถ้านโยบายดี ก็น่าจะลงไปถึงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ผลสำรวจของเราพบว่าประชากรภาคเหนือและภาคใต้มีปัญหามากกว่าพื้นที่อื่น โดย 80% สอบตกเรื่องทักษะดิจิทัล ซึ่งถือว่าสูงมาก ขณะเดียวกันก็มี 80% ที่มีปัญหาเรื่องการอ่านและรู้หนังสือ สะท้อนว่าแนวทางแก้ปัญหาแบบเฉพาะเจาะจงเป็นสิ่งจำเป็น

พิจารณานโยบายจากรัฐไทยในปีที่ผ่านๆ มา เราจะเห็นการชูนโยบาย upskill และ reskill อยู่บ่อยครั้ง แนวทางเหล่านี้เพียงพอไหม หรือเราต้องผลักดันแนวทางอื่นด้วย

จากการทบทวนนโยบายทั้งหมด เราพบว่าประเทศไทยเปิดพื้นที่การเรียนรู้ค่อนข้างเยอะ แต่จะเน้นไปที่ upskill และ reskill เสียเยอะ ซึ่งเป็นการเน้นที่ทักษะอาชีพ ไม่ได้พูดถึงทักษะทุนชีวิต ดังนั้น สิ่งที่มีนั้นดีอยู่แล้ว แต่ควรเติมทักษะทุนชีวิตแบบใหม่ เพื่อให้ทักษะทั้งสองด้านแข็งแรงมากขึ้นและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ถ้าเน้นพูดถึงทักษะอาชีพเพียงอย่างเดียว แรงงานก็ยังเป็นแรงงานคนเดิมที่คิดเองไม่ได้ คิดสิ่งใหม่ไม่ได้ เพราะเราสอนแต่เรื่องเทคนิคที่เอาไปต่อยอดไม่ได้

เราต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคมว่าทักษะทุนชีวิตเป็นทักษะที่ควรต้องมีในตอนนี้ เพื่อให้เกิดการต่อยอดจากอาชีพที่ทำอยู่ได้มากขึ้น อยากให้หน่วยงานระดับพื้นที่ หน่วยจัดการศึกษา และหน่วยฝึกอบรมต่างๆ หันมาดูโจทย์นี้เพิ่มมากขึ้น อย่างกระทรวงแรงงานเขาก็บอกว่างานของเขาดูแค่อาชีพ ซึ่งก็ถือว่าดี แต่มันไม่พอแล้ว ถ้าไทยจะไปให้ถึงไทยแลนด์ 4.0 หรือโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เราจำเป็นต้องสนับสนุนทักษะทุนชีวิตและทักษะอาชีพไปพร้อมๆ กัน

นอกจากรัฐแล้ว ภาคเอกชนควรทำอะไรบ้าง

เอกชนมีบทบาทเยอะในแง่ที่ว่าหลายบริษัทเขามี CSR อยู่แล้ว เราก็ดึงเขามาเป็นองคาพยพในการมีส่วนร่วมส่งเสริมทักษะนี้ได้ อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ว่าสำหรับภาคเอกชน pain point ที่เขาพูดมาตลอดคืออยากให้คนทำงานของเขา ‘ไม่ใช่แค่ทำงานเป็น แต่ต้องคิดเป็น’ คำว่าคิดเป็นนี่แหละที่มีรากฐานมาจากทักษะทุนชีวิต ฉะนั้นเอกชนเองก็มีความต้องการผลักดันเรื่องนี้ และเราเห็นตัวอย่างภาคเอกชนที่เข้ามาจับประเด็นนี้ค่อนข้างเยอะ มีการเข้าไปทำงานในระดับชุมชนก็เยอะ ถ้าโครงการ CSR ที่เขากำลังทำอยู่ใส่โจทย์เรื่องทักษะทุนชีวิตเข้าไปด้วย ก็น่าจะทำให้การยกระดับทักษะประชากรไทยขยายขอบเขตมากขึ้น

