‘ทุนเสมอภาค’ คือ กำลังใจให้อยากมาเรียน

‘ทุนเสมอภาค’ คือ กำลังใจให้อยากมาเรียน

จากความสูญเสีย

น้องกุ๊ก (นามสมมุติ) อายุ 9 ขวบ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน อ. เมือง จ. อ่างทอง ในสายตาของครูและเพื่อน ๆ คือเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี เป็นเด็กเรียบร้อย เป็นที่รักของทุกคน แต่นัยน์ตาของเธอกลับดูเศร้าสร้อย บุคลิกท่าทางไม่ได้มีความร่าเริง อย่างที่เด็กคนหนึ่งควรจะเป็นมากนัก และที่สำคัญเธอมักขาดเรียนอยู่บ่อยครั้ง โดยไม่มีสาเหตุ

นี่จึงเป็นคำถามที่ ครูกฤษณา ไชยาวรรณ ครูประจำชั้นของ ด.ญ.กุ๊ก ในขณะนั้น เริ่มตั้งข้อสังเกต และได้คำตอบเมื่อได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของเธอ  

น้องกุ๊ก อาศัยอยู่กับยายเพียงสองคน ในห้องเช่าที่ค่อนข้างโทรม ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก แม่จากไปตั้งแต่เธอยังเด็ก ส่วนพ่อมีครอบครัวใหม่ และแทบไม่ได้ติดต่อกลับมาอีกเลย ยายจึงเป็นทั้งพ่อ แม่ และทุก ๆ อย่างให้กับเธอ แต่ยายเองก็ไม่ได้มีร่างกายที่แข็งแรงมากนัก เพราะมีโรคประจำตัว ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องเป็นเสาหลักของบ้าน ในการหาเลี้ยงชีพ เพื่อส่งเสียให้หลานได้เรียนหนังสือ ด้วยการรับจ้างล้างจานได้ค่าแรงเพียงวันละ 200 – 300 บาท ซึ่งบางวันก็ไม่มีรายได้ ทำให้เธอต้องขาดเรียนอยู่บ่อยครั้ง

“ทุกคนจะบอกว่าไม่มีเงิน ไม่มีเงินให้ลูกมา ไม่อยากให้ลูกมา โดยที่ไม่มีเงิน ไม่อยากให้ลูก มาอดให้เพื่อนเห็น อายเพื่อน”

ครูกฤษณา ไชยาวรรณ เล่าถึงสาเหตุการไม่มาเรียนของ น้องกุ๊ก และเด็กส่วนใหญ่ในโรงเรียนที่มีฐานะยากจน จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้อยากหาทุนการศึกษา มาช่วยเหลือนักเรียนเหล่านี้ ประจวบเหมาะกับในขณะนั้น ได้เห็นการประชาสัมพันธ์การเปิดรับ ‘ทุนเสมอภาค’ ของ กสศ. พอดี การทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาส เพื่อลดความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ระหว่างโรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน กับ กสศ. จึงเริ่มต้นขึ้นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563

การเติมเต็มจาก ‘ทุนเสมอภาค’

ปัจจุบัน น้องกุ๊ก กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถือเป็นนักเรียนทุนเสมอภาครุ่นแรกของโรงเรียน ซึ่งการรับทุนนี้เป็นทุนต่อเนื่องจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเก็บข้อมูลและคัดกรองเพียงครั้งเดียว จะได้รับทุนต่อเนื่องถึง 3 ปี และหากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนก็จะได้รับทุนต่อเนื่องไปอีก 3 ปี จนจบระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 หากผลการคัดกรองพบว่ายังคงต้องให้ความช่วยเหลือต่อไป ส่วนหลังจากนั้นจะมีการส่งต่อฐานข้อมูลชุดนี้ต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กยศ. เพื่อรับช่วงต่อความช่วยเหลือทางการศึกษาในระยะยาว 

ทุนนี้จึงเป็นเหมือนการตั้งต้นของการเข้าถึงระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาของ กสศ. ที่ร่วมมือกับทางโรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยมีการบันทึกข้อมูลเข้าระบบของคุณครูเป็นกลไกสำคัญ

“น้องกุ๊ก เป็นเคสที่คัดกรองคนแรก และเป็นเคสปัจจุบันที่ยังได้รับทุนต่อเนื่องอยู่ จากแต่ก่อนน้องไม่ค่อยมาโรงเรียน เนื่องจากสภาพสุขภาวะน้องไม่ค่อยดีด้วย พอน้องได้รับทุนเหมือนกับว่าเราทำข้อตกลงกับผู้ปกครองตามเงื่อนไขของ กสศ. ที่ระบุไว้ว่า ร้อยละ 80 นักเรียนจะต้องมาเรียน มีน้ำหนักส่วนสูงที่เป็นไปตามเกณฑ์ อย่างน้อยถ้าไม่เป็นไปตามเกณฑ์ก็ขอให้มีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ดีขึ้น แต่ก่อนน้องขาดเรียนบ่อย พอน้องได้รับเงินทุนไป เหมือนน้องและคุณยายมีกำลังใจในการจะมาเรียนมากขึ้น” ครูกฤษณา เล่าอย่างภาคภูมิใจ จากความสำเร็จในการได้ช่วยเหลือ น้องกุ๊ก ให้กลับมาสู่พื้นที่ห้องเรียนด้วยความมั่นใจอีกครั้ง

เมื่อไม่นานมานี้ ทางคณะครูโรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน และคณะทำงานของ กสศ. นำโดย ดร. ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. และ กนิษฐา คุณาวิศรุต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามผลการทำงานโครงการทุนเสมอภาค เยี่ยมบ้านเพื่อให้กำลังใจและมอบสิ่งของช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ครอบครัวของ น้องกุ๊ก และเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ ที่ได้รับทุนเสมอภาค อีกด้วย

ดร.ไกรยส ภัทราวาท เปิดใจถึงการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่าต้องการเรียนรู้ และเข้าใจว่าหน้างานของการทำโครงการทุนเสมอภาค ซึ่งเป็นมาตรการลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญมาตรการหนึ่งที่ กสศ. สนับสนุนมาเป็นเวลา 3 – 4 ปีแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ได้นำไปปรับปรุงรูปแบบการทำงานของ กสศ. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“อย่างผู้ปกครองน้องกุ๊ก เคยได้วันละ 200 บาท ก็เหลือวันละ 100 บาท คือหายไปครึ่งหนึ่งเลย มันก็เป็นสิ่งที่สะท้อนต่อข้อมูลสถิติที่เราเห็นจากการกรอกข้อมูลของคุณครูเวลาเยี่ยมบ้าน นอกจากภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของเด็ก ผ่านรายได้ที่ลดลงของผู้ปกครอง เราเห็นว่าเด็กมีโจทย์ที่ซับซ้อนในการดูแลนอกเหนือจากเรื่องความยากจน คือเรื่องของความเป็นเด็กกำพร้า แม่เสียชีวิต พ่อไปแต่งงานใหม่ แล้วเด็กต้องอยู่กับตายาย ซึ่งเคสแบบนี้มีเยอะมาก การช่วยเหลือจึงค่อนข้างมีความซับซ้อนและไม่ง่าย”

ทั้งนี้ ระหว่างการลงพื้นที่ของคณะทำงาน กสศ. และคณะครู เมื่อไปถึงบ้านยังพบว่า วันนั้นไฟฟ้าที่บ้านของน้องกุ๊กถูกตัดไปแล้ว กสศ.จึงได้ช่วยเหลือในการจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับครอบครัวทันที ซึ่งนอกจากความดีใจของคุณยายและน้องกุ๊กแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นภาพสะท้อนของคุณภาพการศึกษาที่อาจสูญเสียไป เพราะ ‘แสงสว่าง’ ก็เป็นอีกปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ เช่น การทำการบ้าน ทบทวนบทเรียน หรืออ่านหนังสือในยามค่ำคืน 

เรื่องราวทั้งหมดนี้ เป็นอีกเรื่องราว ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยพบความสูญเสีย หมดกำลังใจ และกำลังเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา แต่ด้วยความช่วยเหลือจากความตั้งใจทำงานของคณะครูโรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน และ กสศ. ผ่าน ‘ทุนเสมอภาค’  จึงทำให้ชีวิตของน้องกุ๊กและคุณยาย ได้กลับมามีชีวิตชีวา มีความหวัง และมีความฝันถึงอนาคตได้อีกครั้ง

เกี่ยวกับ ‘ทุนเสมอภาค’

ทุนเสมอภาค เป็นทุนสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นผู้ด้อยโอกาส ในสถานศึกษาที่เรียกว่าเด็กในระบบการศึกษา หัวใจสำคัญของทุนนี้ คือการมุ่งค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ยากจนจริง ๆ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด โดยเป็นการให้เงินแบบมีเงื่อนไข หมายความว่าให้แล้วจะต้องติดตามเรื่องการมาเรียน น้ำหนักส่วนสูง รวมไปถึงการติดตามการคงอยู่ในระบบการศึกษาของกลุ่มเป้าหมาย เพราะเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา