อะไรทำให้เด็กไทยกลายเป็น NEETs? : แก้ปัญหาคนนอกตลาดแรงงานและการศึกษา กับ รัตติยา ภูละออ
โดย : ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์
ภาพ : กมลชนก คัชมาตย์

อะไรทำให้เด็กไทยกลายเป็น NEETs? : แก้ปัญหาคนนอกตลาดแรงงานและการศึกษา กับ รัตติยา ภูละออ

ภาพของ NEETs เป็นอย่างไรในสายตาคุณ? 

NEETs หรือชื่อเต็มคือ Not in Education, Employment or Training หมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี (บางสำนักศึกษาอาจขยายช่วงเวลาไปจนถึง 29 ปี) ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม คำคำนี้เกิดขึ้นครั้งแรก และเป็นที่สนใจในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมของประเทศสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ก่อนจะมีข้อค้นพบตามมาอีกมากที่บ่งชี้ว่า เยาวชนผู้ว่างงานและการเรียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมแทบทุกมุมโลก

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากโครงการศึกษา ของ ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ และคณะ[1] พบว่า ในขณะที่อัตราการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงของเยาวชนไทยเพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนของ NEETs เองก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย โดยปัจจุบัน อัตราการเป็น NEETs ต่อเยาวชนทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 13.7 หรือก็คือในกลุ่มเด็กจำนวน 100 คน เราอาจจะพบคนว่างงานและไม่เข้ารับการศึกษามากถึง 13 คนเลยทีเดียว

ทำไมคนเหล่านี้จึงไม่ไปทำงาน? ทำไมเด็กเหล่านี้จึงไม่ไปเรียน?

หากมองอย่างผิวเผิน กลุ่ม NEETs อาจดูเหมือนคนเกียจคร้าน เฉื่อยชา ใช้ชีวิตสุขสบายภายใต้การดูแลของครอบครัว แต่หากสำรวจลึกลงไปถึงเหตุผลต้นตอ คำตอบของคำถามเหล่านี้ อาจหมายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ โอกาสการเข้าถึงลู่ทางการทำงานและการศึกษา สัมพันธ์ไปจนถึงโครงสร้างหลักสูตรการศึกษา พัฒนาการด้านอาชีพและความเปลี่ยนแปลงในสังคม

101 ชวนคุณมาสำรวจโลกของ NEETs ผ่านบทสนทนากับ ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ รองคณบดี วิทาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาเรื่องของ NEETs ในไทย และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านระบบการศึกษา – ซึ่งเธอย้ำว่า ‘ต้องเชื่อมโยงโลกการทำงานเข้าสู่โลกการศึกษา’ ให้ได้

ทำไมเราต้องสนใจเรื่อง NEETs  

อันที่จริง NEETs เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในต่างประเทศมาก แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีการพูดถึงเท่าไร อาจเป็นเพราะอัตราการว่างงานในภาพรวมของไทยต่ำ ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และไม่ค่อยมีข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้มากนัก เรามีงานศึกษาวิเคราะห์เรื่องการว่างงานของเยาวชนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเด็นในตลาดแรงงานอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นผลจากมุมมองของคนส่วนใหญ่ที่มองว่าวัยของเยาวชนควรอยู่ในระบบการศึกษาเท่านั้น คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยเห็นว่าเป็นปัญหา

แต่ในความเป็นจริง กระทั่งกลุ่มเยาวชนในวัยเรียนก็ยังมีกลุ่มตกสำรวจ ไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่ม NEETs เช่นกัน ประเด็นเรื่อง NEETs จึงเป็นเรื่องที่ส่งผลถึงอนาคต ทั้งในมิติตลาดแรงงานและการศึกษา

นิยามของ NEETs แตกต่างจากคนว่างงาน หรือเด็กนอกระบบการศึกษาอย่างไร

คำว่า NEETs เป็นคำบ่งบอกสถานะว่า เยาวชนไม่ได้ทำงาน ไม่ได้เรียน และไม่ได้ทำการอบรม ในช่วงเวลาหนึ่ง เรียกได้ว่าครอบคลุมทั้งกลุ่มคนว่างงาน และเด็กนอกระบบการศึกษาไปพร้อมกัน เพราะสองกลุ่มนี้เป็นการวิเคราะห์จากมุมการทำงานหรือการเรียนมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น อีกทั้ง NEETs ยังรวมถึงครอบคลุมกลุ่มแม่บ้าน ที่เลี้ยงดูลูก ดูแลบ้าน โดยไม่ได้ทำงานหรืออยู่ในระบบการศึกษาด้วย

จากงานวิจัยของอาจารย์ พบว่าจำนวน NEETs ในประเทศไทยมีน้อยมากในกลุ่มครัวเรือนรายได้ปานกลาง แต่พบมากในกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ รองลงมาเป็นครัวเรือนรายได้สูง การค้นพบนี้สะท้อนให้เห็นอะไรในสังคม

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างผิดไปจากสมมติฐานที่ตั้งไว้ จากเดิมเราคิดว่า คนที่เป็น NEETs มักอยู่ในกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำเป็นส่วนใหญ่ เพราะปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ไม่มีทุนทรัพย์จึงขาดโอกาสในการเรียน การทำงาน กรณีต่างประเทศเองก็ประสบปัญหานี้คล้ายกัน แต่งานศึกษาของเรากลับระบุว่ากลุ่มเยาวชนในครัวเรือนรายได้สูงมีกลุ่ม NEETs อยู่มากเช่นกัน ทั้งที่มีโอกาสทางสังคมและโอกาสด้านการศึกษาเล่าเรียนมากกว่า

เมื่อทำการศึกษาต่อไปจึงพบว่า เยาวชนจากครัวเรือนรายได้สูงหลายคนขาดแรงจูงใจ ไม่รู้ว่าตนเองต้องการทำงานอะไร ผู้ปกครองเองก็ยังไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหา จึงปล่อยไปก่อน แม้กระทั่งกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ ก็พบว่ามีกลุ่มเยาวชนที่ขาดแรงจูงใจแบบนี้เหมือนกัน

ดังนั้น ลักษณะของ NEETs จึงสามารถแบ่งได้คร่าวๆ ว่ามีกลุ่มที่ขาดโอกาส เพราะไม่มีเงิน ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาหรือหางานจากปัจจัยแวดล้อม เช่น มีภาระที่บ้าน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

อีกกลุ่มคือกลุ่มที่ขาดแรงจูงใจ ไม่กระตือรือร้น ไปจนถึงประเมินศักยภาพตัวเองต่ำ มองว่าตนไม่สามารถทำงานหรือเรียนได้ดีจึงไม่ทำ ซึ่งอาจเกิดจากการเลี้ยงดูแบบตีกรอบของพ่อแม่ที่ตำหนิติเตียน คิดว่าลูกไม่เอาไหน และสภาพสังคมที่เขาอยู่ไม่มีคนช่วยกระตุ้นหรือผลักดัน

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือมี NEETs ส่วนหนึ่งเลือกไม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะเขาอยากทำงานยุคใหม่มากกว่า เช่น เป็นนักกีฬา E-Sports แต่ปัจจุบันยังทำไม่สำเร็จ และไม่ได้วางแผนว่าควรทำอย่างไรให้สำเร็จ สุดท้ายจึงกลายเป็น NEETs ที่ไม่เห็นเป้าหมายชีวิตชัดเจน

เทรนด์งานยุคใหม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิด NEETs ได้อย่างไร   

ด้วยความที่โครงสร้างและลักษณะอาชีพในปัจจุบันพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้นิยามของ ‘งาน’ และระบบการเรียนรู้ ฝึกทักษะในปัจจุบันไล่ตามไม่ทัน จนเกิดเป็นช่องว่างด้านการฝึกฝนทักษะอาชีพและความเข้าใจของคนส่วนหนึ่งในสังคม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น กราฟิกดีไซเนอร์ ช่วงแรกคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าสามารถทำเป็นอาชีพได้ เพราะวันๆ เหมือนเอาแต่วาดรูป ต่อมาเมื่อคนเริ่มทำความเข้าใจ ยอมรับว่าเป็นอาชีพแบบหนึ่ง ก็มีการสนับสนุนผ่านระบบการศึกษา การฝึกทักษะอย่างถูกต้อง

มาตอนนี้มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างนักกีฬา E-Sports มีการเล่นเกมเป็นการฝึกทักษะแบบหนึ่ง ผู้ใหญ่ที่ยังติดภาพอาชีพรุ่นเก่าอย่างหมอ พยาบาล ทหาร ก็จะมองว่าเด็กไม่ได้ทำอะไร เอาแต่เล่นเกมไปวันๆ อีกทั้งเรายังไม่มีการช่วยฝึกทักษะอาชีพเหล่านี้ ทำให้เยาวชนที่ต้องการทำอาชีพนี้ยังไม่ได้รับการฝึกอย่างถูกต้อง เป็นระบบ จึงประสบความสำเร็จยาก มีจำนวนน้อยที่ทำได้ และส่วนใหญ่อาจถูกมองว่ากลายเป็น NEETs ไป นี่เป็นปัญหาที่เกิดจากช่องว่างของการพัฒนาระบบการศึกษา ความเข้าใจ ที่ยังไล่ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน

ในขณะที่โลกเกิดอาชีพใหม่ๆ มากมาย คนในชนบทกลับกลายเป็น NEETs มากกว่าคนเมือง เพราะมีโอกาสด้านการทำงานต่ำกว่า เราจะนำอาชีพยุคใหม่ หรือเทรนด์การทำงานแบบไหนมาช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้บ้าง

