“ตั้งแต่เรียนผ่านระบบออนไลน์ เด็กๆ หลุดจากการเรียน 100% วันนั้นเป็นวันเกิดเขา ทีแรกคิดว่าจะเป็นวันเกิดที่เศร้าที่สุด” “เปิดกล่องของขวัญ” เด็กที่ต้องสู้กับโควิด-19

“ตั้งแต่เรียนผ่านระบบออนไลน์ เด็กๆ หลุดจากการเรียน 100% วันนั้นเป็นวันเกิดเขา ทีแรกคิดว่าจะเป็นวันเกิดที่เศร้าที่สุด” “เปิดกล่องของขวัญ” เด็กที่ต้องสู้กับโควิด-19

เป็นเวลานับเดือน ที่ครอบครัวหนึ่งซึ่งประกอบด้วยคุณพ่อ คุณแม่ และเด็กอีกสองคนพี่น้อง คือน้องมาตา ชั้น ป.6 กับน้องเนรมิตร ชั้น ป.3 ต้องต่อสู้กับโควิด-19 ทั้งในฐานะผู้ติดเชื้อและรับผลกระทบจากสถานการณ์ นำมาทั้งความหมดหวัง สูญเสียเรี่ยวแรงจากอาการป่วย ทั้งยังพรากแรงบันดาลใจและรอยยิ้มของเด็กๆ ไปจากชั่วโมงศึกษาเล่าเรียนที่เคยกระตือรือร้น

แต่เมื่อพวกเขาพบกับศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถานการณ์ก็กลับคลี่คลายลง ด้วยการรักษาดูแลอาการผ่านแชต COVID QSNACH (Line id : @080hcijL) ที่รองรับข้อความขอคำปรึกษา 24 ชั่วโมง ประสานส่งยาและสิ่งของจำเป็น ติดตามอาการจนทุเลา พร้อมนำ ‘ถุงการเรียนรู้ปันยิ้ม’ มาช่วยเติมแรงบันดาลใจ จนน้องๆ สามารถกลับมามีรอยยิ้มและพร้อมเรียนเล่นตามวัยได้อีกครั้ง 

ถึงวันนี้ แม้ทุกคนต้องอยู่กับสถานการณ์โรคระบาดกันต่อไป แต่ครอบครัวนี้ยังคงยิ้มได้ ขณะที่เด็กๆ ก็มีพลังใจที่จะต่อสู้อีกครั้ง ด้วยเชื่อว่าวันที่เลวร้ายที่สุดนั้นผ่านพ้นไปแล้ว

วันที่โลกล่มสลาย

28 สิงหาคม น้องมาตามีอาการไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ครอบครัวคุณแม่กานตาตรวจเชื้อทันทีทั้งบ้าน ปรากฏว่าวันนั้นมีน้องมาตาคนเดียวที่ติดเชื้อ

“เขาตกใจ ร้องไห้ กลัวมากว่าต้องไปอยู่โรงพยาบาล แยกจากครอบครัวแล้วจะไม่ได้กลับบ้านอีก ตอนนั้นพวกเรากักตัวอยู่บ้าน ตามข่าวจากทีวีและโซเชียล มีแต่ข่าวว่าคนติดแล้วเสียชีวิตวันละเท่าไหร่ ส่วนที่บอกว่าเป็นแล้วหายหรือรักษาได้ ยังถูกพูดถึงน้อย เด็กเขาก็จำแต่ส่วนที่เลวร้าย

“13 วันถัดมา น้องอาการทรุด ไข้สูง หายใจลำบาก คนอื่นเริ่มมีอาการตามมา ในที่สุดก็ติดเชื้อกันทั้งบ้าน คุณพ่อเขามีอาการหนักที่สุด แต่ไม่ยอมไปโรงพยาบาล เราเองกับลูกคนเล็กอาการไม่มาก แต่สิ่งที่เราต้องเจอทุกวัน คือเครียด หาทางออกไม่ได้ หมดกำลังใจ เหมือนไม่อยากเอาอะไรอีกแล้ว แต่ลูกยังพยายามมาให้กำลังใจเราตลอด บางทีเราควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก็มีผลักเขาออกไป สองคนพี่น้องเขาก็กลัว แต่เหมือนเขาช่วยเตือนสติเรา

“ถ้าให้ย้อนนึกถึงความรู้สึกตอนนั้น สำหรับเรา สำหรับลูก มันเหมือนกับโลกนี้ได้ล่มสลายลงไปตรงนั้น ไม่มีเรี่ยวแรงคิดหรือลุกขึ้นมาทำอะไรอีกแล้ว”

แสงสว่างที่ปลายทาง

“ตอนที่เห็นป๊าเขาดื้อ ไม่ยอมรักษาตัวเอง เราเริ่มคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ตอนนั้นนึกแต่ว่าต้องเป็นหลักให้ทุกคน ก็เริ่มหาเบอร์โทรศัพท์ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ ติดต่อไปหลายแห่ง จนมาเจอ Line Official ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สื่อสารกันสักพัก เหมือนมีแสงสว่างรำไรขึ้นมาที่ปลายทางเลย เพราะเขามีทั้งหมอที่พร้อมตอบคำถาม ให้คำปรึกษาเรื่องอาการตลอด 24 ชั่วโมง มีทีม Admin ให้คำแนะนำ จัดยาให้ คอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ให้กำลังใจ ทำให้เรารู้สึกมีเพื่อน มีคนรับฟัง” คุณแม่กานตาเล่า

