ฝ่านค้านอังกฤษวอนรัฐปรับโครงสร้างลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
โดย : Andrew Sparrow - The Guardian / Samantha Haynes - Great Britain News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ฝ่านค้านอังกฤษวอนรัฐปรับโครงสร้างลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

สมาชิกพรรคฝ่ายค้านในอังกฤษเปิดเผยผลสำเร็จเด็กยากจนทั่วประเทศ พบโควิด-19 บวกกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังคงมีการแบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติ ส่งผลให้มาตรการฟื้นฟูเยียวยาของรัฐ รวมถึงเงินช่วยเหลือกระจายไม่ทั่วถึง และทำให้เด็กต่างเชื้อชาติในอังกฤษ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กผิวสีมากกว่าครึ่งยังคงตกอยู่ในความยากจน โดยในจำนวนนี้มีโอกาสเสี่ยงสูงกว่า 2 เท่าที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตอย่างยากจนเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มผิวขาวในวัยเดียวกัน

สื่อท้องถิ่นอังกฤษรายงานว่า การศึกษาครั้งนี้ดำเนินการโดยพรรคแรงงาน ด้วยการใช้ฐานข้อมูลสำมะโนประชากรของรัฐบาล พิจารณาจากครัวเรือนยากจนที่เข้าเกณฑ์รายได้น้อย คือมีรายได้ต่อปีต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 60% โดยพบว่าแต่เดิมสถานการณ์ของเด็กผิวสีก่อนเกิดวิกฤตการระบาดก็ไม่ค่อยดีอยู่ก่อนแล้ว เพราะเข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐานของรัฐ ทำให้ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กยากจนผิวสีในอังกฤษเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว โดยสัดส่วนเด็กผิวสียากจนในอังกฤษเพิ่มขึ้นจาก 205,000 คนหรือ 42% ในช่วงปี 2010-2011 มาอยู่ที่ประมาณ 412,000 คนหรือ 53% ในช่วงปี 2019-2020

เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) หัวหน้าพรรคแรงงานกล่าวว่าจำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแม้ว่ารัฐบาลจะอนุมัติกองทุนเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนอย่าง Household Support Fund มูลค่า 500 ล้านปอนด์ออกมา สะท้อนให้เห็นได้ว่า มาตรการดังกล่าวของรัฐไม่ทั่วถึง และยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติเกิดขึ้น

โดยผลการศึกษาพบว่าในช่วงปี 2019-2020 มีเด็กอังกฤษราว 4.3 ล้านคน คืออายุไม่เกิน 16 ปี รวมถึงกลุ่มนักศึกษาอายุไม่เกิน 19 ปี จัดอยู่ในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและยากจน ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวคิดเป็น 31% ของเด็กทั้งหมดในอังกฤษที่มีอยู่ 14 ล้านคน

สำหรับในจำนวนเด็กยากจนในอังกฤษทั้งหมดนี้ เด็กแต่ละเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในอังกฤษยังมีระดับความยากจนไม่เท่ากัน โดยตัวงานวิจัยได้แบ่งเด็กออกเป็น 9 กลุ่มตามเชื้อชาติ แล้วพบว่า เด็กเชื้อชาติบังกลาเทศเป็นกลุ่มเด็กที่ยากจนที่สุด คือเด็กบังกลาเทศกว่า 61% อาศัยอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจน

สำหรับเชื้อชาติอื่นๆ ประกอบด้วย เด็กปากีสถาน (55%) เด็กผิวสีแอฟริกันและแถบแคริบเบียน (53%) เชื้อชาติอื่นๆ (51% เชื้อชาติเอเชีย (50%) เชื้อชาติผสมหรือลูกครึ่ง (32%) อินเดีย (27%) เด็กยุโรป-อเมริกันผิวขาว 26% และจีน (12%)

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกันที่ขนาด เด็กผิวขาวยังคงเป็นกลุ่มเด็กยากจนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หรือจำนวนมากที่สุดในอังกฤษ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 68% ขณะที่เด็กผิวสีถือเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดรองลงมา ด้วยความยากจนมากกว่า 400,000 คน คิดเป็น 10% ของความยากจนในประเทศเด็กทั้งหมด

นักวิเคราะห์มองว่า ผลการสำรวจดังกล่าวกำลังชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถวางนโยบายความยากจน โดยเมินเฉยต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติ การแบ่งแยกและการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นได้

ด้านโฆษกฝ่ายรัฐบาลกล่าวว่า แม้ตัวเลขอย่างเป็นทางการล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่ายังคงมีเด็กอังกฤษหลายแสนหลายล้านคนที่ใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นมาใต้เส้นความยากจน ทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในกลุ่มยากจน แต่ที่ผ่านมาภาครัฐได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มประชากรยากจนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบเพื่อเพิ่มเงินช่วยเหลือต่อปีแก่ครัวเรือนยากจนอีกราว 1,000 ปอนด์ (ราว 44,874 บาท)  ออกมาตรการสินเชื่อเพื่อครัวเรือนรายได้น้อย และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายนปีนี้ เป็นชั่วโมงละ 9.50 ปอนด์ (ราว 426 บาท) ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในเรื่องของค่าเดินทางต่างๆ

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากแก้ปัญหาด้วยการจัดสรรงบประมาณแล้ว ทางพรรคแรงงานของอังกฤษเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติจนบั่นทอนโอกาสของเด็กผิวสีและเด็กต่างเชื้อชาติในอังกฤษ จนทำให้เด็กกลุ่มนี้ถูกผลักเข้าสู่กลุ่มยากจนไปโดยปริยาย

ที่มา :