เรื่องโอกาสการทำงานในพื้นที่ชนบทที่น้อยกว่าตัวเมืองเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง งานบางงานมีแค่เฉพาะในเมืองหรือบังคับให้คนต้องเดินทางไปไกลบ้านเพื่อทำงานที่มีรายได้สูงขึ้น แต่กลุ่มคนบางส่วนยังมีภาระที่บ้าน เช่น มีผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องดูแล ทำให้ต้องเลือกงานใกล้บ้านหรือทำงานที่สามารถดูแลครอบครัวไปพร้อมกันได้ เมื่องานในพื้นที่ชนบทมีน้อย จึงทำให้เขาขาดโอกาสทำงานตรงนี้ไป

ดังนั้น เราควรสร้างงานในพื้นที่ชนบทมากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงการสร้างโรงงานในชนบทเพิ่มขึ้นเพื่อให้คนมาสมัครงาน แต่หมายถึงการทำให้คนรุ่นใหม่สามารถสร้างงานได้ด้วยตัวเอง เช่น นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องดูควบคู่กัน คือ ความมั่นคงในการทำงาน เพราะงานที่สามารถทำจากบ้าน จำพวกฟรีแลนซ์หรืองานที่ทำได้ง่ายผ่านแพลตฟอร์มซึ่งเป็นเทรนด์อยู่ในตอนนี้มีความไม่เสถียร คนอาจทำได้ในช่วง 10-20 ปีแรก หลังจากนั้น ถ้าเด็กรุ่นใหม่ในอนาคตมีทักษะมากกว่า ค่าแรงถูกกว่า เข้ามาทำงานแบบเดียวกัน แรงงานกลุ่มนี้จะประสบปัญหาหนัก

ตอนนี้สิ่งที่ควรผลักดันเพิ่มเติมและต้องรีบทำ คือเรื่องประกันสังคมของกลุ่มฟรีแลนซ์หรือคนทำงานบนแพลตฟอร์ม เพราะเราเห็นแนวโน้มคนเริ่มเข้ามาทำงานด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงต้องช่วยลดการผูกขาดของธุรกิจแพลตฟอร์มด้วย

นอกจากการทำงานแบบฟรีแลนซ์ ทำงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล มีเทรนด์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจอะไรอีกไหม

เป็นเรื่องของทัศนคติการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มอยากทำงานที่ได้รับเงินก้อนใหญ่ ยิ่งเงินมาก ยิ่งมองว่าเป็นความมั่นคง และวางแผนจะเกษียณตัวเองเร็ว แต่คนรุ่นเก่ามีแนวโน้มมองงานที่ค่อยๆ เลื่อนขั้น ค่อยๆ ได้เงินมากขึ้น เหมือนงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจว่าเป็นความมั่นคง

มุมมองเรื่องความมั่นคงอีกด้านเป็นเรื่องความมั่นคงในจิตใจ คนรุ่นเก่าส่วนใหญ่มักรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อได้ทำงานที่คนยกย่อง เช่น ตำรวจ ทหาร อาจารย์ แต่คนรุ่นใหม่จะมีความมั่นใจในตัวเองสูง ทำให้อาจเอนเอียงไปทางการทำงานแบบเป็นเจ้านายของตัวเอง เป็นฟรีแลนซ์ เป็นเจ้าของธุรกิจ

ความแตกต่างด้านทัศนคตินี้ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจมหภาคคงไม่มีผลอะไรมากมาย แต่ในแง่โครงสร้างอาชีพ เราก็อาจจะได้เห็นรูปแบบงานและการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น การพัฒนาทักษะแรงงานในอนาคตต้องเป็นแบบหลายทักษะ (multi-skill) มากขึ้น รวมถึงเทรนด์ความยืดหยุ่นในการทำงาน (flexibility) จะแพร่หลายมากขึ้น

มีงานศึกษาในหลายประเทศที่พบว่าจำนวน NEETs เพศหญิงมีมากกว่าเพศชาย ปรากฏการณ์ตรงนี้สะท้อนให้เห็นอะไร

มิติเรื่องเพศยังมีผลต่อโลกการทำงานในหลายประเทศ เช่น ผู้หญิงเข้าทำงานได้ยาก หรือไปถึงจุดสูงสุดของอาชีพได้ยากกว่าผู้ชาย อีกเรื่องคือบทบาททางเพศที่ตีกรอบให้ผู้หญิงต้องแบกรับภาระด้านครอบครัว เลี้ยงดูลูก ไปพร้อมๆ กับทำงาน บางคนจึงเลือกออกจากงานเพื่อมาเป็นแม่บ้าน อย่างในญี่ปุ่น มีวัฒนธรรมเรื่องนี้เข้มข้นมาก ผู้หญิงหลายคนเมื่อแต่งงานแล้ว ก็เลือกลาออกมาเป็นแม่บ้าน เพราะเชื่อว่าถ้าทำงาน จะไม่สามารถดูแลลูกอย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านการเป็น NEETs ของผู้หญิงส่วนหนึ่ง

วิกฤตโควิด-19 ทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งไม่เกิดการจ้างงานใหม่ เพราะฝั่งผู้ประกอบการก็โดนพิษเศรษฐกิจ เรื่องเหล่านี้จะส่งผลต่อจำนวน NEETs ในสังคมหรือเปล่า

วิกฤตทำให้ปัญหาเรื่อง NEETs มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพราะผลกระทบของโควิด-19 ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการศึกษาและการทำงาน

ด้านการศึกษา กระทบในแง่ที่ว่าผู้ปกครองบางคนถูกเลิกจ้าง รายได้ลดลง ทำให้เด็กอาจต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อช่วยผู้ปกครองทำงาน เราจะเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่พ้นจากการศึกษาภาคบังคับไปแล้ว มีหลายคนที่เลิกเรียนต่อเพื่อออกไปทำงาน ถึงแม้บางคนอาจได้รับการสนับสนุนทุนทรัพย์จากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยให้เรียนต่อได้ แต่ถ้าต้องเจอเงื่อนไขว่าครอบครัว ผู้ปกครองย้ายกลับไปตั้งตัวใหม่ที่ภูมิลำเนาซึ่งไกลจากสถานศึกษาเดิม เขาก็ต้องขาดการเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนโลกการทำงาน ก็ชัดเจนว่าโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบหลายเรื่อง เรื่องแรกคือตำแหน่งงานจะลดลง เพราะนายจ้างส่วนหนึ่งจะนำเครื่องจักรมาใช้แทนคนมากขึ้น ทำให้งานที่จากเดิมมีแนวโน้มลดลงเพราะเทรนด์การใช้เทคโนโลยี A.I. อยู่แล้ว มาตอนนี้จำนวนงานจะลดลงเร็วขึ้นมาก

เรื่องต่อมาคือ โควิด-19 ทำให้เกิดเทรนด์การทำงานใหม่ๆ เช่น Work From Home ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลัก และต้องการคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่มีเครื่องมือ หรือความรู้ด้านดิจิทัลอยู่พอสมควร ทำให้ความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มสูงขึ้น คนเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น กระทั่งกลุ่มคนรุ่นใหม่เอง เพราะถึงแม้ตลาดจะต้องการคนที่มีทักษะด้านดิจิทัล แต่จากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจตอนนี้ ทำให้สถานประกอบการมักจ้างคนที่มีประสบการณ์ทำงานมากกว่าเด็กจบใหม่ และต้องการคนที่มีทักษะหลายด้าน ทำได้หลายอย่าง เรียนรู้ได้ตลอดเวลา

ดังนั้น จำนวน NEETs จึงอาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดโอกาสด้านการศึกษามาแต่เดิม กลุ่มที่อยู่กับครอบครัวที่ย้ายถิ่น และกลุ่มที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีไม่สูงมาก

เมื่อพูดถึง NEETs เราอาจจะมองเห็นผลกระทบในเชิงเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการว่างงานหรือสะสมทุนมนุษย์ จริงๆ แล้ว การมี NEETs จำนวนมากยังส่งผลกระทบต่อมิติอื่นอีกไหม

จริงๆ การเป็น NEETs ส่งผลในมิติเชิงสังคมและตัวเขาเองมากกว่าเศรษฐกิจอีกนะ เพราะถ้าคนคนหนึ่งเป็น NEETs หลายปี จะกลายเป็น Discouraged Worker กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งยาก ต่อให้อยากทำงาน อยากเรียนอีกครั้งก็ตาม โอกาสจะยิ่งลดน้อยลง

เมื่อไม่มีโอกาสได้ทำงาน สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาคือ การพึ่งพิงคนในครอบครัว และการมองเห็นคุณค่าของตัวเอง มีงานศึกษาที่พบว่า ถ้าคนคนหนึ่งไม่ได้ทำงานนานๆ อยู่บ้านเฉยๆ จะส่งผลต่อจิตใจ ประเมินคุณค่าในตัวเองต่ำลง และส่งผลไปถึงสมองด้วย ถือว่าไม่ดีต่อตัวเขาเองในระยะยาว

แต่อีกแง่หนึ่ง ข้อค้นพบจากงานวิจัยของอาจารย์บอกว่ากลุ่ม NEETs บริหารความเครียดได้ดี นี่ถือว่าเป็นจุดแข็งหรือเปล่า

เขาอาจมองว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นในครอบครัวที่ต้องทำงาน ก็คงรู้สึกว่าตัวเองบริหารความเครียดได้ดีกว่า แต่อย่าลืมว่าคำว่าความเครียดในงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นความเครียดจากมุมมองส่วนตัวของเขาเอง เพราะเราใช้วิธีสัมภาษณ์ ฉะนั้น ต่อให้เขาคิดว่าตัวเองไม่เครียด แต่ในความเป็นจริง ทางจิตวิทยาอาจไม่ใช่ก็ได้

ข้อเสนอแนะที่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้ในงานวิจัย คือ การเลี้ยงดูและความเอาใจใส่จากคนในครอบครัวสามารถป้องกันให้คนไม่เป็น NEETs ได้ แต่ตอนนี้บริบทของครอบครัวมีความหลากหลายมาก มีครอบครัวแบบใดที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษไหม

สภาพครอบครัวบางแบบมีนัยสำคัญต่อการเกิด NEETs โดยเราพบว่ากลุ่มเยาวชนที่อาศัยอยู่กับแม่ฝ่ายเดียว (แม่เลี้ยงเดี่ยว) มีแนวโน้มเป็น NEETs มากกว่าครอบครัวรูปแบบอื่น อาจเป็นเพราะเด็กต้องออกมาช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้าน ทำงานบ้านช่วยเหลือแม่ กลุ่มนี้จึงควรได้รับการดูแลมากกว่าเยาวชนในกลุ่มอื่น ซึ่งเราเองก็กำลังศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่

อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายของครอบครัวอาจไม่สำคัญเท่าทัศนคติของคนในครอบครัว ถ้าเราเปรียบเทียบระหว่างครอบครัวแหว่งกลาง เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่มีผู้ปกครองที่เห็นว่าเขาควรทำงาน ควรได้รับการศึกษา หรือคอยให้กำลังใจว่าสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ เยาวชนก็มีแนวโน้มจะพัฒนาตัวเองได้ดีกว่าอีกครอบครัวที่แม้จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา แต่ผู้ปกครองกลับตำหนิติเตียน มองว่าลูกไม่เอาไหน ทำให้เด็กมั่นใจในตัวเองน้อยลง จนไม่อยากทำอะไรเลย

ระบบการศึกษาในปัจจุบันมีส่วนทำให้คนเป็น NEETs หรือไม่ อย่างไร

ทุกวันนี้เหมือนเราปิดกั้นโลกการศึกษาออกจากโลกที่แท้จริง ทำให้เด็กมีโลกอยู่แค่หลังรั้วโรงเรียน ตั้งธงว่าเด็กต้องตั้งใจเรียนอย่างเดียวนะ โตมาค่อยเข้าสู่โลกการทำงาน พอเรียนเสร็จ กลับบ้าน มีพ่อแม่มารับส่ง บางคนจึงได้เห็นแค่บริบทภายในครอบครัวและโรงเรียน แต่มองไม่เห็นโลกภายนอกว่ามีอาชีพที่หลากหลายอะไรบ้าง มีโอกาสด้านไหนบ้าง ทั้งที่สักวันเขาอาจต้องนำสิ่งที่เรียนรู้ออกมาใช้นอกโรงเรียน บางคนกลับมองไม่ออกว่าจะนำมาเชื่อมโยงกับการทำงานจริงได้อย่างไร

ถ้าเป็นเด็กอาชีวะอาจจะพอเห็นความเชื่อมโยงอยู่บ้าง สำหรับการเรียนสายสามัญ รูปแบบการเชื่อมโยงโลกการศึกษากับการทำงานมักทำผ่านชั่วโมงแนะแนว แต่ส่วนใหญ่วิชาแนะแนวของไทยยังเป็นการให้กรอกข้อมูลความสนใจด้านอาชีพหรือเรียนต่อ ซึ่งถ้าเด็กไม่ได้เห็นโลกกว้าง ก็จะไม่เห็นภาพเทรนด์ของสังคม ภาพเทรนด์ของอาชีพ และไม่รู้ว่าตนเองสนใจอะไรอย่างจริงจัง

การเชื่อมโยงระหว่างการเรียนกับการทำงานจึงควรเริ่มตั้งแต่ตอนเด็กๆ อย่างวัยประถม ควรได้เห็นภาพทางเลือกอาชีพหลายๆ ด้าน ระบบการศึกษาในสวีเดนหรือฟินแลนด์เองก็มีรูปแบบการเรียนการสอนที่พยายามเชื่อมโยงเด็กกับโลกภายนอกโรงเรียน เช่น พาเด็กไปเยี่ยมชมการทำงานของอาชีพต่างๆ หรือเชิญคนที่มีอาชีพหลากหลายเข้ามาพูดคุยประสบการณ์ในโรงเรียน กระทั่งในยุโรป ที่มีอัตราการว่างงานของเยาวชนสูงกว่าอัตราการว่างงานของผู้ใหญ่สูงมาก ก็เริ่มแก้ไขจากการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโลกการศึกษาและการทำงาน ในรูปแบบของการฝึกงาน ให้นักเรียนออกมาทำงานจริงเป็นปี

ฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงแรงงานเองก็พยายามปรับปรุงระบบแนะแนวอยู่เหมือนกัน โดยพยายามเปิดโอกาสให้คนทำงานจริง หรือเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานได้เข้าไปพูดคุยกับเด็ก แต่ยังไม่ค่อยได้ผลนัก อาจเป็นเพราะคนที่ให้ความรู้ อาจจะยึดติดกับอาชีพรุ่นก่อน ทำให้เห็นอาชีพในวงจำกัด ในขณะที่อนาคตอีกสิบกว่าปีข้างหน้า อาจเกิดอาชีพใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครรู้จัก มีทางเลือกให้เด็กนักเรียนในปัจจุบันหลากหลายมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ การศึกษาแบบเน้นท่องจำ มีระบบทำกิจกรรมน้อยจริงๆ ทำกิจกรรมแบบลงชื่อพอเป็นพิธี ยังมีส่วนก่อให้เกิด NEETs เพราะเมื่อไม่ได้ลงมือทำงานจริง เด็กอาจไม่ได้เห็นคุณค่าด้านอื่นๆ นอกจากการเรียนของตัวเอง และไม่ได้ฝึกทักษะทางสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่น เวลาไปทำงานจริงอาจทำไม่ได้ดีนัก จนเลิกล้มและลาออกมาเป็น NEETs

