‘ข้ามกำแพงภาษา’ เพื่อพัฒนาผู้เรียน ‘คิดขั้นสูง’ ติดตาม นศ.ครูรัก(ษ์)ถิ่น แต่งเติมทักษะทวิภาษาสำหรับงานสอน

‘ข้ามกำแพงภาษา’ เพื่อพัฒนาผู้เรียน ‘คิดขั้นสูง’ ติดตาม นศ.ครูรัก(ษ์)ถิ่น แต่งเติมทักษะทวิภาษาสำหรับงานสอน

ด้วยเป้าหมายของการผลิตนักศึกษาทุน ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ คือการสร้างครูรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาท้องถิ่นภูมิลำเนาของตนเอง โจทย์แรกที่ต้องคลี่คลาย คือการทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเสมอภาคบนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลาย ทั้งภาษา วัฒนธรรม รวมถึงวิถีการดำรงชีวิต โดยเฉพาะเรื่อง ‘ภาษา’ ที่ต้องไม่ลืมว่าจากเหนือจดใต้และตะวันออกสุดตะวันตกของประเทศ ผู้คนไม่ได้ใช้ภาษาไทยเพียงภาษาเดียว

โจทย์ดังกล่าวได้นำมาสู่การจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “ภาษาแม่เป็นฐานในบริบทของทวิ-พหุภาษา” หรือ “Mother Tongue-Based Multilingual Education: MTBMLE Training” ที่สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. ร่วมกับ Creativity, Culture and Education (CCE) และ มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ (Foundation For Applied Linguistics) จัดกิจกรรมสร้างเสริมทักษะให้กับนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น 327 คน จาก 11 มหาวิทยาลัย โดยเริ่มเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ในกรุงเทพมหานคร ก่อนจัดกิจกรรมต่อเนื่อง 3 พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. เล่าว่า กิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ภาษาแม่เป็นฐานในบริบทของทวิ-พหุภาษา” หรือ “Mother Tongue-Based Multilingual Education: MTBMLE Training” ครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายคืออาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาแกนนำในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เข้ามาเสริมสร้างทักษะ เรียนรู้กระบวนการ และฝึกประสบการณ์ ก่อนนำไปขยายผลกับนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นในสถาบันผลิตและพัฒนาครูที่เหลือต่อไป กิจกรรมนี้ใช้หัวข้อ “การจัดการเรียนการสอนแบบพหุภาษาหรือทวิภาษาที่ใช้ภาษาแม่เป็นฐาน” เป็นขั้นตอนลำดับที่ 3 จาก 3 กระบวนการที่ กสศ. ดำเนินต่อเนื่องกันเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก ก่อนที่กลับไปทำหน้าที่ครูฝึกสอน ณ โรงเรียนต้นสังกัดตามภูมิลำเนาตนเองในปีการศึกษา 2566 นี้

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการ
สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ.

กิจกรรมฝึกฝนทักษะทั้ง 3 กระบวนการ จากความร่วมมือของ กสศ. CCE และมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งจัดในกรุงเทพมหานคร มีคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาครูและการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เข้าร่วม โดยเริ่มจากกระบวนการแรกคือ ทักษะการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning กระบวนการที่สองคือ Dialogic Teaching หรือการจัดการเรียนรู้แบบสอนเสวนา ที่มุ่งให้ความสำคัญกับบทสนทนาระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการไปแล้วทั้งสองส่วน

ส่วนกระบวนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในขั้นตอนที่สาม คือ MTBMLE เป็นกิจกรรม Workshop ที่ กสศ. มีแนวคิดสร้างครูรุ่นใหม่คุณภาพสูง บนโจทย์การกลับไปทำงานในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่พวกเขาต้องเผชิญสถานการณ์ซับซ้อนด้วยความต่างทางภาษา เช่น การจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ หรือในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ประชากรจำนวนมากไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่ง แต่เราจะเห็นว่าบทเรียน กิจกรรม ตำราต่าง ๆ ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แน่นอนว่าต้นทุนทางภาษาที่แตกต่าง ย่อมมีนักเรียนบางส่วนเผชิญปัญหาฟังพูดอ่านเขียน อันเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้ และเป็นต้นตอของความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาและการพัฒนาตนเองของเด็กเยาวชนในประเทศไทย

ดร.อุดม เล่าว่า สามกระบวนการที่ร้อยเรียงกัน เป็นการเตรียมพร้อมและค่อย ๆ ปลุกเร้านักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นให้ตื่นตัว และมีทักษะการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ หลากหลาย สามารถใช้ต้นทุนทรัพยากรในท้องถิ่นมาออกแบบการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ในฐานะที่เป็นครูรุ่นใหม่ นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องมีกระบวนการและเครื่องมือจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย แม้มีข้อจำกัดทางพื้นที่หรือความพร้อมด้านต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่ CCE นำมาเติมเต็มในการอบรมครั้งนี้ เป็นองค์ความรู้สำคัญที่จะทำให้นักศึกษาสามารถนำต้นทุนที่มีมาคิดต่อยอด เพื่อสร้างวิธีจัดการเรียนรู้ในวันที่พวกเขาต้องกลับไปสอนนักเรียนในบ้านเกิด เพื่อไปถึงปลายทางว่าจะพาเด็ก ๆ ไปถึงสาระวิชา และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างไร โดยใช้สองภาษาร่วมกันคือภาษาถิ่นและภาษาไทย”

ความเปลี่ยนแปลงระยะยาว คือการพัฒนาหลักสูตรผลิตและพัฒนาครูในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ

นอกจากกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ดร.อุดม บอกว่า กสศ. ได้มีการติดตามประเมินผลลัพธ์ในระยะถัดไป โดยหวังว่านักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกซึ่งกำลังจะเป็นนักศึกษาชั้นปี 4 ในปีการศึกษา 2566 นี้ จะนำสิ่งที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในช่วงการฝึกสอนได้ทันที รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการฝึกสอนในโรงเรียน ผ่านการสังเกตติดตามโดยคณะทำงานโครงการฯและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต้นทาง จะมีผลสะท้อนกลับที่สำคัญ สำหรับการพัฒนาออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในอนาคต

“สำหรับความสำคัญของการอบรมในครั้งนี้ คือการสร้างกระบวนกร (Facilitator) หรือผู้อำนวยการเรียนรู้ โดยคัดเลือกจากนักศึกษาทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และอาจารย์จาก 11 ผลิตครูในโครงการ เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทั้งหมด แล้วยกระดับเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาในภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป”

“กสศ. มองว่าองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำ Workshop เป็นเพียงต้นทางของการทำงานระยะยาว เพราะผลลัพธ์แท้จริงจะเก็บเกี่ยวได้จากการลงพื้นที่ฝึกสอนภาคปฏิบัติของนักศึกษาครู ซึ่งคุณภาพการเรียนรู้และอุปสรรคของบริบทพื้นที่เป็นสิ่งที่เราจะตามดูในระยะ 4-6 ปีข้างหน้า หมายถึงผลลัพธ์ของโครงการไม่ใช่จะเกิดขึ้นกับนักศึกษาทุนแค่ 1-2 รุ่น แต่ถือเป็นต้นทางของการออกแบบหลักสูตรให้กับนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นต่อ ๆ ไป รวมถึงยังเป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบผลิตและพัฒนาครูที่เหมาะสมกับบริบทการทำงานในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยในวันข้างหน้าด้วย” ดร.อุดม กล่าว

จบจากสนทนากับ ดร.อุดม เราได้พูดคุยกับ ดร.การญ์พิชชา กชกานน อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งเล่าภาพรวมในฐานะผู้จัดการโครงการให้ฟังว่า จากกิจกรรมฝึกอบรมกระบวนการแรกภายใต้หัวข้อ Active Learning ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอน โดยเน้น ‘คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์’ ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง CCE ซึ่งเป็นผู้จัดกระบวนการหลักมีข้อค้นพบว่า ‘การสนทนาในห้องเรียน’ เป็นหัวใจของการสื่อสารที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียน จึงเกิดกระบวนการอบรมครั้งต่อมาในหัวข้อ Dialogic Teaching หรือ ‘การสอนเสวนา’ ที่เน้นว่าทำอย่างไรให้ครูสามารถถามคำถามที่นำไปสู่บทสนทนาคุณภาพในชั้นเรียน เพื่อให้เกิดการรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิด และต่อยอดการเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด

จนมาถึงกระบวนการที่สาม คือการเตรียมการเพื่อกลับไปสอนยังโรงเรียนปลายทาง ซึ่งส่วนใหญ่ของนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นมาจากพื้นที่พหุวัฒนธรรม พหุภาษา หลายพื้นที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ทั้งมีความต่างทางภูมิภาคที่ทำให้นักเรียนจำนวนหนึ่งต้องประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากต้นทุนทางภาษาที่ไม่เท่ากัน

“เรามองว่าภาษาคืออุปสรรคสำคัญของครู ในการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณภาพการเรียนรู้ หลักสูตร MTBMLE Training ที่ออกแบบขึ้น จึงเน้นทำความเข้าใจว่าด้วยหลักการของวิธีการสอนแบบทวิภาษา ครูสามารถสร้างกลไกที่สอดรับกับบริบท ด้วยเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาแม่เป็นหลัก แต่ต้องมองไปที่การใช้ภาษาไทยและภาษาถิ่นช่วยส่งเสริมให้เด็กพัฒนาการคิดขั้นสูงได้”

