นักวิชาการด้านการศึกษาชี้ระบบการศึกษาไอร์แลนด์เหนือ ทำให้เกิดความแบ่งแยก ราคาแพง และขาดความยั่งยืน

นักวิชาการด้านการศึกษาชี้ระบบการศึกษาไอร์แลนด์เหนือ ทำให้เกิดความแบ่งแยก ราคาแพง และขาดความยั่งยืน

ผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญพบ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เห็นว่าระบบการศึกษาของไอร์แลนด์เหนือเป็นการตอกย้ำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมกว้างมากขึ้น เกิดการแบ่งแยกซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยยังไม่นับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เด็กนักเรียนหลายคนเข้าไม่ถึงการศึกษา อย่างค่าเล่าเรียนที่แพงเกินเอื้อมถึง งานนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลไอร์แลนด์เหนือเร่งลงมือปฎิรูปการศึกษาอย่างจริงจังเพื่ออนาคตของเด็กๆ ในไอร์แลนด์เหนือ

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Belfast Telegraph สื่อท้องถิ่นรายงานว่า บรรดานักวิชาระดับแนวหน้าของไอร์แลนด์เหนือต่างออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษากำลังทำให้เด็กล้มเหลว และจำเป็นต้องมีการปฎิรูปอย่างมาก

โดยศูนย์การศึกษา Unesco ของมหาวิทยาลัย Ulster ได้ตีพิมพ์รายงาน การเปลี่ยนผ่านการศึกษาของไอร์แลนด์เหนือ (Transforming Education in Northern Ireland) กล่าวว่า ไอร์แลนด์เหนือจำเป็นต้องปฎิรูประบบการศึกษาที่คร่ำครึ ซึ่งมุ่งให้เด็กทำซ้ำๆ และท่องจำ แล้วปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกยุคศตวรรษที่ 21 มากขึ้น

รายงานระบุชัดว่า ปัญหาที่นักปฏิรูปต้องเผชิญในครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเข้าถึงเงินทุน หรือการจัดสรรทุนในด้านการศึกษาให้มากขึ้น แต่เป็นความท้าทายในการรักษาวิสัยทัศน์ แรงจูงใจ และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อเผชิญกับการต่อต้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากผลประโยชน์ที่หลายฝ่ายคุ้นเคยและมีส่วนได้เสีย

โดยผลการศึกษาชี้ว่า ค่าเล่าเรียนของโรงเรียนส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์เหนือแพงเกินกว่าที่ครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดาทั่วไปจะเอื้อมถึงได้ ในขณะที่โรงเรียนดีๆ ส่วนใหญ่ก็คัดกรองเด็ก โดยพิจารณาคุณสมบัติภูมิหลังของครอบครัวอย่างเข้มงวด ทำให้แทนที่จะเป็นการพัฒนาสังคม กลับทำให้สังคมไอร์แลนด์เหนือมีความแตกแยกมากขึ้นแทน

ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาต้องปฎิรูปให้เปิดกว้าง ไม่ปิดกั้นสิทธิในการเข้าถึงอนาคตของเด็ก และบางขั้นตอนอาจต้องปฎิรูปลึกถึงระดับโครงสร้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นหมายถึง แบ่งกลุ่มการเรียนตามระดับผลการสอบ ที่ไม่เพียงแต่นำไปสู่การแบ่งแยกระหว่างครู นักเรียนและโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจัดสรรค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่าเทียมและไม่จำเป็นต่อเงินภาษีของรัฐบาลอีกด้วย

“โรงเรียนของเราหลายแห่งในขณะนี้ เลือกที่จะคัดครูและนักเรียน โดยตัดกลุ่มคนบางชนชั้นทางสังคม หรือบางศรัทธาความเชื่อ บางวัฒนธรรมและบางความเกี่ยวข้องทางการเมืองออกไป ทั้งๆ ที่โรงเรียนไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น แต่ระบบที่กำหนดมาทำให้โรงเรียนต้องทำแบบนั้น” รายงานระบุ

ทั้งนี้ ในการปฎิรูปการศึกษานี้ สิ่งสำคัญแรกสุดก็คือการทำให้นักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะมีภูมิหลังอย่างไรได้รับการดูแลเอาใจใส่และเป็นที่ต้อนรับจากโรงเรียนทุกแห่งในไอร์แลนด์เหนือ และการตัดสินใจคัดกรองใดๆ ต้องมาจากการทดสอบทักษะความสามารถและศักยภาพของตัวผู้เรียน มีหลักฐานการทดสอบที่พิสูจน์ตรวจสอบได้มากกว่าการประเมินจากสภาพแวดล้อม ภูมิหลังและระดับชั้นของสังคม

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษายังแนะนำว่า การคัดเลือกเด็กโดยใช้ความสามารถทางวิชาการยังเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี เพียงแต่การทดสอบตั้งแต่อายุ 11 ปี เพื่อสอบเทียบโอนชั้นนี้ถือว่ายังเด็กเกินไป และน่าจะมีการพิจารณาทางเลือกอื่นมาใช้แทน

ปัจจุบัน รัฐบาลไอร์แลนด์เหนือกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาปฎิรูประบบการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่ก็เป็นการปฎิรูปที่นักการศึกษามองว่าจะเป็นการคัดกรองเด็กจากครอบครัวชนชั้นแรงงานให้หลุดออกจากระบบการศึกษาได้ง่ายดายมากขึ้น

รายงานระบุว่า รัฐบาลไอร์แลนด์เหนือดูเหมือนจะเพิกเฉยต่อผลกระทบเชิงลบในการแบ่งกลุ่มเด็กนักเรียนตามคะแนนสอบและตามสถานะทางสังคมหรือความเชื่อบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนคาทอลิกจะรับเฉพาะเด็กจากครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเท่านั้น แม้จะมีความพยายามบางส่วนให้ยกเลิกแนวทางดังกล่าวก็ตาม แต่น่าเศร้าว่าบรรดานักการเมืองส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับฐานคะแนนเสียงของตนเองมากกว่า

“ในขณะที่นักการเมืองแย่งชิงตำแหน่งกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โอกาสในชีวิตของเด็ก ๆ หลายพันคนในอนาคตกลายเป็นประเด็นรองๆ ของพรรคการเมือง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง”

การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ มีขึ้นก่อนหน้ากำหนดการพิจารณาทบทวนระบบการศึกษาจากสาธารณะและองค์การอิสระจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ท่ามกลางความหวังว่า การเปิดรับฟังครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาของไอร์แลนด์เหนืออย่างจริงจัง

ที่มา : Deeply divided Northern Ireland education system ‘unsustainable and unaffordable’