‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา(มรย.) เป็นสถาบันหนึ่งที่ได้รับการยอมรับด้านการสร้างครูมายาวนาน ผลิตครูที่มีคุณภาพซึ่งกระจายไปทำงานด้านการศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงยังเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ร่วมงานกับ กสศ. ในโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น ตั้งแต่รุ่น 1(ปี 2562) ต่อเนื่องถึงรุ่น 2 ในปี 2563 ด้วยวัตถุประสงค์โครงการที่มีความสอดคล้องกับความตั้งใจของมหาวิทยาลัย ในการผลิตครูที่สอดรับกับการพัฒนาชุมชน และพัฒนาการศึกษาได้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่

 

“ในฐานะหน่วยผลิต เราต้องรับผิดชอบเรื่องการเพิ่มคุณภาพของครูให้ตอบโจทย์พื้นที่”

ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อธิบายว่า ที่ผ่านมา มรย. ได้ออกแบบโครงการชื่อ ‘Extra Time’ อันเป็นหลักสูตรพิเศษในการพัฒนาครู โดยทำต่อเนื่องมาแล้วราว 6-7 ปี ซึ่งแสดงถึงความคิดตั้งต้นที่เป็นไปในทางเดียวกับโครงการครูรักษ์ถิ่น

หลักสูตรพิเศษนี้ คือผลจากการศึกษาวิจัยโดย มรย. ตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้หลุดพ้นจากการมีคุณภาพการศึกษาต่ำที่สุดในประเทศได้

“ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ผลิตครู เราต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหานี้ เราพบว่าปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องที่สุด คือการผลิตครูของเราอาจมีคุณภาพ แต่ยังไม่เพียงพอหรือสอดรับกับความต้องการของพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร Extra Time โดยทดลองให้นักศึกษาครูสาขาประถมศึกษา 30 คนเข้ามาอยู่รวมกันในหอพัก แล้วเพิ่มช่วงเวลาพิเศษในการเสริมความรู้เฉพาะทาง สร้างจิตวิญญาณความเป็นครู และพัฒนาศักยภาพทุกด้านอย่างเต็มที่”

ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวต่อไปว่า ในพื้นที่ที่มีความพิเศษ หลากหลายด้วยวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงมุมมองด้านปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องได้รับการเสริมสร้างแนวทางที่เหมาะสมเพียงพอกับปัญหาในพื้นที่ที่แตกต่าง

หลักสูตร Extra Time จะใช้ช่วงเวลา 1-3 ทุ่มในวันธรรมดา รวมถึงวันเสาร์อาทิตย์และช่วงเวลาปิดเทอม เสริมสิ่งที่นักศึกษาครูต้องเรียนรู้เพิ่ม โดยรวมแล้วจนจบหลักสูตร นักศึกษาทุกคนจะมีเวลาเรียนรู้เพิ่มขึ้นคนละ 1, 800 ชั่วโมง

“เวลาที่เพิ่มขึ้นมา เราจะเสริมความรู้เกี่ยวกับบริบทพื้นที่ หรือการสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้น(ตาดีกา) ส่วนนักศึกษาที่เป็นพุทธเราก็เสริมด้านศาสนาพุทธ คำนึงถึงความสอดคล้องของพื้นเพเขา ทั้งยังมีการอบรมเทคนิคการสอนที่ลึกในบริบทชุมชนมากกว่าหลักสูตรครูทั่วไป ด้วยหลักสูตรพัฒนาชุมชน เสริมเรื่องทวิภาษา พหุวัฒนธรรม เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูถิ่น(ยาวี)เป็นหลักในการสื่อสาร เราจึงต้องสอนเพิ่มเติม โดยวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องการจัดการเรียนการสอนชั้นประถมศึกษาในท้องถิ่นที่ใช้ภาษาที่แตกต่างโดยเฉพาะ ที่สำคัญนักศึกษาครูต้องรู้ว่าครูและโรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่ในการสอนหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นด้วย นี่คือหัวใจของหลักสูตร Extra Time”

 

‘ครูรักษ์ถิ่น’ คือเจตนารมณ์ที่ต้องตรงกัน

อธิการบดี มรย. กล่าวถึงความร่วมมือกับโครงการครูรักษ์ถิ่น ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ว่า แนวคิดของมหาวิทยาลัยที่มาผนวกรวมกับเป้าหมายของโครงการครูรักษ์ถิ่น เปรียบได้กับการประสานแนวทางร่วมกันทั้งในด้านวิธีการและวัตถุประสงค์ คือสร้างครูนักพัฒนาที่จะช่วยยกระดับการศึกษาและชุมชนในระยะยาว โดย มรย. ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักศึกษาครูในสาขาปฐมวัย และประถมศึกษา

“ส่วนที่ดีที่สุดคือ ทางสถาบันได้ดำเนินงานมาแล้วในระยะเวลาหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องยากในการเดินต่อไปด้วยกัน โดยเฉพาะเมื่อ มรย. และ กสศ. เชื่อตรงกันว่าการผลิตครูด้วยแนวทางนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ตรงจุดและชัดเจนขึ้น เพราะเราร่วมกันออกแบบโครงการจากพื้นฐานของปัญหาจริงๆ”

 

เปลี่ยนบทบาทมหาวิทยาลัย จากตั้งรับสู่ลงพื้นที่ค้นหานักศึกษาร่วมกับชุมชน

นอกเหนือจากวางหลักสูตรและบ่มเพาะนักศึกษา อีกภารกิจที่ถือว่าสำคัญและยังเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จากเดิมที่เป็นฝ่ายรอรับนักศึกษา เป็นการมีส่วนร่วมในการเฟ้นหานักศึกษาครูผ่านดุลยพินิจของคณาจารย์คณะคุรุศาสตร์ มรย.

ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า แม้ต้องเผชิญความเสี่ยงบ้าง แต่ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชนที่อยากเห็นเด็ก ๆ ในพื้นที่ของเขาได้รับการศึกษาที่ดีทัดเทียมพื้นที่อื่นๆ ความร่วมมือครั้งสำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจึง ‘เป็นไปได้’

“การลงพื้นที่คัดกรองนักศึกษาร่วมกับ กสศ. ชุมชน และโรงเรียนปลายทางที่จะรองรับนักศึกษาของเรา ถือว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่เราจะมาทำร่วมกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดซึ่งมีความซับซ้อนเปราะบางด้วยเงื่อนไขต่างๆ ต้องยอมรับว่า ณ จุดเริ่มต้นมันมีความเสี่ยง เพราะบางแห่งที่ต้องเข้าไปเยี่ยมบ้านเด็กๆ เป็นพื้นที่สีแดง แต่เราถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ เป็นหมุดหมายที่บอกได้ว่าทุกฝ่ายทั้งมหาวิทยาลัย ชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่พร้อมที่จะทำงานร่วมกัน ในการดูแลเด็กๆ ในชุมชนเพื่อพัฒนาให้เขาเติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรบุคคลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้

“สำหรับมหาวิทยาลัย เรามองว่าการลงพื้นที่ค้นหาเด็กจะทำให้เราพบคนที่เขามีหัวใจของความเป็นครู ก่อนนำมาพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อซึ่งทำได้ง่ายกว่า เพราะชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่จะช่วยให้เราเห็นมุมมองด้านต่างๆ ของนักศึกษา ข้อมูลที่ได้จึงทำให้เราเชื่อมั่นได้มากกว่าการสอบหรือการสัมภาษณ์ที่ใช้เวลาเพียงสั้นๆ ตรงนี้เราในฐานะฝ่ายผลิตจึงต้องเสียสละ ทุ่มเทเวลาส่วนนี้ลงไปร่วมกับชุมชน กับภาคีทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ครูนักพัฒนาที่ใช่จริงๆ”

 

ไม่ใช่แค่ค้นหา แต่ต้องร่วมพัฒนาน้องๆ ไปด้วยกัน  

เมื่อขั้นตอนค้นหาผ่านไปจนพบคนที่ใช่ ช่วงเวลาอีก 4 ปีหลังจากนั้น นักศึกษาจะได้รับการปลูกฝังความเป็นครูนักพัฒนา โดยต้องมีกิจกรรมร่วมกับชุมชนและโรงเรียนปลายทางที่น้องๆ จะเข้าบรรจุหลังจบการศึกษา

“ในหลักสูตรครูรักษ์ถิ่น นักศึกษาต้องสื่อสารและทำกิจกรรมกับชุมชนเพื่อซึมทราบความเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีผู้อำนวยการและครูโรงเรียนปลายทางเป็นเสมือนพี่เลี้ยงของเขา เราจะให้เขาค่อย ๆ มองเห็นปัญหาหรือแผนงานพัฒนาชุมชนเชิงลึกที่เขาจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในวันข้างหน้า ขั้นตอนนี้มิได้เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้เขาอย่างเดียว แต่จะทำให้เขารู้ว่าอะไรคือความต้องการของท้องถิ่น แล้วการที่เขาไม่มีระยะห่างจากชุมชน ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เรียนปี 1 จนจบการศึกษา เราเชื่อว่าในที่สุดเขาจะสามารถค้นพบนวัตกรรมสักอย่างที่นำมาใช้พัฒนาท้องถิ่นของเขาได้” อธิการบดี มรย. กล่าว

 

ครูที่เป็นคนในพื้นที่ ช่วยลดอัตราการย้าย คืนความเชื่อมั่นให้ชุมชน

แวยอรี ลาเตะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านด่าน โรงเรียนปลายทางรองรับนักศึกษาครูรักษ์ถิ่น กล่าวเสริมว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีโรงเรียนขนาดเล็กอยู่มาก หลายแห่งมีปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น การดูแลเด็กจึงไม่ค่อยทั่วถึง ส่งผลให้เด็กเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กๆ ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ขณะที่โครงการครูรักษ์ถิ่นจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ปัญหาได้

“การที่นักศึกษาครูรักษ์ถิ่นไม่ได้ถูกเลือกโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เปิดโอกาสให้โรงเรียนและชุมชนที่จะเป็นปลายทางรองรับ ได้บอกความต้องการ ได้ร่วมค้นหา ทำให้ชุมชนเชื่อมั่นได้ว่าจะได้ครูที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของท้องถิ่น ตรงนี้นอกจากการเข้ามาช่วยพัฒนาหรือแก้ปัญหาต่างๆ ยังมีผลพลอยได้ในการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนได้อีกด้วย

“แล้วด้วยวิธีสร้างคนในพื้นที่ขึ้นมาเป็นครูของชุมชน ทำให้เราพอจะมองเห็นทิศทางอนาคต ว่าปัญหาครูโยกย้ายออกจากพื้นที่จะดีขึ้น นอกจากนี้ครูที่เป็นคนในพื้นที่เขาจะมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน และสร้างความเชื่อมั่นในฐานะกระบอกเสียงทั้งในมุมของโรงเรียนและของชุมชนไปได้พร้อมๆ กัน” ผอ.โรงเรียนบ้านด่าน กล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค