ILO ห่วง การจ้างงานเยาวชนทั่วโลกฟื้นตัวช้า แนะลงทุนด้านการศึกษา
โดย : International Labour Organization (ILO)
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ILO ห่วง การจ้างงานเยาวชนทั่วโลกฟื้นตัวช้า แนะลงทุนด้านการศึกษา

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ International Labour Organization (ILO) เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับเทรนด์การจ้างงานเยาวชนในปี 2022 พบว่า วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของเยาวชนทั่วโลก ทำให้ตัวเลขเยาวชนตกงานในปีนี้ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 70 ล้านคน พร้อมแนะควรลงทุนด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสจ้างงานและตำแหน่งงาน

รายงานแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกสำหรับเยาวชนปี 2022: การลงทุนในการเปลี่ยนแปลงอนาคตสำหรับคนหนุ่มสาว (The Global Employment Trends for Youth 2022: Investing in transforming futures for young people) พบว่า กลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15 – 24 ปี เป็นแรงงานที่ได้รับความเสียหายที่สุดจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด – 19  โดยต้องประสบกับการสูญเสียการจ้างงานในเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าผู้ใหญ่เรื่อยมาตั้งแต่ต้นปี 2020 ซึ่ง ILO ประเมินว่า จำนวนเยาวชนที่ว่างงานทั่วโลกจะสูงถึง 73 ล้านคนในปี 2022 ลดลงเล็กน้อยจากปี 2021 ที่ 75 ล้านคน แต่ยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2019 ถึง 6 ล้านคน

นอกจากนี้ สัดส่วนของเยาวชนที่ว่างงานและไร้การศึกษา หรือ NEET ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการประมาณการทั่วโลก ได้เพิ่มขึ้นเป็น 23.3% หรือขยับขึ้นมาอีก 1.5% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี จึงเป็นที่น่ากังวลว่า วัยหนุ่มสาวทั่วโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นพิเศษและมีโอกาสที่จะพบสถานการณ์ของตลาดแรงงานแย่ลงในระยะยาว  

รายงานยังระบุอีกว่า แรงงานหญิงจะอยู่ในสถานะที่แย่กว่าแรงงานชาย โดยมีอัตราส่วนการจ้างงานต่อประชากร (EPR) ที่ต่ำกว่ามาก ในปี 2022 คาดว่าจะมีเพียง 27.4% ของผู้หญิงทั่วโลกเท่านั้นมีงานทำ เทียบกับแรงงานชายที่คาดว่าจะมีงานทำที่ 40.3% หรือสามารถกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นได้ว่า ผู้ชายมีโอกาสได้รับการจ้างงานมากกว่าผู้หญิงเกือบ 1.5 เท่า ซึ่งสะท้อนว่าตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์การกีดกันทางเพศดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น โดยการกีดกันทางเพศจะมีสัดส่วนสูงในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำที่ 17.3% แต่จะต่ำที่สุดในประเทศที่มีรายได้สูงที่ 2.3%

ขณะเดียวกัน รายงานระบุว่า การฟื้นตัวของการว่างงานของเยาวชนจะมีความแตกต่างกัน ระหว่างประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางกับประเทศที่มีรายได้สูง โดยมีเพียงกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงเท่านั้นที่คาดว่าจะบรรลุสามารถฟื้นตัวกลับมาแตะในระดับอัตราการว่างงานของเยาวชนใกล้เคียงกับปี 2019 ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ในกลุ่มอื่น ๆ คาดว่าอัตราการว่างงานจะสูงกว่าค่าก่อนเกิดวิกฤตมากกว่า 1%  โดยภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวคาดว่าจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 1.5% ในปีนี้ ซึ่งปัจจัยจากสงครามในยูเครนอาจมีผลทำให้อัตราการว่างงานมีแนวสูงขึ้นอีก

ขณะที่ อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกคาดว่าจะสูงถึง 14.9% ในปีนี้ ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยทั่วโลก ส่วนในประเทศแถบละตินอเมริกา อัตราการว่างงานของเยาวชนยิ่งเป็นที่น่าวิตกกว่า โดยคาดการณ์ไว้ที่ 20.5%

ที่ผ่านมา อัตราการว่างงานของผู้หญิงสูงกว่าของผู้ชาย วิกฤตโควิดยิ่งทำให้แนวโน้มดังกล่าวรุนแรงขึ้น แต่ทิศทางดังกล่าวมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งอัตราการว่างงานของเยาวชนคาดว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 8.3%

ด้านภูมิภาคแอฟริกา อัตราการว่างงานของเยาวชนที่อยู่ในระดับ 12.7% สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า คนหนุ่มสาวในแอฟริกามากกว่า 1 ใน 5 ไม่มีงานทำและไร้การศึกษา ซึ่งแนวโน้มยังแย่ลงเรื่อย ๆ

สำหรับกลุ่มประเทศอาหรับและตะวันออกกลาง พบว่า มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับคนหนุ่มสาวทั่วโลก โดยปีนี้จะมีอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่  24.8% ซึ่งสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นสำหรับหญิงสาวในภูมิภาคนี้ โดยจะมีอัตราการว่างงานถึง 42.5% ในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกสำหรับแรงงานหญิงสาวที่14.5%

อย่างไรก็ตาม โอกาสการจ้างงานคนหนุ่มสาวมีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคตเนื่องจากการขยายตัวในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว ที่มุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน 

รายงานระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวจะ สามารถสร้างงานเพิ่มเติมได้ถึง 8.4 ล้านตำแหน่งสำหรับคนหนุ่มสาวภายในปี 2030 ผ่านการดำเนินการตามมาตรการนโยบายของภาครัฐ

“สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการมากที่สุดคือตลาดแรงงาน และโอกาสทางการศึกษาหรือการฝึกอบรมที่มีคุณภาพสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ตลาด” Martha Newton รองอธิบดีฝ่ายนโยบายของ ILO ระบุ

ขณะเดียวกัน ILO ยังระบุว่า การลงทุนในด้านสุขภาพและการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน ซึ่งจำเป็นต้องลงทุนใน 4 ประการสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มโอกาสในการจ้างงานของคนหนุ่มสาว การช่วยให้เยาวชนหญิงและชายต้องดูแลครอบครัวสามารถได้รับการจ้างงานต่อไปได้ การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนหนุ่มสาวโดยขยายโอกาสทางการศึกษาและการฝึกอบรม และการจัดสวัสดิการเพื่อดูแลสุขภาพของคนหนุ่มสาว ซึ่งทั้งหมดจะช่วยลดอัตรา NEET ของเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

รายงานคาดการณ์ว่าการลงทุนในภาคการศึกษาและสุขภาพจะสร้างงานให้กับคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น 17.9 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030 ในภาคการดูแลบริการอีก 14.4 ล้านตำแหน่ง และในภาคอื่น ๆ อีก 3.4 ล้านตำแหน่ง

นอกจากนี้ ILO สรุปว่า การลงทุนในภาคการศึกษาและสุขภาพต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมสภาพการทำงานที่เหมาะสมสำหรับคนทำงานอายุน้อยทุกคน ซึ่งรวมถึงการทำให้มั่นใจว่าพวกเขามีสิทธิและการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน รวมทั้งเสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการเจรจาร่วมกัน ได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีมูลค่าเท่ากัน และสิทธิจากการป้องกันความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน

ที่มา : Recovery in youth employment is still lagging, says ILO