ยิ่งโรงเรียนปิด โลกยิ่งเหลื่อมล้ำ
โดย : ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล
ภาพ : กฤตพร โทจันทร์

ยิ่งโรงเรียนปิด โลกยิ่งเหลื่อมล้ำ

การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญ ไม่มีใครปฏิเสธความจริงนี้ ทว่าเมื่อ COVID-19 ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ในโลกต้องปิดตัว หลายคนอาจไม่ได้รู้สึกว่า การเปิดโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนมากนัก เพราะ ‘เด็ก’ นั้นรอได้ และควรไปโรงเรียนเมื่อพร้อมเท่านั้น

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ภาคการศึกษาเป็นภาคที่มีวิกฤตเรื้อรังอยู่ก่อนแล้วทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก โดยมี ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เป็นปัญหาใจกลางที่สำคัญ วิกฤตโรคระบาดคือการซ้ำเติมวิกฤตเดิมให้รุนแรงและเรื้อรังยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากยูเนสโกชี้ว่า COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนกว่า 80% หรือราว 1.3 พันล้านคนทั่วโลก แม้โรงเรียนและเด็กจำนวนไม่น้อยจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แต่โลกเสมือนย่อมไม่สามารถทดแทนการหายไปของโรงเรียน ห้องเรียน ครู เพื่อนร่วมชั้นเรียน สนามเด็กเล่น ห้องสมุด โรงอาหาร และอื่นๆ

และในบรรดาเด็ก 1.3 พันล้านคน เด็กยากจนคือคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ในรายงานเรื่อง “COVID-19, school closure, and child poverty: a social crisis in the making” ชี้ให้เห็นว่า การปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานานไม่เพียงแค่ส่งผลให้เด็กนักเรียนยากจนเสียโอกาสเรียนรู้และมีสุขภาพที่ย่ำแย่ลง แต่ยังตอกย้ำวงจรความเหลื่อมล้ำให้หยั่งรากลึกมากยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย

เพียงแค่ขาดเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับเรียนออนไลน์อย่างคอมพิวเตอร์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพดีพอ เด็กนักเรียนยากจนก็เสียเปรียบตั้งแต่ต้น วิ่งไล่ตามโลกการศึกษาไม่ทันแล้ว

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide) จะยังคงเป็นกำแพงสูงเสียดฟ้า ขวางกั้นโอกาสที่เด็กนักเรียนยากจนจะได้เรียนหนังสืออย่างเท่าทันและเต็มที่

จากสถิติที่รวบรวมโดย Teacher Special Task Force ร่วมกับยูเนสโก น่าตกใจว่ากว่าครึ่งของนักเรียนทั่วโลกไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน และกว่า 43% ของนักเรียนเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลกระจายอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคที่ยากจนอยู่แล้วอย่างแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) มีนักเรียนถึง 89% ที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ และ 84% ที่เข้าไม่ถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งภูมิภาคที่ร่ำรวยอย่างยุโรป ก็ยังมีเด็กนักเรียนอีก 6.9% ที่ไม่สามารถเชื่อมตัวเองเข้ากับโลกออนไลน์ได้ หรืออย่างสหรัฐฯ เองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศมหาอำนาจ ก็ยังมีเด็กนักเรียนอีกกว่า 7 ล้านคนเช่นกันที่ถูกทิ้งไว้ในโลกออฟไลน์

เมื่อย้อนกลับมามองสถานการณ์ในไทย รายงานจาก OECD ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยว่ามีเด็กไทยเพียงแค่ 57.8% ที่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และในบรรดาเด็กนักเรียนที่ยากจนที่สุด มีเพียง 57% เท่านั้นที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเพราะสู้ค่าบริการไม่ไหวหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล สัญญาณเข้าไปไม่ถึงก็ตาม

หากคิดเทียบว่าการที่เด็กยากจนต้องหายไปจากห้องเรียนออนไลน์เสมือนว่าปิดเทอม การเรียนรู้ระหว่างเด็กยากจนกับเด็กจากครอบครัวมีฐานะจะเหลื่อมล้ำขึ้นแน่นอนหากโรงเรียนยังปิดต่อไปอีกนาน มีงานวิจัยพบว่าในช่วงปิดเทอม ความรู้ความสามารถในการอ่านเขียนคิดคำนวณของเด็กนักเรียนยากจนจะหล่นหายไประหว่างทางเท่ากับขาดเรียนประมาณ 1 เดือน ในขณะที่ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนจากครอบครัวมีฐานะ

ไม่เพียงแค่ความไม่พร้อมทางดิจิทัลเท่านั้นที่ทำให้เด็กนักเรียนยากจนเสียเปรียบอย่างมาก ซ้ำร้าย สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ไม่เอื้อต่อการเรียนยิ่งทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขยายกว้างขึ้นไปอีก

ไม่ใช่เด็กนักเรียนทุกคนที่มีบ้านอยู่อย่างสะดวกสบาย การเรียนที่บ้านได้หมายถึงว่าที่บ้านต้องมีไฟฟ้า มีพื้นที่ในบ้านที่เอื้อต่อทั้งการเรียนหนังสือ ทำการบ้านได้อย่างมีสมาธิ และพื้นที่ที่เด็กจะเล่นสนุก พักผ่อนอย่างมีคุณภาพ รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่พร้อมจะดูแลสนับสนุนให้ลูกเรียนได้อย่างสบายใจท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้

สำหรับครอบครัวมีฐานะ บ้านคือพื้นที่อบอุ่นปลอดภัย เด็กสามารถเรียนอย่างเต็มที่ เมื่อไม่เข้าใจการบ้านก็มีพ่อแม่คอยสอน เมื่อมีเวลาว่างก็ยังมีหนังสือให้อ่านเล่น หรืออาจออกไปวิ่งเล่น ปล่อยพลังงานที่เหลือล้นในสวนเล็กๆ หลังบ้านได้

แต่สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวเด็กนักเรียนยากจนนั้นกลับทำให้พวกเขาเรียนที่บ้านได้อย่างยากลำบาก บ้านที่เพียบพร้อมคือความหรูหราที่ไม่อาจเอื้อมถึง

เมื่อมองสถานการณ์ที่ยุโรป มีเด็กนักเรียน 5% ที่บ้านไม่มีพื้นที่ในบ้านที่เหมาะแก่การทำการบ้าน 5% ที่เข้าไม่ถึงหนังสือที่เหมาะสมกับความสามารถในการอ่าน และ 7.2% ที่ไม่มีพื้นที่เล่นพักผ่อนนอกบ้าน ส่วนที่สหรัฐฯ ในนครนิวยอร์กเองก็มีเด็กนักเรียนถึง 1 ใน 10 ที่ไร้บ้านหรืออาศัยในบ้านไม่มั่นคงปลอดภัย

ย้อนกลับมาที่ไทย ในพื้นที่ทุรกันดารมีเด็กนักเรียนเพียง 20% เท่านั้นที่พร้อมเรียนออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวเด็กนักเรียนชายขอบก็ไม่พร้อมช่วยเหลือกวดขันเรื่องการเรียน เพราะภาษาไทยคือภาษาที่สองของพวกเขา

ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤตเศรษฐกิจติดไวรัสยังกระทบต่ออาชีพการงานและแหล่งรายได้ที่จะมาหล่อเลี้ยงครอบครัวนักเรียนยากจน โอกาสที่เด็กนักเรียนเหล่านี้จะเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมได้ยิ่งริบหรี่ลงไปอีก รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ระยะยาวของเด็กเหล่านี้อีกด้วย

แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กนักเรียนเหล่านี้จะเรียนที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพเท่ากับเรียนที่โรงเรียน หรือเท่ากับเด็กนักเรียนจากครอบครัวที่มีฐานะ

นอกจากนี้ การปิดโรงเรียนไม่เพียงแค่ปิดโอกาสเรียนรู้ของเหล่าเด็กนักเรียนยากจนเท่านั้น แต่ยังปิดโอกาสที่พวกเขาจะได้อิ่มท้องจากอาหารกลางวันโรงเรียนอีกด้วย

อาหารกลางวันโรงเรียนอาจเป็นอาหารมื้อเดียวในตลอดวันที่มีสารอาหารครบถ้วน เมื่อโรงเรียนปิด แน่นอนว่าเด็กนักเรียนยากจนจำนวนมากที่พึ่งพาอาหารกลางวันโรงเรียนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะต้องอดมื้อกินมื้อ ขาดสารอาหารที่จะช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์

และที่สำคัญ อาหารกลางวันโรงเรียนยังช่วยให้เรียนได้ดีขึ้น เมื่ออาหารกลางวันโรงเรียนหายไป ผลการเรียนของเด็กนักเรียนยากจนก็อาจถูกกระทบมิใช่น้อย

เมื่อรั้วโรงเรียนจำต้องปิดลงในวันที่ไวรัส COVID-19 ระบาดหนัก นักเรียนยากจนถูกทิ้งไว้บนความไม่เท่าเทียมที่หยั่งลึกมากกว่าเดิม ความหวังสำหรับพวกเขาที่จะได้เรียนหนังสือ เติบโตอย่างแข็งแรง และใช้การศึกษาเป็นบันไดยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีชีวิตที่ดีขึ้นค่อยๆ ดับลงไปพร้อมกับโรงเรียนที่ปิดลง