เรียนรู้ผ่าน ‘ผ้าไหม’ โรงเรียนห่างไกลก็มีคุณภาพได้ โครงการ TSQP โรงเรียนบ้านขุนหาญ

เรียนรู้ผ่าน ‘ผ้าไหม’ โรงเรียนห่างไกลก็มีคุณภาพได้ โครงการ TSQP โรงเรียนบ้านขุนหาญ

‘บ้านขุนหาญ’ เป็นท้องถิ่นหนึ่งในภาคอีสาน ที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมสืบต่อมายาวนาน โดยทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในวิถีประจำวันของผู้คน ทั้งในระดับวิสาหกิจชุมชน จนถึงตามครัวเรือนต่าง ๆ ที่ทำกันเป็นอาชีพรองในยามว่างหลังฤดูเก็บเกี่ยว

‘โรงเรียนบ้านขุนหาญ’ อ.บ้านขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ โรงเรียนหนึ่งใน โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงมีแนวคิดในการสร้าง ‘โรงเรียนแห่งอนาคต’ ที่งอกเงยขึ้นจากรอยทางของภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยได้นำ ‘ฐานทุน’ ที่มีอยู่เดิมมาบูรณาการให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม โดยร้อยสามเสาหลัก คือ บ้าน ชุมชน และโรงเรียน มาสร้างเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้สาระวิชาต่าง ๆ ผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ผ้าไหม’ ด้วยเป้าหมายที่จะผลิต ‘นวัตกรชุมชน’ ซึ่งสามารถนำพื้นฐานความรู้-ความเป็นมาของหัตถกรรมท้องถิ่น มาประสานเข้ากับทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เข้าไปมีที่ทางในโลกสมัยใหม่ได้

“เราอยากให้เด็ก ๆ ภาคภูมิใจในวัฒนธรรม ในงานหัตถกรรมท้องถิ่น ด้วยหลักสูตรที่เขาจะค่อย ๆ ซึมซับ ชื่นชม เชิดชู และยกระดับความรู้ความสนใจให้ไปได้ไกลกว่าแค่การอนุรักษ์เอาไว้”

“ดังนั้นในหลักสูตรฐานสมรรถนะที่โรงเรียนออกแบบ จึงมุ่งไปที่การเปิดกว้างทางความคิดสร้างสรรค์ แน่นอนว่าประการแรก เขาต้องสามารถนำไปประกอบอาชีพและมีรายได้ ส่วนพ้นไปจากพื้นฐานตรงนั้น เด็ก ๆ ต้องมองเห็นถึงทิศทางที่จะพาฐานทุนเดิมของชุมชนไปข้างหน้า เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ เปิดตลาดให้กว้างออกไป โดยเชื่อมโยงผ่านทักษะและเทคโนโลยีในยุคสมัยของเขา”

‘ครูนก’ดวงหทัย อุ่นใจ โรงเรียนบ้านขุนหาญ กล่าวว่า หลังเข้าร่วมโครงการ ฯ โรงเรียนได้ทำการวิเคราะห์บริบทฐานทุนของโรงเรียน และได้คำตอบว่าชุมชนอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แข็งแรงในเรื่องการทอผ้าไหม ขณะที่ครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่ต่างทำกันเป็นอาชีพเสริมอยู่แล้ว จึงนำมาจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะในระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-ป.6) จากนั้นเริ่มงานในปีแรก (2563) ด้วยการวางแผนอบรมพัฒนาครู และช่วยกันพัฒนาหลักสูตรตั้งแต่กระบวนการเขียนแผนการเรียนรู้ กำหนดหรือสร้างเครื่องมือ วิธีการวัดประเมินผล จนได้ลงกิจกรรมและจัดการเรียนการสอนจริงในปีการศึกษา 2564

“ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โรงเรียนต้องจัดการสอนออนไซต์สลับออนแฮนด์เป็นบางช่วง เราจึงออกแบบบทเรียนที่เริ่มจากเรื่องราวใกล้ตัวเด็ก ให้เขานำกลับไปเสาะหาค้นคว้าข้อมูลพื้นฐานด้วยตัวเองที่บ้าน ปูพื้นเรื่องกระบวนการทอผ้าไหมและงานหัตถศิลป์ต่าง ๆ

“พอมาโรงเรียนได้ก็ลองลงกิจกรรมกัน อย่างในชั้น ป.6 จะมีการออกแบบลวดลายด้วยโปรแกรม Canva ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับช่วยสร้างอาร์ตเวิร์ค หรือทำกราฟิกง่าย ๆ จากนั้นครูจะพาลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลจากชุมชน ตั้งแต่ความเป็นมาของการทอผ้าไหม รวมไปถึงศึกษาลวดลายต่าง ๆ ของผ้าไหมเอกลักษณ์บ้านขุนหาญ แล้วรวบรวมเป็นแหล่งข้อมูลกลางเพื่อต่อยอดการค้นคว้าและความคิดสร้างสรรค์”

ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นการมุ่งสืบค้นเข้าไปในครอบครัวและชุมชนของตัวเอง เด็ก ๆ จึงรู้สึกสนุกกับข้อมูลใหม่ ๆ ภูมิใจในวัฒนธรรมการทอผ้าที่กระจัดกระจายในแถบอีสานทั้งภูมิภาค ตื่นเต้นกับลวดลายของผ้าที่โดดเด่นแตกต่างเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น ได้ทำความเข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์ สภาพสังคม หรือประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดอัตลักษณ์ทางภูมิปัญญาที่ต่างกัน โดยหลังจากนั้นครูในฐานะผู้อำนวยการการเรียนรู้ จะค่อย ๆ เสริมความเป็นไปได้ของการต่อยอดฐานชุมชน ว่ามีทิศทางที่สามารถไปได้อีกมาก และชวนเด็ก ๆ ระดมความคิดในการปรับหรือหาวิธีการนำพาผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้ไปสู่การเป็นนวัตกรรมร่วมสมัย

ทลายกำแพง บ้าน โรงเรียน ชุมชน 

ครูนกระบุว่า ไม่เพียงแค่น้อง ๆ ที่เพลิดเพลินกับการเรียนรู้ แต่ครูเองก็เหมือนกับได้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมกับเด็กด้วยเมื่อได้ลงพื้นที่ชุมชน ก่อนที่จะนำเอาความรู้ที่ได้มาสังเคราะห์เป็นโจทย์ในแต่ละสัปดาห์ โดยเด็ก ๆ สามารถมีส่วนช่วยกำหนดว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไร ด้วยการค้นคว้าด้วยตัวเอง ลงพื้นที่ แล้วกลับมานำเสนอ พูดคุย สร้างบทเรียนใหม่ ๆ ไปด้วยกัน

“ในกระบวนการตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าเราได้เปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ในการเรียนที่ไปไกลกว่าผนังห้องเรียน หรือรั้วโรงเรียน เรามีแหล่งความรู้ที่อยู่ในชุมชน ซึ่งให้ความร่วมมืออย่างดีในการเข้ามาเป็นวิทยากร โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครองที่เขาทอผ้าไหมเป็นอาชีพอยู่แล้ว เป็นคุณย่าคุณยายที่เขาก็สนุกเช่นกันที่ได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้เด็ก ๆ

“สำหรับสถานะของครู เราเป็นแค่ผู้นำการเรียนรู้ ผู้จุดประกายความสงสัย แต่ครูจริง ๆ ในกระบวนการคือบ้าน คือชุมชน เด็ก ๆ บางคนเขาเห็นกี่ทอผ้า เห็นอุปกรณ์ที่มีในบ้าน แต่เขาไม่รู้จักมาก่อน ก็เริ่มสังเกต ตั้งคำถาม บันทึก แล้วเอามาแลกเปลี่ยนที่โรงเรียน”

สร้าง ‘นวัตกรน้อยบ้านขุนหาญ’ ร่วมยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน 

ครูนกกล่าวว่า แม้วันนี้หลักสูตรที่ออกแบบขึ้นจากฐานทุนของชุมชนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่โรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครองของเด็ก ๆ ต่างมองไปในทางเดียวกันว่า ด้วยการสนับสนุนของโครงการ ฯ และความร่วมมือของคนในท้องถิ่น จะทำให้แผนการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่มีอาชีพของคนในชุมชนเป็นฐานความรู้ จะสามารถเดินไปได้ตามที่ตั้งใจไว้ รวมไปถึงการการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการสร้าง ‘นวัตกรน้อยบ้านขุนหาญ’ ให้เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้นเป็นสินค้ายอดนิยมได้

“โรงเรียนสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้ ด้วยความรู้ กรอบแนวทาง งบประมาณ ของโครงการ ฯ รวมถึงความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการในท้องถิ่น จนวันนี้เราสามารถสร้างโรงทอผ้าไหม และจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นได้ครบครัน“

“สำหรับอนาคต เรามองว่าหลักสูตรจะสามารถผลักดันเด็ก ๆ ไปถึงจุดที่เขาสามารถคิดค้นดัดแปลงลวดลาย จนเป็นแบบฉบับของตัวเองได้ เพราะตอนนี้แม้ในถิ่นเราจะทอผ้าไหมกันอยู่ทั่วไปก็จริง แต่ถ้าพูดถึงในเชิงพาณิชย์ เรายังต้องศึกษาเรื่องตลาดออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ หรือเทคนิควิธีการที่ทันยุคทันสมัยอีกมาก แต่เรามองว่าเด็ก ๆ รุ่นนี้ เขาเข้าใจเครื่องมือและเทคโนโลยีมากกว่า มีทักษะที่ก้าวไปไกลกว่าคนรุ่นพ่อแม่หรือครูของเขา ซึ่งเราเชื่อว่านี่คือโจทย์ที่ท้าทาย เมื่อเขาต้องมาช่วยขายผลิตภัณฑ์ ขยายตลาดให้กว้างออกไป เพื่อพาผ้าไหมของคุณย่าคุณยายไปให้ถึงสายตาชาวโลกให้ได้” 

และนี่คือต้นแบบหนึ่งของโรงเรียนแห่งอนาคต ที่แม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ก็สามารถพัฒนาหลักสูตร บุคลากร ไปจนถึงระบบบริหารจัดการโรงเรียน โดยนำฐานทุนเดิมมาปรับใช้ ผสมผสานจนเกิดหลักสูตรแนวทางใหม่ ๆ เพื่อต้องการไปให้ถึงเป้าหมายคือ พัฒนาผู้เรียน โรงเรียน และชุมชนได้พร้อม ๆ กัน