อะไรคือช่องว่างที่ใหญ่ที่สุดที่หน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ตอนนี้เรามีข้อมูลในการทำงานต่อแล้ว เราเจอแล้วว่าสถานการณ์ทักษะประชากรไทยอยู่ในวิกฤต แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนตระหนักร่วมกันในเรื่องนี้ และเรื่องที่ท้าทายมากๆ คือการทำความเข้าใจคอนเซปต์ ‘ทักษะทุนชีวิต’ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในไทย ว่ามันแตกต่างกับทักษะอาชีพที่เราพูดถึงกันมาตลอด ดังนั้นโจทย์ระดับประเทศคือเราจะทำการสื่อสาร รณรงค์อย่างไรให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกันและนำไปปฏิบัติต่อได้ เมื่อเข้าใจคอนเซปต์ตรงกันแล้ว แต่ละหน่วยงานก็จะได้ออกแบบกระบวนการทำงานในแต่ละพื้นที่ได้ และการทำงานก็น่าจะลงย่อยไปถึงบทบาทของท้องถิ่น ภูมิภาค และจังหวัด

โจทย์ต่อมาคือความร่วมมือและการทำงานเชิงลึกในระดับท้องถิ่น เนื่องจากประชากรตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยแรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และแต่ละพื้นที่ก็มีโจทย์เฉพาะของตน มีทักษะที่ต้องการส่งเสริมแตกต่างกัน เช่น ประชากรในภาคใต้และภาคเหนืออาจจะต้องเน้นทักษะทางดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะที่ประชากรในภาคกลางไม่ค่อยมีปัญหา ประเด็นนี้ก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำได้เหมือนกันว่าที่ภาคกลางและพื้นที่ EEC มีปัญหาน้อยกว่าภาคอื่น เพราะมีโอกาสทางเศรษฐกิจและการศึกษาสูงกว่า ฉะนั้นโจทย์ก็ต้องแปรเปลี่ยนตามพื้นที่ว่าต้องกระตุ้นหรือส่งเสริมทักษะไหนเป็นพิเศษ

สิ่งหนึ่งที่อยากให้มีการพูดถึงเยอะขึ้นคือการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ ถ้ารู้ว่าพัฒนาทักษะใดแล้วจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ก็ควรจะถูกสื่อสารมากขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนพัฒนาตัวเองมากยิ่งขึ้นและเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ผ่านมาเราเอาพูดแต่ว่าทุกคนต้องเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่เขาไม่รู้ว่าเรียนไปแล้วได้อะไร มีงานวิจัยที่น่าสนใจจากเปรูบอกเราว่าเมื่อมีการให้ข้อมูลเรื่องรายได้ที่สัมพันธ์อยู่กับทักษะ ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบน้อยลง ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่น่าสนใจมากเพราะประเทศไทยยังไม่เคยทำ ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าเด็กไทยหลุดออกนอกระบบเพราะเขาไม่รู้เป้าหมายชีวิต ไม่รู้ว่าเรียนจบแล้วจะประกอบอาชีพอะไร แต่ถ้าเราใช้ข้อมูลเหล่านี้ เช่น รายงานฉบับนี้ก็บอกว่าถ้าคุณมีสามทักษะนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 6,400 บาท/คน/เดือน หากใช้เรื่องรายได้มาเป็นแรงจูงใจก็จะทำให้คนเห็นเป้าหมายของการพัฒนาตนเอง  

ข้อมูลควรถูกใช้เป็นกระจกและไฟฉายส่องตัวเอง เพื่อนำไปสู่การคิดและออกแบบนวัตกรรมในการทำงาน รายงานฉบับนี้จึงเสนอหลายนวัตกรรมว่าการสนับสนุนประชากรวัยเรียนต้องทำอย่างไร มีแนวทางไหนที่ไม่ให้เขาออกจากรั้วโรงเรียนแล้วกลายเป็นคนทักษะต่ำ สำหรับวัยนอกรั้วโรงเรียนซึ่งเป็นเยาวชนกับแรงงาน มีนวัตกรรมอะไรบ้างในต่างประเทศที่ทำอยู่แล้วไทยสามารถปรับใช้ได้ เราอยากให้สังคมตระหนักถึงการส่งเสริมและพัฒนาประชากรไทยทุกช่วงวัยไปพร้อมกัน ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world