แล้วด้วยการรักษาผ่านศูนย์ประสานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเด็ก อาการของสมาชิกทุกคนในครอบครัวก็ค่อยๆ ดีขึ้น จนหายเป็นปกติ ขณะที่ยังมีภาวะ Long COVID ที่ติดตามมาบ้าง คือร่างกายอ่อนล้าไม่มีแรง แต่สิ่งที่ทำให้คุณแม่ยังคงกังวล คือเรื่องราวของฝันร้ายที่เด็กๆ เพิ่งพ้นผ่าน ซึ่งไม่ยอมผ่านพ้นจากไปง่ายๆ

ความสดใสร่าเริงที่หายไปกับโควิด-19

ใช่เพียงประสบการณ์ติดเชื้อทั้งครอบครัวที่มาเยือน แต่อีกวิกฤตหนึ่งจากผลกระทบที่มาพร้อมกับสถานการณ์โควิด-19 คือความพยายามในการปรับเปลี่ยนให้บ้านกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้แทนโรงเรียน ที่คุณแม่กานตาบอกว่า “ไม่ได้อะไรเลย”

“ตั้งแต่เรียนผ่านระบบออนไลน์ เด็กๆ หลุดจากการเรียน 100% อย่างแรกคือ มันเป็นบ้าน การต้องทำให้บรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ในเวลาสั้นๆ เป็นไปไม่ได้เลย เราเองบางทีก็ลืม ลูกเรียนอยู่ก็เผลอไปเรียกเขา ที่สำคัญคือ พอเราปล่อยให้เขาเรียนเอง ลูกก็ไม่มีสมาธิ บางทีนอนไปเรียนไป บางทีเขาก็เปิดแท็บเล็ตทิ้งไว้แล้วก็แอบเล่นเกมในมือถือ ตรงนี้เราไม่สามารถดูเขาได้ตลอด หรือบางทีที่เราต้องรับบทเป็นผู้ช่วยครูสอน ก็ยอมรับว่าตามบทเรียนของคุณครูไม่ทัน ทำให้เราสอนเขาไม่ได้

“เวลาไม่กี่วัน เราเห็นเลยว่าเขาเปลี่ยนไป จากตั้งใจเรียนทั้งคู่ เกรดเฉลี่ยเกือบสี่เต็ม เป็นท็อปของโรงเรียน แต่พอเจอสถานการณ์แบบนี้ กลายเป็นว่าความรับผิดชอบหาย เฉื่อยชา งานค้างเยอะมาก ยิ่งหลังจากป่วยแล้วหายกลับมา ยิ่งเหมือนกับเขาปล่อยเลย ซึมกันทั้งคู่ แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องเรียน แต่ลามไปหมด สองคนพี่น้องเขาเหมือนยังช็อกไม่หาย หลังติดเชื้อโควิด-19 ความสดใสร่าเริงของเขาก็หายไปพร้อมกัน”

เยียวยาจิตใจด้วย ‘ถุงปันยิ้ม’

2 กันยายน ตรงกับวันเกิดของน้องมาตา เจ้าหน้าที่จิตอาสา กสศ. ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ผู้รับเคสน้องและดูแลตั้งแต่วันแรก ก่อนติดตามอาการจนน้องกลับเป็นปกติ ได้ส่ง ‘ถุงปันยิ้ม’ มาให้น้องมาตาและน้องเนรมิตร ผ่านโค้ดงดเว้นค่าบริการด้วยความร่วมมือจาก LINEMAN Wongnai

ทันทีที่ได้รับถุง สองคนพี่น้องขอคุณแม่เปิดทันที พอหยิบของชิ้นแรกออกมา รอยยิ้มเริ่มระบาย ถึงชิ้นที่สอง คุณแม่บอกว่าความเบิกบานสดใสก็กลับคืน

“เราจำได้ดี วันนั้นเป็นวันเกิดเขา ทีแรกคิดว่าเขาคงต้องจดจำไว้ว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดที่เศร้าที่สุด แต่พอได้ถุงจากพี่ๆ ที่สถาบัน เราเห็นลูกดีใจกันมาก เขาเอาของออกมากันทีละชิ้นๆ มีหนังสือนิทาน สมุดภาพระบายสี ของเล่นชิ้นเล็กๆ แป๊บเดียวหลังจากนั้นพี่น้องเขาก็เริ่มกลับมาเล่นด้วยกัน เราไม่เห็นภาพแบบนี้นานมาก ลูกเอาของมาตั้งเรียงกัน ถ่ายรูปอวดลงโซเชียล บอกว่าแม่ดูสิ พี่ๆ เขาใจดีมาก ส่งของมาให้ด้วย

“นี่คือสิ่งที่เรามองว่าเป็นความช่วยเหลือดูแลที่ครบวงจร ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ จนมาถึงการเยียวยาจิตใจเด็กๆ แล้ววิธีการนี้มีประโยชน์มาก ของที่อยู่ในถุงคือสิ่งที่เด็กสนใจ ที่ทำให้พวกเขาได้เล่น ได้ผ่อนคลาย ได้มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมอะไรสักอย่างอีกครั้ง สักพักเด็กๆ ก็ค่อยๆ มีกำลังใจกลับมาตามบทเรียนจากทางโรงเรียน ตรงนี้นอกจากเราจะรู้สึกดีกับการดูแลของสถาบันมากๆ ยังคิดต่อว่าถ้ามีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้เข้าถึงเด็กๆ ได้ดีขึ้น มากขึ้นในช่วงเวลาเช่นนี้ มันจะเป็นได้ทั้งเครื่องมือให้เขาไม่ห่างหายจากบทเรียน และที่สำคัญเลยคือ เป็นเรื่องของกำลังใจ ที่จะทำให้พวกเขามีแรงต่อสู้กับโควิด-19 กันต่อไป”