ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ รับรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ ในฐานะครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์

ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ รับรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ ในฐานะครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีครั้งที่ 4 ปี 2564 

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา 

โดยรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการจาก 11 ประเทศ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับประเทศไทย ผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ คือ ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูอาชีวศึกษาผู้สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ระดับ ปวช. วิทยาลัยเทคนิคพังงา จังหวัดพังงา มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเขียนแผนธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาธุรกิจของผู้เรียนอาชีวศึกษา ได้รับรางวัลระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ “บางพัฒน์โฮมสเตย์” ที่ดำเนินการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

กว่า 31 ปี บนเส้นทางวิชาชีพ 

ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ได้ทุ่มเทอุทิศตนทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างโอกาส​แก่ลูกศิษย์ลูกหามากมายหลายรุ่น  ที่สำคัญยังได้มีส่วนร่วมบุกเบิก “การเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ด้วยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์” สร้างเด็กสายอาชีพให้กลายเป็นนวัตกร สามารถปรับภาพลักษณ์และยกระดับการเรียนในสายอาชีวศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในสังคม

ไม่เพียงแค่งานปกติในฐานะครูผู้สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ระดับ ปวช.วิทยาลัยเทคนิคพังงา แต่ในฐานะหัวหน้าโครงการดูแลทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ครูประทินยังเอาใจใส่ดูแลชีวิตของลูกศิษย์เป็นอย่างดี

ทั้งลงพื้นที่ ออกติดตามค้นหาเด็กที่ขาดโอกาส ให้ได้กลับมาเรียนต่อเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างต่อเนื่อง

โครงงานฐานวิทย์ฯ สร้างนวัตกร เติมเต็มทั้ง “ความรู้-ภาคปฏิบัติ” เพื่อยกระดับอาชีวศึกษา

“เป้าหมายในชีวิตตั้งแต่เด็กคิดอย่างเดียวคืออยากเป็นครู…”ครูประทินเริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวความฝัน

“มีน้องๆ เคยถามว่าไม่คิดจะไปสอบเป็นผู้บริหารหรือเราก็บอกว่าไม่คิดเพราะรักอาชีพครู”

หลักการทำงานของครูประทินคือการทำงานด้วยใจ ไม่ใช่ทำงานเพราะหน้าที่ งานที่ออกมาจะเกิดความสำเร็จ รู้สึกดีใจเวลาที่ลูกศิษย์ได้ดี เวลาเขากลับมาเขาก็จะขอบคุณเราตลอดว่าครูคือแม่คนที่สอง ผู้ที่ให้โอกาส สิ่งเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจในความเป็นครู

กว่าจะทำให้คำว่า “อาชีวศึกษา”​ กลายเป็นที่ยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนหน้านี้พ่อแม่ไม่ค่อยอยากให้ลูกมาเรียนอาชีวะ เพราะถูกมองว่าเป็นเด็กเรียนไม่เก่งเด็กเกเร เด็กไม่มีที่ไป แต่พอทางวิทยาลัยเริ่มทำโครงการ “โรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์” บูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เข้ากับอาชีวศึกษาเพื่อบ่มเพาะนักศึกษาให้เป็นนวัตกร ความคิดของพ่อแม่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป

แม้จะต้องเรียนหนักขึ้นกว่าปกติแต่พอจบการศึกษา ทุกคนก็จะบอกว่าโชคดีที่ได้เรียนที่นี่ หลายคนไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยมีงานทำมีอนาคตที่ดี จนปัจจุบันมีผู้ปกครองจำนวนมากอยากให้ลูกหลานมาเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคพังงา 

จุดเด่นของการเรียนฐานวิทย์ฯ คือการเรียนรู้ที่ไม่ได้อยู่แค่ในตำราแต่เป็นการเรียนรู้แบบโครงงานฐานวิทยาศาสตร์และการทำแผนธุรกิจ เพื่อให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่

ได้ฝึกคิด ฝึกสังเกต ฝึกวิเคราะห์ ผ่านการแก้ปัญหาจากโจทย์ที่ได้รับ กลายเป็นพื้นฐานให้เรียนรู้การคิดค้น ออกแบบ สร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ๆ จากสิ่งรอบตัวและหลายคนก็ทำออกมาได้ดี เช่น เทียนหอมจากเปลือกส้มโอ ขนุนอ่อนอบน้ำผึ้ง เป็นต้น

