ปฏิรูปการศึกษาให้ถึงราก เคล็ดลับความสำเร็จของฟินแลนด์

ปฏิรูปการศึกษาให้ถึงราก เคล็ดลับความสำเร็จของฟินแลนด์

‘ฟินแลนด์’ กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ในฐานะประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุด จากผลงานแชมป์คะแนนสอบ PISA ต่อเนื่องหลายปี 

เกิดอะไรขึ้นกับฟินแลนด์ ประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคน ประเทศที่เสียหายมหาศาลหลังศึกสงคราม ประเทศที่มีทรัพยากรอย่างจำกัดจำเขี่ย ปลูกพืชพรรณได้ยากด้วยสภาพอากาศที่หนาวจัด ทว่าในวันนี้ การศึกษาตามโมเดลฉบับฟินแลนด์กลับถูกยอมรับทั่วโลก และมีผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้ามาศึกษาวิธีคิดและวิธีการจัดการศึกษาของฟินแลนด์อย่างต่อเนื่อง

 

ข้อเขียนถัดจากนี้ ตั้งต้นจากหนังสือการศึกษาเล่มหนาชื่อว่า Phenomenal Learning from Finland: นวัตกรรมเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์ หนังสือที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของฟินแลนด์ ลงลึกไปถึงการศึกษาไทยว่ากำลังเปลี่ยนไปสู่สิ่งไหน แล้วเราสามารถหยิบจับประสบการณ์ใดของฟินแลนด์มาเรียนรู้และประยุกต์ใช้ได้บ้าง 

 

จุดเปลี่ยนของฟินแลนด์

“รัฐบาลฟินแลนด์มองว่า การศึกษาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะเป็นรากฐานของการกินดีอยู่ดีของประชากร เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาไม่มีอะไรกิน เขาเป็นประเทศยากจน เพราะฉะนั้นทางเดียวก็คือการศึกษา”

ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki ประเทศไทย สถาบันการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฟินแลนด์ และบรรณาธิการหนังสือ Phenomenal Learning from Finland ได้เปิดประเด็นถึงเป้าหมายของฟินแลนด์ที่มุ่งด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก จากบริบทของประเทศที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด ‘มนุษย์’ จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาประเทศ

นั่นหมายความว่า หากการศึกษาดี ประชาชนจะมีคุณภาพ ประเทศจึงพัฒนาได้ไม่ยาก 

“ฟินแลนด์เขาแก้ระบบการศึกษาทั้งภาพรวม ถ้าเด็กอดอยาก ไม่มีปัจจัยสี่ เด็กก็เรียนไม่รู้เรื่อง ฉะนั้นเขาจึงไปแก้ปัจจัยสี่ด้วย แก้สภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ให้เด็กพร้อมเรียน เด็กไม่มีปัญหาที่บ้าน เด็กมีครบทุกอย่าง เด็กมาโรงเรียนเขาต้องพร้อมเรียน ไม่ใช่แค่หลักสูตรดี หรืออะไรดี” 

อาจารย์พิชญ์วดีย้ำอีกครั้ง หากเราต้องการเรียนรู้จากความสำเร็จทางการศึกษาของฟินแลนด์ สิ่งสำคัญคือการมองให้รอบด้าน มิใช่คะแนน PISA ที่สูงที่สุดของโลก แต่ต้องรวมไปถึงประวัติศาสตร์ บริบท สภาพแวดล้อม เงื่อนไข และเป้าหมายที่ทำให้ฟินแลนด์เลือกที่จะรื้อถอนและสร้างการศึกษาใหม่ทั้งระบบ 

“ก่อนฟินแลนด์จะปฏิรูปการศึกษาในปี 2016 เขาได้ทำวิจัยเรื่อง Active Learning ตั้งแต่ปี 1980 ซึ่ง Phenomenal Learning (การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์) จริงๆ แล้วใช้มาสองทศวรรษก่อนปฏิรูป เขามี learning lab เป็นห้องทดลองการศึกษาและการเรียนรู้ เมื่อพบว่ามันเวิร์ค ปี 2016 จึงบังคับใช้ทั้งประเทศ เพราะต้องการตอบโจทย์ยุค digital disruption ที่เทคโนโลยีมาแทนที่คน”

โจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษา ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่และพลิกบทบาทของมนุษย์ คือการตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ควรเรียนอะไรกันแน่ จากที่ผ่านมาการศึกษาเป็นเพียงการส่งต่อความรู้ ผ่านการจด ท่อง จำ ทำตาม ทว่าในปัจจุบันและอนาคต ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำราหรือห้องสมุดอีกต่อไป แต่ความรู้กำลังกระจายอยู่ในทุกที่ ทั้งโลกอินเทอร์เน็ต จอคอมพิวเตอร์ กระทั่งหน้าจอมือถือสี่เหลี่ยมเล็กๆ 

โลกดิจิทัลไม่เพียงเข้ามาแทนที่การศึกษาแบบเก่าเท่านั้น แต่กำลังแทนที่บุคลากรครู หากการเรียนรู้จะมีความหมายเพียงแค่การส่งต่อความรู้ผ่านการท่องและการจำเท่านั้น 

“การศึกษาควรจะเป็นการสอนให้เด็กเรียนรู้ว่า ความรู้เหล่านั้นมาได้อย่างไร ก็เลยเป็นที่มาของหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นที่มาของการสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่พลิกบทบาทครู พลิกบทบาทนักเรียน”

หลักสูตรที่ดี คือพันธสัญญาต่อประชาชน

ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ความหมายของคำว่า ‘หลักสูตร’ ไว้ 2 หลักใหญ่ด้วยกันคือ หนึ่ง-แผนที่ชีวิต และสอง-พันธสัญญาของรัฐที่มีต่อประชาชน 

“เวลาเราพูดถึงหลักสูตร สิ่งแรกคือมันเป็นแผนที่ชีวิตของคนในชาติ ว่าเราอยากเห็นคนในชาติเป็นอย่างไร โดยอาศัยข้อมูลที่แม่นยำและเข้มข้นในการออกแบบหลักสูตร

“ประการที่สอง จากมุมมองของรัฐ หลักสูตรคือพันธสัญญาของรัฐที่มีให้กับประชาชนว่า ฉันสัญญาจะให้สิ่งนี้กับประชาชน จะดูแลคุณภาพ ซึ่งหลักสูตรที่ดีจะต้อง for all สำหรับเด็กทุกคน ความหมายว่าต้องเท่าเทียม และรัฐต้องรับประกันว่าเด็กที่ผ่านหลักสูตรแบบนี้เขาจะมีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร”

ดร.เฉลิมชัย มองว่า การศึกษาแต่เดิมนั้นมุ่งเน้นไปยังตัวความรู้ และการวัดความรู้ ซึ่งต่อมานักการศึกษามากมายได้ตั้งคำถามว่า “แล้วเราต้องรู้ไปพื่ออะไร เพื่อสอบแข่งขันอย่างเดียวหรือ?” ก่อนจะค้นพบว่า แท้จริงแล้วเราต่างร่ำเรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิต การจะสร้างการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์กับชีวิตได้นั้น จึงนำมาซึ่งความสนใจต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘สมรรถนะ’ (competen)

คำถามคือ มนุษย์ต้องการสมรรถนะใดบ้างเพื่อนำไปสู่การใช้ชีวิต เพื่อความอยู่รอด ทำงานได้ เลี้ยงชีพได้ หรือแก้ปัญหาได้ในชีวิต ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

รากฐานหลักสูตรการศึกษาของฟินแลนด์จึงถูกพัฒนาขึ้น ภายใต้กรอบคิด 4 ด้านคือ หนึ่ง-ความเสมอภาค สอง-การสนับสนุนเงิน สาม-การประเมินผลนักเรียน และสี่-การเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยหลักสูตรนี้ประกอบด้วย 7 สมรรถนะ เพื่อพัฒนาผู้เรียนในหลากหลายด้าน ประกอบด้วย 

1) Thinking and Learning to Learn ทักษะการคิดและการเรียนรู้ ให้เด็กรู้จักการตั้งคำถาม ได้ทดลอง และเน้นการมีส่วนร่วม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ไปพร้อมกับครู 

2) Culture Competence, Interaction, and Self-expression คือครูต้องคำนึงถึงการเรียนรู้ร่วมกันของเด็กในความหลากหลาย และนักเรียนต้องตระหนักถึงที่มาที่ไปของวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ โดยความหลากหลายนั้นคือส่วนหนึ่งในชีวิตการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อการอยู่ร่วมกัน 

3) Taking Care of Oneself and Others; Managing Daily Life คือคำถามในชีวิตประจำวันของเด็กๆ เช่น การไปโรงเรียน การเข้าห้องเรียน ซึ่งอาจเป็นคำถามธรรมดา แต่คำถามเหล่านี้มีความสำคัญต่อครูในการสร้างการเรียนรู้