ดังนั้น การแก้ไขเรื่องนี้คงต้องแก้ทั้งหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน และระบบครู เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับระบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับการทำงาน โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมยังมีช่องว่างเรื่องความเข้าใจพัฒนาการของอาชีพสมัยใหม่

เราควรจะปรับเปลี่ยนวิชาแนะแนวในโรงเรียนเป็นแบบไหน

วิชาแนะแนวน่าจะทำเป็นวิชาแบบ Future studies ร่วมกันมองภาพจากทั้งครูและนักเรียนว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า สังคมจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และมีอาชีพแบบไหน บางทีการคิดวิเคราะห์จากมุมของนักเรียนอาจไปไกลเกินกว่าที่ครูรู้ก็ได้ เพราะเขาอาจได้มองบริบทสังคมแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนๆ ได้เห็นการพัฒนาอะไรหลายๆ อย่าง คงจินตนาการได้ว่าถ้าอนาคตเป็นแบบนี้ เขาอยากจะทำงานอะไร และนั่นจะทำให้ครูได้เรียนรู้ด้วย

อีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือการทดลองให้เด็กวางแผนการทำงานจริงๆ เช่น ให้โจทย์ที่ท้าทายเด็กว่าถ้าให้เวลาสิบวัน หรือเดือนหนึ่ง จะวางแผนทำอะไรเพื่อให้ได้เงินมากที่สุด เป็นตัวอย่างการออกแบบวิชาแนะแนวที่หลากหลายและเปิดรั้วโรงเรียนไปสู่โลกการทำงานมากขึ้น

ปัญหาหนึ่งที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ คือครูบางส่วนอาจตามเทรนด์อาชีพสมัยใหม่ไม่ทัน เราจะช่วยให้ครูทลายกรอบตนเอง มีโอกาสได้เรียนรู้โลกยุคใหม่ และนำไปปรับใช้ในการสอนได้อย่างไร

เรื่องนี้คงโทษครูไม่ได้ เพราะด้วยภาระงาน ภาระการสอนต่างๆ ทำให้เขาไม่มีโอกาสออกไปเรียนรู้อย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบแบ่งปันความรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน อาจจะมีการนำเทคโนโลยี ระบบออนไลน์มาช่วยภาระงานด้านเอกสารของครู รวมถึงปรับตัวชี้วัดศักยภาพครูในบางเรื่อง เช่น คะแนนสอบ O-NET บางโรงเรียนเข้าใจว่าถ้านักเรียนสอบได้คะแนน O-NET ต่ำ เท่ากับมีศักยภาพต่ำ ครูสอนไม่ดี กลายเป็นว่าครูบางคนเลือกสอนเพื่อให้นักเรียนสอบได้คะแนนดีเท่านั้น เราต้องแก้ไขความคิดนี้และต้องเข้าใจว่านักเรียนอาจมีความสามารถเรื่องอื่น ที่วัดไม่ได้ด้วยคะแนนสอบจากข้อสอบกลางด้วย

การปิดกั้นโลกการศึกษาจากโลกการทำงานอาจเป็นปัญหาของการเรียนประถมหรือมัธยม แล้วในแง่ของมหาวิทยาลัย ที่เรียกได้ว่าเป็นโลกการศึกษาที่ใกล้กับโลกการทำงานที่สุด ระบบการศึกษายังมีปัญหาด้านไหนอยู่ไหม

การเรียนมหาวิทยาลัยจะแบ่งแยกสายการทำงานที่ค่อนข้างชัดเจนว่าผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง แต่ในโลกยุคใหม่ อาชีพมีความหลากหลาย มีความต้องการคนที่มีทักษะหลายด้าน (multi-skill) มากขึ้น ทำให้คนคนหนึ่งอาจประกอบอาชีพมากกว่าหนึ่งได้ ความรู้ด้านอาชีพแบบเดิมอาจไม่ต้องให้ผู้เรียนต้องจบไปเพื่อประกอบอาชีพนั้นเสมอไป มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจยังมีมุมมองเรื่องอาชีพที่ตายตัวอยู่ ทำให้ไม่ได้ขยายขอบเขตความรู้ การเรียนการสอนออกไป ยกตัวอย่างเช่น คนที่เรียนครุศาสตร์อาจถูกมองว่าต้องจบไปเพื่อเป็นครู แต่อันที่จริงผู้เรียนมีทักษะที่หลากหลายมากจากการเรียนครุฯ เขาอาจจะจบไปทำธุรกิจก็ได้ ซึ่งการเรียนในตอนนี้ก็ยังไปไม่ถึงเรื่องนั้นเท่าไร

