ทุนพระกนิษฐาฯ เปลี่ยนทางชีวิต มองเห็นเป้าหมายได้ไกลยิ่งกว่าเดิม

ทุนพระกนิษฐาฯ เปลี่ยนทางชีวิต มองเห็นเป้าหมายได้ไกลยิ่งกว่าเดิม

อยากใช้ความสามารถที่มีไปทำงานด้านการเป็นนักพัฒนาด้วย เรามองว่าที่ห่างไกลด้อยโอกาสจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในส่วนนี้ เพราะการสื่อสารหมายถึงการเปิดช่องทางให้คนได้พัฒนาตนเอง แล้วใครก็ตามที่อยากเรียนรู้ เขาควรได้รับโอกาส

กว่า 8 ปีแล้วที่ ‘น้องป้าง’ ภัทรรียา แซ่คำ พาตัวเองเข้าสู่โลกของการทำงาน ด้วยความตั้งใจส่งเสียตัวเองเรียนให้ได้วุฒิปริญญาตรี ถึงวันนี้ที่กำลังอยู่ชั้นปี 2 ในหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า โทรคมนาคม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ น้องป้างเปลี่ยนงานมาแล้วหลายอย่าง หากเป้าหมายยังคงชัดเจนคือคว้าใบปริญญาให้ได้ เพื่อเปิดประตูสู่โอกาสในการทำงานที่หลากหลายยิ่งขึ้น

เพียงแต่ในตอนนี้ ปลายทางการศึกษาของเธอไม่ได้หยุดไว้เพียงแค่ระดับชั้นปริญญาตรีอีกแล้ว เมื่อได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 13 นักศึกษา ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ รุ่น 1 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อันเป็นทุนที่มีเป้าหมายสนับสนุนผลักดันนักศึกษาสายอาชีพที่เรียนดีมีความสามารถ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้เรียนจบถึงชั้นปริญญาเอก และนำความรู้ความสามารถไปช่วยพัฒนาประเทศตามเส้นทางที่แต่ละคนฝันเอาไว้

น้องป้างจึงมองอนาคตของตัวเองเปลี่ยนไป

 

สละโอกาสให้น้อง หางานทำส่งเสียตัวเอง

น้องป้างเล่าว่าช่วงที่เรียน ม.ต้น ครอบครัวของเธอย้ายจากจังหวัดเพชรบูรณ์มาที่เชียงใหม่ และด้วยจำนวนพี่น้อง 6 คน ซึ่งเธอเป็นคนที่ 2 ในภาวะที่พ่อกับแม่ต้องทำงานหนักเพื่อส่งลูกทุกคนให้ได้เรียนหนังสือ น้องป้างจึงตัดสินใจเสียสละเงินที่พ่อแม่หามาให้กับน้องๆ แล้วออกไปทำงานส่งเสียตัวเองเรียน

“เริ่มทำงานตอน ม.2 จากนั้นก็ส่งตัวเองเรียนมาตลอด เราเห็นว่าพ่อแม่เขาต้องดูแลน้องๆ อีกหลายคน ค่าใช้จ่ายในบ้านก็มาก ก็เลยไม่เคยขอสตางค์ทางบ้านอีกเลย” น้องป้างเล่า

“งานแรกที่ทำคือล้างถั่วงอก แล้วขยับมาได้ทำงานในร้านอาหารทั่วไป แล้วก็มีพวกงานอีเวนท์ ไปแจกน้ำ ทำทุกอย่างที่ทำได้ ถึงตอนนี้จำได้ไม่หมดแล้วว่าทำอะไรมาบ้าง แต่ล่าสุดคือขายเสื้อผ้า-กางเกงยีนส์ ที่กาดมาริน หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค่าแรงวันละ 200 บาท ทำงาน 5 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม ได้งานนี้ช่วงขึ้น ป.ตรี ปี 1 พอดี ก็ต้องไปทำงานต่อหลังเลิกเรียนเกือบทุกวัน”

 

จากสายสามัญสู่สายอาชีพ หาค่าเรียนได้ไม่พอก็ไม่เคยยอมหยุดฝัน

“ตั้งใจไว้ตั้งแต่ ม.ต้น แล้วว่าถึงต้องทำงานไปด้วยเรียนด้วยก็จะจบปริญญาตรีให้ได้” น้องป้างเผยเป้าหมายการเรียนที่ตั้งไว้

แล้วเมื่อจบชั้น ม.6 เธอก็เลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่เส้นทางก็กลับสะดุดลง เนื่องจากเงินที่หาได้จากการทำงานไม่พอกับค่าใช้จ่ายทั้งค่าเทอมและค่ากินอยู่ น้องป้างจึงต้องหยุดเรียนไป 1 ปี

“พอถึงตรงนั้นเราก็มองถึงการเปลี่ยนไปเรียนสายอาชีพ เริ่มมองเรื่องอนาคตการทำงานเป็นหลัก ปีถัดมาพอพร้อมมากขึ้นก็เลยเลือกเรียน ปวส. สาขาวิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์ จบแล้วก็มาต่อหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า โทรคมนาคม ที่เลือกเรียนสาขานี้เพราะคิดว่าเป็นสายงานที่จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ถ้าเรามาทางนี้จะไม่ตกงานแน่นอน” น้องป้างเล่า

 

ปรับตัวกับการเรียนสายปฏิบัติ จนได้รับรางวัลแห่งความพยายาม

น้องป้างบอกว่าการจบสายสามัญแล้วย้ายมาเรียนสายอาชีพทำให้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ช่วงแรกๆ จึงต้องพยายามทุ่มเทเวลาให้กับการลงมือปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อตามให้ทันเพื่อนๆ ที่มาจากสายอาชีพโดยตรง

 “ตอน ม.ปลาย จะเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ พอมาเป็นสายอาชีพที่เน้นการลงมือทำ เลยพบว่ามีปัญหาหลายอย่างที่เราไม่เคยรู้ แต่คนที่เขาเรียนสายช่างโดยตรงเขาจะรู้ เขาจะคล่องกว่า เพราะมันเป็นเรื่องเทคนิค เรื่องการทำซ้ำ เราก็ต้องมาปรับตัวเรียนรู้ในส่วนนี้ พยายามเพิ่มขึ้น ทำซ้ำๆ บ่อยๆ จนมองเห็นตัวแปรบางอย่างที่ไม่ปรากฏในขั้นทฤษฎี” 

และด้วยผลของความพยายาม ประกอบกับความช่างสังเกต เก็บเรื่องราวและประสบการณ์มาสานต่อให้เป็นรูปเป็นร่าง เมื่อปรับตัวกับการเรียนสายอาชีพได้ น้องป้างก็มีผลงานที่โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับรางวัลจากงานวิจัยและนวัตกรรมถึงสองชิ้น คือ ‘เครื่องควบคุมความชื้นอัตโนมัติในโรงเพาะเห็ด’ ที่เธอนำแนวคิดจากการได้ไปดูงานที่ศูนย์วิจัยห้วยฮ่องไคร้เมื่อครั้งเรียนชั้น ปวส. มาต่อยอด

และอีกชิ้นที่ได้รับรางวัลในงานกิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้โครงการรวมพลังเทคโนโลยี 4.0 จัดโดยมหาวิทยาลัยนอร์ท เชียงใหม่ คือ ‘ชุดจำลองระบบเตือนภัยเมื่อมีคนติดค้างในรถ’ ซึ่งได้แนวคิดมาจากข่าวเด็กติดอยู่ในรถยนต์ เธอจึงร่วมพัฒนาโปรเจกต์กับเพื่อนๆ จนสำเร็จ

 

อนาคตที่เปิดกว้างขึ้น หลังได้รับเลือกเป็นนักศึกษา ‘ทุนกนิษฐาสัมมาชีพ’ รุ่น 1

แล้วก็มาถึงวันที่น้องป้างได้มองอนาคตของตัวเองเปลี่ยนไป เมื่อได้รับการเสนอชื่อจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ให้รับคัดเลือกเป็นนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ จนได้เข้ามาเป็นนักศึกษาทุนรุ่นแรก ซึ่งเธอบอกว่า “ทำให้ความฝันที่เคยเล็กนิดเดียว ขยายใหญ่ขึ้นจนคิดไม่ถึง”

“เราเชื่ออยู่เสมอว่าถ้าเราทำผลการเรียนได้ดีจะเป็นใบเบิกทางให้มีโอกาสเพิ่มขึ้น แล้วทุนนี้ถือว่าตรงกับเรา คือมีผลการเรียนดีแต่ติดขัดเรื่องทุนทรัพย์ ตอนที่สอบสัมภาษณ์เราก็ได้เผยถึงสิ่งที่คิดไว้คือถ้ามีทุน เราอยากจะเรียนให้ถึงปริญญาเอก จากนั้นจะทำงานเป็นวิศวกรด้านโทรคมนาคม แล้วอยากใช้ความสามารถที่มีไปทำงานด้านการเป็นนักพัฒนาด้วย เรามองว่าที่ห่างไกลด้อยโอกาสจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในส่วนนี้ เพราะการสื่อสารหมายถึงการเปิดช่องทางให้คนได้พัฒนาตนเอง แล้วใครก็ตามที่อยากเรียนรู้ เขาควรได้รับโอกาส

น้องป้างทิ้งท้ายไว้ว่า ที่มากกว่าความดีใจ คือการได้รับทุนครั้งนี้ หมายถึงทางชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้มองเห็นเส้นทางข้างหน้าที่ยาวไกลและชัดเจนขึ้น เพราะจากที่ตั้งใจไว้ว่าจบปริญญาตรีจะไปทำงานทันที ตอนนี้เธอกลับมีโอกาสเรียนได้จนสุดทาง ไปได้ไกลกว่าที่เคยคาดหวัง นั่นเท่ากับเธอจะมีทางเลือกในเส้นทางอาชีพที่กว้างขึ้น และสามารถพัฒนาศักยภาพในตัวให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมได้มากกว่าที่เคยคิดไว้  

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค