กสศ. – ยูเนสโก – ยูนิเซฟ ระดมพันธมิตร เร่งหาทางออก ลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้ให้นักเรียน

กสศ. – ยูเนสโก – ยูนิเซฟ ระดมพันธมิตร เร่งหาทางออก ลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้ให้นักเรียน

พิษโควิด-19 ส่งผลกระทบการศึกษา กสศ. – ยูเนสโก – ยูนิเซฟ ระดมพันธมิตร จัดประชุมเร่งหาทางออก ลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้ให้นักเรียน พร้อมจับมือผู้นำการศึกษา 11 ประเทศ ผลักดันแนวทางสนับสนุนศักยภาพครู กรุงเทพฯ (19 ตุลาคม 2564)

ในวันที่สถานศึกษาหลายแห่งต้องปิดตัวลง การจัดการศึกษาทางไกลในยุคโควิด-19 อาจทำให้เด็กนักเรียนกว่าหลายล้านคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ผลจากการสำรวจจากธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 สร้างผลกระทบให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ โดยการปิดสถานศึกษาส่งผลให้เด็กกว่า 369 ล้านคน จากจำนวนประชากรเด็ก 375 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีเด็กที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 50 ล้านคน

กสศ.เดินหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรทางการศึกษา ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization – SEAMEO) และ Save the Children เปิดเวทีระดมมุมมองและความคิดเห็นในระดับภูมิภาคในงาน “การประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษา กสศ.

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “จากการติดตามผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาการศึกษาที่น่ากังวลที่สุดคือภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ โดยหากขาดการเรียนการสอนไปนานขึ้น ทักษะที่หายไปจะเป็นทักษะด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา และที่สำคัญคือทักษะการอยู่ร่วมในสังคม และผู้ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาของเด็กรองจากพ่อแม่คือคุณครู ครูหนึ่งคนอาจสอนเด็กได้นับหมื่นคน ดังนั้นครูคือบุคคลที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ในปัจจุบันเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น บทบาทของครูได้เปลี่ยนไป หากเด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ครูจะต้องเป็นผู้ที่เข้าหาเด็ก นำการเรียนรู้ไปให้ โดยในงานประชุมครั้งนี้ เราจะได้เห็นตัวอย่างที่น่าสนใจของแต่ละประเทศในการปรับตัวและพัฒนาการเรียนการสอนในยุคโควิด-19 ผ่านการพัฒนาครู”

จากข้อมูลชี้ชัดว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การศึกษาทางไกลทำให้ความรู้ของเด็กสูญหายไปราว 50% หรือเท่ากับเวลาประมาณครึ่งปี โดยในประเทศไทย มีเด็กไทยเพียงแค่ 57.8% ที่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และในบรรดาเด็กนักเรียนที่ยากจนที่สุด มีเพียง 57% เท่านั้นที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้1  ขณะเดียวกัน ในประเทศอินโดนีเซีย เด็กกว่า 34.5% ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนทางไกล และในช่วงที่สถานศึกษาปิดตัวลง หรือปรับไปเป็นรูปแบบออนไลน์ นักเรียนฟิลิปปินส์อย่างน้อย 1.1 ล้านคนไม่ได้ลงทะเบียนในปีการศึกษาล่าสุดที่ผ่านมา2 ดังนั้น โจทย์ข้อใหญ่ในการจัดงานประชุมครั้งนี้คือ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของ “ครู” เพื่อหาทางออกถึงการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาท่ามกลางความท้าทายในยุคโควิด-19 ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้ การประชุมจัดขึ้นในวันที่ 29-30 ตุลาคม 2564 โดยการประชุมวันที่ 29 ตุลาคม จะเริ่มด้วยพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีให้กับสุดยอดครูทั้ง 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา และทรงปาฐกถาพิเศษแก่ผู้เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง “การทรงงานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และการพัฒนาครูและสถานศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” 

สำหรับวันที่ 30 ตุลาคม จะเป็นเวทีระดมผู้นำทางนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ครูดีเด่นจากประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อสำคัญ อาทิ บทเรียนที่ได้จากการทำงานของประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในช่วง COVID-19 กรณีศึกษาและนวัตกรรมทางการศึกษา วิธีการรับมือกับความรู้ถดถอยของนักเรียน ระบบสนับสนุนครูเพื่อรับมือกับปัญหา กลยุทธ์การจัดการวิกฤตการเรียนการสอนระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ เช่น การเรียนการสอนในประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย พื้นที่สงคราม หรือพื้นที่วิกฤตที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน การสนับสนุนครูอย่างเป็นระบบผ่านสถาบันพัฒนาครูของประเทศสิงคโปร์ รวมถึงมุมมองจากประเทศสหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ และญี่ปุ่น เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social-emotional learning) ประเด็นการศึกษายุคใหม่ 

การประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”  จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญเพื่อหาทางออกต่อผลกระทบทางการศึกษา การฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย  พร้อมกำหนดแนวทางขับเคลื่อนนโยบายหนุนเสริมศักยภาพครูของทั้ง 11 ประเทศ ต่อไป โดยงานประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2564 โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุม ได้ที่ www.afe2021.eef.or.th


1รายงานจาก OECD ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
2Jessie S. Barrot, Ian I. Llenares, and Leo S. del Rosario, Students’ online learning challenges during the pandemic and how they cope with them: The case of the Philippines