นักจิตวิทยาแนะ 5 เคล็ดลับดูแลจิตใจเด็ก
โดย : DR. COLMAN NOCTOR
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

นักจิตวิทยาแนะ 5 เคล็ดลับดูแลจิตใจเด็ก

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาในไอร์แลนด์แนะ 5 เคล็ดลับสำคัญในการดูแลจิตใจของเด็กๆ ให้แข็งแกร่งปลอดภัยตลอดปี 2022 ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ที่ทำให้เด็กบางคนยังคงไม่สามารถเดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ ขณะที่บางส่วนยังจำเป็นต้องล็อกดาวน์อยู่แต่ในบ้าน

โคลแมน นอคเตอร์ (Colman Noctor) นักจิตวิทยาในไอร์แลนด์เขียนแนะนำ 5 เคล็ดลับสำคัญในการดูแลจิตใจเด็กๆ ในปี 2022 โดยย้ำชัดว่า สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กๆ ในขณะนี้ก็คือการสังเกตและรับฟังความรู้สึกภายในของเด็กๆ ไม่ใช่แค่พฤติกรรมอีกต่อไป

ทั้งนี้ นอคเตอร์กล่าวว่า สำหรับพ่อแม่หลายคน เป้าหมายปีใหม่ปีนี้อาจหมายรวมถึงการจัดสรรเวลาเล่นกับลูกๆ ไม่ให้หมกมุ่นกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์มากเกินไป ทำอาหารเปี่ยมโภชนาการ และกระชับความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก ควบคู่ไปกับการทำงานตามหน้าที่และออกกำลังกาย

แม้จะดูเป็นเป้าหมายประจำปีที่ดูจะครอบคลุม แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยารายนี้ระบุว่า เป้าหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่กลับลืมที่จะคำนึงถึงปัจจัยภายใน เพราะมัวแต่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายนอกจะช่วยทำให้มีความสุขมากกว่าเดิม ซึ่งแท้จริงแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้เด็กๆ มีความสุขมากขึ้น หลักสำคัญก็คือการเปลี่ยนแนวคิดความเป็นพ่อแม่เพื่อเข้าหาลูกเป็นหลัก

งานนี้นอคเตอร์จึงแนะเคล็ดลับ 5 ประการที่จะช่วยสนับสนุนและป้องกันจิตใจของลูกๆ ให้แข็งแกร่งเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับบริบทแวดล้อมที่ไม่ปกติในปัจจุบัน

1. ลดความคาดหวังในตัวลูกๆ (Reduce expectations of your children)

ช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เด็กๆ ต่างต้องเผชิญภาวะหยุดชะงักในการใช้ชีวิตมากพออยู่แล้ว ดังนั้นพ่อแม่ที่ต้องยอมรับภาวะติดขัดหรือพัฒนาการที่ล่าช้าของเด็กๆ ซึ่งหมายความว่า แทนที่จะตั้งเป้าว่าเด็กๆ จะต้องประสบความสำเร็จอะไรบ้าง จนกลายเป็นการกดดันเด็กๆ ให้เปลี่ยนมามองที่ตัวตนของเด็กว่าเด็กติดขัดตรงไหน ก่อนหันไปหาแนวทางช่วยเหลือให้เด็กๆ ก้าวผ่านความท้าทายที่เด็กๆ ต้องประสบแทน

2. มุ่งเน้นที่ความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ (Recognise effort over outcome)

ท่ามกลางโลกที่ครอบงำไปด้วยอิทธิพลของเครือข่ายสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ทำให้สังคมส่วนใหญ่อดที่จะเปรียบเทียบชีวิตของกันและกันว่าใครดีกว่ากันไม่ได้ และทำให้นิยามความสำเร็จของแต่ละคนผิดเพี้ยนไป ซึ่งนอคเตอร์เตือนว่า การเปรียบเทียบของพ่อแม่จะส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจเด็กๆ อย่างมาก ดังนั้นหยุดเปรียบเทียบ อย่าให้น้ำหนักกับผลลัพธ์ แต่ให้ชื่นชมไปที่ความพยายามของเด็กที่ได้ลงมือทำ ไม่ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม

3. กุญแจสำคัญคือเกณฑ์ค่าเฉลี่ย (Regulation is key)

ด้วยอิทธิพลของสังคมออนไลน์ทำให้คนส่วนใหญ่ในขณะนี้ให้น้ำหนักความสำคัญกับ “ความพิเศษ” หรือ “คนพิเศษ” และมองข้ามหรือด้อยค่า ความธรรมดาสามัญตามมาตรฐาน ที่เหมือนคนทั่วๆ ไปส่วนใหญ่ที่เห็นได้ดาษดื่น และไม่ได้โดดเด่น ซึ่งความต้องการเป็นคนพิเศษทำให้เด็กหลายคนวางเป้าหมายไว้สูงและกดดันตัวอย่างหนักเพื่อไปถึงเป้าหมาย อีกทั้งทำให้รู้ว่าการได้ตามเกณฑ์เฉลี่ยเป็นเรื่องที่ย่ำแย่ น่าผิดหวัง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว การได้ตามเกณฑ์เฉลี่ยถือเป็นเรื่องที่ดีแล้ว

นอคเตอร์ได้เล่าถึงเด็กส่วนใหญ่ที่เดินทางมาหาตนเองว่า มักมีปัญหาเรื่องของความกดดัน ที่ถ้าไม่ทำสิ่งหนึ่งมากไป ก็แสดงว่าไม่ได้ทำมากเพียงพอ ดังนั้น เพื่อป้องกันแรงกดดันที่จะมีผลทางลบต่อตัวเด็ก นอคเตอร์ได้แนะนำให้พ่อแม่ประเมินระดับความสัมพันธ์ในกิจกรรมต่างๆ โดยให้ 10 เป็นระดับสูงสุด และ 1 เป็นระดับต่ำสุด ซึ่งนอคเตอร์แนะให้พ่อแม่ตั้งเป้าวัดให้ได้คะแนนที่ 4-7 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยกลางๆ

“หากคุณให้เวลาตรวจสอบวิธีการเลี้ยงดูลูกของคุณในด้านวิชาการ สังคม หรือการพัฒนากีฬา และพบว่าคุณกำลังย่อหย่อนเกินไป คือเข้าใกล้ 1-3 หรือ ตึงเครียดเกินไปที่ 8-10 ก็อาจถึงเวลาที่จะต้องประเมินใหม่” นอคเตอร์กล่าวก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า การตึงหรือหย่อนเกินไปจะทำให้เด็กเกิดภาวะเครียดหรือวิตกกังวลได้ง่าย

4. น้อยแต่มาก (Less is more)

พ่อแม่หลายคนมักใช้มาตรฐานของผู้ใหญ่ในการกำหนดหรือวัดกิจกรรมของเด็ก ซึ่งบางครั้งก็มากเกินความสนุก เรียกได้ว่า ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรมของเด็กมาจากตัวผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็ก

แน่นอนว่าเป็นเรื่องดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองอยากจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับเด็ก แต่พ่อแม่ต้องระวังไม่ให้เข้าไปวุ่นวายจนกลายเป็นการก้าวก่าย วิธีการสังเกตง่ายๆ ก็คือ กิจกรรมนั้นต้องไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มากเกินความสามารถที่เด็กๆ จะจ่ายได้ ไม่เช่นนั้นกิจกรรมการเล่นอย่างไม่เป็นทางการย่อมถูกลดทอนลงจากการมีส่วนร่วมของผู้ใหญ่

“การมีส่วนร่วมที่นำโดยผู้ใหญ่เป็นการตอบสนองต่อนโยบายและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เข้าใจได้เกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กและขั้นตอนการตรวจคัดกรอง แต่บางทีโอกาสบางอย่างที่เด็กๆ จะเรียนรู้ที่จะเป็นผู้เจรจา อิสระอาจสูญเสียไป ดังนั้นเราน่าจะพิจารณาแนวทางน้อยแต่มาก ในการให้ผู้ใหญ่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของเด็กเท่าที่จำเป็น หรืออย่างน้อยก็ให้เด็กได้มีโอกาสตัดสินใจตามความเหมาะสมของวัย” นอคเตอร์กล่าว

5. เห็นคุณค่าในตนเองมากกว่าความมั่นใจในตนเอง (Self-worth over self-confidence)

พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักอยากให้ลูกมีความมั่นใจในตนเอง แต่ในทัศนะของนอคเตอร์กลับตั้งคำถามว่า ความมั่นใจจะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดจริงหรือ 

“เพราะความมั่นใจเป็นวิธีที่เรานำเสนอตัวเองสู่โลกภายนอก เป็นความสามารถในการแสดงที่มักเจาะจงสำหรับกิจกรรมบางอย่าง ลูกของคุณสามารถเป็นนักฟุตบอล นักเลง หรือนักร้องที่มีความมั่นใจสูง แต่นั่นไม่ได้สะท้อนถึงความซับซ้อนของคุณค่าในตนเองของพวกเขา” นอคเตอร์อธิบาย

ดังนั้น ใจความหลักที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญก็คือการที่เด็กๆ สามารถมองเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งการมองเห็นคุณค่าหมายถึงการให้น้ำหนักไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคนรอบข้าง โดยแทนที่จะพูดถึงทักษะความสามารถที่เด็กทำได้ ให้พูดถึงคุณค่าที่เด็กมีและเป็นประโยชน์กับคนรอบข้าง อย่างความใจดี ความกล้าหาญจะดีกว่า

“หากตั้งปณิธานในการเป็นพ่อแม่ที่ดี ให้ลองปรับเปลี่ยนแนวทางของคุณเพื่อมุ่งความสนใจไปที่โลกภายในของเด็ก ไม่ใช่พฤติกรรมของพวกเขาเป็นหลัก และรูปแบบการเลี้ยงลูกแบบร่วมสมัยในปัจจุบันมุ่งเน้นการสร้างเด็กโปรไฟล์ดีที่น่าประทับใจมากจนเกินไป สำหรับในปี 2022 นี้จึงอยากแนะให้พ่อแม่ลองตั้งเป้าหมายว่าต้องการให้ลูกมีความสุขอย่างไร เพียงเท่านี้ก็น่าจะทำให้ชีวิตครอบครัวง่ายขึ้น” นอคเตอร์กล่าวสรุป

ที่มา : Colman Noctor: Five top tips for maintaining children’s mental health in 2022