“ฮีโร่” ที่เริ่มร่อแร่ รายงานระดับโลกเผยความเครียดของครูน่ากังวลที่สุดหลังวิกฤตโควิด-19
โดย : Greg Thompson - About Education International
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

“ฮีโร่” ที่เริ่มร่อแร่ รายงานระดับโลกเผยความเครียดของครูน่ากังวลที่สุดหลังวิกฤตโควิด-19

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สหภาพการศึกษานานาชาติ (Educaiton International: EI) ที่ทำงานสนับสนุนครูและบุคลากรทางการศึกษา เผยผลการศึกษาสถานะของครูในปัจจุบันที่ดำเนินการสำรวจครูและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษาในทุกทวีปทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า แม้ครูจะได้รับการยอมรับในฐานะ ‘ฮีโร่’ แต่ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ในวงการการศึกษาได้

ผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ระบุว่า เป้าหมายหลักของรายงานคือการพิจารณาสถานะของวิชาชีพครูในระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่รายงานที่จัดขึ้นในปี 2018 โดยเพิ่มเติมประเด็นเกี่ยวกับมาตรการการสนับสนุนรักษาสถานะของครูเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตทางการศึกษาที่เกิดจากผลกระทบของโควิด-19 ในปัจจุบัน 

รายงานแสดงให้เห็นว่า ความตึงเครียดของอาชีพครูที่ระบุในรายงานฉบับก่อนหน้ายังไม่หายไป โดยสถานะของครูยังคงเป็นปัญหาในหลายประเทศ ซึ่งครูตระหนักดีว่าการมีคุณสมบัติหรือระดับการฝึกอบรมเดียวกันกับวิชาชีพอื่นนั้น ไม่ได้ทำให้ตนเองได้รับการยกย่องด้วยสถานะระดับเดียวกัน แม้ว่าการสอนและการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้จะเป็นงานที่ซับซ้อนซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญอย่างมากก็ตาม

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ในขณะที่บางประเทศให้ความสำคัญกับครูและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาอื่น ๆ เป็นอย่างมาก สถานะของครูกลับถูกบั่นทอนจากปัจจัยหลายด้านอย่างต่อเนื่องในอีกหลายประเทศที่มีบริบทแตกต่างออกไป โดยมีตัวอย่างให้เห็นดังนี้

  • ค่าจ้างต่ำเกินไป แถมเงื่อนไขสวัสดิการต่างๆ ก็แย่ลง รัฐบาลคิดว่าโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนไม่มีความสำคัญสำหรับการลงทุน
  • รัฐบาลและสื่อมวลชนขาดความเคารพในครูและวิธีการสอนของครู
  • การทำงานของครูทวีความหนักหน่วงมากขึ้น โดยสหภาพแรงงานครูหลายแห่งรายงานข้อกังวลถึงความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกครู ความเครียดจากงานที่ซับซ้อนมากขึ้นประกอบกับความคาดหวังจากครูที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ครูหลายคนในหลายประเทศกำลังเผชิญกับอนาคตของการจ้างงานที่ไม่แน่นอน โดยการจ้างงานถาวรจะถูกแทนที่ด้วยสัญญาชั่วคราวและสัญญาระยะสั้นมากขึ้น 
  • สวัสดิการทางสังคมสำหรับครู รวมถึงบริการฟรีต่างๆ ของครู มีแนวโน้มจะเข้าถึงได้ยากมากขึ้น 

รายงานระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้คือ ‘ความเครียดของครู’ โดยหลายฝ่ายเกรงว่าความเครียดจากภาระงานสอนและปัญหาในเรื่องความเป็นอยู่ จะทำให้ครูคุณภาพต้องออกจากวิชาชีพ  และหากมองความเป็นอาชีพครูในปัจจุบัน ก็อาจจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า อาชีพครูเองก็ขาดความน่าดึงดูดใจสำหรับคนรุ่นใหม่ อีกทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐก็ยังไม่เพียงพอในการจัดหาทุนสนับสนุนระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน

รายงานเรื่องผลเสียของการปิดโรงเรียนจากยูเนสโกในปี 2020 (UNESCO’s Report on the Adverse Consequences of School Closures (2020)) เสนอว่า วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 สร้างภาวะเครียดให้กับแรงงานครูเนื่องจากคาบการเรียนการสอนถูกโยกไปอยู่ในออนไลน์ ส่งผลให้ชั่วโมงการสอนเพิ่มพูนมหาศาล และการที่ครูหรือนักเรียนขาดแคลนทรัพยากรในการเข้าถึงการเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือซอฟต์แวร์ ก็เป็นอีกหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยเช่นกัน 

เมื่อคลายการล็อกดาวน์ ปัญหากลับไม่คลี่คลาย เพราะแรงงานครู ครูใหญ่ หรือบุคลากรที่ทำงานด้านการศึกษากลับต้องรับภาระเพิ่มขึ้นในการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพเพื่อชดใช้เวลาที่เสียไป และอาจจะได้รับผลกระทบจากการถูกลดค่าแรง หรือการมีบุคลากรน้อยลงเพราะพนักงานบางส่วนถูกปลดออก สุขภาพจิตด้านความเครียดจึงแย่ลงเพราะสถานการณ์เหล่านี้กลายเป็น ‘new normal’ ไปเสียแล้ว

นอกเหนือไปจากปัจจัยที่เห็นได้ชัดเจนข้างต้น สิ่งหนึ่งที่รายงานเกี่ยวกับสถานะของครูพบเห็นตรงกันในแทบทุกประเทศทั่วโลกก็คือ ระดับชั้นของการศึกษามีผลต่อสถานะของครู 

ครูหรือนักการศึกษาที่สอนในมหาวิทยาลัยมักจะได้รับความเคารพสูงสุด ในขณะที่ครูระดับปฐมวัยและอนุบาลจะได้รับความเคารพต่ำที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะอาชีพครู ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดต่างมีความสำคัญและควรได้รับความเคารพเท่ากัน 

ครูที่เข้าร่วมทำการสำรวจครั้งนี้ระบุว่า เพศสภาพยังมีผลต่อสถานะของครู โดยครูผู้หญิงมักจะตกอยู่ในสถานะที่ได้รับการยอมรับต่ำกว่าครูผู้ชาย แต่ในบางพื้นที่ครูผู้หญิงก็ได้รับการยอมรับมากกว่า ซึ่งทีมงานวิจัยระบุว่า ประเด็นเรื่องเพศเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและค่อนข้างอ่อนไหว

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติขั้นต่ำที่จำเป็นในการทำงานในแต่ละระดับการศึกษา โดยเฉลี่ยทุกประเทศจะมีคุณสมบัติขั้นต่ำขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการทำงานเป็นครู ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ความเชี่ยวชาญและสถานะของคุณครู เช่น ครูจำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี เป็นต้น 

การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นระเบิดลูกใหญ่ของระบบการศึกษา ซึ่งรายงานฉบับนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นของสหภาพแรงงานเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ต่อค่าจ้าง เงื่อนไข ภาระงาน และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย และสหภาพแรงงานเอาไว้ ซึ่งข้อสรุปโดยรวมคือ ภาวะวิกฤตนี้ได้เพิ่มความตึงเครียดและความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่แล้วในระบบการศึกษาให้มากขึ้น แม้ว่าจะได้แรงสนับสนุนจากสาธารณชนต่อการทำงานของครูในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ แต่กลับไม่มากพอหากต้องการกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของการศึกษา เช่น การลงทุน การสนับสนุน และเงื่อนไขที่ดีกว่าสำหรับนักการศึกษามืออาชีพในทุกระดับ

และท้ายที่สุดแล้ว ข้อท้าทายที่รายงานนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนคือ “ครูยังคงเป็นอาชีพที่สำคัญมาก แต่น่าเสียดายที่การสร้าง “ครู” ขึ้นมานั้นยังไม่ได้รับความสำคัญมากพอ”

ที่มา : The Global Report on the Status of Teachers 2021