“เราได้ครูที่ตรงกับความต้องการ” โอกาสของ “ชุมชน” ในการร่วมคัดเลือก “ครูรัก(ษ์)ถิ่น”

“เราได้ครูที่ตรงกับความต้องการ” โอกาสของ “ชุมชน” ในการร่วมคัดเลือก “ครูรัก(ษ์)ถิ่น”

‘ไม่มีใครรู้จักพื้นที่ของตัวเองได้ดีเท่ากับคนในชุมชน’  หลักการซึ่งนำมาสู่การคัดเลือกนักศึกษาเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่เปิดโอกาสให้ทั้งโรงเรียนปลายทาง คนในพื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการค้นหาจนถึงการลงพื้นที่สัมภาษณ์จนได้ตัวจริงที่เหมาะสมจะมาเป็นว่าที่ครูนักพัฒนาในพื้นที่ห่างไกล

สำหรับพื้นที่ห่างไกลที่มีปัญหาครูโยกย้ายบ่อย โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะเป็นอีกกลไกสำคัญช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวด้วยการสำรวจตำแหน่งที่จะมีครูเกษียณอายุในอีก 4 ปี ของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล และหานักเรียนในพื้นที่ดังกล่าวไปเรียนและกลับมาบรรจุทดแทนครูที่เกษียณในตำแหน่งดังกล่าว

ไม่เพียงแค่การแก้ปัญหาเรื่องครูโยกย้ายเท่านั้น แต่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นยังออกแบบให้โรงเรียนปลายทางและคนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมคนที่คิดว่าเหมาะสมที่จะมาเป็นครูสอนบุตรหลานและร่วมพัฒนาชุมชนของพวกเขาเอง

รู้จักพฤติกรรม เห็นความมุ่งมั่นตั้งแต่ยังเรียนประถม

โรงเรียนบ้านทุ่งเทิง จ.เลย​เป็นหนึ่งในโรงเรียนปลายทางของครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 3  อีก 4 ปีข้างหน้าจะมีครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งไปเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์กลับมาบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนนี้

ประหยัด ยศศรี ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งเทิง เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือกว่าที่ครูของตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นทั้งการประชาสัมพันธ์เพื่อค้นหาเด็กในพื้นที่ที่มีฐานะยากจน มีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากกลับมาเป็นครูที่บ้านเกิดของตัวเอง​พร้อมกับลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เด็กและผู้ปกครองร่วมกับทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์และร่วมตัดสินใจกับคนในชุมชน

“ข้อดีคือเราได้คนตรงกับที่เราต้องการ เราได้รู้ก่อนว่าใครจะมาเป็นครูที่โรงเรียนของเรา เป็นครูในพื้นที่ของเรา น้องคนนี้เป็นเด็กที่จบที่โรงเรียนนี้ด้วย ผมเคยเห็นตั้งแต่เขายังเรียนประถม เป็นเด็กดี พฤติกรรมเรียบร้อย  มีความกระตือรือร้นที่จะเป็นครู ตอนสัมภาษณ์ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าเขามีความพร้อมมาก ขนาดอยู่แค่ม.6 ยังไม่ได้เรียนครู ยังตอบคำถามได้ดีมาก”

ได้คนในพื้นที่เป็นครูแก้ปัญหาการโยกย้ายในพื้นที่ห่างไกล

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่ดีมากทำให้เด็กคนหนึ่งได้มีโอกาสเรียนต่อเป็นครูกลับมาสอนหนังสือในพื้นที่ของตัวเอง ถ้าไม่มีทุนนี้เขาอาจจะไม่ได้เรียนต่อต้องออกไปทำงาน ที่สำคัญยังเป็นตัวอย่างให้เด็กในพื้นที่เห็นว่าถ้าเขาตั้งใจเรียนก็จะมีอนาคตที่ดีได้เหมือนรุ่นพี่ของเขา  

จุดเด่นเรื่องการได้คนในพื้นที่มาเป็นครูคือการแก้ปัญหาครูโยกย้ายในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งโรงเรียนบ้านทุ่งเทิง เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนที่ราบบนภูเขาสูงการเดินทางค่อนข้างลำบากไฟดับบ่อยโดยเฉพาะช่วงฝนตกหนัก ทำให้ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตและสัญญาณมือถือ“

ครูส่วนใหญ่อยู่ครบเกณฑ์ 4 ปีก็เขียนย้ายบางคนบ้านอยู่ตำบลนี้ห่างจากโรงเรียน 4 กม. แต่ก็ย้ายเพราะการเดินทางค่อนข้างลำบาก การทีได้คนในพื้นที่มาเป็นครูจึงช่วยแก้ปัญหานี้ได้ น้องคนที่ได้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นนี้ บ้านเขาอยู่ห่างจากโรงเรียนแค่ 500 เมตรเป็นครูแล้วคงอยู่ยาวไม่ย้ายไปไหน”

รู้จักบริบทของพื้นที่ร่วมมือกับชุมชนพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง

ข้อดีที่ตามมาคือเขาเป็นคนในพื้นที่รู้จักบริบท รู้จักโรงเรียนเป็นอย่างดีทำให้การสอนในอนาคตจะเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ไปจนถึงเรื่องบทบาทการเป็นนักพัฒนาชุมชนที่เขาจะได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่

“ตอนแนะนำตัวช่วงสัมภาษณ์เขาก็สามารถนำเสนอจุดเด่นของชุมชนที่มีแลนด์มาร์คเป็นนาขั้นบันได ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต แสดงว่าเขามองเห็นพื้นที่มองเห็นจุดเด่นของชุมชนได้ชัดเจน ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ทุกคนเห็นแววที่จะเป็นครูที่ดีได้ตั้งแต่ตอนนั้นและถ้ามาเป็นครูก็จะสามารถพัฒนาพื้นที่ได้ดีขึ้น”

ผอ.ประหยัด ตั้งความหวังไว้ว่าง​ถ้าน้องเรียนจบและกลับมาเป็นครูที่เรียนเขาจะเป็นครูที่ดี จะพัฒนาทั้งเด็กและชุมชน เป็นที่ยอมรับของคนทั้งตำบล ซึ่งทุกคนก็เห็นความโดดเด่นตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์ร่วมกันมาแล้วว่าเขามีทักษะ ไหวพริบ แนวคิดการแก้ไขปัญหาที่ดีเป็นระบบ มีขั้นตอนการทำงานชัดเจน