ระดมสมองเร่งแก้ข้อค้นพบ “ทักษะแรงงานไทยไม่ตรงความต้องการตลาดงาน” กสศ. จับมือ 3 ภาคี เตรียมเสนอแนวทาง Upskill Reskill ปลายปีนี้

ระดมสมองเร่งแก้ข้อค้นพบ “ทักษะแรงงานไทยไม่ตรงความต้องการตลาดงาน” กสศ. จับมือ 3 ภาคี เตรียมเสนอแนวทาง Upskill Reskill ปลายปีนี้

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเวทีระดมสมองเพื่อขยายผลการขับเคลื่อนจากโครงการวิจัย “สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย” (Adult Skills Assessment in Thailand) โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาคนโยบายด้านการศึกษา ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน หน่วยงานภาควิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยในเบื้องต้น (Preliminary results) และร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7 – 8 กันยายน 2565 ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพ ฯ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ทักษะแรงงานไทยที่ยังอยู่ระดับน่าเป็นห่วง โดยพบว่าแรงงานไทยยังมีทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง ส่งผลถึงค่าตอบแทนที่ทำให้ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมานานกว่า 20 ปี เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพกับต่างประเทศพบว่า แรงงานไทยมีทักษะตามหลังมาเลเซีย 1.6 เท่า ฮ่องกง 3.8 เท่า ญี่ปุ่น 2.9 เท่า เกาหลีใต้ 2.6 เท่า และไต้หวัน 3 เท่า

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาจาก World Economic Forum รายงานภาพรวมแรงงานไทยว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน หรือ Blue collar ขณะที่แรงงานทักษะสูง หรือ White collar ซึ่งได้ทำงานในสำนักงาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี มีความสามารถด้านการบริหารจัดการ ฯลฯ พบสัดส่วนเพียง 14.4 % โดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานอายุ 15 – 59 ปี 44.81 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในตลาดงาน 37.62 ล้านคน กว่า 75 % เรียนจบไม่เกิน ม.6 /ปวช. ขณะที่แรงงานรุ่นใหม่อายุ 25 – 29 ปี 64.9 % มีวุฒิการศึกษาไม่เกิน ม.6/ปวช. เช่นกัน

“หากไม่เร่งพัฒนาทักษะแรงงานไทย ย่อมไม่สามารถเดินหน้าพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ กุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือการมุ่งพัฒนาทักษะแรงงานรุ่นใหม่ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ปัจจุบันมีความต้องการแรงงานที่เรียนรู้ทักษะใหม่ สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตจะเป็นฐานทุนมนุษย์ช่วยผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้” ดร.ไกรยส กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศ ควรเริ่มที่การวางนโยบายชัดเจน ตอบสนองต่อปัญหา และตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย การออกแบบนโยบายให้นำไปสู่แนวทางปฎิบัติได้ตรงจุดควรเริ่มจากฐานข้อมูล หรือ Data โดย กสศ. ได้ร่วมกับ World Bank มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานอายุ 15 – 65 ปีทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อชุดข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ออกแบบนโยบาย

Mr.Koji Miyamoto นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice แห่ง World Bank

นายโคจิ มิยาโมโต (Mr.Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice แห่ง World Bank เปิดเผยว่า ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีช่องว่างทักษะของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หากนำข้อมูลไปใช้วางแผนนโยบายการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาประเทศ โดยยกตัวอย่างกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co – operation and Development: OECD) มีการจัดทำข้อมูลประชากรวัยแรงงาน ทำให้สามารถวางแผนนโยบายเพื่อแก้ข้อพร่องของตนเองได้อย่างตรงจุด

“เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยมุ่งเน้นไปที่การวัดประเมินทักษะแรงงาน (Adult Skill Accessment) ซึ่ง World Bank ได้นำระเบียบวิธีวิจัยที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในการเข้าถึงทักษะหลัก ๆ อย่าง Literacy Skill (ความรู้เท่าทันด้านการอ่าน), Digital Skill (ทักษะทางดิจิทัล) และ Social – Emotional Skill (ทักษะทางอารมณ์สังคม) นอกจากนี้ยังขยายขอบเขตการเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมขึ้นด้วยการใช้ชุดแบบสอบถามบันทึกประวัติภูมิหลังของแรงงานไทย เพื่อดูว่าทักษะฝีมือมีความสัมพันธ์กับการศึกษาและการฝึกอบรมที่แรงงานคนหนึ่งได้รับอย่างไร ตลอดจนดูถึงผลลัพธ์ของแรงงานว่ามีส่วนร่วมกับตลาดแรงงานอย่างไร ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่จัดประชุมขับเคลื่อนงานวิจัยครั้งนี้ขึ้น ทุกความเห็นที่ได้รับในช่วงหลายวันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำรายงานผลสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทยอย่างแน่นอน” นายโคจิ กล่าว

ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าวว่า การจัดเวทีระดมสมองเพื่อขยายผลการขับเคลื่อนโครงการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand) ถือเป็นงานแรกในประเทศไทยที่พยายามวัดระดับทักษะ (Proficiency Level) ของประชากรวัยแรงงานอย่างเป็นระบบ โดยเน้นความสำคัญของ 3 ทักษะที่ต้องมี ซึ่งโครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสำคัญ (Big Rock) ที่ปรากฎในแผนปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งมุ่งที่จะยกระดับทักษะของประชากรวัยแรงงาน โดยกำหนดว่าประเทศไทยต้องมีการสำรวจทักษะแรงงานเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุก ๆ 3 ปี 

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการ วสศ.

“เป็นงานสำรวจที่ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของแรงงานไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าแรงงานไทยมีทักษะในด้านความเข้าใจในการอ่านต่าง ๆ ทักษะดิจิทัล หรือด้านทักษะอารมณ์สังคม (Social and Emotional Skills) เป็นอย่างไร มีความแตกต่างของภูมิภาคและกลุ่มประชากรต่าง ๆ แค่ไหน ควรเน้นการส่งเสริมพัฒนาในด้านใด ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำนโยบายสำหรับการพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้ได้รับการพัฒนาและเหมาะสมต่อการทำงาน นอกจากนั้นผลในเบื้องต้นยังได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างทักษะเหล่านี้กับผลลัพธ์ในตลาดแรงงาน เช่น รายได้ รวมถึงความสำคัญของทักษะด้านอารมณ์สังคม ทัศนคติต่าง ๆ ที่เรียกว่า Non – Cognitive skills ว่าสำคัญและส่งผลต่อผลตอบแทนในการทำงาน เช่นกัน” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว

ทั้งนี้ กสศ. และภาคีเครือข่าย ยังคงขับเคลื่อนโครงการวิจัย “สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย” (Adult Skills Assessment in Thailand) โดยเตรียมประมวลผลข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์นำเสนอต่อสาธารณะช่วงปลายปีนี้