ครูแห่งปี 174 ท่าน ‘ผู้เป็นคนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์’

ครูแห่งปี 174 ท่าน ‘ผู้เป็นคนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์’

ย่างเข้าสู่ปีที่ 8 กับการมอบรางวัล ‘สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’ ที่ปีนี้นับเป็นรุ่นที่ 4 โดยมีครูจากทั่วประเทศไทยจำนวน 174 ท่าน แบ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลครูสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 1 ท่าน ครูคุณากร 3 ท่าน ครูยิ่งคุณ 16 ท่าน และครูขวัญศิษย์ 156 ท่าน มาพบกันพร้อมหน้าในงานปฐมนิเทศออนไลน์

ถือเป็นวันแรกที่ตัวแทนของครูผู้เคยได้รับรางวัลทั้ง 3 รุ่น ได้มีโอกาสมาพบปะกับครูรางวัล ฯ รุ่นที่ 4 เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และทำความรู้จักกับสมาชิกใหม่ ที่จะเข้ามาร่วมสร้างเครือข่ายนำความรู้ความสามารถไปขยายผลเพื่อยกระดับการศึกษาในวงกว้างต่อไป ซึ่งไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนและติมอร์ เลสเต

เนื่องในโอกาสที่ทางมูลนิธิ ฯ และครูรางวัลรุ่นก่อน ๆ ได้มาพบปะกับครูแห่งปีทั้ง 174 ท่านในวันนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิจากมูลนิธิ ฯ และครูรางวัลรุ่นพี่ จึงมีความยินดีที่จะกล่าวต้อนรับ แสดงความยินดี และมาบอกเล่าประสบการณ์สู่สมาชิกใหม่ของครอบครัว PMCA (Princess Maha Chakri Award) ซึ่งจะต้องร่วมเดินทางด้วยกันอีกยาวไกล ในการทำงานเพื่อยกระกับการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นไป

‘ครู’ ผู้ช่วยยกระดับ ‘จิตวิญญาณ’ ของศิษย์ให้สูงขึ้น

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ ฯ

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวแสดงความยินดีกับวงการศึกษา ที่กำลังจะมีครูผู้ทรงคุณค่าที่จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์อีกรุ่นหนึ่ง พร้อมกันนี้ยังกล่าวย้ำถึงความสำคัญของ ‘ครู’ ว่า ภารกิจที่ครูทุกท่านจะเข้าร่วมงานกับมูลนิธิ ฯ โดยการสนับสนุนจาก กสศ. หลังจากนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาที่กระจายไปในพื้นที่เล็ก ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะขับเคลื่อนการศึกษาและเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายที่แข็งแรงไปทั่วประเทศ

“เราได้เห็นแล้วว่าครูรางวัล ฯ สามรุ่นที่ผ่านมา ได้นำความรู้และประสบการณ์เฉพาะตัวมาถ่ายทอดไปยังครูรุ่นใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง จนเกิดแนวทางที่น่าสนใจในการเรียนการสอนและสร้างแรงบันดาลใจสู่ครูรุ่นต่อไป ให้ซึมซับจิตวิญญาณของการเป็นครู ผู้มุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ ขณะเดียวกัน เครือข่ายของครูรางวัล ฯ ที่เกิดขึ้น ยังนำมาสู่การเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างครูในภูมิภาคอาเซียนและติมอร์ เลสเต ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตการเรียนการสอนที่ข้ามภาษาและวัฒนธรรม จนเกิดแนวทางการจัดการศึกษาที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการรับมือกับวิกฤตการศึกษาช่วง COVID-19 ที่เครือข่ายครูที่เข้มแข็งของมูลนิธิ ฯ ได้ช่วยให้การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ดำเนินต่อไปได้

รองศาสตราจารย์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิ ฯ

รองศาสตราจารย์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวถึงเจตนารมณ์ของรางวัลว่า เป็นรางวัลระดับนานาชาติที่ทรงคุณค่าสูงที่สุดสำหรับครูในประเทศ โดยจะมอบให้กับครูผู้มีคุณูปการต่อวงการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เพียงมีทักษะในการถ่ายทอดทางวิชาการที่โดดเด่น แต่จะต้องเป็นครูที่สามารถยกระดับจิตวิญญาณของศิษย์ให้สูงขึ้น ดังนั้น ทุกท่านที่ได้รับรางวัลในวันนี้ สามารถภูมิใจได้ว่าความเป็นครูของท่านนั้นมาจากสิ่งที่อยู่ภายในจริง ๆ และแม้โลกจะหมุนผ่านมาถึงศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะ ‘ไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ ที่จะมาทดแทนครูเช่นพวกท่านได้’

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ คณะกรรมการมูลนิธิ ฯ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ผู้ตั้งชื่อรางวัลครูคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ กล่าวถึงนิยามความหมายของรางวัลว่า คือครูผู้ผ่านกระบวนการเฟ้นหาคัดกรองเป็นอย่างดีแล้ว ว่าเป็นผู้มีใจรักและผูกพันกับศิษย์ กับวิชาชีพด้วยใจเมตากรุณาที่เหนือขึ้นไปกว่าการทำงานเพื่อรายได้เลี้ยงดูชีวิต ซึ่งหมายถึงการรับผิดชอบชีวิตของ ‘คน’ ทั้งลูกศิษย์และคนรอบ ๆ ข้าง ซึ่งความรับผิดชอบนั้นไม่เพียงแต่ให้ความรู้ แต่ยังเป็นการอุทิศตนแก้ปัญหานำพาชีวิตของลูกศิษย์ และสิ่งนี้เองที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีคุณภาพ มีแนวทางที่ดีในการดำเนินชีวิต เป็นฐานรากของการศึกษาที่มีคุณภาพ และจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในอนาคต

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา คณะกรรมการมูลนิธิ ฯ

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวถึงความสำคัญของความเป็นครูในบริบทที่หลากหลาย และให้ข้อคิดว่า ประสบการณ์ความรู้ที่มาจากต่างสาขาและต่างพื้นที่ของครูทั้ง 176 ท่าน จะทำให้เรามีต้นแบบอีก 176 แบบ ซึ่งเมื่อนำมาหลอมรวมและถ่ายเทระหว่างกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้ที่หลากหลาย นำไปใช้ได้กับลูกศิษย์ทุกประเภท ขยายผลออกไปได้ในทุกกลุ่ม ทุกสังกัด ที่สำคัญคือหลายท่านคือกลุ่มครูรุ่นใหม่ที่จะทำงานต่อเนื่องไปอีก 20-30 ปี ซึ่งหมายถึงว่าเราจะมีขุมพลังในการต่อสู้กับปัญหาทางการศึกษาที่ท้าทายทั้งในวันนี้ และในอนาคตที่จะต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงอีกมากได้

ปันประสบการณ์จากรุ่น 1-3 ถึงสมาชิกครอบครัวรุ่น 4 : เรื่อง ‘บทบาทของครูเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักกรี’

ครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2558

ครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2558 กล่าวว่า หลังได้รับรางวัลได้มุ่งทำงานในสองบทบาทหน้าที่หลัก หนึ่งคือ เป็นแบบอย่างในด้านความประพฤติ จรรยาบรรณวิชาชีพ และเป็นผู้นำทางวิชาการ ส่วนบทบาทที่สองคือเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไปให้คนที่สนใจได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ การส่งเสริมของมูลนิธิ ฯ คือลมใต้ปีกที่สำคัญซึ่งช่วยให้งานก้าวหน้าไปได้ดียิ่งขึ้น ตั้งแต่ให้ความสนับสนุนในการสร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐานในโรงเรียน ส่งเสริมให้ได้ศึกษาดูงานกับครูในภูมิภาคอาเซียน จนเกิดการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม สร้างมุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่เพียงตนเองจะได้รับ แต่ผลที่งอกเงยขึ้นยังได้สะท้อนไปสู่นักเรียนและโรงเรียนอีกด้วย

ครูกล่อมจิต ดอนภิรมย์ ครูขวัญศิษย์ ประจำปี 2558

ครูกล่อมจิต ดอนภิรมย์ ครูขวัญศิษย์ ประจำปี 2558 กล่าวว่า รางวัลที่ได้รับมิใช่เป้าหมายปลายทางสุดท้ายของความเป็นครู แต่คือจุดเริ่มต้นของการทำงานกับครอบครัว PMCA ในอีกบทบาทหนึ่งของวิชาชีพ เป็นความท้าทายที่ทำให้เกิดแรงขับในการสร้างพื้นที่ทำงานใหม่ ๆ ทั้งรางวัลนี้ยังทำให้ได้รับโอกาสในการติดอาวุธทางความคิด ได้พัฒนาทักษะดิจิทัลที่สามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดีในช่วง COVID-19 และไม่เพียงได้รับ ตนยังสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อ จนครูทุกคนในพื้นที่สามารถสร้างห้องเรียนออนไลน์เพื่อจัดการเรียนรู้ในช่วงวิกฤตได้ และนี่คือตัวอย่างหนึ่งของประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงพร้อมส่งพลังไปถึงเด็ก ๆ ให้เขาพร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันนี้และตลอดไป

ครูศรันย์ ศรีมะเริง ครูคุณากร ประจำปี 2560

ครูศรันย์ ศรีมะเริง ครูคุณากร ประจำปี 2560 กล่าวว่า ตนเป็นครูคนหนึ่งที่ต้องทำงานในความขาดแคลนเสมอมา แต่หลังจากได้รับรางวัล มูลนิธิ ฯ และเครือข่ายได้ช่วยเหลือและสนับสนุนให้การงานต่าง ๆ ทำได้กว้างขวางขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้ได้เป็นวิทยากรบนเวทีใหญ่ ๆ มีงบประมาณในการทำงานเพิ่มขึ้น และมีกำลังในการผลักดันลูกศิษย์ขึ้นมาทำงานทดแทนตนเองได้ในหลาย ๆ เรื่อง “รางวัลนี้จึงเหมือนกับเป็นการเติมพลังเข้ามาในตัวเรา เพื่อให้เราถ่ายทอดพลังนั้นไปให้คนอื่นต่อไปด้วย”

ครูบุญเสริฐ จันทร์ทิน ครูยิ่งคุณ ประจำปี 2562

ครูบุญเสริฐ จันทร์ทิน ครูยิ่งคุณ ประจำปี 2562 กล่าวว่ารางวัลที่ได้รับเปิดโอกาสให้ได้รับบทบาทดูแลครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุง รวมถึงการเป็นผู้นำในการขยายผลการให้ความรู้ในการสอบ PISA (Programmed for International Student Assessment) ของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยตนมองว่าการร่วมงานกับมูลนิธิ ฯ คือแรงผลักสำคัญในการพัฒนาในตัวเอง เพื่อขับเค้นศักยภาพออกมาช่วยเหลือสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพที่สุด นอกจากนี้ การได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกับครูเก่ง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน ยังทำให้เกิดการประยุกต์การเรียนการสอนที่นำมาปรับใช้ได้หลากหลายยิ่งขึ้น

ครูประเสริฐ แสงโป๋ ครูยิ่งคุณ ประจำปี 2560

ครูประเสริฐ แสงโป๋ ครูยิ่งคุณ ประจำปี 2560 กล่าวว่า กว่าที่ทุกท่านจะได้เข้ามาเป็นครูเครือข่ายมูลนิธิ ฯ จะต้องผ่านการคัดเลือกหลายลำดับขั้นตอน เพื่อหาครูที่มีความโดดเด่นและมีผลงานที่ก่อให้เกิดคุณูปการเป็นที่ยอมรับในระดับสูง โดยหลังได้รับรางวัลตนได้มีโอกาสเข้ามารับบทบาทเป็นอนุกรรมการเฟ้นหาครูรางวัล ฯ ในระดับจังหวัดด้วย ทำให้ได้ทราบว่ากว่าที่ทั้งตนเองและทุก ๆ ท่านจะได้มาพบกันในวันนี้ แต่ละคนต้องผ่านการทำงานอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลานานในวิชาชีพครู และได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษาและชีวิตของลูกศิษย์กันมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น ทั้งยังมีแรงกายแรงใจที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์และยกระดับการจัดการศึกษาไทยให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่างแท้จริง