โรงเรียนในอเมริกาหันพึ่งแนวทาง “บำบัด” เยียวยาจิตใจเด็กนักเรียน
โดย : LINDSEY TANNER - AP News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

โรงเรียนในอเมริกาหันพึ่งแนวทาง “บำบัด” เยียวยาจิตใจเด็กนักเรียน

โรงเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาหลายแห่งทั่วสหรัฐอเมริกาต่างหันมาพิจารณาประยุกต์ใช้แนวทาง “บำบัด” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยดูแลและบำบัดเยียวยาจิตใจ ให้สุขภาพจิตของเด็กนักเรียนอยู่ในสภาวะที่ดี ท่ามกลางสภาพสังคมที่ตึงเครียดและน่าวิตกทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจและสภาวะการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีสภาวะจิตใจที่อ่อนไหวได้ง่าย

รายงานพิเศษจัดทำโดยสำนักข่าวเอพี ได้ยกตัวอย่างโครงการสุนัขบำบัดของโรงเรียนประถมศึกษาตอนต้น อย่าง Paw Paw Early Elementary School ในแถบชนบทห่างไกลทางตะวันตกเฉียงใต้ของเขตการศึกษา Van Buren รัฐมิชิแกน ที่จัดให้นักสังคมสงเคราะห์คนหนึ่งพร้อมด้วย “ทริกซี” (Trixie) สุนัขบำบัดขนาดเล็กคอยยืนทักทายอยู่ตรงประตูทางเข้าโรงเรียน ให้นักเรียนที่เดินทางมาเรียนพร้อมด้วยหน้ากากอนามัยและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ทักทายและลูบตัวลูกสุนัขก่อนเดินเข้าโรงเรียน

ทั้งนี้ นักเรียนของโรงเรียนประถมในรัฐมิชิแกนแห่งนี้ต่างเผชิญสถานการณ์ต่างๆ มากมายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังไม่จบสิ้นไปโดยง่าย ทำให้ชั้นเรียนต่างๆ ต้องหยุดชะงัก นักเรียนหลายคนต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเพื่อนฝูงหรือสมาชิกในครอบครัว ขณะที่บางครอบครัวประสบปัญหาทางการเงิน ต้องตกงานและไร้ที่อยู่อาศัย

มีรายงานว่า นักเรียนอย่างน้อย 3 คนในเขตการศึกษา Van Buren ของรัฐมิชิแกน พยายามฆ่าตัวตายนับตั้งแต่ที่โรงเรียนกลับมาเปิดสอนได้เต็มเวลาอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา และมีนักเรียนอีก 2 คนฆ่าตัวตายได้สำเร็จเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ ยังมีเหตุกราดยิงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นห่างจากโรงเรียนไปราว 2-3 ชั่วโมง

สถานการณ์ทางสังคมข้างต้นส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยาหลายคนในสหรัฐฯ ออกโรงสนับสนุนให้ทางโรงเรียนนำหลักสูตรและแนวทางบำบัดมาใช้เพื่อคอยดูแลสภาพจิตใจของเด็กนักเรียนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เนื่องจากเชื่อมั่นว่า เด็กๆ จะไม่สามารถประสบความสำเร็จด้านวิชาการได้หากเจ้าตัวต้องเผชิญปัญหาทางด้านสภาวะอารมณ์ อย่างความตึงเครียด ความกลัว และความวิตกกังวล พร้อมระบุว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนสมควรรีบดำเนินการ เพราะได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาลกลางในการช่วยเหลือเยียวยาจากวิกฤตโควิด-19

มีรายงานว่า นักเรียนในเขตการศึกษา Van Buren ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมพิเศษดังกล่าวแล้วกว่า 15,000 คน ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยทางโรงเรียนได้เปิดตัวโปรแกรมการศึกษาตามหลักจิตวิทยาสมัยใหม่เพื่อการบำบัดพฤติกรรมด้านการรับรู้ ซึ่งถูกรวมอยู่ในหลักสูตรและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์

ภายใต้หลักสูตรข้างต้น จะสอนให้เด็กนักเรียนทั้งหลายในทุกระดับชั้นรู้ว่า ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมเชื่อมโยงกันได้อย่างไร และจะมีวิธีการควบคุมและปรับเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ขึ้นมาใหม่เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกได้อย่างไร โดยตัวโปรแกรมนี้ยังรวบรวมบทเรียนเข้มข้นสำหรับเด็กที่มีปัญหาในด้านความวิตกกังวล ภาวะอาการซึมเศร้า หรือสภาวะบอบช้ำทางจิตใจต่างๆ ควบคู่ไปกับการสอนแนวทางป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งนอกจากนักเรียนแล้ว บรรดาเจ้าหน้าที่ของเขตการศึกษาทุกคนก็ต้องเรียนรู้แนวคิดทั้งหมดที่กล่าวมาด้วยเช่นเดียวกัน