ทลายกำแพงภาษาด้วย ‘ฉากภาพวัฒนธรรม’

สำหรับเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการฝึกปฏิบัติครั้งนี้ คือเทคนิคการตั้งคำถามแบบ ‘Bloom’s Taxonomy’ (Benjamin Samuel Bloom 1913-1999) เพื่อพาผู้เรียนไปสู่การคิด 6 ขั้น ได้แก่ ความรู้ที่เกิดจากความจำ (Knowledge) ความเข้าใจ (Comprehend) การประยุกต์ (Application) การวิเคราะห์ (Analysis) การประเมินค่า (Evaluation) และ การสร้างสรรค์ (Creating) โดยครูต้องเข้าใจว่าจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ของเด็กมีหลากหลายรูปแบบ และไม่มีวิธีการตายตัว และในการอบรมครั้งนี้เน้นที่การ ‘ใช้ภาษาแม่’ ซึ่งเด็กมีความคุ้นเคย เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพูด การสื่อสาร จากนั้นจึงเริ่มประกอบสร้างคำศัพท์ในภาษาที่ต่างออกไป

“เราจะพาเด็กไปรู้จักคำศัพท์ในภาษาที่ไม่คุ้นเคยด้วยกลไกที่เรียกว่า ‘ฉากภาพวัฒนธรรม’ หมายถึงการสร้างถ้อยคำขึ้นจากสิ่งที่เขาคุ้นเคย เช่นเริ่มจากเดินสำรวจชุมชน แล้วเก็บข้อมูลกลับมาวาดเป็นภาพ ทำความเข้าใจกับคำศัพท์ใหม่ ๆ หรืออาจให้เด็กเรียนรู้ที่จะสร้างเรื่องราวของตัวเองจากสิ่งที่คุ้นเคย แล้วเปิดพื้นที่ให้เขาได้สื่อสารกับครูหรือกับเพื่อน เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสาร ทักษะภาษา ผสานไปกับการพัฒนาความคิดขั้นสูง ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้คือพื้นฐานการเรียนรู้แบบ Active Learning” ดร.การญ์พิชชา บอกเล่า

ดร.การญ์พิชชา บอกว่า ภาษาคือบริบทของการสื่อสาร ถ้าเราออกแบบวิธีการที่ช่วยสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็ก ๆ พวกเขาจะไปถึงการคิดขั้นสูงหรือการคิดเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างดี พร้อมทั้งต่อยอดความรู้จากบทเรียนได้ด้วยตนเอง โดยที่ความต่างทางภาษาและวัฒนธรรมจะไม่เป็นอุปสรรค

“ในการอบรมจะไม่มีการบอกว่าครูต้องมีขั้นตอนการสอนอย่างไร แต่เราจะช่วยให้เขาสร้างวิธีคิดจากภายใน ด้วยแนวคิด สถานการณ์ วัตถุดิบ และกิจกรรม เพื่อท้ายที่สุดเขาจะออกแบบวิธีการของตนเองได้ อย่างวันแรกของกิจกรรม เราสร้างบรรยากาศโดยให้วิทยากรจาก CCE ใช้ภาษาอังกฤษในการอบรม เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจว่าถ้าครูกับเด็ก ๆ พูดภาษาเดียวกันไม่ได้ เด็กจะรู้สึกอย่างไร โดยกระบวนการนี้จะทำให้เขาพบข้อขัดแย้งทันที ว่าเวลาที่เด็กซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่ง เขาจะเรียนไม่เข้าใจ ทำแบบทดสอบไม่ได้ เพราะมันเริ่มต้นจากที่เขาฟังไม่ได้ แล้วจะให้พูดหรือสื่อสารได้อย่างไร หรือกับเด็กอีกกลุ่มในห้องที่ฟังได้พูดได้ เขาจะรับรู้ถึงความรู้สึกอึดอัด ด้วยสถานการณ์บังคับให้เขาต้องเป็นคนสื่อสารแทนเพื่อน ๆ อยู่คนเดียว ซึ่งสร้างทั้งความกดดันและเป็นการแบ่งแยกเด็ก ๆ ออกเป็นกลุ่ม ๆ เรื่องเหล่านี้คือสิ่งที่ครูต้องเข้าใจ ว่าเด็กแต่ละคนอยู่ในสภาวะแบบไหนเมื่ออยู่ในชั้นเรียน ทีนี้พอครูเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเด็กแล้ว เขาจะพร้อมไปสู่กระบวนการออกแบบการเรียนการสอนที่เอื้อเฟื้อสำหรับเด็กทุกคนได้ในท้ายที่สุด” ดร.การญ์พิชชา ทิ้งท้ายการสนทนา