ครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่ใช่แค่สอนหนังสือแต่ต้องเป็นนักพัฒนาชุมชน

ครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่ใช่แค่สอนหนังสือแต่ต้องเป็นนักพัฒนาชุมชน

ฐานะและความยากลำบากในชีวิตไม่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเดินหน้าสู่เป้าหมาย​หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจ คล้ายกับที่ น้องอิน-อินทิรา สุขใจ ซึ่งค้นพบว่าตัวเองอยากเป็นครู และพยายามฝึกฝนตั้งใจเรียน​จนวันนี้ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ​ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่หนึ่ง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วกลับไปบรรจุเป็นครูในพื้นที่บ้านตัวเองเมื่อเรียนจบ

“เป็นความใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กที่ชอบไปโรงเรียน คอยสังเกตคุณครูเขาสอน ต่อมาก็ได้แรงบันดาลใจจากคุณครูที่สอนดี เขียนตัวหนังสือสวย หนูก็อยากเขียนสวยบ้าง ก็ตั้งใจเรียน ฝึกเขียนตัวหนังสือให้เหมือนคุณครู” ​น้องอินเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพครู

น้องอิน-อินทิรา สุขใจ ผู้ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1

จนมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตระหว่างช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ม.4 เพราะเมื่อพิจารณาแล้วการจะได้จบไปบรรจุเป็นครูนั้นมีความยากตรงที่ต้องแข่งขันสูง เนื่องจากอัตราบรรจุน้อย ทำให้น้องอิน คิดจะเปลี่ยนไปเลือกเรียนพยาบาลแทน​ และยังมีโอกาสไปฝึกงานพยาบาลประมาณ 10 วัน สุดท้ายก็ค้นพบว่าไม่ใช่ตัวเอง จึงเบนเป้าหมายตั้งใจเรียนกลับมาเป็นครูในอุดมคติของน้องๆ ในชุมชน

“การจะเป็นครูในอุดมคติของน้องๆ ในชุมชนนั้น จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้น้อง เข้าใจ เข้าถึงเด็กได้ สามารถพูดคุยเรียนรู้เดินไปพร้อมกับเด็กได้ เป็นผู้นำที่ดีของเด็ก”

 

ภาษาเป็นหนึ่งในอุปสรรคการศึกษาของเด็กพื้นที่ห่างไกล

ที่สำคัญโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​  ออกแบบให้ผู้ที่ได้รับทุนเมื่อเรียนจบแล้วจะได้กลับไปเป็นครูในพื้นที่ของตัวเองซึ่ง น้องอิน มองว่า เป็นข้อได้เปรียบที่ครูจากชุมชนจะได้สอนเด็กในชุมชน เพราะเวลาสื่อสารก็จะเข้าถึงเด็กได้มากกว่า และยังเข้าถึงผู้ปกครอง ทำให้รับรู้ข้อมูล เมื่อมีปัญหาก็จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า

โดยเฉพาะภาษาที่เป็นหนี่งในอุปสรรคสำหรับเด็กที่จน นำไปสู่ช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียนที่มาจากต่างพื้นที่ น้องอิน เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่าในชุมชนซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ส่วนใหญ่จะสื่อสารกันด้วยภาษาไทยลื้อ ตอนเป็นเด็กสื่อสารภาษากลางไม่ได้ ครูพูดอะไรก็จะไม่เข้าใจ ทำให้ไม่กล้าพูด ไม่กล้าถาม ดังนั้นการที่ได้ครูที่จะสามารถสื่อสารกับเด็กได้อย่างเข้าใจก็จะเกิดประโยชน์กับเด็กมากขึ้น

ในพื้นที่นักเรียนจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มาจากคนละชนเผ่า ไทยลื้อ มูเซอ ม้ง ข่ามุ คนพื้นเมือง ซึ่งส่วนใหญ่พูดไทยไม่ชัด เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี​ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเด็กในชุมชน ซึ่งตั้งใจว่าหลังจากได้กลับไปเป็นครูที่โรงเรียนบ้านเมืองกาญจน์ จ.เชียงราย จะพยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องภาษา ทั้งหัดให้เด็กได้ฝึกพื้นฐานตั้งแต่เด็กจะได้สื่อสารได้ในระดับชั้นที่สูงขึ้น ​รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่จะพยายามทำให้เด็กเข้าถึงมากขึ้นด้วย 

 

ครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่ใช่แค่สอนหนังสือแต่ต้องเป็นนักพัฒนาชุมชน

อีกด้านหนึ่งการที่ได้ครูซึ่งมาจากชุมชนยังทำให้เข้าใจถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยในช่วงลงพื้นที่ตอนเข้าค่าย ได้ไปลงชุมชนเหมืองกรุงซึ่งมีจุดเด่นเรื่องเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งใช้ดินในชุมชนมาปั้นเป็นเครื่องปั้นดินเผาสร้างเป็นสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์​ทำให้ได้ลองย้อนกลับไปคิดหาว่าในชุมชนเรามีจุดเด่นอะไรที่จะพัฒนาต่อยอดได้บ้าง เช่น การทอผ้าซิ่นไทยลื้อตรงนี้จะพัฒนาอย่างไรได้บ้าง

น้องอิน เล่าให้ฟังว่า ส่วนตัวสนใจเรื่อง Smart Farming เพราะชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรปลูกถั่วแขก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะเขือเทศราชินี หากมีองค์ความรู้ตรงนี้จะสามารถเอาไปพัฒนา สร้างอาชีพที่ดีขึ้น

 

ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดสมกับเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน

ย้อนไปก่อนหน้านี้น้องอินต้องเผชิญความยากลำบากในชีวิต เมื่อคุณแม่มาต้องเสียชีวิตในช่วงที่กำลังขึ้น ม.6 คุณพ่อที่กำลังป่วยเป็นโรคหัวใจต้องทำงานรับจ้างทั่วไปทั้งก่อสร้าง ดายหญ้า ทำสวน หาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว ค่าใช้จ่ายในการเรียนบางส่วนก็ได้มาจากคุณครูที่ช่วยเหลือเป็นรายเดือนมาตั้งแต่ ม.3  เพราะสงสารเห็นว่าที่บ้านลำบาก แต่มีความตั้งใจเรียน จนคิดว่าหากจบ ม.6 อาจไม่ได้เรียนต่อ จะออกไปทำงานเก็บเงินสักปีแล้วกลับมาเรียนครูต่อในปีถัดไป

จนกระทั่งได้รับคัดเลือกเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น  ซึ่งตอนนั้นเกรดเฉลี่ย 3.83 อาจารย์แนะนำให้ไปสมัคร จากนั้นมีอาจารย์มาลงพื้นที่เยี่ยมบ้านดูสภาพความเป็นอยู่ ก่อนได้ไปเข้าค่าย 5 วัน ที่มีทั้งเรื่องทฤษฎี เช่น ภาษาไทย อังกฤษ คณิต และภาคปฏิบัติที่พาลงไปดูการพัฒนาอาชีพให้คนในชุมชนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทของตัวเอง ​อีกด้านก็ยังเป็นการช่วยสะท้อนเรื่องจิตวิญญาณความเป็นครู

สุดท้ายก็ผ่านการคัดเลือกมาเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างที่ตั้งใจ โดยหลักสูตรปีนี้จะปรับใหม่จากเดิม 5 ปี จะลดเหลือ 4 ปี ทำให้เนื้อหาแน่นกว่าเดิมและเน้นไปที่ภาษาอังกฤษมากขึ้น บางวิชาที่เคยเรียนเป็นภาษาไทยปีนี้ก็เรียนเป็นภาษาอังกฤษ  ซึ่งก่อนเข้าเรียนมีการเข้ายค่ายเพื่อปูพื้นฐานทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ก่อนเรียนจริงด้วย

“ตอนนี้ก็ตั้งใจเรียนเพื่อที่จะได้กลับไปเป็นครูที่ชุมชนตัวเอง ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด สมกับที่เขาเรียกเราว่าเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน  มีอะไรก็จะพยายามอัพเดท เรียนการพัฒนาชุมชนเพื่อกลับไปพัฒนาน้องๆ ของเราในชุมชน” น้องอินกล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค