UNICEF เผย นักเรียนจากครอบครัวที่ ‘ยากจนที่สุด’ ได้รับประโยชน์จากเงินสนับสนุนการศึกษาของรัฐ ‘น้อยที่สุด’
โดย : UNICEF / กสศ. x 101
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

UNICEF เผย นักเรียนจากครอบครัวที่ ‘ยากจนที่สุด’ ได้รับประโยชน์จากเงินสนับสนุนการศึกษาของรัฐ ‘น้อยที่สุด’

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF เผยรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้ลงทุนมากพอกับเด็กที่ต้องการการศึกษามากที่สุด ก่อนออกโรงเรียกร้องให้มีการจัดหาเงินทุนอย่างเท่าเทียมกันเพื่อต่อสู้กับ “ความยากจนทางการเรียนรู้” หรือ “Learning Poverty” เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ คือเด็กจากครอบครัวที่ ‘ยากจนที่สุด’ กลับได้รับประโยชน์จากเงินสนับสนุนการศึกษาของรัฐ ‘น้อยที่สุด’

หลายคนอาจแปลกใจหรือไม่แปลกใจกับข้อค้นพบนี้ รายงานฉบับล่าสุดของ  กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ว่าด้วย การปฏิรูปการศึกษาด้วยการจัดหากองทุนเสมอภาค (Transforming Education with Equitable Financing) ที่ใช้ข้อมูลจากปี 2021 และ 2022 ที่ตรวจสอบข้อมูลด้านสถานะการศึกษาใน 102 ประเทศทั่วโลกพบว่า เด็กจากครอบครัวที่ยากจนที่สุดจะได้รับประโยชน์จากเงินสนับสนุนการศึกษาของรัฐน้อยที่สุด โดยปัจจุบัน ผู้เรียนที่ยากจนที่สุดร้อยละ 20 ได้รับประโยชน์จากเงินทุนสาธารณะเพื่อการศึกษาเพียงร้อยละ 16 ในขณะที่ผู้เรียนที่มีฐานะมั่งคั่งที่สุดได้รับประโยชน์ร้อยละ 28 

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงในกลุ่มประเทศรายได้น้อยหรือประเทศยากจน ซึ่ง UNICEF พบว่า ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ จะมีส่วนแบ่งประโยชน์จากเงินทุนสาธารณะเพื่อการศึกษาของคนยากจนอยู่เพียงร้อยละ 11 ในขณะที่คนที่มีฐานะมั่งคั่งที่สุดได้รับประโยชน์ถึงร้อยละ 42 

การประชุมการปฏิรูปการศึกษาด้วยการจัดหาเงินทุนเสมอภาค (Transforming Education Summit) เรียกร้องให้รัฐบาลและชุมชมการศึกษาระดับโลกขับเคลื่อนให้มีการปฏิรูประบบการศึกษา เพิ่มมิติด้านความเสมอภาคในด้านงบประมาณที่จัดสรรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) 4 ด้านการศึกษาคุณภาพสำหรับทุกคน รวมถึงตรวจสอบเรื่องความยุติธรรมในแง่ของการให้ทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 

ปัจจัยด้านทรัพยากรเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขให้เด็กที่ยากจนและชายขอบที่สุดคืออะไร

ข้อท้าทายเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในแง่ของการค้นพบเพิ่มเติมว่า วิกฤตการศึกษาระดับโลกหน้าตาเป็นแบบไหน

เรากำลังทำให้เด็กๆ ล้มเหลว

แคทเธอรีน รัสเซล (Catherine Russell) ผู้อำนวยการบริหาร UNICEF กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำให้เด็กๆ ล้มเหลว เนื่องจากระบบการศึกษาทั่วโลกส่วนมาก กำลังลงทุนกับเด็กที่ต้องการการศึกษามากที่สุดอย่างน้อยที่สุด

“การลงทุนเพื่อการศึกษาของเด็กที่ยากจนที่สุดเป็นวิธีที่คุ้มค่าที่สุดในการสร้างอนาคตให้กับเด็ก ชุมชน และประเทศ ความก้าวหน้าที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราลงทุนกับเด็กทุกคน ในทุกพื้นที่” ผู้อำนวยการบริหาร UNICEF เน้นย้ำ 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของ UNICEF ยังพบอีกว่า การจัดสรรทรัพยากรการศึกษาของรัฐที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 ให้กับกลุ่มผู้เรียนที่ยากจนที่สุด อาจช่วยเด็กวัยประถมศึกษาจำนวน 35 ล้านคนให้ออกจากสิ่งที่ UNICEF นิยามว่า “ความยากจนในการเรียนรู้” หรือ “Learning Poverty” ได้ แต่ติดตรงที่ว่า การใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐบาลทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงผู้เรียนจากครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยทั้งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

ความยากจนทางการเรียนรู้คืออะไร

จากบทความ “เพราะที่สุดแห่งความขัดสน คือความยากจนทางการเรียนรู้” ของ กสศ. ระบุไว้ว่า 

“ความยากจนทางการเรียนรู้ไม่ได้หมายถึงเพียงการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา ธนาคารโลกระบุว่าความยากจนทางการเรียนรู้หมายถึงภาวะที่เยาวชนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ หรืออ่านออกเขียนได้น้อยมากเมื่อมีอายุครบ 10 ปี ซึ่งเป็นทั้งผลลัพธ์และจุดเริ่มต้นของความยากไร้อื่น ๆ การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในวัยเท่านั้นหมายถึงการเติบโตในครอบครัวที่ขาดรายได้จนไม่อาจส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ หมายถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยรัฐ และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ถ่างกว้างเสียจนคนกลุ่มหนึ่งไม่อาจพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ตลอดหลายชั่วอายุคน หมายถึงนโยบายด้านการศึกษาที่ล้มเหลว ตลอดจนการขาดกลไกของรัฐที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที”

หนึ่งในปัจจัยสำคัญ นั่นคือการบริหารจัดการทรัพยากรโดยรัฐ เป็นปัจจัยที่ทำให้ UNICEF สรุปข้อเสนอแนะสำคัญไว้ 4 ประการด้วยกันคือ 

1) การปลดล็อคการจัดหาเงินทุนสาธารณะเพื่อการศึกษา 
2) จัดลำดับความสำคัญของการระดมทุนสาธารณะเพื่อการเรียนรู้พื้นฐาน 
3) ติดตามและประกันการจัดสรรความช่วยเหลือด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันในบริบทของการพัฒนาและมนุษยธรรม 
4) การลงทุนในวิธีการใหม่ ๆ เพื่อมอบการศึกษา

UNICEF ยังชี้ว่า เราจะเห็นช่องว่างด้านการใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐบาลได้เด่นชัดที่สุดในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่า เด็กจากครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดได้รับประโยชน์จากเงินสนับสนุนการศึกษาของรัฐมากกว่า 6 เท่าเมื่อเทียบกับผู้เรียนที่ยากจนที่สุด

ส่วนในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เช่น สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (Cote d’Ivoire) หรือประเทศเซเนกัล (Senegal) ผู้เรียนที่ร่ำรวยที่สุดจะได้รับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐมากกว่าผู้ที่ยากจนที่สุดประมาณ 4 เท่า

ในขณะเดียวกัน ช่องว่างการใช้จ่ายจะแคบลงในประเทศที่มีรายได้สูง หรือมีความแตกต่างระหว่างเด็กยากจนกับเด็กร่ำรวยที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนสนับสนุนของภาครัฐอยู่มากที่สุดไม่เกิน 1.6 เท่าขึ้นไประหว่างทั้งสองกลุ่ม โดยประเทศอย่างฝรั่งเศส ก็ถือว่าเป็นประเทศรายได้สูงที่่ช่องว่างของความเท่าเทียมแคบที่สุด แต่อุรุกวัยรั้งอยู่ในอันดับท้ายสุด เพราะเป็นประเทศที่มีช่องว่างดังกล่าวสูงที่สุด 

รายงานของ UNICEF ระบุว่า เด็กยากจนมีโอกาสน้อยที่จะได้เข้าโรงเรียน และมีแนวโน้มที่จะออกกลางคันเร็วขึ้น อีกทั้งยังเป็นเด็กกลุ่มจ้อยที่จะได้เข้าถึงระดับการศึกษาที่สูงขึ้น แต่การศึกษาระดับสูงนี้ได้รับการจัดสรรเงินทุนด้านการศึกษาต่อหัวของประชาชนที่สูงกว่ามาก ในแง่ของพื้นที่ เด็กยากจนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มักไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง 

จริงอยู่ที่ว่าประชาคมโลกกำหนดเป้าหมายในปี 2015 ว่าจะขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปภายในปี 2030 แต่กำหนดได้ไม่ทันไร ธนาคารโลก (World Bank) ก็ระบุข้อเท็จจริงอันโหดร้ายตามมาด้วยว่า จากข้อมูลอัตราการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนทางการเรียนรู้ที่เป็นบ่อเกิดของความยากจนอื่น ๆ ทำให้ประเมินได้ว่า เป้าหมายการขจัดความยากจนให้หมดไปภายในปี 2030 อยู่ไกลเกินความจริง

ระบบการศึกษาทั่วโลกตั้งแต่ก่อนวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็มักจะล้มเหลวในการให้เด็กส่วนใหญ่เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นอยู่แล้ว นักเรียนหลายร้อยล้านคนเข้าเรียน แต่ไม่เข้าใจทักษะการอ่านและคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งจากการประมาณการล่าสุดของ UNICEF พบว่า 2 ใน 3 ของเด็กอายุ 10 ขวบทั่วโลกไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจเรื่องราวง่าย ๆ ได้ 

UNICEF จึงออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกมีการจัดสรรเงินทุนที่ยุติธรรมมากขึ้น และดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้เรียนทุกคนจะเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา

ที่มา :
Poorest learners benefit the least from public education: UNICEF
Transforming Education with Equitable Financing (Findings using 2010-2022 data)
เพราะที่สุดแห่งความขัดสน คือความยากจนทางการเรียนรู้