รายงานระบุอีกว่า ขณะที่โรงเรียนหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ ต่างเพิ่มการสอนทักษะการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ให้มากขึ้น โรงเรียนอีกหลายแห่งหันมาใช้วิธีการเข้าหานักเรียนแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการออกแบบชั้นเรียนที่ให้นักเรียนได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง หรือออกแบบชั้นเรียนโดยมุ่งความสนใจเฉพาะกับกลุ่มเด็กที่มีปัญหามากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงเรียนอีกหลายแห่งที่ขาดแคลนทั้งทุนทรัพย์และทรัพยากรที่จะใช้วิธีการทั้งหมดข้างต้น ซึ่งรวมถึงโรงเรียนประถม Paw Paw และโรงเรียนในละแวกใกล้เคียง ได้เลือกวิธีการที่ต่างออกไป โดยหันมาใช้วิธีที่มีหลักฐานทางจิตวิทยาเป็นพื้นฐานในหลักสูตรแทน

ทั้งนี้ โอลกา อะคอสตา ไพรซ์ (Olga Acosta Price) ผู้อำนวยการศูนย์ระดับชาติด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพในโรงเรียน (Center for Health and Health Care in Schools) กล่าวว่า การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน หรือกับบางคนเท่านั้น แต่ควรจะสะท้อนให้เห็นในการดำเนินงานและการปฏิบัติของโรงเรียนทั้งหมด และการหยุดชะงักต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางดังกล่าวในตอนนี้มากกว่าที่ผ่านๆ มา

โดยภายใต้แนวทางดังกล่าว ทำให้นักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนประถม Paw Paw ได้รับคำแนะนำจากครูพร้อมรับชมวิดีโอสาธิตที่สอนเกี่ยวกับการระบุและการจัดการความรู้สึกเชิงลบ อย่างความกังวล ความโกรธ และความเศร้า ยกตัวอย่างเช่น ตอนหนึ่งในวิดีโอสาธิตแสดงให้เห็นเด็กคนหนึ่งที่โกรธและตะโกนใส่แม่เพราะแม่ลืมซื้ออาหารเช้าของโปรดอย่างซีเรียลมาให้ ซึ่งวิดีโออธิบายความโกรธและการกระทำที่เกิดจากความโกรธทำให้เด็กอารมณ์เสียและทำให้แม่รู้สึกเศร้า ก่อนแนะว่า ถ้าไม่พอใจ ให้ลองนึกถึงอาหารเช้าอย่างอื่นที่ชอบกินแทน แล้วขอให้แม่ทำให้ดีๆ เท่านั้น ทั้งแม่และเด็กก็จะมีความสุขและเริ่มต้นวันที่ดี

ขณะที่ในกลุ่มเด็กที่โตขึ้นมา อย่างระดับประถมศึกษาปีที่ 4 และ 5 และมีการแสดงออกถึงพฤติกรรมว่าเป็นเด็กมีปัญหา หรือจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โรงเรียนส่วนหนึ่งได้จัดสอนการนั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมกับใช้นิ้วชี้อีกข้างหนึ่งลากขึ้นและลงตามจังหวะลมหายใจ โดยเอริค คลาร์ค (Eric Clark) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรม ซึ่งมีส่วนร่วมในการสอนนักเรียนกล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวที่เน้นด้านจิตวิทยาที่เขตการศึกษาของตนใช้ในการรับมือกับปัญหาท้าทายในขณะนี้มีชื่อเรียกว่า “TRAILS” ออกแบบโดยมหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน (University of Michigan) และเจ้าตัวตัดสินใจนำมาใช้หลังพบว่าตั้งแต่กลับมาเปิดเรียน นักเรียนหลายคนมีระดับความวิตกกังวลที่ค่อนข้างสูง มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง และหลายคนอยู่ในสภาพเหนื่อยล้าจนไม่อยากจะทำอะไรเลย

“เราไม่สามารถควบคุมบงการสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาหาเราได้ แต่เราสามารถควบคุมวิธีการที่เราจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าเหล่านั้นได้” คลาร์คกล่าว

แอบบี้ โอล์มสเตด (Abby Olmstead) เด็กหญิงวัย 10 ปี ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมทำสมาธิกล่าวว่า การกำหนดลมหายใจเข้าออกและลากนิ้วชี้ตามจังหวะหายใจทำให้จิตใจของตนเองสงบ และมีความสุขมากขึ้น โดยแม่ของแอบบี้ยอมรับว่า ลูกสาวมีสภาวะอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ หลังจากที่ต้องเรียนออนไลน์เมื่อปีที่แล้ว และการทำสมาธิทำให้ลูกสาวรู้วิธีการจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น

“ดิฉันสนับสนุนให้พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายส่งลูกเข้าร่วมโปรแกรมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ เพราะถ้าไม่มีหลักสูตรดังกล่าว ลูกสาวของฉันก็คงไม่มีพื้นฐานที่จะจัดการรับมือกับสภาวะจิตใจของตนเองได้” แม่ของแอบบี้กล่าว