4) Multi-literacy เน้นความสามารถในการอ่านและเขียนได้ในหลายภาษา ทักษะนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจแหล่งข้อมูล ตีความข้อมูล โดยครูจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า เขามีข้อมูลมากมายอยู่รอบตัว ดังนั้น การทำความเข้าใจต่อข้อมูลต่างๆ จึงสำคัญ 

5) Competence in Information and Communication Technology (ICT) คือการบูรณาการไอซีทีเข้าไปในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม 

6) Working Life Competence and Entrepreneurship คือการเรียนรู้ถึงสาขาวิชาต่างๆ ว่ามีบทบาทอย่างไรในการทำงาน และยังกำหนดให้นักเรียนบางระดับชั้นไปร่วมทำงานกับผู้ใหญ่ เปิดให้สัมผัสประสบการณ์จริง เพื่อเป็นทางเลือกในชีวิตให้กับผู้เรียน 

7) Participation, Involvement and Building a Sustainable Future ส่งเสริมให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน ทั้งเรื่องตนเอง ผู้อื่น รวมทั้งความสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม 

“หลักสูตรการศึกษาของฟินแลนด์นั้นมาจากการวิจัย จากข้อมูล จากแล็บที่เขาทดลองใช้แล้วพบว่าโอเค สิ่งนี้จำเป็นมากสำหรับเด็กฟินแลนด์ นั่นหมายความว่า เวลานำหลักสูตรไปใช้ จะต้องใช้ได้กับเด็กทุกคนในประเทศ ดังนั้น รัฐจึงต้อง provide ทรัพยากรทั้งหมด งบประมาณ ครู และสื่อต่างๆ เพื่อให้เด็กเกิดสมรรถนะเหล่านี้ตามที่เขาสัญญาไว้กับประชาชน อันนี้ก็คือความหมายของการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมด้วย”

ทางด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้อธิบายเสริมในประเด็นนี้ว่า 

“ที่น่าสนใจคือ ฟินแลนด์ให้การศึกษากับช่วงต้นของชีวิตมาก เนื่องจากว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ทำไมเขาถึงให้ความสนใจในเรื่องของหลักสูตรเด็กเล็ก ปฐมวัย 1-7 ขวบ เขาไม่จำเป็นที่จะต้องให้เด็กไปอยู่ในโรงเรียนอนุบาลนะครับ พ่อแม่ก็สอนลูกได้ และที่เขาทำได้ก็เพราะเงื่อนไขของเขาผูกพันกับรัฐบาลด้วย 

“บ้านเราพยายามจะยัดเยียดว่า เด็กอนุบาลไปโรงเรียนกลับมา ทำไมอ่านไม่ออก บวกเลขไม่ได้ นี่พ่อแม่เคืองครูนะครับ แต่หลักสูตรของฟินแลนด์เขาค่อนข้างจะให้อิสระ แต่ความอิสระนั้นบางทีเราก็ต้องมองจากคุณภาพของประชากรในประเทศของเขาด้วย”

 

การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์

“ช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราค่อนข้างที่จะว้าว และทุกคนพูดถึงการศึกษาฟินแลนด์แทบจะทั่วโลก แต่สิ่งที่เราอาจจะหลงลืมไปคือ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังวิธีคิดของเขาต่างหาก ว่าอะไรที่ทำให้เขามีวิธีคิดแบบนี้ จัดการศึกษาแบบนี้ แล้วมีผลลัพธ์แบบนี้ได้”

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูสังคมและแอดมินเพจ ‘ครูขอสอน’ มองว่า ปัจจัยที่จะทำให้หลักสูตรการเรียนประสบผลสำเร็จได้คือ บริบทของสังคมที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ของหลักสูตรนั้น โดยยกตัวอย่างถึงประเทศฟินแลนด์ที่เป็นรัฐสวัสดิการ จึงเอื้อให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้โดยไม่กระทบกับชีวิต การงาน และปากท้อง เพราะรัฐบาลให้การสนับสนุนปัจจัยสี่และค่าใช้จ่าย ทำให้พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกได้อย่างมีคุณภาพ 

“อีกประเด็นคือ ในหลักสูตรของฟินแลนด์เองมีส่วนที่ includes คน หมายถึงว่าโอบรับความแตกต่างหลากหลาย และเขามองว่าสังคมของเขาเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ทำอย่างไรให้ตัวหลักสูตรโอบรับความแตกต่างหลากหลายนี้ได้ แต่หลักสูตรของไทยเองอาจจะมีบางส่วน ผมเองก็อาจจะมองว่าหลักสูตรของเราทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือเปล่า ผลักใครให้รู้สึกว่าฉันเป็นคนนอกหรือเปล่า?”

ครูทิวมองว่า ในระหว่างที่หลักสูตรการศึกษาไทยอยู่ในช่วงการปรับตัวสู่การนำสมรรถนะเข้ามาในกระบวนการเรียนรู้ของระบบการศึกษาไทย ครูทั่วไปก็สามารถปรับตัวและนำ ‘สมรรถนะ’ มาใช้ในการออกแบบห้องเรียนของตนได้ 

“อย่างแรกคือ ครูต้องเป็นคนดู เป็นคนเข้าไปสังเกตการณ์ แล้วต้องมองเห็นมากกว่าสิ่งที่เด็กทำ มองให้ลึกว่าก่อนที่เด็กจะทำสิ่งนี้ออกมา เขาต้องมีกระบวนการอะไรบ้าง

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราจะดูว่าเด็กทอดไข่ดาวได้ ดูแค่นั้นได้ไหม หรือจริงๆ แล้วก่อนที่เด็กจะทอดไข่ดาวได้ เด็กต้องมีความรู้เรื่องอะไรบ้าง เด็กต้องรู้เรื่องความสัมพันธ์ของอุณหภูมิ เรื่องลักษณะตามธรรมชาติของไข่ไหม อะไรอย่างนี้ ดังนั้นครูจึงต้องทำงานอย่างละเมียดละไมมากๆ แต่ด้วยธรรมชาติของห้องเรียนไทย โรงเรียนของไทย ครูจึงต้องใช้พลังงานเยอะหน่อยที่จะต้องทำงานกับมัน” 

อีกหัวใจสำคัญคือ ครูต้องเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ ครูทิวขยายความว่า “หากครูไม่เข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ ไม่เข้าใจธรรมชาติของความรู้ และความรู้นั้นประกอบร่างขึ้นมาได้อย่างไร ครูก็จะไม่มีทางจัดกระบวนการ หรือวางหมากวางเกมให้เด็กสามารถที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ก็ได้แต่บอกคำตอบ ให้เด็กจำคำตอบนั้นให้ได้ แต่ไม่ได้สอนวิธีหาคำตอบนั้นให้เขา”

 

‘รู้ได้อย่างไร’ สำคัญกว่า ‘รู้อะไร’

“จริงๆ เด็กนักเรียนไม่ค่อยคุ้นกับคำว่า Phenomenal Learning หรือ การเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์เท่าไรนัก พอหนูได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จึงนึกไปถึงคำพูดหนึ่งของลีโอนาโด ดาวินชี ว่าเราควรเรียนรู้ศิลปะของวิทยาศาสตร์ และควรเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของศิลปะ

“นั่นเพราะว่าในเรื่องหนึ่งๆ มันมีทุกศาสตร์รวมกัน ซึ่งการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์เราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องหลัก สิ่งหนึ่งที่การศึกษาไทยทำพลาดที่สุดในความคิดเห็นของหนูคือ การแยกสายวิทย์กับสายศิลป์ออกจากกัน ซึ่งพอเป็นอย่างนี้ปุ๊บ มันทำให้เรานึกถึงคำว่า anti disclaminasion หรือ การต่อต้านการเลือกปฏิบัติ”

สุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือ ‘เมนู’ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้แสดงทัศนะต่อระบบการศึกษาไทยที่ยังคงยึดติดกับการเรียนการสอนที่แยกส่วนกันอย่างชัดเจน เธอยกตัวอย่างเช่น หากนักเรียนอยากเรียนรู้วิชาทันตแพทย์ เด็กจะต้องเรียนเรื่อง anatomy ศิลปะการก่อรูปฟัน และวิทยาศาสตร์ 

นั่นหมายความว่า ศาสตร์นั้นไม่อาจประกอบด้วยความรู้เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ต้องเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการหลายวิชา ทว่าการศึกษาไทยไม่ใช่เช่นนั้น 

“เคยมีคนถามมาว่า ถ้าให้เด็กเรียนตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ แล้วเด็กสนใจเยอะเกินไปจนครูสอนไม่ได้จะทำยังไง ง่ายๆ เลยค่ะ ให้นักเรียนไปทำเอง แล้วหน้าที่ของครูก็คือการพาเขาไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่การตีกรอบเขา อย่าเพิ่งไปบอกว่านี่มันผิด นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ค่ะ”

มองจากสายตาของเด็กนักเรียน สิ่งนี้เองคือกระบวนการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ ซึ่งเธอมองว่าจำเป็นอย่างมากต่อการศึกษาไทยในทศวรรษนี้