ส่งต่อแรงบันดาลใจ ดึงลูกศิษย์ฐานวิทย์ฯ กลับมาเป็นครู

เพื่อให้กลายเป็นนวัตกร สามารถออกไปประกอบอาชีพเป็นพนักงานที่มีคุณภาพหรือสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้นักศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคพังงาจะต้องเรียน 6 วัน จันทร์-เสาร์ เลิกเรียนสองทุ่ม ทำกิจกรรมต่อจนถึงสามทุ่ม ครูจะอยู่กับเด็กตลอด และมีครูหอพักคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีอาจารย์มหาวิทยาลัยมาสอนเสริม ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพกาย และการเรียนภาษาต่างประเทศ เช่นภาษาอังกฤษ​ ภาษาจีน

“ครูที่นี่ไม่ใช่สอนเสร็จแล้วกลับบ้าน เราบอกครูตลอดว่าอย่าคิดว่าเราทำงาน ให้คิดว่าเรามาทำบุญ ทั้งการค้นหาเด็ก ช่วยเหลือเด็กให้มีโอกาสเรียนหนังสือจบไปประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ครูจะทำงานกันตั้งแต่เช้าถึงค่ำ เสาร์อาทิตย์ก็ต้องไปหาวันหยุดกันเอง เราอยู่ดูแลกันเหมือนเป็นบ้าน เป็นครอบครัวใหญ่ เป็นเหมือนพ่อแม่ พี่น้อง ครูที่อยู่ตรงนี้ก็ต้องเข้าใจ บางคนย้ายมาบรรจุแค่สองปีก็ขอย้ายออก เราเลยพยายามดึงครูที่เป็นลูกศิษย์โครงงานฐานวิทย์ฯกลับมาเป็นครู ตอนนี้มีอยู่ 5 คนที่กลับมาเป็นครูที่วิทยาลัย”

เพราะความเป็นศิษย์เก่า ประสบการณ์ในอดีตเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาจึงกลายเป็นฐานชั้นดีเมื่อต้องมารับหน้าที่ครู        

“ลูกศิษย์ที่เคยเรียนที่นี่เขาจะเข้าใจ และนำบทเรียนที่ได้รับถ่ายทอดไปสู่น้อง เป็นเรื่องน่าภูมิใจเมื่อได้เห็นลูกศิษย์กลับมาเป็นครู ทำสิ่งที่เหมือนเราทำ แต่ละคนก็เป็นคนเก่ง เป็นเด็กยุคใหม่ ให้ทำงานอะไรก็วางแผนเสร็จสรรพ เราแทบไม่ต้องไปสอนอะไรเขาอีก ในขณะที่ครูบางคนซึ่งไม่ได้จบจากฐานวิทย์ฯ ก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นครูที่มาจากฐานวิทย์ฯ เขาก็จะเข้าใจเพราะเคยทำมาแล้ว”

หนุนรัฐบาลสร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสดึงผู้ประกอบการร่วมสนับสนุนการศึกษา

ครูประทินมองว่า อยากให้รัฐบาลมีแนวคิดสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสอย่างที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ให้โอกาสเด็ก โดยไม่ใช่แค่การให้ทุนเท่านั้นแต่ต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ทุนวิทยาลัยไปบริหารจัดการ  เพื่อดูแลเด็กให้มีคุณภาพ มีจิตสำนึกสาธารณะ และตอบแทนคืนสู่สังคม

“สำหรับเด็กบางคนที่ได้ทุนของ กสศ. ถ้าเขาไม่ได้ทุนตรงนี้ ก็ไม่สามารถแม้แต่จะไปสมัครเรียนเพื่อที่จะได้กู้เงินมาเรียน ดังนั้นรัฐบาลควรจะส่งเสริมกสศ. เพื่อทำให้สถานศึกษามีความพร้อมรับเด็กยากจนด้อยโอกาส รวมทั้งอยากให้รัฐบาลคุยกับสถานประกอบการให้เข้ามามีส่วนสนับสนุนการผลิตบุคลากร เพราะบางครั้งแม้แต่จะส่งเด็กไปฝึกงานเขาก็ยังไม่รับ ดังนั้นควรจะมีวิธีให้ผู้ประกอบการเข้ามาสนับสนุน ไม่ใช่เพียงแค่รอรับเด็กที่จะจบไปอย่างเดียว” ครูประทินกล่าว

ในพื้นที่ยังมีเด็กเก่งแต่ขาดโอกาส ถ้าไม่มี กสศ. จะมีเด็กอีกมากไม่ได้เรียน

“การสร้างโอกาสให้กับเด็ก” คือสิ่งที่ครูประทินให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้มาทำงานร่วมกับกสศ.ครูประทิน​ต้องลงไปค้นหาเด็กยากจนด้อยโอกาสที่มีผลการเรียนดีให้ได้มารับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

ระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ได้สร้างโอกาสให้แก่เด็กไม่น้อย โดยปีแรกมีเด็กได้ทุน 57 คน ปีที่สอง 59 คน ปีที่สาม 75 คน จากทั้งจังหวัดพังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ชุมพร และภูเก็ต

สำหรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของทางวิทยาลัยแบ่งออกเป็นสองระดับ คือ ปวช. ต่อเนื่อง ปวส. 5 ปี และ ปวส.เปิดสอนในสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยทางวิทยาลัยจะประสานงานไปยังสถานประกอบการให้ยินดีรับนักศึกษาไปทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา ซึ่งอาจจะต้องรอในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ทางวิทยาลัยเทคนิคพังงาได้เน้นสอนหลักสูตรมัลติสกิล จบไปแล้วสามารถทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องใกล้เคียงกันกับสาขาที่เรียนได้ด้วย นอกจากนี้ ในปีหน้าทางวิทยาลัยเทคนิคพังงาจะเปิดสาขาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ร่วมกับสถานประกอบการและกรมอนามัย ที่จะสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับนักศึกษามากขึ้น  ​

“ประเทศเรายังมีเด็กเก่งที่อยากเรียนแต่ขาดโอกาสอีกเยอะ ตอนลงพื้นที่ไปคุยกับพ่อแม่เด็กเราคุยไปร้องไห้ไปแต่เราก็ปลื้มใจ ผู้ปกครองบอกว่าถ้าเราไม่พาลูกเขาไปเรียน ลูกเขาก็จะไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องทำงานช่วยที่บ้านหาเงิน บางคนแม่เป็นมะเร็งแต่ยังต้องดูและปู่ย่าตายาย บางบ้านที่ไปเป็นแค่เพิงพัก บางคนไม่มีบ้านเลย ต้องอาศัยอยู่ยุ้งข้าว ตัวเป็นผื่นคัน บางคนแม่ไปทำงานหาเงิน ชาวบ้านแถวนั้นก็ต้องช่วยหาข้าวให้ พอเขาได้ทุนเขาก็รู้จักออมเงินส่งเงินมาให้น้องได้เรียนหนังสือด้วย ตรงนี้ต้องขอบคุณ กสศ. ถ้าไม่มีโครงการนี้ เราก็จะมีเด็กอีกมากที่ไม่ได้เรียนหนังสือ”

เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกเมื่อได้รับ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ในปี 2564” ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต รวม 11 ประเทศ โดยทำการคัดเลือกในทุก 2 ปี คุณสมบัติที่สำคัญคือเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ เพื่อให้ลูกศิษย์เจริญก้าวหน้าสู่ความสำเร็จในชีวิต   

ครูประทินบอกว่า“รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในชีวิตของการเป็นครู รางวัลอันทรงคุณค่านี้ไม่ได้เกิดจากการทำงานของครูประทินแต่เพียงลำพัง แต่เป็นความร่วมมือของทีมงานและการสนับสนุนของผู้บริหารทุกระดับ ครูหวังว่ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจะเป็นรางวัลที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนครูทุกๆท่าน ที่กำลังมุ่งมั่นทำงานอย่างไม่ย่อท้อต่อไป”

แม้จะได้รับรางวัลนี้มาการันตีความเป็นครูที่น่ายกย่องแล้ว แต่ครูประทินก็จะยังคงทุ่มเทชีวิตเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาและมีอนาคตที่ดีเพื่อที่เขาจะได้กลับไปช่วยเหลือสังคม ครอบครัว และคนอื่นๆ ต่อไป…