โคเรย์ ฮาร์เบาว์ (Corey Harbaugh) ผู้อำนวยการหลักสูตรของโรงเรียน Paw Paw กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนในระดับ ไม่เว้นแม้แต่พนักงานขับรถ จะได้รับการฝึกอบรมด้านการสังเกตพฤติกรรมของเด็ก เพื่อให้มีความชำนาญมากพอที่จะทำให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะเข้าหาผู้ใหญ่คนไหน ได้รับความช่วยเหลือเกี่ยวกับทักษะทางสังคมและอารมณ์อย่างถูกต้องและเต็มที่

แม้ว่าพ่อแม่บางคนจะตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว พร้อมแย้งว่า ลูกๆ ของตนมีความประพฤติที่เรียบร้อยดีและไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ แถมบางรายยังเข้าใจผิดคิดว่าการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์นั้นเกี่ยวข้องกับวิธีการทำความเข้าใจการเหยียดเชื้อชาติของอเมริกา กระนั้น ผู้อำนวยการหลักสูตรอย่างฮาร์เบาว์ก็ไม่ถอยหรือถอดใจ เพราะสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็กอย่างแท้จริง และมีหลักฐานงานวิจัยเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยัน

ทั้งนี้ ผลการศึกษาหลายฉบับพบว่า โปรแกรมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์สามารถช่วยพัฒนาผลการเรียน พฤติกรรมในห้องเรียน และการจัดการกับความเครียดได้ นอกจากนี้ การวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าการใช้โปรแกรม TRAILS สำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงนั้น สามารถลดภาวะซึมเศร้าและช่วยพัฒนาทักษะด้านการเผชิญปัญหาได้อย่างดี

ด้านอลิซาเบธ โคชแมนน์ (Elizabeth Koschmann) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน ผู้พัฒนาโปรแกรมดังกล่าว เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงเรียนในสหรัฐฯ เกือบ 700 แห่งได้จ่ายเงินทำสัญญาเพื่อรับการช่วยเหลือและนำโปรแกรมนี้ไปใช้ในโรงเรียนแล้ว โดยทางโคชแมนน์ยังให้บริการสื่อออนไลน์ฟรีผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีการดาวน์โหลดมากกว่า 2,000 ครั้งต่อวัน และมีผู้ใช้โปรแกรมนี้มาจากทั่วทุกมุมโลก ก่อนตั้งข้อสังเกตว่าการดาวน์โหลดเหล่านี้มีอัตราที่สูงขึ้นมากในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด

โคชแมนน์ยอมรับว่า โรงเรียนหลายแห่งได้ติดต่อเข้ามาแทบทุกวันเพื่อสอบถามว่า ทางโรงเรียนจะสามารถรับมือกับนักเรียนที่มีสภาพจิตใจย่ำแย่ได้อย่างไร จะจัดการกับเจ้าหน้าที่ที่สูญเสียขวัญและกำลังใจและประสบกับภาวะหมดไฟอย่างมากจนมีเพียงความรู้สึกหมดแรงและสิ้นหวังได้อย่างไร

รายงานระบุว่า จนถึงขณะนี้ มีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของนักเรียนให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากห้องฉุกเฉินตามโรงพยาบาลทั่วสหรัฐฯ ที่พบว่า ในช่วงกว่า 1 ปีของวิกฤตโควิด-19 มีจำนวนเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงพฤติกรรมฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า และความผิดปกติในเรื่องการกิน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และนักบำบัดสุขภาพจิตในเด็กนั้นหายากในหลายๆ พื้นที่ และเด็กๆ มักจะต้องรอรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกนานเป็นเดือนๆ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา นายแพทย์วิเวก เมอร์ธี (Vivek Murthy) ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขและแพทย์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้อ้างถึงงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ภาวะอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลมีปริมาณเพิ่มขึ้นสองเท่าในหมู่เยาวชนทั่วโลกในช่วงการระบาดใหญ่ และแนะนำให้โรงเรียนขยายโปรแกรมด้านสุขภาพจิตให้เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ทางสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ The American Academy of Pediatrics ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ออกมาเรียกร้องให้โรงเรียนทำตามคำแนะนำของนายแพทย์เมอร์ธี รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้ปัญหาสุขภาพจิตเด็กเป็นวาระแห่งชาติ

ดร.ซาร่า โบเด (Dr. Sara Bode) ประธานสภาสุขภาพโรงเรียนของโรงเรียนและกุมารแพทย์ของโรงพยาบาลเด็ก Nationwide Children’s Hospital ในโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ กล่าวว่า ครูและนักเรียนต่างต้องดิ้นรนกับผลกระทบของโควิด-19 ดังนั้น โปรแกรมการศึกษาที่ครอบคลุมถึงทักษะทางสังคม อารมณ์ และจิตใจจึงเป็น “เรื่องสำคัญ” อย่างมาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถจัดการตนเองให้พ้นจากสภาวะจิตใจเชิงลบได้

ที่มา : Schools use therapy-based programs for ‘overwhelmed’ kids