สร้างอนาคตด้วย “นาฏศิลป์” พาเด็กก้าวพ้นจากวงจรเสี่ยง

สร้างอนาคตด้วย “นาฏศิลป์” พาเด็กก้าวพ้นจากวงจรเสี่ยง

จากสายเลือดศิลปินที่อยู่ในตัว “สมทรง บุญวัน” ที่มีคุณพ่อเป็นหัวหน้าวงละคร “คณะสมศักดิ์ลูกเพชร” ​ทำให้เริ่มซึมซับการร้องรำทำเพลงมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก และเอาจริงเอาจึงฝึกหัดการแสดงมาตั้งแต่ 9 ขวบ ทั้ง รำไทย โขน ละครชาตรี ลิเก ฯลฯ ก่อเกิดกลายเป็นความผูกผันกับ ศิลปะการแสดงดนตรีและนาฎศิลป์ไทยเป็นชีวิตจิตใจ

หลังแต่งงานเธอได้ผันตัวเองจากนางเอกละครชาตรีมาเป็น “แม่ครู” สอนนาฎศิลป์ไทยโดยใช้บ้านหลังเล็กๆ ของตัวเองเป็นโรงละครย่อมๆ สอนเด็กนักเรียน และเยาวชนนอกระบบการศึกษา เพราะทนไม่ไหวที่ต้องเห็นเด็กแถวบ้านเที่ยวเล่นเตร็ดเตร่แบบไร้จุดหมายชีวิต บางคนไม่ได้เรียนหนังสือเพราะฐานะทางบ้านยากจน ครูสมทรง จึงยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการให้การศึกษาโดยชักชวนเด็กๆ มาร้องรำทำเพลงศิลป์การแสดงและดนตรีไทย

เราคิดว่าสอนเด็กให้มีวิชานาฎศิลป์ไทยติดตัวไปหารายได้ แม้จะได้เงินไม่มากนักก็ยังดีกว่าต้องหิวโหยจากปัญหาความยากจน หรือ อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือลักเล็กขโมยน้อย กลายเป็นปัญหาสังคมของเด็กและเยาวชนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาที่อาศัยอยู่แถววัดใหญ่สุวรรณาราม ต.ช่องสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี

 

ถ่ายทอดทักษะ ปั้น “ยุวศิลปิน”​สืบสานนาฏศิลป์ไทย

จากการสอนเด็กเป็นงานอดิเรก ที่เริ่มด้วยความใจบุญชอบช่วยเหลือเด็กๆ แบ่งปันความรู้ ถ่ายทอดทักษะนาฎศิลป์ที่ตัวเองมีติดตัวมา  หวังว่าพวกเขาจะมารับช่วงต่อเป็น “ยุวศิลปิน” ในอนาคต เพราะนับวันตัวเองก็อายุมาขึ้นทุกวัน ปัจจุบันอายุ 70 กว่าปีแล้ว ยิ่งเห็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่นิยมศึกษาศิลปะการแสดงของไทย จึงเป็นห่วงว่าสักวัน โขน ละครชาตรี ลิเก ที่หาดูยากสักวันคงสูญหาย จึงเริ่มจริงจังฝึกเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้ได้มีความรู้นาฎศิลป์ไทย  

ตลอด 12 ปีที่ผ่านมาแม่ครูสมทรง มุ่งมั่นทำงานเพื่อเป้าหมาย​รักษาอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย โขน ละคร ล่าสุดได้เปิดรับเด็ก 25 คน ที่สนใจอยากเรียนโขนละครเข้ามาร่วมโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ปี 2563 โดยได้รับทุนการศึกษาจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ได้มีโอกาสเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ​โดยเปิดสอนทุกวันช่วงปิดเทอมและ​สอนวันเสาร์อาทิตย์ในช่วงเปิดเทอม

สมทรง บุญวัน แม่ครูสอนนาฎศิลป์ไทย

 

คำชมเชย และรายได้เสริม ความภูมิใจของเยาวชนรุ่นใหม่

ทุกวันยกเว้นวันพระจะได้ยินเสียงดนตรีไทยอันแสนไพเราะ ฉิ่ง ฉาบ ระนาด ฆ้อง กลอง จากฝีมือเด็กๆ ดังกระหึ่มใกล้ๆ วัดใหญ่สุวรรณารามเป็นประจำ ทั้งเด็กเล็กอายุยังน้อยไปจนไปถึงเยาวชนวัยหนุ่มสาวมารวมตัวร้องระบำนาฎศิลป์ไทย อาทิ ระบำสี่ภาค ระบำชนไก่ ระบำสุโขทัย ระบำลพบุรี หรือ ระบำศรีวิชัย ฯลฯ โดยมี แม่ครูสมทรง เป็นผู้ฝึกสอน

เมื่อเห็นเด็กคนไหนเริ่มฉายแววเก่งมีความสามารถ แม่ครูสมทรง จะพาไปออกงานโชว์ เช่น งานวัด งานสงกรานต์ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแก้บน ทำให้เด็กๆ ได้มีรายได้ 200 – 300 บาทต่อครั้ง และยังเก็บความภาคภูมิใจกลับมาจากคำชมถึงความเก่ง ที่แม้จะเป็นเด็กรุ่นใหม่แต่มีหัวใจรักษ์ศิลป์การแสดงไทยอย่างน่าทึ่ง ซึ่งนับวันจะหาเยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยน้อยลงทุกที

 

สร้างอนาคตด้วย “นาฏศิลป์” พาเด็กพ้นวงจรเสี่ยง

แม้พื้นที่โรงละครบริเวณลานบ้านจะคับแคบ แต่ด้วยความรักความเมตตาที่ดูแลเอาใจใส่เด็กแต่ละคนไม่ต่างจากลูกตัวเอง  ทำให้ “ครูสมทรง” เป็นที่เคารพรักจากเด็กๆ และได้รับความไว้ววางใจจากผู้ปกครอง ซึ่งแต่ละคนภูมิใจที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกหลานตัวเองจากที่เคยเที่ยวเตร่ไปวันๆ กลับสามารถมาแสดง​ โขน ละครชาตรี ลิเก หนังตะลุง ได้อย่างอ่อนช้อยงดงาม มีงานแสดงเข้ามาไม่ขาดสายช่วงก่อนสถานการณ์ โควิด-19

​จากเด็กบางคนยากจนไม่มีพ่อแม่ ชีวิตใกล้สิ้นหวัง เกือบไปติดยาเสพติด หรือ หลุดนอกระบบการศึกษาได้กลับมามีความรู้การศึกษาไม่ไปเกกมะเรกเกเร ทำให้ “หลวงพ่อชุบ” เจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม เมตตาสงสารอยากช่วยเหลือจึงเปิดใต้ถุนศาลาการเปรียญวัด ให้คณะละครแม่ครูสมทรง ได้ใช้เป็นโรงละครซักซ้อมเพิ่มเติม

ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าบ้านแม่ครูสมทรง คับแคบเกินไป เพราะนับวันมีเด็กยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์หลุดออกนอกระบบการศึกษาเข้ามาร่วมกิจกรรมดีๆ กับ แม่สมทรง มากขึ้นเรื่อยๆ แถมเจ้าอาวาสยังใจดีให้ใช้โรงครัวของวัดเป็นโรงทานเลี้ยงข้าวเด็กๆ เหล่านี้อีกด้วยทำให้เด็กยากจนได้มาฝากท้องหลังซ้อมละครเสร็จ

 

เปิดขายต้มเครื่องในหมูจุนเจือคณะละครช่วงโควิด-19

ยามใดวัดมีงานบุญจะเรียกใช้คณะละครแม่ครูสมทรงได้โชว์ความสามารถ จากงานเล็กๆ งานแก้บนงานขึ้นบ้านใหม่ไปจนถึงรับงานใหญ่ๆ บางคนต่อยอดนำความรู้ที่แม่ครูสมทรง มอบให้ “เปิดหมวก” บริเวณหลังศาลากลางจังหวัด หรือ ตามตลาดนัดคนเดิน  

แต่พอสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระลอกใหม่ ความสุขความสนุกสนานจากการได้ร้องรำทำเพลงด้วยกันที่วัดใหญ่สุวรรณารามกลับทำไม่ได้ รายได้ที่เคยเข้ามากลับหดหาย ต้องมาขอข้าวก้นบาตรจากวัดพอเอาตัวรอดในช่วงนี้ไปให้ได้

อีกด้านหนึ่ง แม่ครูสมทรง  ต้องหันมาพลิกบทบาทเป็น “แม่ครัว” ขาย “เครื่องในหมูต้ม” เพื่อยังชีพและหารายได้หล่อเลี้ยงคณะละคร​

 

เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งเหมือนกันทุกคน
ต้องค้นหาความสามารถที่ตัวเองถนัด

สิ่งที่พอทำได้เวลานี้คือการสั่งสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ตักเตือนถึงความกตัญญูกตเวที ต้องมีสำนึกอยู่เสมอ โดยเฉพาะวัด ให้ที่พักพิงด้านการซ้อมศิลปะดนตรี และยังเป็นโรงครัวเลี้ยงอาหาร การดูแลวัดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ควรนิ่งเฉย เช่น ล้างถ้วย ล้างชาม เก็บขยะ ทำความสะอาด กวาดลานวัดให้ดูสะอาดอยู่เสมอ เพื่อตอบแทนข้าวทุกเม็ดที่ญาติโยมนำมาถวายพระ เช่นเดียวกับกิริยามารยาทต้องอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะวัดเหมือนบ้านหลังที่สอง  

เด็กบางคน​อาจจะเรียนไม่เก่งและฉลาดเทียบได้กับ เด็กปกติทั่วไปที่โอกาสดี มีพ่อแม่ครอบครัวอบอุ่นสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยเด็กๆ  ก็เก่งชำนาญในสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด เช่น เด็กบางคน ยากจน กำพร้า อ่านหนังสือไม่ออก บวกเลขยังไม่ถูก แต่กลับท่องบทละครชาตรีได้อย่างคล่องแคล่ว นี่คือการศึกษาที่แม่ครู มอบให้

นับเป็นต้นแบบ “ครูพี่เลี้ยง” ที่ทำงานกับเด็กด้วยความเสียสละอย่างแท้จริง ด้วยการปั้น เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็น “ยุวศิลปิน” ผู้สืบสานวัฒนธรรมดนตรีนาฎศิลป์ไทยให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค