“เปิดบ้านปันยิ้ม” CI เพื่อแม่และเด็ก พร้อมยกระดับศูนย์ savekidscovids19 รับมือเด็กติดเชื้อเพิ่มหลังสงกรานต์

“เปิดบ้านปันยิ้ม” CI เพื่อแม่และเด็ก พร้อมยกระดับศูนย์ savekidscovids19 รับมือเด็กติดเชื้อเพิ่มหลังสงกรานต์

กรมกิจการเด็กฯ กสศ. กรมสุขภาพจิต ยูนิเซฟ  รพ.เด็ก กทม. และคลองเตยดีจัง  เดินหน้าระบบดูแลช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบาง ร่วมมือ Line Official “savekidscovid19” โทร 1300

เข้าถึงบริการทุกด้านไร้รอยต่อ ตลอด24 ชั่วโมง

เมื่อวันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด” หรือ #savekidscovid19 ความร่วมมือระหว่าง กรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กรมสุขภาพจิต องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และคลองเตยดีจัง  “เปิด” บ้านปันยิ้ม  CI เพื่อแม่และเด็ก และระบบดูแลช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบางในวิกฤตโควิด-19    

นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน

นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงปัจจุบัน เป็นสายพันธุ์ที่ติดเชื้อได้ง่ายทำให้มีจำนวนเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ภายในเพียง 4 เดือน

มีเด็กติดเชื้อรวม 234,790 คน (เทียบกับเดลต้า 11 เดือน มีเด็กติดเชื้อ 297,110) แบ่งเป็น กทม. 27,156 คน และส่วนภูมิภาค 207,634 คน โดยจังหวัดที่มีเด็กติดเชื้อเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร มีมากกว่าวันละ 400 คน และในส่วนภูมิภาคจังหวัดที่มีเด็กติดเชื้อรายวันมากกว่าวันละ 100 คน ได้แก่ สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช นนทบุรี ชลบุรี สงขลา และนครราชสีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นเดือนที่มีเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงวันละประมาณ 4,000 – 5,000 คน และลดลงในเดือนมีนาคม แต่ก็ยังมีสถิติที่ค่อนข้างสูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 3,500 คน

        

นางจตุพร กล่าวว่า แม้ผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อฯ ในภาพรวมไม่สูงมาก แต่ปัญหาสำคัญคือ เด็กจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อเด็กหรือครอบครัวป่วย จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและเข้าถึงระบบการรักษา ซึ่งการดูแลปกป้องคุ้มครองไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานเดียว  จึงมีความร่วมมือกันของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  กรมสุขภาพจิต  องค์การยูนิเซฟประเทศไทย ดำเนินงาน “ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19” หรือ #savekidscovid19

“savekidscovid19 เป็นศูนย์ประสานและส่งต่อเพื่อเด็กกลุ่มเปราะบางไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำกรณีกักตัวที่บ้าน Home Isolation การส่งยา การประสานหาเตียง การคัดกรองเชิงรุก การปฐมพยาบาลเยียวยาจิตสังคม การแสวงหาอาสาสมัครดูแลเด็กและครอบครัวอาสาสมัคร  และการจัดให้มีศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็ก “บ้านปันยิ้ม” เพื่อให้เด็กได้รับการดูแล คุ้มครอง ฟื้นฟู เยียวยา ในทุกมิติ จุดเน้นสำคัญคือความพยายามให้เด็กได้รับการดูแลโดยครอบครัวให้มากที่สุด” นางจตุพร กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ด้านดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ยอดรวมจำนวนเด็กติดเชื้อ COVID-19 สะสมจาก ศบค. ตั้งแต่ ม.ค. 64 – มี.ค. 65 สูงกว่า 521,393 คน ใกล้เคียงกับจำนวนเด็กไทยเกิดทั้งปี 2564 ที่ผ่านมาซึ่งมีเด็กเกิดจำนวน 544,570 คน ต้องจับตา 3 เดือนอันตราย การระบาดอาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสงกรานต์ ถึงเปิดเทอมปี 2565 จึงต้องมีการระดมความร่วมมือเพื่อยกระดับการเตรียมความพร้อมในทุกมิติจากทุกภาคส่วน

โดยจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเด็กจำนวน 200 คน  ในพื้นที่ 29 จังหวัด และกรุงเทพฯ (ข้อมูลระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2564 – 1 กุมภาพันธ์ 2565) พบว่าร้อยละ 27 มีสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อนมากกว่าหนึ่งปัญหา ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง มีสภาวะเครียด และครอบครัวยากจน จนเด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ขณะที่ร้อยละ 73 มีแนวโน้มหลุดจากระบบการศึกษา ต้องการได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านทุนการศึกษาและอุปกรณ์ทางการเรียน   ความร่วมมือครั้งนี้จะนำมาสู่ระบบคุ้มครองทางสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งมิติสุขภาพกาย จิตใจ สังคมและการป้องกันไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา ให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบางจากครัวเรือนยากจน ยากจนพิเศษ และกลุ่มด้อยโอกาส  โดยอาศัยความร่วมมือจากชุมชน และครูอาสาเพื่อสำรวจเด็กหลุดนอกระบบการศึกษาให้ได้รับวัคซีนไม่มีใครตกหล่น

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรากำลังสร้างพื้นที่เอื้อให้เด็กกลุ่มเปราะบางและคุณแม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ  ในเวลาปกติลำพังการเลี้ยงดูก็มีความยากลำบาก เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยการเจ็บป่วย ด้วยโรคที่ถูกสังคมมองว่าน่ากลัว ทุกหน่วยงานต้องทำลายข้อจำกัดร่วมกัน เด็ก ๆ จำนวนมากอาจตระหนกจนทำอะไรไม่ถูก ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องอยู่ในสภาพอารมณ์ที่เป็นต้นแบบ  ให้ตระหนักปัญหาโรคแต่อย่าตระหนก   จากประสบการณ์ให้การปรึกษา เด็ก ๆ ที่ศูนย์พักคอยพบว่า ผู้ป่วยเด็กมักมีความเครียด และกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ และการเรียนออนไลน์  

กรมสุขภาพจิตสนับสนุนการวางแผนช่วยเหลือ ปฐมพยาบาลทางจิตใจ รักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจให้แก่เด็กที่ได้รับผลกระทบรายบุคคล ผ่านการบูรณาการระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก (Child Protection and Information System : CPIS)  เพื่อสร้างกลไกการส่งต่อเด็กและครอบครัวเข้าสู่ระบบบริการทางสุขภาพจิตทั่วประเทศในรูปแบบ

1 บ้านพักเด็กและครอบครัว กับ 1 โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต

“ในวิกฤตโควิดเด็กมีความเสี่ยงทางจิตใจในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ความหวาดกลัวต่อการแยกจากครอบครัวหรือผู้ดูแล ความหวาดกลัวต่อการสูญเสียคนที่รัก การไม่ได้เล่นหรือพบเพื่อนๆ การไม่ได้ทำกิจกรรมยามว่าง เช่น สนามเด็กเล่น สนามกีฬา  หรือถูกกีดกัน ถูกรังเกียจจากเพื่อนหรือชุมชน  ดังนั้นการปฐมพยาบาลทางจิตใจให้แก่เด็ก ๆ จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยควรมีกิจกรรมเพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างเด็กให้คลายความเหงาและความกังวล 

และส่งเสริมพัฒนาการเด็กในด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปตามช่วงวัย แม้จะยังอยู่ในโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ  การรักษาแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation  จึงเป็นทางออก เพื่อลดการส่งผู้ป่วยเด็กเข้าโรงพยาบาล ไม่ให้จำนวนเตียงมีปัญหาสำหรับผู้ป่วยอาการหนักสีเหลือง สีแดง และยังช่วยให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้เด็กหายเร็วขึ้น โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เน้นดูแลผู้ป่วยเด็กสีเหลืองขึ้นไป  และยังเป็นโรงพยาบาลคู่ขนานให้กับศูนย์พักคอยแม่และเด็ก บ้านปันยิ้ม ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยเด็กจากศูนย์พักคอยฯเพียงแค่ 10% ที่มีอาการมากขึ้นจนต่อส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาล การทำงานรูปแบบบูรณาการเพื่อดูแลเด็กทุกมิติแบบนี้ ไม่ควรหยุดเพียงแค่ความร่วมมือสำหรับวิกฤตโรคโควิด-19  แต่ควรเป็นกลไกบูรณาการระบบช่วยเหลือสำหรับทุกโรคในเด็ก เพราะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ควรได้รับการดูแลอย่างเสมอภาค

นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย  กล่าวว่า  ในสถานการณ์ที่จำนวนเด็กติดเชื้อกำลังเพิ่มอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องมีมาตรการและกลไกปฏิบัติที่เหมาะสม  ยูนิเซฟพร้อมสนับสนุนด้านเทคนิควิธีการเพื่อให้กลไกต่างๆเป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติ สิ่งที่ดีที่สุดคือ การให้เด็กอยู่กับครอบครัวมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  ไม่ว่าในช่วงการกักตัว และการรักษา ต้องคำนึงว่าสำหรับเด็กที่ติดเชื้อหรือได้รับผลกระทบ การถูกแยกจากครอบครัว จะเป็นการซ้ำเติม ให้เด็กเกิดความเครียดความกังวล หวาดกลัว  อาจถูกละเลยทอดทิ้ง เผชิญความรุนแรง  อย่างไรก็ตาม

บางครอบครัวที่อยู่รวมกันในห้องเล็ก ๆ การมีศูนย์กักตัวในชุมชน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ได้รับการอบรม มีความพร้อมในการดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสมย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้นการจัดบริการที่ครอบคลุมหลากหลายเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลตามบริบทของพื้นที่  จะช่วยลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยแนวทางของศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็ก ”บ้านปันยิ้ม” จะเป็นตัวอย่างเพื่อให้พื้นที่อื่น ๆ นำไปขยายผลได้  

นางสาวศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง

นางสาวศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวว่า  ส่วนใหญ่พ่อแม่กังวลสูง เมื่อลูกติดเชื้อ ดังนั้น ศูนย์ฯจึงจัดให้มีหน่วยบริการเชิงรุกในชุมชน  และอบรมอาสาสมัครเยาวชนเป็น case manager  ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับคุณหมอ  สื่อสารความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับชุมชนเปลี่ยนพ่อแม่ให้เป็นหมอ สำหรับศูนย์พักคอยเพื่อแม่และเด็ก “บ้านปันยิ้ม” เราพยายามออกแบบระบบที่เป็นมิตรกับเด็ก โดยเป้าหมายคือการเป็นพื้นที่รองรับเด็กกลุ่มเปราะบาง มีบรรยากาศผ่อนคลาย มีห้องสมุดที่มีหนังสือนิทาน การ์ตูน มีของเล่น มีกิจกรรมเล่นเกมส์ ออกกำลังกาย เป็นพื้นที่ที่เด็ก ๆ จะได้รู้จักและดูแลกัน เหมือนมาเข้าค่ายรู้จักเพื่อนใหม่ ได้รับการดูแลอย่างอบอุ่น และเมื่อถึงวันที่กลับออกไป สิ่งที่เขาจะนำติดตัวไปด้วยก็จะเป็นความทรงจำที่ดีและประสบการณ์ประทับใจ 

นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะ
และรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai

นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai กล่าวถึงความร่วมมือของภาคเอกชนในครั้งนี้ที่จะเข้ามามีบทบาทในฐานะธุรกิจผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งสามารถนำจุดแข็งที่มีผู้ให้บริการไรเดอร์กระจายอยู่ในทุกพื้นที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานด่านหน้า ที่แต่เดิมมีปัญหาในการกระจายยาไปยังผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือกักตัวในศูนย์โควิดชุมชนระดับอำเภอ (Community Isolation ) โดยสนับสนุนในการส่งยา ส่งอาหาร และส่งเครื่องมือการแพทย์ไปยังผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยเติบเต็มการดำเนินงานของโครงการอย่างไร้รอยต่อ

สำหรับ “ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19”  ประชาชนสามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวง พม. Line Official “savekidscovid19” แอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก และบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัด ตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทรศัพท์ 065 506 9574 และ 065 506 9352 ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น.