‘Q-Info’ ดิจิตอลแพลทฟอร์มลดความเหลื่อมล้ำ ลดภาระงานให้คุณครูทั้งโรงเรียน ลดความเสี่ยงของนักเรียนทุกมิติเป็นรายคน กสศ. นำร่อง ใน 70 โรงเรียน ตชด. ทั่วประเทศ

‘Q-Info’ ดิจิตอลแพลทฟอร์มลดความเหลื่อมล้ำ ลดภาระงานให้คุณครูทั้งโรงเรียน ลดความเสี่ยงของนักเรียนทุกมิติเป็นรายคน กสศ. นำร่อง ใน 70 โรงเรียน ตชด. ทั่วประเทศ

งานเอกสารที่ซับซ้อนด้วยข้อมูลมหาศาล ทั้งยังเพิ่มจำนวนขึ้นตามวันเดือนปีที่ผ่านไป ถือเป็นภาระหน้าที่ที่เข้ามาเบียดบังเวลาของครูจากการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน หรือจากความใกล้ชิดเอาใจใส่เด็ก ๆ ให้ทั่วถึง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จึงร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา ‘Q-Info’ ขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคล ครอบคลุมทุกมิติทั้งการเรียน สุขภาพกายใจ ครอบครัว รวมถึงอัตราการมาเรียน ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถติดตามและสังเกตปัญหาความเสี่ยงของเด็ก และออกแบบวิธีการดูแลช่วยเหลือได้ทันท่วงที เป็นการส่งเสริมนโยบาย ‘คืนครูให้นักเรียน’ ด้วยการลดภาระงานเอกสารและจำนวนเวลาในการจัดระเบียบข้อมูลต่าง ๆ จนเหลือเพียงไม่กี่ขั้นตอนในการเข้าถึงและใช้งาน

และหลังจากที่พัฒนาและทดลองใช้มาแล้วเกือบทศวรรษ วันนี้ นวัตกรรม Q-Info ได้เตรียมนำมาใช้ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 72 แห่ง โดย กสศ. ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จัดอบรมการใช้งานให้กับครู ร.ร. ตชด. ต้นแบบ เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สุงสุดกับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล

พร้อมกันนี้ บริษัท KPMG ประเทศไทย ในฐานะพันธมิตรของ กสศ. ในภารกิจงานด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ร่วมบริจาคคอมพิวเตอร์ 100 เครื่อง ให้กับโรงเรียน ตชด. ต้นแบบ 72 แห่ง และขอเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของ กสศ. และ ตชด. ที่จะผลักดันให้โรงเรียน ตชด. ทั้ง 220 แห่งทั่วประเทศ สามารถใช้งานระบบ Q-Info ได้ครบทุกแห่ง ภายในปีการศึกษา 2566 นี้

รวมข้อมูลทุกมิติ ใช้กำหนดแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และช่วยเหลือเด็กได้อย่างเป็นองค์รวม

“เมื่อจิตวิญญาณของความเป็นครูได้รับความช่วยเหลือจากนวัตกรรมที่ทันสมัย เราเชื่อว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียนและพื้นที่ห่างไกลได้ไม่สิ้นสุด เพราะเป้าหมายสำคัญที่สุดคือเราต้องการให้ครูมีเวลาเหลือมากขึ้น และผู้กำหนดนโยบายการศึกษาจะต้องรู้ว่าจะช่วยสนับสนุนครูให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพได้อย่างไร”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ถึงแม้งานข้อมูลจะมีความสำคัญ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของครู หากมีการออกแบบระบบจัดเก็บข้อมูลที่นำมาใช้เสริมหนุนการทำงานได้ ‘ง่าย สะดวก และรวดเร็ว’

Q-Info เป็นระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นผ่านกระบวนการวิจัย หวังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน รองรับข้อมูลความรู้ใหม่ในทุกวัน อีกทั้งระบบสามารถปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ผ่านผู้ใช้งาน ทั้งจากแอดมิน รวมถึงข้อมูลแวดล้อมที่ได้จากการลงพื้นที่ ทำให้ข้อมูลมีความสดใหม่ทันเหตุการณ์

ระบบที่สร้างขึ้นจะรวบรวมมิติต่าง ๆ รอบตัวเด็กซึ่งเป็นศูนย์กลางของการทำงาน มีบันทึกผลการเรียน การเข้าเรียน สุขภาพกาย สุขภาพใจ สถานะเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมา การทำงานบนกระดาษทำให้ข้อมูลของเด็กคนหนึ่งถูกเก็บแยกเป็นแฟ้ม มีปริมาณมากตามจำนวนของเด็ก และยิ่งเวลาผ่านไปปีหนึ่ง ๆ ข้อมูลก็ยิ่งเพิ่มขึ้น กลายเป็นภาระมหาศาลที่ครูต้องจัดการ แต่ Q-Info เป็นดิจิทัลแพลทฟอร์มที่รวมข้อมูลทุกด้านไว้ด้วยกัน สามารถนำมาช่วยกำหนดแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาหรือการช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งได้อย่างเป็นองค์รวม (Whole School Approach)

“ข้อมูลระบุว่าปีการศึกษา 2564 มีโรงเรียนที่ใช้ Q-Info รวม 664 โรงเรียน ล่วงมาถึงปีการศึกษา 2565 มีโรงเรียนนำไปใช้เพิ่มขึ้นกว่า 8,000 โรงเรียน สำหรับโรงเรียน ตชด. ซึ่งมีทั้งหมด 220 โรงเรียน ถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มาก ซึ่งวันนี้เราเริ่มต้นแล้วใน 70 โรงเรียนแรก จึงเชื่อว่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จะบรรลุเป้าหมายในฐานะสังกัดการศึกษาแรก ที่สามารถเชื่อมโยงโรงเรียนทั้งหมดเข้าสู่ระบบได้ในปีการศึกษาหน้า”

ข้อบ่งชี้มิติความเสมอภาค ช่วยจัดสรรงบประมาณได้ตรงจุด

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษากล่าวว่า Q-Info สามารถเป็นฐานข้อมูลที่ใช้เฝ้าระวังเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ด้วยออกแบบให้ข้อมูลแสดงมิติปัญหาของเด็ก ครูจึงเฝ้าระวัง ติดตาม และออกแบบความช่วยเหลือเด็กได้ทันเวลา จากปัจจัยเสี่ยงที่บันทึกตั้งแต่ต้นเทอม โดยระบบจะประมวลผลและเตือนความเสี่ยงของเด็ก ตั้งแต่ระดับสีเหลืองคือน่าเป็นห่วง จนถึงสีแดงคือต้องได้รับความช่วยเหลือด่วนที่สุด และข้อมูลเหล่านี้เองจะทำให้ผู้บริหารสามารถออกแบบการทำงาน กำหนดและปรับเปลี่ยนนโยบายรับมือเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ข้อมูลรายบุคคล (Student Profile) ยังแสดงให้เห็นทักษะเฉพาะทางของเด็ก ทั้งในแง่ความสมดุล จนถึงการวางแผนพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ โรงเรียนจึงสามารถจัดหาทุนการศึกษา พร้อมทั้งมองหาโรงเรียนปลายทางที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่กำลังจะจบการศึกษาในปีนั้น ๆ ได้ และในอนาคตเมื่อทุกโรงเรียนในประเทศไทยเชื่อมต่อกันผ่านระบบ Q-Info เด็กจะมี Learning Passport หรือระบบส่งต่อนักเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยให้เด็กย้ายจากโรงเรียนหนึ่งไปยังอีกโรงเรียนได้ โดยสามารถส่งต่อบันทึกข้อมูลความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดระบบดูแลระยะยาว 

สำหรับผู้บริหารและผู้ปกครองแล้ว Q-Info คือรายงานผลเกี่ยวกับตัวนักเรียน ที่เรียกดูได้ทันทีผ่านสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นเกรดเฉลี่ย วิชาที่ติดศูนย์ เด็กมีน้ำหนักส่วนสูงสมวัย หรืออัตราเข้าเรียนต่ำกว่า 80% หรือไม่ โดยดูได้ทั้งรายคน รายห้อง รายชั้น ดูทั้งโรงเรียน หรือของทุกโรงเรียนในสังกัด

ไม่เพียงเท่านั้น Q-Info ยังใช้ประโยชน์ในฐานะข้อบ่งชี้มิติความเสมอภาค หรือระดับคุณภาพการศึกษา ที่เฉพาะเจาะจงไปยังการทำงานของครู อาทิ วุฒิการศึกษาของครูผู้สอน อัตราส่วนของครูต่อนักเรียนในสถานศึกษา เปอร์เซ็นต์ของครูที่ต้องสอนไม่ตรงวิชา อันเป็นภาพสะท้อนปัญหาที่มีผลต่อการกำหนดอัตรากำลัง และการจัดสรรงบประมาณการศึกษาที่ตรงจุด

“วันนี้เราได้เห็นถึงสามองค์ประกอบสำคัญ คือ 1.ระบบ 2.เครื่องมือ และ 3.คือครูต้นแบบ 70 ท่าน ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไปสู่ความสำเร็จ เพราะอย่างไรก็ตาม แม้ระบบ Q-Info จะเข้ามาช่วยทุ่นแรงของครูได้แค่ไหน แต่หัวใจสำคัญที่จะทำให้ระบบพัฒนาไปได้ คือครูทุกคนที่จะร่วมกันปรับปรุงข้อมูลให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ

และอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้งานพัฒนาระบบเกิดขึ้นได้ คือความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีวิสัยทัศน์ ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานของครู ซึ่งก็คือคอมพิวเตอร์ 100 เครื่องแรกที่ KPMG ร่วมบริจาคในวันนี้ ผมเชื่อว่าจากนี้ไป ด้วยจิตวิญญาณของครู ผู้บริหารศึกษา หน่วยงานในพื้นที่ จนถึงกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กสศ. และภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุน เราจะร่วมกันทำงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นที่ตัวเด็ก เพราะทุกคนมองเห็นภาพร่วมกันแล้วว่า ความสำเร็จของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืนนั้นอยู่ไม่ไกล”