หนึ่งในประเด็นที่พูดกันบ่อยคือ การศึกษายังไม่ตอบโจทย์ทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้คนเป็น NEETs มากขึ้น เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

เรื่องการศึกษาไม่ตอบโจทย์ทักษะในตลาดแรงงานก็เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน ซึ่งเมื่อกล่าวถึงทักษะ เราอาจแยกออกเป็นทักษะทั่วไป (general skill) ที่ต้องใช้ในทุกสาขาอาชีพ และทักษะวิชาชีพเฉพาะทาง (specific skill)

เรื่องการพัฒนาทักษะทั่วไป เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ การพัฒนาตัวเอง ความเป็นผู้นำ ความอดทนในปัจจุบันยังคงมีปัญหา ภาครัฐอาจจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตร และให้การสนับสนุนการศึกษาอย่างครอบคลุม ทั่วถึงมากที่สุด อย่างน้อยถ้าเราพัฒนาให้เยาวชนมีทักษะเหล่านี้ได้ มันจะช่วยตอบโจทย์ตลาดแรงงานบางส่วน และลดจำนวน NEETs ได้ระดับหนึ่ง

ส่วนเรื่องการพัฒนาทักษะวิชาชีพเฉพาะ หรือทักษะที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท ควรมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เปิดให้คนเข้าไปเรียนรู้ได้โดยตรง ซึ่งก็จะช่วยให้แรงงานมีทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการแก้ปัญหาเพื่อสร้างแรงงานที่ตอบรับกับลักษณะงานในตลาด เป็นงานที่คนอื่นสร้าง และรอให้เราไปทำ บ้างก็เป็นงานแบบใช้ทักษะต่ำ (Low Skilled) ซึ่งเยาวชนบางกลุ่มก็อาจไม่อยากทำงานประเภทนั้น

ดังนั้น อีกทางหนึ่งที่รัฐควรทำควบคู่กัน คือการส่งเสริมทักษะที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่สามารถสร้างงานได้เอง (job creation) ทำให้เด็กสามารถทำงานแบบที่เขาอยากทำ เพราะถ้าเขาไม่อยากทำงานที่มีอยู่ในตลาด จะสร้างทักษะที่ตอบโจทย์ตลาดมากมายอย่างไร เขาก็คงยินดีเป็น NEETs หรือหันไปทำอะไรอย่างอื่นมากกว่า ตัวอย่างของการสร้างงานเอง คือเป็นสตาร์ทอัป แต่ข้อควรระวังคือ ถ้ามีการส่งเสริมให้เยาวชนสร้างงานเอง เป็นสตาร์ทอัป ก็ต้องช่วยสร้างเครือข่ายและแนวคิดการทำธุรกิจที่ยั่งยืน อีกทั้งคอยสนับสนุนให้เขาด้วย เขาถึงจะอยู่รอดได้

ปัญหาเยาวชนที่เป็น NEETs ถือว่ามีความทับซ้อนกับปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา เราจะช่วยเหลือ NEETs หรือเด็กนอกระบบเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบได้อย่างไรบ้าง 

กลุ่มเด็กนอกระบบส่วนใหญ่อาจเป็นกลุ่มที่ถือว่าขาดโอกาสในการเรียน เราต้องย้อนกลับไปดูว่าสาเหตุที่ทำให้เขาขาดโอกาสคืออะไร เป็นเรื่องเงิน หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในชีวิตของเขา เช่น การตั้งครรภ์ในวัยเรียน ทำให้ต้องออกจากระบบหรือเปล่า แล้วค่อยออกแบบการช่วยเหลือแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ดี รูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ควรเน้นไปที่การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) มากขึ้น เพื่อสร้างระบบที่เด็กเหล่านี้สามารถกลับมาเรียนได้ โดยที่การเรียนนั้นต้องเป็นการเรียนที่ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ (training) และความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) ที่สำคัญ สามารถใช้งานได้อย่างเป็นประโยชน์เพื่อให้เยาวชนมีทั้งทักษะความรู้ทั่วไปและทักษะวิชาชีพเฉพาะเพื่อทำงาน รวมถึงต้องช่วยเสริมทักษะการสร้างงาน และมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย

มีเด็กนอกระบบจำนวนหนึ่งระบุว่า เหตุผลที่เขาไม่เข้าเรียนในโรงเรียน เพราะเขาไม่เห็นว่าโรงเรียนสามารถให้อะไรแก่เขา ไม่เห็นว่าจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้อย่างไร

นี่เป็นปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ (motivation) เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสได้เรียน แต่เลือกไม่เรียนเพราะขาดแรงจูงใจ ไม่เห็นประโยชน์ อันที่จริงคำว่า ‘ไม่เห็นว่าโรงเรียนให้อะไรแก่เขา’ สามารถตีความได้หลายอย่าง อาจเป็นไปได้ว่าลึกๆ แล้วเขามองเห็นตัวเองทำได้ไม่ดีเรื่องเรียน เมื่อไปเรียนแล้วผลออกมาไม่ดี เรียนไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ไปดีกว่า กรณีแบบนี้เป็นปัญหาว่าหลักสูตรหรือทักษะที่โรงเรียนอาจไม่ตรงกับความถนัดของเขา เช่น เขาอาจวาดรูปเก่ง อยากเรียนอนิเมชัน แต่ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียน ทำให้เขาขาดแรงจูงใจ

ฉะนั้น เราต้องสร้างการศึกษาทางเลือก หรือการศึกษาตามอัธยาศัยที่สอดคล้องกับทักษะอาชีพเพิ่มขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว เรามีสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทำเรื่องนี้อยู่ แต่นอกจากการศึกษาที่มีการเทียบหลักสูตรเหมือนการศึกษาในระบบ กศน. อาจต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีทางเลือกหลากหลาย และเหมาะสมกับทักษะยุคใหม่มากขึ้น โดยอาจใช้ระบบการเรียนออนไลน์ หรือระบบการเรียนแบบผสมผสานเข้ามามากขึ้น สร้างระบบประเมิน ออกใบรับรองทักษะให้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้ทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งงานปัจจุบันและงานในอนาคต เป็นที่ยอมรับทั้งในภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ ทำให้เด็กเหล่านี้สามารถวางแผนชีวิตและหางานทำได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวุฒิการศึกษาในระบบอย่างเดียว อันนี้หมายรวมถึงหน่วยงานฝึกทักษะต่างๆ เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ด้วย

เราจะดึงคนที่เป็น NEETs ที่ผ่านพ้นวัยเรียนไปแล้ว ให้กลับมาสู่การทำงานอย่างไรดี

คงต้องแยกก่อนเช่นกันว่า เขาเป็น NEETs ที่ขาดโอกาส หรือเป็น NEETs ที่มีโอกาสแต่เลือกไม่ทำ

ถ้าเป็นกลุ่มที่ไม่มีโอกาส นั่นหมายความว่าเขาไม่มีโอกาสรับรู้ว่ามีงานอยู่ที่ไหนบ้าง หรือไม่มีโอกาสที่จะได้ทำงานภายใต้ข้อจำกัดของเขาเอง เช่น ถ้าครอบครัวมีผู้พิการหรือผู้สูงอายุที่ต้องดูแล งานที่ทำได้ควรเป็นงานที่มีความยืดหยุ่นสูง กลุ่มนี้เราควรช่วยด้วยการสอนทักษะการสร้างงานด้วยตัวเองแก่เขา ให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน และสร้างชุมชนที่เขาสามารถเรียนรู้ มีเครือข่ายติดต่อหางานทำได้ตลอดเวลา

ส่วนกลุ่มที่มีโอกาสแต่ไม่เลือก หมายถึง เขาเห็นว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้ แต่เลือกอยู่เฉยๆ ถ้าเป็นระยะสั้นก็ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าเป็นแล้วเป็นอีก ทำงานแปบเดียวแล้วกลับมาเป็น NEETs อีก เราต้องหันไปแก้เรื่องการฝึกทักษะทางสังคมและอารมณ์ โดยเฉพาะทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และสร้างแรงจูงใจให้เห็นเป้าหมายของชีวิตและคุณค่าของชีวิต

คุยมาจนถึงตอนนี้ อยากชวนอาจารย์มองว่าสุดท้ายแล้ว การเป็น NEETs มีข้อดีบ้างไหม

มีข้อดีอยู่บ้างเหมือนกัน ในแง่ที่ว่าถ้าคุณเป็น NEETs ระยะสั้นๆ เพื่อหันกลับมาประเมินตัวเองว่าสามารถไปต่อด้านไหนในโลกการทำงาน ได้เห็นทางเลือกที่หลากหลาย มีคนช่วยแนะนำ ก็จะทำให้เขาก้าวกระโดดไปได้เร็วเมื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง ซึ่งกลุ่ม NEETs ลักษณะนี้จะพบมากในกลุ่มเด็กที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย หรือกลุ่มคนที่ทำงานไปสักพักแล้วขอหยุดพัก

คีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้ คือการทำให้เขาเห็นโอกาส คนเราสามารถเป็น NEETs ได้ สามารถหยุดพักเฉยๆ ได้ แต่เราต้องเห็นโอกาส เห็นหนทางว่าจะทำอะไรต่อไป หรือเราสามารถทำอะไรได้ และคนอื่นๆ ควรเข้าใจว่าการเป็น NEETs มาจากสาเหตุที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เรื่องความเหลื่อมล้ำหรือขาดแรงจูงใจอย่างเดียว

หมายเหตุ 

[1] โครงการดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยย่อยในชุดโครงการการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นหัวหน้าโครงการ

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world