มาเลเซียเผยความสำเร็จนักเรียนหลักสูตรอาชีวะ
โดย : Sen David - Khmer Times
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

มาเลเซียเผยความสำเร็จนักเรียนหลักสูตรอาชีวะ

รัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยผลการศึกษาที่พบว่านักเรียนในหลักสูตรเทคนิคและอาชีวศึกษาของประเทศต่างประสบความสำเร็จ พิสูจน์ได้จากนักเรียนกว่า 90% สามารถหางานทำ หรือศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หรือตั้งตัวเป็นผู้ประกอบการได้ หลังจากสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร

รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย ดร.มาห์ ฮัง สูน (Mah Hang Soon) กล่าวว่า ผลการศึกษาติดตามความเป็นไปของนักเรียนอาชีวศึกษาหลังเรียนจบหลักสูตรที่กำหนด (Graduate Tracers Study TVET) พบว่า 98.29% ของนักเรียนอาชีวะที่เรียนจบครบหลักสูตรต่างกำลังเรียนต่อ หรือคิดริเริ่มทำกิจการของตนเอง หรือแม้แต่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทชั้นนำหลายอุตสาหกรรมของมาเลเซีย

เว็บไซต์ข่าว The Star รายงานว่า รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียกล่าวว่า ในสัดส่วนดังกล่าว ราว 70% คือนักเรียนที่จบออกไปทำงานในบริษัทชั้นนำ ประมาณ 20 % คือนักเรียนอาชีวศึกษาที่ตัดสินใจศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และอีกราว 10% ตั้งเป้าก่อร่างสร้างธุรกิจของตนเอง

นอกจากนี้ ทางรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียกล่าวเสริมว่า รัฐบาลมาเลเซียยังมีเป้าหมายยกระดับหลักสูตรอาชีวศึกษาของประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้า ภายใต้แผนพัฒนาแห่งชาติของมาเลเซียฉบับที่ 12 ระหว่างปี 2021-2025 หรือที่เรียกว่า แผน 12MP อีกทางด้วย

ดอกเตอร์มาห์กล่าวว่า แผน 12MP นี้เป็นการประยุกต์ปรับใช้จากหลายๆ มาตรการพิเศษมาประกอบกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับหลักสูตร TVET ของมาเลเซีย รวมถึงยกระดับพัฒนาระบบนิเวศ ตลอดจนขยายหลักสูตรต่างๆ ให้มีความหลากหลาย เพื่อฝึกอบรมทักษะและออกใบรับรองที่มีมาตรฐาน และมีการออกประกาศนียบัตรรับรองที่น่าเชื่อถือเมื่อผู้เรียนผ่านการฝึกอบรมตามเงื่อนไข

ทางการมาเลเซียตั้งเป้าหมาย ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะช่วยบ่มเพาะกำลังคนที่มีทักษะความสามารถขั้นสูงทางเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

“ด้วยจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมด้านเทคนิคขั้นสูงที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลผลักดันให้มาเลเซียมุ่งสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม พัฒนาแล้ว และมีรายได้สูงต่อไป” ดร.มาห์กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของทางกระทรวง ปัจจุบันมาเลเซียมีนักศึกษาอาชีวศึกษาประมาณ 80,000 คนในวิทยาลัย 87 แห่งทั่วประเทศภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้ ดร.มาห์ยังกล่าวอีกว่า หลักสูตรอาชีวศึกษา (TVET) จะได้รับการจัดสรรทุนเพิ่มเติม โดยแบ่งมาจากงบประมาณปีหน้าของกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียมูลค่า 52,600 ล้านริงกิตมาเลเซีย สำหรับปรับปรุง “ระบบนิเวศของ TVET เพื่อผลิตผู้มีความสามารถที่พร้อมในอนาคต ซึ่งจะตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกต่อไป

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการรับประกันโอกาสในการทำงานของนักเรียนและนักศึกษาจบใหม่ในหลักสูตรอาชีวศึกษากว่า 900 คน ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับทางบริษัทผลิตถุงมือยางระดับโลก อย่าง Top Glove

ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศร่วมภูมิภาคอาเซียนอย่างประเทศกัมพูชาก็ได้รุกคืบด้านการศึกษาออนไลน์เช่นกัน โดยทางกระทรวงแรงงานกัมพูชาได้เปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่เพื่อเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการเรียนการสอนอาชีวศึกษา หรือ National TVET (Technical and Vocational Learning Education and Training) E-Learning Platform ทั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนการเรียนของนักเรียนในหลักสูตรเทคนิคและอาชีวศึกษาของกัมพูชาได้เพิ่มพูนพัฒนาทักษะ รวมถึงเป็นคลังความรู้ให้กับบุคคลทั่วไปได้ใช้งานเพื่อให้ตนเองมีความสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

พิช โสภรณ์ (Pich Sophorn) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกัมพูชา กล่าวว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์ หรือ Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC)

สำหรับเนื้อหาหลักๆ ของ TVET แพลตฟอร์มจะประกอบด้วยชุดข้อมูลฝึกอบรมในเชิงเทคนิคต่างๆ ที่ให้โอกาสผู้ใช้งานสามารถฝึกอบรมทักษะตนเองโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สถาบัน โดยชุดข้อมูลจะมีการรวบรวมและเรียบเรียงผ่านสื่อวิดีโอเพื่อดูและฟัง และผ่านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอ่านทางสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ได้ทุกที่ทุกเวลา

ด้านนาเดีย ออตไทเกอร์ (Nadia Ottiger) รองหัวหน้าสำนักงาน SDC กล่าวว่า ทางสำนักงานจะเดินหน้าให้ความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานของกัมพูชาในการแบ่งปันองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงให้การสนับสนุนทั้งในเชิงเทคนิคและเงินทุนเพื่ออัปเดตแพลตฟอร์ม TVET ให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และเหมาะสมกับการเติบโตของเทคโนโลยี

จนถึงขณะนี้ มีผู้ดาวน์โหลดแอปเพื่อใช้งานแล้วเกือบ 10,000 ครั้ง

ที่มา : MoL launches new app for online technical training